ภาพ สมาชิกกว่า 50 คน ร่วมกันถือหน้ากากปู่คออี้ เพื่อเป็นการแสดงพลังเพื่อให้กำลังใจ (ที่มา amnesty.or.th)

Posted: 12 Jun 2018 03:32 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

ศาลปกครองสูงสุดสั่งกรมอุทยานฯ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพิ่มให้ปู่คออี้และพวก จาก 1 หมื่นเป็น 5 หมื่นต่อคน กรณี จนท.เผาบ้านปี 2554 แต่ไม่ให้กลับไปอยู่อาศัยทํากินในพื้นที่เดิม ด้านชัยวัฒน์ อดีตหัวหน้าอุทยานฯ ระบุไม่จำเป็นต้องขอโทษชาวกะเหรี่ยงศาลชี้ชัดบุกรุกป่า ขณะที่ทนายสิทธิเห็นว่าศาลชี้ด้วย จนท.ทำเกินกว่าเหตุ พร้อมรับรองมติครม.ให้ฟื้นฟูชีวิตกะเหรี่ยง

12 มิ.ย.2561 จากเมื่อเมื่อปี 2559 ศาลปกครองสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีคือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหมด โคอิ หรือคออี้ มีมิ กับ พวกรวม 6 คน ชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญอที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กรณีพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ เข้าดําเนินการรื้อถอนเผาทําลายทรัพย์สิน และสิ่งปลูกสร้างที่ใช้อยู่อาศัยของโคอิกับพวก คนละ 10,000 บาท ภายใน 30 วัน แต่คออี้ ชาวบ้านและทนายความเห็นว่าคําตัดสินดังกล่าวยังมีความบกพร่อง คลาดเคลื่อน และยัง วินิจฉัยไม่ครบประเด็นตามคําฟ้องจึงยื่นอุทธรณ์คําพิพากษาดังกล่าว

ล่าสุดวันนี้ ศาลปกครองสูงสุดมีคําพิพากษาแก้คําพิพากษาของศาลปกครอง (อ่านคำพิพากษาฉบับเต็มที่นี่) ให้กรม อุทยานแห่งชาติฯ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 คือ คออี้ เป็นเงิน 51,407 บาท และพวกประกอบด้วย ผู้ฟ้องคดีที่ 2 เป็นเงิน 50,032 บาท ผู้ฟ้องคดีที่ 3 เป็น เงิน 51,407 บาท ผู้ฟ้องคดีที่ 4 เป็นเงิน 45,302 บาท ผู้ฟ้องคดีที่ 5 เป็นเงิน 50,807 บาท และผู้ฟ้องคดีที่ 6 เป็นเงิน 50,032 บาท หากผู้ฟ้องคดีรายใดได้รับค่าสินไหมทดแทนสำหรับสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินกรณีนี้ไปแล้วให้หักออกจากค่าสินไหมทดแทนตามคําพิพากษานี้ ทั้งนี้ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคําพิพากษา นอกจากที่แก้ให้ เป็นไปตามคําพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น


สําหรับอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 ที่ขอให้กลับคืนสู่สภาพเดิมก่อนมีคําสั่งทางปกครองของ เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 นั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 ไม่มีสิทธิที่จะอยู่อาศัยในที่ดินพิพาท เนื่องจากที่ดินพิพาทอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 ไม่มีหนังสือสําคัญแสดงสิทธิในที่ดินหรือหลักฐานแสดงการได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ครอบครองทําประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่อาจกําหนดคําบังคับให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 กลับคืนสู่สภาพเดิม โดยให้กลับไปอยู่อาศัยและทํากินในพื้นที่เดิมได้
รายละเอียดเพิ่มเติม ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การใช้อํานาจตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ของพนักงานเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในการรื้อถอนเผาทําลาย สิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 แม้จะเป็นมาตรการหรือวิธีการที่มีผลทําให้การป้องกันและปราบปรามการบุกรุกยึดถือครอบครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติ ตลอดจนการอื่นที่เป็นความผิดต่อกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติบรรลุผลตามวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ของกฎหมายก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวมิได้ให้อํานาจดุลพินิจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในอันที่จะเลือกใช้มาตรการบังคับทางปกครองอย่างใดก็ได้ตามอําเภอใจหรือโดยพลการ โดยเฉพาะการรื้อถอนเผาทําลายทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้อยู่อาศัย ย่อมมีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิในทรัพย์สินหรือสิทธิอื่นใดของผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 อย่างรุนแรง และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 เกินสมควรเมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาไว้ซึ่งประโยชน์สาธารณะ

กรณีเช่นนี้พนักงานเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ยิ่งสมควรต้องออกคําสั่งทางปกครองเป็นหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 จัดการกับสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินของตนเสียก่อน และแม้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 จะมิได้ปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าวก็ยังไม่อาจใช้มาตรการบังคับทางปกครองดําเนินการหรือมอบหมายให้บุคคลอื่นเข้าทําลายหรือรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างได้ในทันที ยังต้องแจ้งคําเตือน เป็นหนังสือให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 กระทําการตามคําสั่งภายในระยะเวลาที่กําหนดตามสมควร ระบุค่าใช้จ่าย หรือจํานวนค่าปรับทางปกครอง ระยะเวลาดําเนินการและเจ้าหน้าที่ผู้ดําเนินการโดยแจ้งเตือนก่อนเริ่ม ดําเนินการภายในระยะเวลาอันสมควร พร้อมทั้งปิดประกาศคําสั่งแจ้งเตือนก่อนเริ่มดําเนินการภายใน ระยะเวลาอันสมควร จัดทําบันทึกการปิดประกาศไว้เป็นหลักฐาน และภายหลังจากดําเนินการแล้ว ก็ต้องจัดทําบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับการดําเนินการ บัญชีทรัพย์สินที่ทําลายหรือรื้อถอน หรือทรัพย์สินอื่น ที่ได้เก็บรักษาไว้ในความครอบครองของเจ้าหน้าที่ แผนที่สังเขปบริเวณที่ดําเนินการพร้อมภาพถ่าย แล้วนําเรื่องราวทั้งหมดพร้อมพยานหลักฐานไปแจ้งความลงบันทึกประจําวันไว้เป็นหลักฐาน ณ สถานี ตํารวจภูธรแห่งท้องที่ในทันที

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้อํานาจของ พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กําหนดไว้ในคู่มือปฏิบัติงานป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทําลายทรัพยากรป่าไม้

เมื่อไม่ปรากฏว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ออกคําสั่งเป็นหนังสือสั่งให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 รื้อถอนหรือทําลายสิ่งปลูกสร้างและขนย้าย ทรัพย์สินของตนออกไปให้พ้นจากอุทยานแห่งชาติ และแจ้งคําเตือนเป็นหนังสือก่อนเข้าดําเนินการ การรื้อถอนเผาทําลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 บริเวณพื้นที่บ้านบางกลอยบนและ บ้านใจแผ่นดินซึ่งถือเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) ในเขตอุทยาน แห่งชาติแก่งกระจาน จึงเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกถึงผลเสียหายที่จะเกิดจากการกระทําดังกล่าว และเป็นการใช้อํานาจเกินความจําเป็นไม่สมควรแก่เหตุ รวมถึงไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสําคัญที่กําหนดไว้สําหรับการใช้อํานาจของเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว ตลอดจนไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2553 เรื่อง แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ในส่วนของการจัดการทรัพยากรที่ให้ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองกับชุมชน กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ข้อพิพาทเรื่องที่ทํากินในพื้นที่ดั้งเดิม

ดังนั้น การกระทําของพนักงานเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและทําให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 อันเป็นการกระทําละเมิต ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

สําหรับการกําหนดค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 นั้น เห็นว่า โดยที่สิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลย่อมมีสิทธิในการดํารงชีวิตและสิทธิในทรัพย์สิน ไม่มีบุคคลใดที่จะสามารถมีชีวิตอยู่ได้หากปราศจากเครื่องอาศัยยังชีพ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค อันเป็นปัจจัยสําคัญในการดำรงชีวิต อีกทั้งบุคคลไม่อาจถูกจํากัดแต่การมีชีวิตอยู่เยี่ยงสิ่งมีชีวิตหนึ่งๆ เท่านั้น แต่ต้องตํารงชีวิตอยู่ ฃได้อย่างปกติสุขและมีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ด้วย หากสิทธิดังกล่าวถูกลิดรอนโตยไม่ชอบด้วยกฎหมายทําให้เกิดความเสียหาย บุคคลนั้นย่อมต้องได้รับการเยียวยาแก้ไขความเสียหาย เมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดในคดีนี้ ประกอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 สามารถใช้ดุลพินิจไม่ใช้มาตรการที่มีความรุนแรงกระทําต่อสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 ได้แม้จะมีกฎหมายให้อํานาจไว้ก็ตาม การเผาทําลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินจึงทําให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 ต้องสูญเสียปัจจัยสําคัญในการดํารงชีวิต ถือเป็นพฤติการณ์ที่มีความร้ายแรง กระทบกระเทือนสาระสําคัญแห่งสิทธิในการดํารงชีวิตและสิทธิในทรัพย์สินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลปกครองสูงสุดจึงกําหนดค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 ดังนี้ กรณีค่าเสียหายจากการที่สิ่งปลูกสร้างถูกรื้อถอนเผาทําลายกําหนดให้เป็นเงินกึ่งหนึ่งของราคาประมาณการก่อสร้างตามคําชี้แจงของนายกองค์การบริหารส่วนตําบลห้วยแม่เพรียงเกี่ยวกับการก่อสร้างบ้านและยุ้งฉางของผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือนทั้งหมดเป็นเงิน 5,000 บาท และค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับของใช้ส่วนตัวเป็นเงิน 5,000 บาท ส่วนกรณีค่าเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิในทรัพย์สินตามรัฐธรรมนูญ ค่าเสียหายจากการถูกละเมิตเสรีภาพในการที่จะอยู่อาศัยและครอบครองเคหสถานโดยปกติสุข ค่าฟื้นฟูจิตใจที่ถูกเผาทําลายบ้านและถูกผลักดันให้จําต้องอพยพมาอยู่ที่บ้านบางกลอยและบ้านโป่งลึก ค่าขาดประโยชน์จากการสูญเสียโอกาสทําการเกษตรในที่ดินทํากินรวมทั้งสิทธิในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และค่าเสียหายจากการสูญเสียอัตลักษณ์ชาติพันธุ์และ ศักยภาพในการสืบทอดวัฒนธรรมนั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่ได้กําหนดค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 6

นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานฯ ภาพจาก เพจ Banrasdr

ไม่ต้องขอโทษ คำพิพากษายืนยันบุกรุกจริง

เว็บไซต์มติชนรายงานว่า นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าชุดเฉพาะกิจพญาเสือ และผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 10 (อุดรธานี) ในฐานะอดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เปิดเผยว่า น้อมรับในคำตัดสินของศาลครั้งนี้ หลังจากนี้จะไปดูรายละเอียดคำสั่งศาลจำนวน 57 หน้า เพื่อดำเนินการชดใช้ตามกฎหมาย

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ในคำพิพากษาศาลระบุว่าการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 22 ของพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติปี 2504 ดำเนินการโดยชอบแล้ว แต่อาจมีความผิดพลาดในขั้นตอนปฏิบัติซึ่งถือเป็นบทเรียนให้เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบในเรื่องของเอกสาร มีการปิดประกาศ แจ้งเตือน การจะไปบอกโดยปากเปล่าคงไม่สามารถทำได้อีก อย่างไรก็ตามไม่คิดว่าจำเป็นต้องขอโทษชาวปกาเกอะญอ เพราะเป็นผู้ที่บุกรุกผืนป่า และศาลปกครองสูงสุดก็ชี้ขาดแล้วว่าบุกรุกจริง ไม่ให้กลับไปอยู่ในพื้นที่เดิมอีก การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่จึงเป็นการรักษาธรรมชาติ และพร้อมที่จะถูกสอบวินัยกรณีที่ทำให้รัฐเสียหายจากการต้องจ่ายค่าชดเชยดังกล่าว อีกทั้งหากมีการนำเรื่องไปฟ้องศาลอาญาก็พร้อมสู้คดีต่อไป

“ขอโทษคงไม่ขอโทษ คิดว่าเรื่องนี้ใครก็รู้ว่าใครบุกรุกป่า คำพิพากษาวันนี้ผมภูมิใจที่ต่อไปจะไม่มีใครสามารถบุกรุกป่าแก่งกระจานได้อีกแล้ว โดยเฉพาะ 6 คนนี้ ซึ่งในส่วนของผมทำอย่างเต็มความสามารถที่สุดแล้ว และผมคิดว่าคนที่ฟ้องกรมอุทยานฯ ก็รู้ดีว่าตัวเองมีความผิดหรือไม่” นายชัยวัฒน์กล่าว

กรมอุทยานฯ ทำเกินกว่าเหตุ รับรองมติ ครม.เอื้อกลุ่มชาติพันธุ์

นายสุรพงษ์ กองจันทึก หัวหน้าคณะทำงานสภาทนายความ กล่าวว่าคำพิพากษาในวันนี้เป็นการยืนยันว่า กรมอุทยานฯ ใช้อำนาจเกินกว่าเหตุในการเข้ารื้อถอน เผา ทำลาย บ้านและทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยงที่บ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดิน ซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และที่สำคัญเป็นคำพิพากษาที่ยืนยันว่ามติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง เป็นข้อกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ ซึ่งในมติครม.ดังกล่าวมีการห้ามจับกุมชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่พิพาทและให้คุ้มครองชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมในพื้นที่จนกว่าจะมีการพิสูจน์สิทธิตามกฎหมาย ซึ่งหลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องกลับไปปฏิบัติตามมติครม.นี้ให้เป็นรูปธรรม

ภรรยาบิลลี่ รักจงเจริญ ภาพจาก เพจ Banrasdr

ปู่คออี้อยากกลับบ้าน

นางพิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยานายบิลลี่ หรือนายพอละจี รักจงเจริญ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกระเหรี่ยงบ้านบางกลอยที่หายตัวไป กล่าวว่า แม้ว่าศาลจะสั่งให้กรมอุทยานฯชดใช้ค่าเสียหาย แต่สิ่งนี้ไม่สามารถชดเชยสิ่งที่ต้องสูญเสียบ้านเกิดไป และวันนี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะกลับไปอยู่ที่ใจแผ่นดินได้อีกหรือไม่ จึงขอวิงวอนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รับรองสถานะเพื่อกลับไปอยู่ที่บ้านใจแผ่นดินดังเดิม และคิดว่าปู่โคอิ ก็คงเสียใจเพราะทุกวันนี้ไม่มีความสุขที่ต้องไปอยู่บ้านบางกลอยล่าง เพราะไม่ใช่บ้านเกิด โดยเคยพูดเสมอว่าเหมือนมาอาศัยที่คนอื่นอยู่ และปู่อยากกลับไปใช้ชีวิตบั้นปลายที่บ้านเกิดของตัวเอง

กรรมการสิทธิฯ หวังดันมติ ครม.ให้เป็นจริง

นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) กล่าวว่า จากนี้ไปกรรมการสิทธิฯจะเร่งผลักดันให้รัฐบาลปฏิบัติตามมติครม. 3 สิงหาคม 2553 เรื่องการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ซึ่งในปีนี้เป็นปีที่รัฐบาลและ กสม.จะต้องทำรายงานเกี่ยวกับสิทธิชุมชน ชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมืองรายงานต่อยูเอ็น เพราะถ้าไม่เร่งรัดปฏิบัติตามมติครม.นี้จะมีชนเผ่าพื้นเมืองอื่นที่อยู่ในเขตป่ากว่า 8 แสนคน ได้รับผลกระทบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันนี้นายโคอิไม่สามารถเดินทงมาฟังคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดด้วยตนเองได้เนื่องจากป่วยเป็นไข้หวัดและอาการไอหนัก

ขณะที่ตัวแทนผู้ฟ้อง กล่าวว่า ยังมีความหวังว่าจะได้กลับเข้าไปในพื้นที่ หลังจากนี้จะนำคำตัดสินศาลวันนี้ไปเล่าให้ปู่คออี้ฟัง ซึ่งคงจะเสียใจมากที่ไม่ได้กลับเข้าไปในพื้นที่ เพราะตอนนี้ปู่คออี้อายุมากและมีปัญหาสุขภาพด้วย


ลำดับเหตุการณ์ โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ก่อนมีคำพิพากษาในวันนี้


2448 ปู่คออี้เกิด และอยู่อาศัยในพื้นที่แก่งกระจาน

2524 ประกาศพื้นที่แก่งกระจานเป็น “อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน”

2539 เจ้าหน้าที่ให้กะเหรี่ยงซึ่งอาศัยอยู่บางกลอยบน หรือ "ใจแผ่นดิน" อพยพลงมาจากบ้านที่เขาอ้างว่าอยู่ตั้งแต่เกิด มาอยู่ที่บ้านโป่งลึก-บางกลอย แต่ปู่คออี้ ไม่ชินกับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างออกไป จึงกลับขึ้นไปอยู่บ้านเกิดของตน ณ บางกลอยบนตามเดิม

2554 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นำโดยชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในขณะนั้น ได้ดำเนินการไล่รื้อ เผาบ้าน และยุ้งฉางข้าว รวมทั้งยึดเครื่องมือ เครื่องใช้อุปกรณ์ในการทำไร่ของชาวกะเหรี่ยงโป่งลึก-บางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี รวมจำนวน 6 ครั้ง และปู่คออี้ยังถูกนำตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์ลงสู่พื้นที่ด้านล่าง

2555 ปู่คออี้ต่อสู้คดีในชั้นศาล หมายเลขคดีดำที่ ส.58/2555 กับพวกรวม 6 คนเป็นผู้ฟ้องคดีเพื่อเรียกค่าเสียหายกรณีที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและขอสิทธิกลับไปอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าแก่งกระจานที่เป็นพื้นที่ดั้งเดิมที่ชาวกะเหรี่ยงได้ตั้งรกรากอาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณลำห้วยเหนือแม่น้ำบ้านบางกลอยบน มาแต่ครั้งบรรพบุรุษเป็นเวลาร่วมกว่าร้อยปี

2557 พอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ อายุ 30 ปีแกนนำกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย หนึ่งในพยานของคดีการรื้อถอนและเผาบ้านกะเหรี่ยง อีกทั้งยังเป็นหลานของปู่คออี้หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย

2559 ศาลปกครองตัดสินกรณีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานขึ้นไปเผาบ้านเรือน ยุ้งข้าว และรื้อทำลายทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 คน โดยผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 6 ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติและมีการล่าสัตว์ ถือว่ากระทำความผิดตามมาตรา 16 (1)(ครอบครองที่ดินและแผ้วถางป่า)16(2)(เก็บหาหรือทำให้ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมสภาพ) และ 16(3) (นำสัตว์ออกไปหรือทำอันตรายแก่สัตว์) แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ส่วนการรื้อถอนด้วยวิธีเผาทำลายเพิงพักและยุ้งฉาง ศาลตัดสินว่าเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องเหมาะสมตามหลักความได้สัดส่วนและตามควรแก่กรณีสภาพการณ์ เพราะหากรื้อถอนไปแล้วคงเหลือวัสดุก่อสร้างไว้ที่เดิม ย่อมจะทำให้ผู้กระทำความผิดนำไปใช้ในการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้นใหม่ได้ ถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจโดยชอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 โดยศาลให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหมดคนละ 10,000 บาท ภายใน 30 วัน
แต่ปู่คออี้ ชาวบ้าน และทนายความเห็นว่าคำตัดสินดังกล่าวยังมีความบกพร่อง คลาดเคลื่อน และยังวินิจฉัยไม่ครบประเด็นตามคำฟ้องจึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าว

2561 ศาลปกครองสูงสุดนัดพิจารณาคดีครั้งแรก ฝ่ายปู่คออี้โต้แย้งในประเด็นหลัก คือ ความมีอยู่จริงของการตั้งถิ่นฐานดั้งเดิมของตนและชาวบ้านกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ซึ่งมติครม. เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2553 เคยรับรองการมีอยู่ของชุมชนดั้งเดิมชาวกะเหรี่ยง รวมถึงวิถีทางวัฒนธรรมและการผลิตแบบไร่หมุนเวียนว่าไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังโต้แย้งการอ้างอิงแนวปฏิบัติตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ว่าไม่ได้อนุญาตให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจเผาบ้านชาวบ้าน และตามขั้นตอนแล้ว ต้องติดประกาศเตือนอย่างชัดเจนก่อน หากชาวบ้านไม่ทำตามจึงใช้อำนาจศาลสั่งให้โยกย้ายชาวบ้านออกจากพื้นที่

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.