Posted: 12 Jun 2018 06:46 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

สมภาร พรมทา
11 มิถุนายน 2561

เงินในทางเศรษฐศาสตร์เกิดจากความจำเป็น ก่อนมีเงิน มนุษย์แลกเปลี่ยนของที่ตนหาได้ตามธรรมชาติหรือผลิตขึ้นกันตรงๆ คนหาปลาอย่างเดียวเมื่ออยากกินแตงโมก็เอาปลาไปแลก ต่อมาเมื่อสังคมมนุษย์ทำการเกษตร ผลผลิตมีมาก ระบายออกไม่ได้ด้วยการเอาไปแลกของที่เน่าเสียเหมือนกัน จึงมีการสร้างเงินขึ้น เงินนั้นไม่เน่าเสีย ชาวสวนที่ปลูกแตงโมได้มากๆ ก็เอาไปขายที่ตลาด ได้เงินมาแล้วก็เอาบางส่วนซื้อปลามากิน ไม่ต้องซื้อมามาก เพราะจะเป็นภาระในการเก็บรักษา ปลาเน่าเสียได้ ซื้อแต่พอกิน การสร้างเงินใช้มีมาก่อนพระพุทธเจ้า พระสงฆ์สามเณรในสมัยพุทธกาลเป็นบุคคลที่ไม่ต้องใช้เงินก็อยู่ได้ เพราะชาวบ้านอุปถัมภ์ บางคราว คนบางคนที่อุปถัมภ์พระเณรไม่สะดวก เช่นนิมนต์ท่านมาฉันที่บ้าน แล้วจัดหาอาหารไม่ได้ ไม่ทัน เพราะป่วย ก็เรียนถามท่านว่าท่านจะเอาเงินไปซื้อเองได้ไหม แล้วเขาก็ถวายเงิน เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบก็ห้ามพระรับเงิน

เราต้องถามว่าทำไมทรงห้าม ที่จริงวิธีคิดของโยมที่ถวายเงินพระเณรสมัยพุทธกาลนั้นเป็นวิธีคิดทางเศรษฐศาสตร์ธรรมดานี่เอง ท่านมาที่บ้าน โยมทำอาหารถวายไม่ทัน ยุ่ง ป่วย เลยถวายเงินท่าน เรียนท่านว่าท่านเดินไปที่ตลาดเลยบ้านโยมไปหน่อยหนึ่ง ยื่นสิ่งนี้ให้คนขายอาหาร เขาจะถวายอาหารท่านแทนกระผมเอง ที่พระพุทธเจ้าทรงห้าม อรรถกถาไม่ได้อธิบายไว้ว่าทำไม อธิบายเพียงว่าเงินที่เข้าข่ายห้ามรับคืออะไร ผมตีความว่าที่ทรงห้ามมีเหตุผลอย่างน้อยสองข้อ หนึ่ง ทรงประสงค์ให้ชีวิตพระเณรเป็นแบบอยู่ได้โดยไม่ใช้เงิน เมื่อโยมถวายเงินแล้วพระท่านรับไม่ได้ ต่อไปโยมก็จะบอกตัวเองว่า อย่าเอาสะดวกตนเข้าว่า นิมนต์ท่านมาแล้วต้องหาอาหารถวายให้ได้ สอง เงินนั้นมีศักยภาพทางดีก็ได้ทางร้ายก็ได้ มาร์กซ์วิเคราะห์ความเลวร้ายของเงินไว้มาก ทุนนิยมคือระบบที่ยอมให้เอกชนสะสมเงินจนกลายเป็นทุน แล้วไม่ผลิตอะไร เอาเงินต่อเงินเช่นเล่นหุ้น เศรษฐีของโลกสมัยนี้บางคนไม่ผลิตอะไรขาย แต่เอาเงินซื้อหุ้นแล้วขายเอากำไร เหมือนเล่นพนัน นายทุนนั้นไม่ต้องทำนา แต่รวยกว่าชาวนา พระพุทธเจ้าเองก็ทรงมองเห็นศักยภาพของเงินอย่างนั้น จึงตัดไฟแต่ต้นลม ไม่ให้พระเณรและวัดรับเงิน รับเข้าวัดก็ไม่ได้นะครับ

แต่สมัยนี้ พระเณรและวัดอยู่ในโลกที่ไม่เหมือนสมัยพุทธกาล คือวัดไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมแบบที่ไม่ต้องใช้เงินก็อยู่ได้ ทำให้วัดต้องหาเงินและเก็บรักษาเงินไว้เพื่อใช้จ่าย ในทางเศรษฐศาสตร์เรื่องนี้เป็นปกติธรรมดา ในทางทฤษฎี อาจมีบางวัดที่สามารถจัดการให้พระเณรในวัดไม่ต้องถือเงิน แต่ตัววัดนั้นอย่างไรก็ต้องรับเงิน ว่าตามพระวินัยก็ผิดอยู่ดี แต่เป็นความผิดที่จำต้องทำ นิตยภัตซึ่งก็คือเงินเดือนนั่นแหละที่ถวายสมเด็จพระสังฆราช กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะต่างๆ เป็นต้นก็เป็นเงินที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามรับ เราทำผิดวินัยกันอยู่แล้ว พระเณรในวัดแบบนี้ไปไหน ทำอะไร วัดโดยโยมวัดจะจัดการเบิกเงินกองกลางให้ อันนี้ทำได้ แต่ยุ่งยาก เพราะจะทำอย่างนั้นได้พระเณรต้องรับเงินส่วนตัวไม่ได้ ได้เงินส่วนตัวมาแล้วต้องเอาเข้ากองกลางหมด เงินส่วนตัวของพระเณรนั้นไม่ได้มาจากกิจนิมนต์อย่างเดียวนะครับ สมัยผมเป็นเณร เขียนแปลหนังสือ ผมก็ได้ค่าลิขสิทธิ์ หากใช้ระบบโอนเข้ากองกลางหมดก็น่าคิดว่ายุติธรรมกับผมที่ทำงานหนักส่วนตัวขนาดนั้น แต่ไม่มีสิทธิในทรัพย์ที่หามาได้อย่างสุจริตเลย หรือไม่ บางท่านอาจติงว่าบวชแล้วก็ต้องละทิ้งอะไรหมด ถ้าคิดอย่างนั้นผมก็ต้องโอนเงินค่าลิขสิทธิ์นั้นเข้ากองกลาง อยากได้อะไรค่อยขอเบิกจากทางวัด

ระบบข้างต้นนี้สมมติใช้กับวัดใหญ่ๆ ที่มีพระเณรหลายร้อย ปัญหาว่าจะจัดสรรจากกองกลางอย่างไรจึงจะยุติธรรมก็ไม่ง่าย สมัยนี้พระเณรบางรูปเรียนหนังสือ ต้องจ่ายค่าเทอม ค่าหนังสือ ค่ารถ ค่าเน็ต เป็นต้น อาจไม่สะดวก สรุปคือ ระบบปล่อยให้พระเณรรับเงินและบริหารเงินเองสะดวกที่สุด ไม่ต้องถามว่าผิดวินัยหรือไม่ ผิดครับ แต่ความผิดนี้ก็คืออย่างเดียวกับที่เราถวายนิตยภัตแก่สมเด็จพระสังฆราชเป็นต้นที่ผมกล่าว โดยผู้ถวายคือรัฐ

แต่การปล่อยให้พระเณรรับเงินแล้วบริหารเงินเองก็ส่งผลร้าย คือจะมีพระเณร (รวมเณรด้วยเพราะสมัยนี้มีเณรดังๆ เช่นเณรคำเป็นต้น ขออภัยที่เอ่ยนาม) จำนวนหนึ่ง (ซึ่งไม่มาก) เป็นผู้ที่ญาติโยมเข้าหา ศรัทธา และถวายเงินท่านมาก ที่มีข่าวว่าพระบางรูปมรณภาพแล้วมีเงินในบัญชีส่วนตัวเป็น สิบ หลายสิบ หรือแม้แต่ร้อยล้าน เป็นไปได้ ผมเข้าใจว่าเวลานี้เรากำลังอยากแก้ปัญหาที่พระบางรูปเก็บเงินไว้มากนี้แหละ คงไม่มีใครคิดจะไปยุ่งเกี่ยวกับการรับและใช้เงินตามปกติธรรมดาของพระเณรทั่วไป ที่อธิบายได้ว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่การที่พระบางรูปมีเงินฝากจำนวนมาก หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องไม่ดีกับศาสนาโดยรวม อันนี้ผมเห็นด้วย

การแก้ปัญหาก็คงพอทำได้ครับ เช่นมีระเบียบออกโดยมหาเถรสมาคมให้วัดจัดทำบัญชีชัดเจน พระที่ตามกฎหมายคณะสงฆ์ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ต้องจัดทำบัญชีเงินส่วนตัวด้วย อันนี้ไล่ลงมาตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราชเลยนะครับ เนื่องจากบัญชีอย่างหลังนี้เป็นของส่วนบุคคล คนที่จะเข้าถึงได้ต้องมีอำนาจหน้าที่ที่อธิบายได้ว่าทำไมจึงจะต้องรู้ว่าพระที่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐมีเงินเท่าใด พูดง่ายๆ คือต้องมีมูลเหตุจึงจะเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของพระเหล่านี้ได้ พระก็เป็นมนุษย์นะครับ ย่อมมีสิทธิในความเป็นส่วนตัว อย่างน้อยต้องไม่น้อยกว่าชาวบ้าน เว้นแต่เป็นเรื่องพระธรรมวินัยที่ท่านจะว่ากันเองในทางสงฆ์ เรื่องสงฆ์อ้างสิทธิส่วนตัวอาจไม่ได้เสมอไป เช่นอ้างว่าผมมีสิทธิบนหัวของผม จะโกนหรือไม่ก็ได้ ท่านอย่ามายุ่ง อันนี้คงไม่ได้

แต่เราก็ต้องถามนะครับว่า ที่สุดแล้ว ทำอย่างนี้ได้ประโยชน์อะไร ผมไม่ทราบ เงินของวาติกันมีเท่าใด ใครทราบบ้างครับ ไม่มีใครรู้หรอก ของบางอย่าง เราพอเดาได้ และรับได้ว่าโลกเปลี่ยน ศาสนาก็ต้องเปลี่ยน และเงินทองก็ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับศาสนาเป็นธรรมดา ใครอยากรู้ อยากยุ่ง จะเหนื่อยเปล่า

วิธีที่เป็นธรรมชาติกว่านั้นและทำง่ายกว่านั้นคือ อุบาสกอุบาสิกาช่วยกันดูว่าอะไรเหมาะไม่เหมาะ เงินจำนวนมากที่พระบางรูปมีอยู่ในบัญชีนั้นมาจากพวกเรานี่แหละ เอามาอุปภัมภ์พระเณรที่ขาดแคลนดีกว่าครับ ส่วนพระที่ท่านมีเงินมาก ไม่ใช่ว่าไม่ดีนะครับ เงินเป็นของกลางๆ เอามาทำประโยชน์ก็ได้ ผมอยากนิมนต์ให้ท่านเอาเงินในบัญชีเหล่านี้มาทำสาธารณประโยชน์ เช่นสร้างโรงพยาบาล สร้างห้องสมุด สร้างสถานที่ดูแลสัตว์ยากไร้ ให้ทุนเด็กรวมทั้งพระเณรที่เรียนหนังสือแต่ขาดแคลนเงิน เป็นต้น ความต้องการที่ผมบรรยายมานี้ต้องการเงินมหาศาล ท่านมีมากนะดีแล้ว เอามาช่วยกันเถอะครับ หลวงพ่อคูณสมัยมีชีวิตท่านก็ทำของท่านแนวนี้มาก ไม่มีใครอยากตรวจสอบบัญชีท่านหรอก จริงๆ ที่คนอยากตรวจสอบบัญชีพระผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งเวลานี้มาจากเขาไม่เห็นว่าท่านใช้เงินในทางที่ควร

อนุโมทนา

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.