ภาพจาก Banrasdr Photo 

Posted: 07 Jun 2018 03:40 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เดินเท้าจาก UN ไป สน.นางเลิ้ง รับทราบข้อกล่าวหา จากการชุมนุมรอบ 4 ปี รัฐประหาร จนท.ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งหมดเหตุไม่ขอฝากขัง นัดอีกครั้ง 29 มิ.ย.นี้ เพื่อส่งตัวให้อัยการ 'วรัญชัย' ถือคบเพลิงร้อง UN กดดันรัฐบาลไทยจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว

7 มิ.ย.2561 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้ กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง #UN62 รวมตัวกันที่หน้าอาคารสำนักงานองค์การสหประชาชาติ(UN) ถนนราชดำเนิน ก่อนที่จะเดินเท้าไปยังสน.นางเลิ้ง เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา สืบเนื่องจากถูก คสช.แจ้งดำเนินคดีเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา เหตุนัดชุมนุมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยในวันนี้มีเพียง 45 จาก 62 คน ที่เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาเพราะ จำนวน 15 คนถูกจับพร้อมแจ้งข้อกล่าวหาไปแล้ว และอีก 2 คนที่ไม่ได้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหา คือ บุญสิน หยกทิพย์ และอาอิซะห์ เสาะหมาน

'กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง' รอบล่าสุด โดนมาแล้วกี่คดี ใครโดนแล้วโดนอีก โดนอีกและโดนอีก
กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง โต้แย้งผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่ส่งศาลรธน.วินิจฉัยคำสั่ง 3/58

ข่าวรายงานว่า ก่อนเดินขบวน สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ (จ่านิว) อ่านแถลงการณ์ให้กำลังใจกับคนที่ถูกดำเนินคดีโดยคาดว่าวันนี้ทั้ง 47 คนจะถูกส่งไปฝากขังที่ศาล ในส่วนทิศทางการเคลื่อนไหว จะดำเนินการตามโรดแมพ ติดตามเรื่องการปลดล็อคคำสั่ง คสช.ในเดือนนี้เรื่องการกำหนดวันเลือกตั้ง อีกทั้งยังมีจุดมุ่งหมายที่จะสื่อสารกับสังคมต่อไปเพราะเชื่อว่าการเลือกตั้งเป็นของคนทั้งประเทศ และสุดท้ายถ้ารัฐบาลยังเลื่อนการเลือกตั้งอีกกลุ่มคนอยากเลือกตั้งก็จะเคลื่อนไหวต่อไปและจะเคลื่อนไหวให้ใหญ่กว่าเดิม ในระหว่างเดินขบวนตำรวจตั้งด่านสกัดพร้อมทั้งให้เปลี่ยนเส้นทางเดินขบวน รังสิมันต์ โรม จึงเข้าเจรจาจนสุดท้ายตำรวจเปิดให้ใช้เส้นทาง แต่ยังคงมีการตรวจกระเป๋า

Banrasdr Photo รายงานด้วยว่า วรัญชัย โชคชนะ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ถือคบเพลิงยื่นหนังสือต่อองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย เรียกร้องให้รัฐบาลไทยจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว เพราะยิ่งเลื่อนเวลาออกไปจะกระทบกับเศรษฐกิจโดยรวม อีกทั้ง สิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดของประชาชนและสื่อมวลชนถูกจำกัดจากรัฐบาลมาโดยตลอด

ทางด้าน สน.นางเลิ้ง เจ้าหน้าที่จากสถานทูตต่างๆ ได้แก่ สหภาพยุโรป, สหรัฐอเมริกา,อังกฤษ,ฟินแลนด์,เยอรมัน,เนเธอร์แลนด์,เบลเยี่ยม,เดนมาร์ก,ฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์ เดินทางมาสังเกตการณ์ในครั้งนี้และมีการสอบถามเกี่ยวกับการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้สังเกตการณ์การชุมนุม ทั้งนี้ตำรวจปฏิเสธว่าไม่มีการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้สังเกตการณ์

ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่าข้อเท็จจริงตำรวจได้มีการออกหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหากับ นีรนุช เนียมทรัพย์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ได้ไปปฏิบัติหน้าที่สังเกตการณ์การชุมนุมในวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมาด้วย

เมื่อเดินทางถึงสน.พนักงานสอบสวน แจ้งข้อกล่าวหาโดยมี 41 คนถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ชุมนุมด้วย มาตรา 215 มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง, มาตรา 216 ไม่เลิกมั่วสุม เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิก, ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปและข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ส่วน 6 คนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแกนนำ พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาว่าด้วย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ยุยงปลุกปั่นเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน, มาตรา 215 เป็นหัวหน้า หรือผู้สั่งการในการมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป,มาตรา 216 และฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12

อีกทั้งยังมีข้อหาอื่นคือ ข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ได้แก่ กีดขวางทางเข้าออกสถานที่ราชการและสถานศึกษา ตามมาตรา 8 (1)(3), มีการชุมนุมระหว่างมีคำสั่งห้ามชุมนุมฯ ตามมาตรา 11, ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้ชุมนุม ตามมาตรา 16(1)(4)(7)(9) และไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขและคำสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ตามมาตรา 19 นอกจากนั้นยังมีข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 4 วรรคแรก และฝ่าฝืน พ.ร.บ.การจราจรทางบก มาตรา 108 เดินขบวนในลักษณะกีดขวางการจราจร โดยรังสิมันต์, สิรวิชญ์ และปิยรัฐ ถูกแจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.จราจรฯ มาตรา 114 กระทำด้วยประการใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานด้วยว่า พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาและสอบคำให้การกลุ่มคนอยากเลือกตั้งไปได้บางส่วนแล้ว ทั้งแจ้งว่าครั้งนี้จะปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งหมดให้เดินทางกลับได้ เนื่องจากจะไม่ส่งตัวไปศาลเพื่อขอฝากขัง และนัดให้มาอีกครั้งในวันที่ 29 มิ.ย.นี้ เพื่อส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวนให้อัยการ

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.