Posted: 14 Jun 2018 08:57 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

4 นักการเมืองตอบคำถามหากรัฐบาลหน้ามีชุมนุมอีกจะทำไง ไพบูลย์ ขอประชาชนอย่าเป็นเครื่องมือของคนปลุกปั่น ธนาธร ระบุการชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานแต่อย่าออกบัตรเชิญรัฐประหาร อภิสิทธ์ ยันหลักการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ จาตุรนต์ ชี้ชุมนุมได้แต่ต้องมาตรฐานเดียว

14 มิ.ย. 2561 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานเสวนาหัวข้อ อนาคตประชาธิปไตยไทย : ข้ามพ้น กับดัก ความหวัง? โดยมีผู้ร่วมเวทีคือ 4 นักการคือ ประกอบด้วย ไพบูลย์ นิติตะวัน พรรคประชาชนปฏิรูป อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคประชาธิปัตย์ จาตุรนต์ ฉายแสง พรรคเพื่อไทย และธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พรรคอนาคตใหม่ ดำเนินการเสวนาโดย ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดยในตอนหนึ่งผู้ดำเนินรายการได้ตั้งคำถามจากคำถามของผู้ร่วมฟังการเสวนาว่า หากหลังการเลือกตั้งครั้งหน้ามีรัฐบาลใหม่ แล้วเกิดการชุมนุมประชุมขึ้นอีกจะทำอย่างไรในสถานการณ์นั้น

ไพบูลย์ นิติตะวัน

สำหรับผม เราใช้คำว่า ปลุกปั่น เราทำอย่างที่คุณธนาธรอยาก เห็นอยากทำ ถึงที่สุดผมพบการชุมนุม นปช. พธม. กปปส. ประชาชนทั้งตายทั้งบาดเจ็บ แต่คนได้ประโยชน์คือพวกตาอยู่ ผมพยายามย้ำกับคนรุ่นใหม่ ท่านอย่าไปเอาอย่างที่เราพลาดไปเลย ถ้าท่านอยากทำท่านไปถามรุ่นพี่ ที่เคยทำมาก่อนก็ได้ว่ายังอยากจะทำอีกไหม ผมคนหนึ่งไม่ทำ ผมไม่ออกไป ผมใช้แต่กฎหมาย ใครจะไปก็ไป เพราะผมมีประสบการณ์แล้วว่าประชาชนอย่าไปเป็นเครื่องมือของคนปลุกปั่น

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ผมไม่แน่ใจว่าโต๊ะนี้มีตาอยู่หรือเปล่า แต่ผมไม่ใช่ตาอยู่แน่นอน กลับมาที่ว่า การชุมนุมมีอยู่ในสังคมประชาธิปไตยทุกประเทศ ไม่ใช่เรื่องอะไรที่แปลก ถ้าเป็นการชุมนุมในกรอบการไม่ใช่ความรุนแรง อยู่ในกรอบการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน ต้องอนุญาตให้ชุมนุม

แต่เมื่อไรก็ตามที่การชุมนุม มีลักษณะที่นำไปสู่การเรียกร้อง เป็นบัตรเชิญการทำรัฐประหาร นี่คือผิด และที่ทำแบบนี้ได้เพราะประวัติศาสตร์อนุญาตให้ทำ แล้วจะทำยังไง ถ้าประนีประนอมพูดคุยโดยสันติไม่ได้แล้วก็ต้องสลายการชุมนุมตามขั้นตอนหลักการสากลที่ชัดเจน มีหลักอยู่แล้วว่าต้องใช้กระบวนการอย่างไรบ้างกับการชุมนุม แต่ผมย้ำอีกครั้งมันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่เท่ากับความวุ่นวาย

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ผมอยากให้ระมัดระวังที่จะพูดถึงการชุมนุมในอดีต กับอนาคตว่าเป็นเรื่องเดียวกันหมด ไม่ใช่ และที่ผ่านมามันก็มีหลากหลายเงื่อนไข จริงๆ เป็นคำถามที่ดีเพราะไม่ได้บอกว่าใครเป็นรบ. ผมยืนยันในสิทธิการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ในการเรียกร้องไม่ยอมรับความไม่ถูกต้องในทัศนะผู้ชุมนุม

ผมเห็นด้วยที่บอกว่าอย่าไปกลัว มันเป็นส่วนหนึ่งของสังคมประชาธิปไตย แต่ต้องสงบปราศจากอาวุธ แทนที่เราจะกลัวว่าได้รับฐาลใหม่แล้วจะมีการชุมนุม เราควรตั้งโจทย์ว่าเอารัฐบาลแบบไหนที่จะไม่มีการชุมนุม คือ รัฐบาลที่มาตามเจตนารมณ์ของประชาชน แล้วใช้อำนาจเพื่อประชาชนจริงๆ ถ้าได้สิ่งนี้มา เงื่อนไขการชุมนุมก็จะเกิดขึ้นได้ยาก เราต้องตั้งโจทย์ตรงนี้ ไม่พยายามสร้างเงื่อนไขการชุมนุม

จาตุรนต์ ฉายแสง

พูดเรื่องชุมนุม หลายท่านคงเป็นห่วง วิตก ข้อแรกคือ กลุ่มผู้ชุมนุมเดิมๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีมานี้ น่าจะไม่มีศักยภาพที่จะชุมนุมใหญ่ๆ อะไร นี่เป็นการคาดการณ์ ถ้ามีชุมนุมต้านรัฐบาลจะทำอย่างไร ในฐานะพรรคการเมืองไม่ว่าเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้านก็รับรองสิทธิเสรีภาพในการชุมุนมที่เป็นไปตามกฎหมาย ที่การชุมนุมเป็นปัญหา "การปล่อยให้เกิดอย่างนี้ได้" คืออะไร มันสำคัญ มันคือสภาพการชุมนุมที่สามารถทำผิดกฎหมายได้อย่างไม่มีขีดจำกัดโดยไม่ถูกลงโทษ นี่คือปัญหาแล้วมันควบคู่มากับอีกสองอย่างที่นำสู่เงื่อนไขการรัฐประหารคือ หนึ่ง ระบบยุติธรรมที่ยังเป็นสองมาตรฐานอยู่

ระบบยุติธรรมต้องแก้ไข สอง กลไกรัฐ ในอดีตที่ผ่านมากลไกรัฐไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือการมอบหมายของรัฐบาล หรือเลือกทำตามเฉพาะเวลาที่อยากทำตาม นำไปสู่การที่กลไกรัฐเองส่งเสริมการชุมนุมบางประเภทให้เกิดเป็นความวุ่นวายกลายเป็นเงื่อนไขไปสู่รัฐประหาร

ผมพูดตอนแรกให้สบายใจว่า ศักยภาพการชุมนุมแบบเดิมอาจไม่มี สังคมรับไม่ไหว แต่ข่าวร้ายคือ สี่ปีมานี้ คสช.และพวก ไม่ได้พยายามลดเงื่อนไขสิ่งเหล่านี้เลย ในอนาคตถ้าจะมีการชุมนุมผิดกฎหมายได้ไม่จำกัด ถ้ากลไกรัฐระบบยุติธรรมต้องการให้เกิดก็จะเกิดได้อีก ดังนั้น เงื่อนไขที่จะนำสู่รัฐประหารยังมีอยู่ และเป็นโจทย์ให้เราคิดว่าข้างหน้าจะจัดการกับกับดักนี้อย่างไร


สารที่อยากส่งถึงเหล่าคนรุ่นใหม่

จาตุรนต์ ฉายแสง – “ประชาธิปไตยไม่ใช่วิธีการ แต่คือจุดหมาย และอย่าคิดว่าไม่ใช่เรื่องของฉัน”

เราพูดไปไม่น้อยว่าทำไมต้องแก้รัฐธรรมนูญ เราจะแก้อย่างไร แล้วถ้าไม่แก้จะเป็นอย่างไร ถ้าไม่แก้สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ความขัดแย้ง ความเสียหาย ความล้าหลัง รัฐบาลไม่ตอบสนองความต้องการประชาชน ประเทศปรับตัวไม่ได้ เสียหายต่อคนทั้งประเทศ ฉะนั้น พลังที่สำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมีอยู่หลายส่วนด้วยกัน คือ

1.พลังส่วนที่ผ่านประสบการณ์ของการเรียนรู้ว่าการเลือกตั้ง รัฐสภา ระบบแบบนี้มีประโยชน์ต่อเขาอย่างไร จะทำให้คนเหล่านี้ได้กลับมาทบทวนแล้วเปรียบเทียบสภาพการณ์

2.พลังส่วนที่เรียนรู้ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการปกครองโดยเผด็จการช่วงสี่ปีที่ผ่านมา

3.พลังส่วนที่เรียนรู้จากกับดักที่จะเกิดขึ้น เรียนรู้ว่าข้างหน้าจะเจออะไร สิ่งต่างๆ ที่กำหนดไว้จะเสียหายอย่างไร

ที่จะพูดกับคนรุ่นใหม่คือ คนที่จะรับภาระหนักที่สุดคือคนรุ่นใหม่ในวันนี้ รุ่นปัจจุบันก็รับภาระไปตามอายุขัยของแต่ละคน และคนรุ่นใหม่ไม่ควรคิดว่า “นี่ไม่เกี่ยวกับฉัน” ที่พูดๆ กันนั้นเป็นเรื่องผู้ใหญ่พูดกัน ในประเทศไทย 10 กว่าปีมานี้ก็ผ่านสภาพทางการเมืองที่ไม่ปกติ เผด็จการ ไร้หลักนิติธรรมมาตลอด จึงต้องมีการทำความเข้าใจและทำให้เกิดการเรียนรู้ตระหนักว่า ปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยทั้งหมดมันกำลังส่งผลต่อคนรุ่นใหม่มาก และคนรุ่นใหม่จะเป็นพลังสำคัญตรงที่เขาอยู่กับโลกสมัยใหม่ เขาอยู่กับการมีอาชีพแบบใหม่ ทั้งหมดนี้มันขัดแย้งกับระบบที่ คสช. และพวกวางไว้อย่างรุนแรงที่สุด การจะแก้ปัญหาประเทศได้ต้องอาศัยกลไกสำคัญคือระบอบประชาธิปไตย ประเทศไทย 4 ปีมานี้บทเรียนสำคัญก็คือ ประชาธิปไตยไม่ควรเป็นแค่วิธีการ แต่ควรเป็นจุดมุ่งหมายในตัวของมันเองด้วย



ไพบูลย์ นิติตะวัน - “อย่าตกเป็นเครื่องมือใคร ทำประชาธิปไตยใกล้ตัว"

คนรุ่นใหม่เป็นคนอายุน้อย ผมมีอยู่อย่างเดียว อยากให้คนรุ่นใหม่พยายามทำความเข้าใจ เรียนรู้ว่า เราอย่าตกเป็นเครื่องมือของใคร ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ดี ผมชอบประชาธิปไตยตรงที่ส่วนดีที่สุดคือ มีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น

เราแสดงความเห็นต่างกันได้ แต่เราแลกเปลี่ยนกันแล้วเข้าใจกันได้ ถ้าคนรุ่นใหม่มีความรู้สึกอย่างนี้ ท่านจะทำในส่วนมองในระดับชาติก็ทำได้ แต่ในทัศนะผม ผมก็คิดว่าควรเริ่มต้นในส่วนที่ท่านอยู่ ในสังคมของท่าน ท่านต้องเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมโดยตรง ต้องร่วมในกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ในเครือข่ายของท่าน อย่ามัวแต่เรียกร้องระดับชาติเท่านั้น ท่านต้องทำในระดับใกล้ชิดกับตัวท่านด้วย ท่านกำลังสร้างความมีส่วนร่วม เวลามีความขัดแย้ง ขอให้ระลึกเสมอว่า ต้องรับฟังความคิดคนอื่น แต่ไม่ใช่เชื่อไปหมด ถ้าท่านทำก็ช่วยประเทศได้แล้ว เพราะแต่ละกลุ่มที่ประกอบกันเป็นโครงสร้างประเทศจนได้

ผมหวังว่าวัฒนธรรมของไทยไม่ว่าอย่างไรก็ไม่สุดโต่ง ที่สำคัญคือ แม้กระทั่งบนเวทีนี้จะพูดถึงเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ทั้งหลาย ผมยืนยันว่าหลังเลือกตั้ง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นความสวยงาม ไม่เสียหายตรงไหน แต่ทั้งหมดขอให้จบแค่คำพูดที่แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน อย่าถึงขนาดไปหยิบรองเท้าผ้าใบไปต่อสู้กันบนท้องถนนอีก มันเป็นความท้าทายของคนรุ่นใหม่ด้วย เพราะพรรคการเมืองทุกพรรคจะเปลี่ยนแปลงแล้วเข้าหาท่านอย่างไม่เคยปรากฏ ท่านก็ศึกษาแล้วรับฟังความเห็น


อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ - “คนรุ่นใหม่คือตัวแปรสำคัญที่สุดในการหลุดกับดักเดิม”

ขอให้คนรุ่นใหมทุกคนลบคำสบประมาทด้วยการไปเลือกตั้ง ผมมองว่าคะแนนเสียงของคนรุ่นใหม่จะมีโอากาสเป็นตัวแปรมากที่สุดที่จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลง ก้าวพ้นกับดักเดิมๆ ในประวัติศาสตร์ของเกือบทุกสังคม เมื่อความขัดแย้งฝังตัวลึกลง เกิดการแบ่งขั้ว มันจะไม่หลุดพ้นจนกว่าจะมีคนอีกรุ่นมาช่วยกรุยทางออกให้สังคมนั้น พวกเราต้องเป็นผู้แบกรับภาระอนาคตมากที่สุด อย่าปล่อยโอกาส สิทธิที่มีอยู่แม้ไม่สมบูรณ์อย่างไรก็ตาม หลุดลอยไปใช้มันให้เป็นประโยชน์มากที่สุด


ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ – “ทำลายมายาคติว่าด้วยความวุ่นวาย-การคอร์รัปชัน หมุนให้ทันโลก”

สิ่งที่อยากสื่อสารกับคนรุ่นใหม่คือ ความสงบในทุกวันนี้เกิดขึ้นเพราะมีปืนจ่อหัว เราต้องเรียก คสช.ด้วยนามที่เป็นจริง คือ เผด็จการ ทุกวันนี้เรามีคนหนุ่มสาวมากมายมีคนแสดงความเห็นต่างมากมายถูกดำเนินคดีแล้ว อยู่ในคุกแล้ว คนไปตรวจโกงอุทยานราชภักดิ์ก็โดนดำเนินคดี ไหนใครบอกว่าเกลียดการคอร์รัปชัน การลุแก่อำนาจเป็นที่สุด แต่นี่แหละคือการใช้อำนาจโดยไม่ตรวจสอบอย่างแท้จริง แม้แต่การไปแสดงความเห็นของตัวเองว่าอยากเลือกตั้งติดคุก นี่เป็นสังคมที่เราอยากได้หรือเปล่า ต้องพูดให้ชัดว่ามีกรณีแบบนี้เกิดขึ้น และนี่คือต้นทุนของประเทศ สิทธิเสรีภาพของประชาชนคือต้นทุนของประเทศ ประเทศจะก้าวหน้าได้อย่างไรถ้าประชาชนไม่สามารถแสดงความเห็นได้

กับดักที่สำคัญคือ ทุกคนพูดแต่เรื่องความวุ่นวาย ..ผิด! การชุมนุมบนถนนไม่ใช่ความวุ่นวาย แต่เป็นสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ทุกประเทศมีการชุมนุมเต็มไปหมดและไม่เกิดความวุ่นวาย เราต้องไม่ติดกับดักมัน บ้านเมืองไปข้างหน้าได้แม้มีการชุมนุมก็ตามที

ทำไมต้องพูดถึงกับดักนี้ เพราะเราถูกชนชั้นนำทำให้เชื่อเสมอว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะการเมืองบนถนน...ไม่ใช่! ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาเพราะคนที่ชุมนุมบนถนนต้องการผลักสังคมไปสู่ทางตันเพราะรู้ว่าทหารจะออกมา นี่ต่างหากคือปัญหา ไม่ใช่การชุมนุมบนถนนโดยตัวมันเอง

กับดักที่สอง คือ กับดักเรื่องทุจริจคอรัปชั่น ประเทศไทยมีไหม มี ยอมรับ ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่สุดในโลกก็มีเหมือนกัน แต่หนึ่งอย่างที่พิสูจน์มาแล้วคือ ยิ่งมีประชาธิปไตยมากเท่าไรยิ่งมีคอร์รัปชันน้อยลง นี่เป็นกับดักที่บอกว่านักการเมืองเลว เป็นกับดักให้คนที่มีอำนาจแทรกแซงประชาธิปไตย วิธีการแก้ปัญหาคือ ต้องอัดฉีดประชาธิปไตย ความโปร่งใส ความใกล้ชิดยึดโยงกับประชาชนมากขึ้นต่างหากจึงจะแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้

สุดท้าย ยุคสมัยนี้เป็นยุคแห่งความเป็นไปได้ เพราะเรามี 3 อย่างที่ยุคก่อนหน้าไม่มี
1. เทคโนโลยีที่เปิดโอกาสให้เราเข้าถึงคนหมู่มากได้ โดยไม่ต้องผ่านช่องทางแบบเดิม
2. สังคมปัจจุบันอยู่ในสถานการณ์มืดมิดถึงขีดสุด ประชาชนเอื้อมระอาเต็มที
3. เราอยู่ในยุคสมัยใหม่ที่การเคลื่อนตัวของโลกไปเร็วกว่าสิ่งที่พยายามฉุดรั้งให้สังคมล้าหลัง

ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมครั้งนี้ที่จะทำให้การทำรัฐประหารเป็นอดีตและไม่เกิดอีกในอนาคตเป็นไปได้ สิ่งที่ทำให้เราเดินทางมาอยู่ในสภาพทุกวันนี้ได้เพราะเรายอมจำนนกับความอยุติธรรม จนมันกลายเป็นสิ่งปกติ ผมเชิญชวนว่าอย่ายอมจำนน แม้เพียงสักครั้งหรือแม้ว่าความอยุติธรรมนั้นเกิดกับคนอื่น เพราะปล่อยให้เกิดกับคนอื่นได้มันจะกลายเป็นสิ่งปกติ เราต้องทำให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นกับคนทุกคน

[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.