Posted: 10 Jun 2018 10:06 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
วริตตา ศรีรัตนา
“ผู้นำที่ไม่ชอบผู้สืบค้นก็คือผู้นำที่พร้อมจะเป็นทรราช” คือถ้อยคำของทิโมธี สไนเดอร์ ที่ผู้เขียนบทความนี้คัดจากหนังสือของเขาที่ชื่อ ว่าด้วยทรราชย์: 20 บทเรียนจากศตวรรษที่ 20 ตัวอย่างที่เขาใช้คือโดนัลด์ ทรัมป์:
ในระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี ประธานาธิบดีของเราได้อ้างถึงสื่อโฆษณาชวนเชื่อของรัสเซียว่า สื่ออเมริกัน “ที่ผ่านมา นั้นทุจริตอย่างไม่น่าเชื่อ” เขาสั่งแบนผู้สื่อข่าวจากหลายสำนักไม่ให้เข้าไปในงานชุมนุมหาเสียงของเขา และมักจะปลุกปั่นให้สาธารณชนเกลียดชังนักหนังสือพิมพ์ เช่นเดียวกับผู้นำในระบอบอำนาจนิยมคนอื่น ๆ ประธานาธิบดีสัญญาว่าจะระงับเสรีภาพในการพูดด้วยกฎหมายห้ามการวิพากษ์วิจารณ์ เช่นเดียวกับกับฮิตเลอร์ ประธานาธิบดีใช้คำว่า “โกหก” ในการหมายถึงข้อความอันเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกใจเขา และยังนำเสนองานของนักหนังสือพิมพ์ว่าเป็นการรณรงค์ต่อต้านตัวเขา[1]
แหล่งภาพ: https://edition.cnn.com/2016/09/30/asia/
duterte-hitler-comparison/index.html
ผู้เขียนบทความนี้เชื่อว่า เมื่อพวกเราผู้มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หวนมองอดีตที่เพิ่งผ่านมาและหันมองดูรอบด้าน เราเห็นผู้นำที่ล้อเลียน เกลียดชัง และดูถูกนักข่าวและอาชีพนักหนังสือพิมพ์อยู่ในหลายประเทศ มิจำกัดเพียงในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น เราเห็นผู้นำ (ที่คิดว่าตนตลกแต่จริง ๆ ขำไม่ออก) ปาเปลือกกล้วยใส่นักข่าวบ้าง ให้นักข่าวสัมภาษณ์รูปถ่ายขนาดเท่าตัวจริงของตนบ้าง ส่วนที่ไม่อาจเปิดพื้นที่ให้กับความขำขัน (หรือแม้แต่ความขื่นขัน) เลยแม้แต่น้อย คือข้อความที่ว่า “ฆ่าการทำข่าวให้ตายเสีย ระงับการรายงานข่าวในประเทศนี้ซะ” อันเป็นคำท้าทายนักข่าวของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ โรดรีโก ดูเตร์เต คำท้าอันโด่งดังแห่งปี 2016 นี้ มีประโยคสบประมาทพ่วงท้ายที่ว่า “Pagka hindi, mababa na ang tingin ko sa inyo. Para kayong takot” [ถ้าไม่ยอมทำเช่นนั้น ก็จะแลดูน่าสังเวชสำหรับกูเพราะมัวแต่กลัวจนตัวสั่น[2] เราคงจะส่ายหัวและถอนหายใจ จะเอาอะไรมากกับทรราชที่มองว่านักข่าวนักหนังสือพิมพ์เป็นสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำ ฆ่าให้ตายได้ ไม่เป็นปัญหา: “Pero kayong mga low lives, you can die for all I care. Hinihingi 'nyo, pumapasok kayo sa illegal” [เพราะพวกนักข่าวเป็นพวกโลว์ไลฟ์ (สิ่งมีชีวิตชั้นต่ำ) ตายไปก็ไม่เห็นต้องแคร์อะไร ก็หาเรื่องเองนี่ ดันไปทำเรื่องที่ผิดกฎหมายเอง][3] ทรราชที่เมื่อกุมภาพันธ์ของปีนี้ (2018) ยังแบน มาเรีย เรสซา ผู้บริหารสำนักข่าว Rappler และนักข่าวไม่ให้เข้าไปทำข่าวที่ทำเนียบประธานาธิบดี โดยกล่าวหาว่าสำนักข่าวนี้ได้เผยแพร่ข่าวปลอม (fake news)[4] (ซึ่งหมายถึงเผยแพร่ข่าวที่วิพากษ์วิจารณ์ตนและพรรคพวกนั่นเอง)
เมื่อวันที่ 5 กันยายน ปี 2017 สำนักข่าว 888.hu ซึ่งสนับสนุนพรรคฟิแดส (Fidesz) อันเป็นพรรคการเมืองฝ่ายขวาประชานิยมของวิกตอร์ ออร์บาน นายกรัฐมนตรีของฮังการี ได้ตีพิมพ์รายชื่อของนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ รวมถึงช่างภาพ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นกระบอกเสียงของจอร์จ โซรอส ถึง 8 รายด้วยกัน
เนื่องจากจอร์จ โซรอส ถูกออร์บานตราหน้าว่าเป็น ภัยแห่งประเทศชาติ เป็นศัตรูของประเทศฮังการี ด้วยถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สนับสนุนการอพยพหมู่ของชาวมุสลิมในยุโรป[5] ผู้ที่อยู่ในรายชื่อนั้นถือว่าทรยศชาติและเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติไปโดยปริยาย แม้ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่อยู่ในรายชื่อเป็นนักสื่อสารมวลชนที่มีคุณภาพทั้งสิ้น หนึ่งในนั้นเป็นช่างภาพดีกรีรางวัลพูลิตเซอร์ คลิกดูรายชื่อ ประวัติ และคุณสมบัติผู้ถูกกล่าวหาได้ที่นี่ https://budapestbeacon.com/list-introducing-soros-foreign-propagandists/
จากตัวอย่างที่ยกมาทั้งหมดนี้ เราจะเห็นว่าเราอยู่ในสังคมโลกที่การวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำทำให้ผู้ทุ่มเทแรงกายและใจในอาชีพที่ไม่ง่ายนี้ถูกตราหน้าเป็นสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำ ในสังคมโลกที่นักข่าวและนักหนังสือพิมพ์ที่ตั้งคำถามท้าทายอำนาจถูกขึ้นบัญชีดำและถูกล่าแม่มด คำถามที่เราอาจจะถามเล่น ๆ คือหากสิ่งที่ปาใส่นักข่าวไม่ใช่เปลือกกล้วยแต่เป็นระเบิด หากคำกล่าวที่ว่านักข่าวควรถูกสังหารเป็นคำบัญชาหรือคำอนุญาตจริง ๆ ขึ้นมา หากรายชื่อในบัญชีดำคือรายชื่อของผู้ถูกส่งไปค่ายมรณะ จะเกิดอะไรขึ้น ทั้งนี้ ผู้เขียนบทความมิได้จะกล่าวว่าการสังหารนักข่าวไม่เกิดขึ้นจริง ด้วยระหว่างปี 2016-2018 มีนักข่าวที่ถูกสังหารกว่า 180 ราย[6] แต่ผู้เขียนบทความกล่าวถึงการปฏิบัติต่อนักข่าวของผู้นำทั้งหลายที่ไร้ความเคารพและความรับผิดชอบ หากคำพูดรุนแรงและการกระทำอันหมายจะระงับปราบปรามนักข่าวนั้น สามารถสังหารนักข่าวได้จริง จะเกิดอะไรขึ้น
ผู้เขียนบทความเสนอว่าเหตุการณ์และกรณีของสาธารณรัฐสโลวักอาจเป็นบทเรียนที่ช่วยสร้างสำนึกความรับผิดชอบต่อส่วนรวม สนับสนุนการสอบค้นความจริงในหมู่ประชาชน และช่วยสอนให้เราเข้าใจคุณค่าแห่งชีวิตนักข่าวในโลกที่ทรราชมุ่งลดทอนคุณค่าและความหมายของการใช้ปัญญาตรวจสอบคานอำนาจ
แหล่งภาพ: https://www.irishtimes.com/polopoly_fs/1.3429842.1521220043!
ประมาณวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2018 นักข่าวหนุ่มที่ชื่อ ยาน กุตซิอัก (เกิดเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 1990) อายุ 27 ปี และคู่หมั้นของเขาที่ชื่อ มาร์ตินา กุชนีโรวา (ประกอบอาชีพเป็นนักโบราณคดี)[7] อายุ 27 ปี ถูกสังหารด้วยกระสุนปืนในบ้านตัวเองที่ตั้งอยู่ในเมืองแห่งหนึ่งที่ห่างจากบราติสลาวาราว 65 กิโลเมตร กุตซิอักเป็นนักข่าวของสำนักข่าวออนไลน์ Aktuality.sk ที่มุ่งสืบสวนสอบสวนและเปิดโปงความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างนักการเมืองระดับสูงของสโลวาเกียกับกรณีการฉ้อฉลทางภาษี ไม่มีใครทราบวันเกิดเหตุที่แน่นอนเพราะตำรวจไปพบศพหลังจากครอบครัวของทั้งคู่โทรศัพท์แจ้งให้ช่วยตรวจสอบเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ด้วยความเป็นห่วงที่โทรศัพท์ติดต่อไม่ได้หลายวัน ปกติมาร์ตินาจะโทรศัพท์คุยกับมารดาเป็นประจำทุกวัน วันสุดท้ายที่ติดต่อมารดาคือวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ทางการจึงสันนิษฐานว่าวันนั้นหรือวันถัดมาเป็นวันเกิดเหตุ จนถึงทุกวันนั้นยังไม่มีการจับกุมผู้กระทำผิดแต่อย่างใด
เงื่อนงำที่สำคัญคือข้อที่ว่าก่อนถูกสังหาร ยาน กุตซิอัก ได้เขียนรายงานข่าวเปิดโปงความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงระหว่างบริษัทต่าง ๆ ในประเทศของเขาที่ไม่รู้แน่ชัดว่าใครเป็นเจ้าของจริง ๆ และการยักยอกเงินทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป ในบทความที่ตีพิมพ์วันที่ 9 กุมภาพันธ์ กุตซิอักเขียนเปิดโปงการฉ้อฉลทางภาษีกระทำการโดยนักธุรกิจคนหนึ่งที่ชื่อ มาเรียน กอชเนร์ ซึ่งโด่งดังจากความพยายาม (อันไม่ประสบความสำเร็จ)ที่จะซื้อกิจการช่องโทรทัศน์เอกชนที่เรียกว่า ช่องโทรทัศน์มาร์กีซา ด้วยความช่วยเหลือของหน่วยข่าวกรองของรัฐบาลอันมีชื่อย่อว่า หน่วย SIS (Slovenská informačná služba) หรือในภาษาสโลวักเรียกกันทั่วไปว่า หน่วย “ซิสกา”
ส่วนรายงานที่เขายังลงมือเขียนอยู่ช่วงถูกสังหารนั้นเปิดโปงการฉ้อฉลทางภาษีและผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างพรรค Smer-SD (Smer – sociálna demokracia; ภาษาอังกฤษ Direction – Social Democracy Party) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลกับพวกมาเฟียจากอิตาลีที่ชื่อ 'Ndrangheta กุตซิอักเปิดโปงว่าทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันฉ้อฉลทางภาษีและยักยอกเงินทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรปอันเป็นทุนส่งเสริมการพัฒนาภาคตะวันออกของสโลวาเกีย ซึ่งเป็นพื้นที่ยากจน แต่เงินไม่เคยไปถึงมือประชาชน ไม่ได้ทำให้ชีวิตของประชาชนดีขึ้นแต่อย่างใด รายงานข่าวฉบับที่ยังเขียนไม่เสร็จสมบูรณ์ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่โดยสำนักข่าว Aktuality.sk กุตซิอักพาดพิงถึง วิเลียม ยาซัญ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และมาริอา ตรอชโกวา อดีตนางแบบนู้ดผู้กลายมาเป็นที่ปรึกษาของรอเบร์ต ฟิตโซ นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐสโลวัก
เมื่อประชาชนล่วงรู้ข่าวของอาชญากรรมครั้งนี้ และเมื่อข่าวที่ยังเขียนไม่เสร็จของกุตซิอักได้เผยแพร่และแชร์กันทั่วโลกออนไลน์ ปฏิกิริยาที่เราเห็นนั้นนับว่าเป็นสิ่งที่เราเห็นไม่บ่อยนักในประเทศ เนื่องจากมีประวัติศาสตร์อันเจ็บปวดแห่งการไม่มีสิทธิมีเสียงเลือกตั้งอย่างเสรีและชอบธรรมมาเป็นเวลานานกว่า 44 ปี ผู้คนเฉยชาทางการเมืองและไม่ไว้วางใจในสถาบันการเมืองของตน นอกจากการจุดเทียนระลึกถึงยานและมาร์ตินาด้านหน้าห้องบรรณาธิการสำนักพิมพ์ Aktuality.sk และ ณ จัตุรัสหลักในเมืองบราติสลาวาแล้ว ประชาชนในประเทศใกล้เคียงอย่างสาธารณรัฐเช็กยังรวมตัวกันในเมืองปรากและบรือโนโดยทันทีอีกด้วยโซเชียลมีเดียมีส่วนช่วยให้ผู้คนรวมตัวกันตามเมืองต่าง ๆ เพื่อประท้วงต่อต้านรัฐบาล
แฮชแท็ก “#AllForJan” “#รวมกันเพื่อยาน” กลายเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ประชาชนรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้สโลแกน ซา ซลุชเน สโลเวนสโก ซึ่งแปลว่า “เพื่อสโลวาเกียอันชอบธรรม”
ทัศนคติด้านลบที่ประชาชนมีต่อพรรคการเมืองของตน ประกอบกับแรงกดดันจากสื่อต่างชาติและสหภาพยุโรปส่งผลให้รอเบร์ต ฟิตโซและพรรคพวกต้องออกมาประกาศว่ารัฐบาลตั้งเงินรางวัลจำนวนหนึ่งล้านยูโรหากผู้ใดมีข้อมูลเกี่ยวกับฆาตกรรม ในการประชุมสื่อครั้งหนึ่ง ฟิตโซและพรรคพวกนำกองธนบัตรมาวางไว้เบื้องหน้าเพื่อเป็นการยืนยันว่าจะให้เงินรางวัลจริง ผู้เขียนบทความมองว่าการกระทำอันแปลกประหลาดและมีพิรุธเช่นนี้เป็นการกระทำของวัวสันหลังหวะด้วย
แหล่งภาพ: https://www.youtube.com/watch?v=ztNIRIg9y-A
ข้อมูลในข่าวที่ยาน กุตซิอักเขียน แม้จะยังไม่ได้พาดพิงโดยตรง แต่ก็เป็นเงื่อนงำที่สาธารณชนอาจสาวมาถึงฟิตโซได้ รัฐบาลที่ดีและโปร่งใสควรพึ่งพายึดมั่นในความยุติธรรม และทำทุกทางให้กระบวนการสืบสวนสอบสวนมีประสิทธิภาพที่สุดเพื่อนำผู้กระทำผิดตั้งแต่ฆาตกร มาเฟีย และบุคคลในรัฐบาล (รวมถึงผู้นำสูงสุดด้วยหากกระทำผิดจริง) ทุกรายมาเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีตามกฎหมาย ไม่ใช่นำฟ่อนเงินมาวางเรียงและเล่นละครล้อลวงประชาชนกันเช่นนี้
ตัวเลขของผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของฟิตโซอาจดูไม่มาก แต่สำหรับสโลวาเกียแล้วนับว่ามากเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่การชุมนุมประท้วงในช่วงการปฏิวัติกำมะหยี่ปี 1989 (อันเป็นการชุมนุมประท้วงโดยไม่ใช่ความรุนแรงเพื่อต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์พรรคเดียว) สถิติมีดังนี้ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2018 ประชาชนนับ 25,000 คน รวมตัวกัน ณ กรุงบราติสลาวา จำนวนผู้ชุมนุมประท้วงในบราติสลาวาในวันที่ 9 มีนาคมเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 60,000 คน ยังไม่นับผู้คนที่รวมตัวกันตามเมืองต่าง ๆ ในสโลวาเกียนับ 48 แห่ง (ประชาชนที่ออกมาร่วมชุมรุมรวมกันทั้งประเทศประมาณ 120,000 คน)[8] และรวมตัวกันในเมืองต่าง ๆ ทั่วโลกนับ 17 แห่งด้วยกัน มหาวิทยาลัยทั่วประเทศยกเลิกการเรียนการสอนในช่วงบ่ายเพื่อให้บุคลากรและนักศึกษาสามารถไปร่วมชุมนุมอย่างเสรี ผลของการประท้วงเห็นได้เมื่อวันที่ 15 มีนาคม อันเป็นวันที่รอเบร์ต ฟิตโซ นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง แต่ลาออกจากตำแหน่งด้วยหน้าอันเปื้อนรอยยิ้ม ไม่แม้แต่พยายามแสร้งว่าเศร้าโศกเสียใจ เหตุเพราะเป็นที่รู้กันว่าผู้ที่มารับตำแหน่งต่อจากตนและคณะเป็นนอมินีพวกเดียวกัน
ฟิตโซยิ้มแย้มหน้าชื่นหลังยื่นเอกสารลาออก ราวกับไม่เกิดเหตุการณ์สังหารนักข่าวและคู่หมั้น ไม่ยี่หระต่อข้อที่ว่าไม่มีการจับกุมผู้กระทำการสังหาร (มีแต่จับกุม “ปลาตัวเล็ก” หรือผู้ที่เกี่ยวข้องรายย่อยเท่านั้น) โดยเฉพาะบุคคลในรัฐบาลที่ฉ้อโกงและพัวพันกับมาเฟียอิตาลีแต่อย่างใด ด้านหลังเราจะเห็นประธานาธิบดีอันเดรย์ กิสกา ผู้ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งอย่างฉับrลันหรือไม่ก็สับเปลี่ยนปรับปรุงคณะรัฐบาลครั้งใหญ่ ฟิตโซโต้ตอบโดยกล่าวหาว่ากิสกาทรยศต่อรัฐบาล อีกทั้งทรยศต่อชาติโดยกล่าวหาว่าเมื่อปีที่แล้วกิสกาได้เดินทางไปรับเงินสนับสนุนจากจอร์จ โซรอสเพื่อก่อการรัฐประหาร ทั้งที่จริง ๆ แล้วกิสกาเดินทางไปพบโซรอสที่นิวยอร์กเมื่อ 2017 เพื่อหารือเรื่องชนกลุ่มน้อยชาวโรมากับโซรอสเท่านั้น
สองวันหลังการยื่นใบลาออก ท่าทีของฟิตโซได้ทำให้ประชาชนกว่า 65,000 คนออกมาร่วมชุมนุมประท้วงที่บราติสลาวา ยังไม่นับประชาชนอีกมากที่ออกมาร่วมชุมนุมประท้วงในเมืองของตนทั้งในและนอกประเทศ การชุมนุมจัดขึ้นที่เบอร์ลิน บรัสเซลส์ ดับลิน เอดินบะระ กลาสโก เดอะเฮก เฮลซิงกิ โคเปนเฮเกน คราคุฟ ลิสบอน ลอนดอน ลักเซมเบิร์ก มาดริด มาลากา มิวนิก โอโลโมตซ์ นิวยอร์ก ปาโลอัลโต ปารีส ปราก เรคยาวิก ซานเตียโกเดชีเล ซิดนีย์ สต็อกโฮล์ม และวอร์ซอ คราวนี้ประชาชนเรียกร้องให้เลื่อนการเลือกตั้งให้เร็วกว่ากำหนด อีกทั้งให้ยุติบทบาทพรรคการเมืองของรัฐบาลคือพรรค Smer อย่างถาวร
แหล่งภาพ: https://dennikn.sk/1061414/protesty-v-piatok-budu-aj-ked-chce-most-rokovat-o-predcasnych-volbach-zoznam-akcii/
การเรียกร้องครั้งนี้ แม้น่าประทับใจเพียงใดก็ไม่เป็นผล เปเตร์ เปลเลกรีนี ผู้เป็นนอมินีของฟิตโซเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ สโลวาเกียมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่ไม่ใหม่โดยสิ้นเชิง ด้วยเปลเลกรีนีเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีเพียง 5 คนจาก 14 คนในคณะเก่า นโยบายต่าง ๆ ก็ไม่ใหม่ ยังคงยืนยันว่าจะทำตามนโยบายต่อต้านผู้อพยพของฟิตโซอย่างหนักแน่นแข็งขัน หลายคนที่มองโลกในแง่ดีอาจมองว่าอย่างน้อยความเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้เกิดขึ้น ทว่าหลายคนก็ตั้งคำถามว่าเหตุใดคดีการสังหารยาน กุตซิอัก และมาร์ตินา กุชนีโรวา ถึงไม่มีความคืบหน้า ความยุติธรรมไม่บังเกิด พรรคการเมืองพรรคเดิมยังคงครองอำนาจ
บทเรียนอันเจ็บปวดนี้ดูจะเป็นบทเรียนของคนที่เจ็บตัวแบบเสียเปล่า ประชาชนดูจะสิ้นหวัง แต่เท่าที่ผู้เขียนบทความได้สัมภาษณ์อดีตเพื่อนร่วมงานและนักเรียน คนรุ่นใหม่ชาวสโลวักส่วนใหญ่ยังไม่ละทิ้งความพยายาม facebook event เต็มไปด้วยงานชุมนุมและงานเสวนาเพื่อความยุติธรรมให้นักข่าวและคู่หมั้นผู้ถูกสังหาร หลายคนให้ความเห็นว่าประชาชนเริ่มตื่นตัวทางการเมืองมากกว่าเดิม และการนัดแนะจัดกิจกรรมผ่านโซเชียลมีเดียนั้นง่ายและบ่อยขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว แน่นอนอุปสรรคนั้นมี หากเรามองว่าการ “โหน” ช่างเป็นการกระทำที่สากล เหตุการณ์ในสโลวาเกียล่าสุดคงเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ยืนยันความเชื่อนั้น เนื่องจากคนจากพรรค Smer ของฟิตโซโหนการเคลื่อนไหวครั้งนี้โดยไปจดทะเบียนพรรคการเมืองที่ชื่อ ซา ซลุชเน สโลเวนสโก “เพื่อสโลวาเกียอันชอบธรรม” อันเป็นสโลแกนแห่งการเคลื่อนไหวต่อต้านพรรค Smer (ผู้เขียนมองว่าย้อนแย้งกว่าเรื่องนี้คงไม่มี) นักกิจกรรมผู้คิดและสนับสนุนสโลแกนกลุ่มดั้งเดิมจึงพากันพยายามรณรงค์ไม่ให้ประชาชนสนับสนุนพรรคการเมืองดังกล่าว ยังให้เกิดความสับสนเนื่องจากสโลแกนที่ถูกโหนนั้นเป็นสโลแกนที่ช่วยรวมกลุ่มประชาชนให้เป็นเอกภาพมาไม่นานมานี้[9] อย่างไรก็ดี ประชาชนยังไม่หยุดคิดจัดกิจกรรมและวางแผนชุมนุมประท้วงเพื่อยานและมาร์ตินาต่อไป ขอเชิญผู้อ่านชาวไทยร่วมติดตามข่าวเรื่องนี้ได้ต่อไป
กลางกรุงบราติสลาวา ในวันที่เขาเสียชีวิต
แหล่งภาพ: spectator.sme.sk/expat-dies-following-street-attack-in-bratislava-attacker-charged-with-manslaughter
ด่านพิสูจน์ความชอบธรรมของสโลวาเกียและการตื่นตัวทางการเมืองของชาวสโลวักรุ่นใหม่อันแท้จริงด่านต่อไปเห็นได้ในเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ คือเหตุที่เกิดเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ชาวสโลวักนามยุราย ฮอสซา ทำร้ายร่างกายเฮนรี อคอร์ดา ชาวฟิลิปปินส์ผู้พำนักในสโลวาเกียและทำงานที่สำนักงาน IBM ที่บราติสลาวา จนถึงแก่ชีวิต สำนักข่าวหลายแห่งรวมทั้งพยานผู้อยู่ในเหตุการณ์ยืนยันว่าการก่อเหตุนี้เป็นอาชญากรรมแห่งความเกลียดชัง เหยียดเชื้อชาติ และแม้กระทั่งเหยียดเพศ ข้อเท็จจริงสำคัญที่เราควรคำนึงคือเฮนรีถูกทำร้ายหลังพยายามปกป้องเพื่อนผู้หญิงที่ถูกคุกคามโดยยุราย (สื่อบางสำนักได้สันนิษฐานเรื่องเพศสภาพของเฮนรีและได้นำเหตุการณ์นี้ไปเทียบกับการทำร้ายร่างกายเด็กวัยรุ่น LGBT สองคนที่เกิดขึ้นที่เมืองอื่นในเวลาไล่เลี่ยกันอีกด้วย)[10]
เฮนรีเสียชีวิตที่โรงพยาบาลเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ประชาชนชาวสโลวักและชาวต่างประเทศที่พำนักอยู่ในสาธารณรัฐสโลวักวางแผนจัดกิจกรรมและชุมนุมเพื่อรณรงค์ต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติและการเหยียดเพศ อันเป็นวาทกรรมที่พรรค Smer สนับสนุนในระดับของนโยบาย เบื้องต้นทางกลุ่มนักเคลื่อนไหวผู้จัดงานร่วมรำลึกถึงเฮนรีและเรียกร้องความยุติธรรมให้เขานั้นวางแผนจะจัดงานชุมนุมในวันที่ 6 มิถุนายน แต่เนื่องจากฝนตกหนักมาก ผู้จัดจำต้องยกเลิกงาน เลื่อนไปเป็นวันใดยังต้องรอประกาศต่อไป เสียงตอบรับจากประชาชนทั้งออนไลน์และไม่ออนไลน์อาจไม่ท่วมท้นเท่าในกรณีการชุมนุมเพื่อยาน กุตซิอัก และมาร์ตินา กุชนีโรวา แต่ผู้เขียนบทความเชื่อว่าหากไม่เกิดการรวมตัวในกรณีแรก ประชาชนจะไม่ตื่นตัวมากกว่าเดิมเช่นนี้ นับว่ายังมีแสงสว่างรำไรแห่งความหวังอยู่บ้าง และหวังว่าจะไม่มอดไปเพราะถูกพรรคการเมืองโหนเพื่อเรียกคะแนนเสียงอีกครา
บทเรียนราคาแพงที่ยังไม่จบสิ้นเพราะยังไม่ได้รับความยุติธรรมนี้ ประเทศไทยจะนำมาปรับใช้อย่างไรได้บ้าง ทั้งนี้คงขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้อ่านบทความเอง ที่แน่ ๆ คือบทความนี้และบทเรียนจากสโลวาเกียอาจชวนให้บางท่านตั้งคำถามว่าประชาชนชาวไทยจะรวมตัวกันชุมนุมในลักษณะนี้หากนักเขียนผู้สอบค้นความจริงคนหนึ่งถูกสังหาร หรือแม้กระทั่งว่าหากเรามีเงื่อนงำในมือเรื่องการฉ้อโกงของทางการในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างในกรณีที่ประชาชนชาวสโลวาเกียได้รับจากนักข่าวหรือไม่ เราจะลุกขึ้นสืบค้นข้อมูลและร่วมกันต่อสู้หรือไม่ มหาวิทยาลัยในไทยจะสนับสนุนให้นิสิตนักศึกษาไปร่วมชุมนุมหรือไม่ ที่ผ่านมาเราเห็นนิสิตนักศึกษาผู้ลุกขึ้นประท้วงโดยสันติถูกปราบปรามลงโทษ นักข่าวถูกเย้ยและลดทอนความน่าเชื่อถือ และนักกิจกรรมผู้หมายจะสืบค้นความจริง (ท่านอาจนึกถึงกิจกรรม "นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง" เป็นตัวอย่าง) ถูกขัดขวางกักตัว ไม่มีการช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสอบค้นความจริงเพื่อความโปร่งใส
แหล่งภาพ: https://thestandard.co/tchalla-for-black-panther-killed-by-premchai/
กรณีของเปรมชัย กรรณสูต และกระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้า กรณีนักท่องเที่ยวหลายรายที่ถูกข่มขืน ทำร้ายร่างกายและสังหารที่เกาะเต่า อีกทั้งถ้อยคำโต้ตอบจากผู้นำเกี่ยวกับนักท่องเที่ยวและการใส่ชุดบิกีนี [11] เป็นวิกฤตการณ์และตัวอย่างความอยุติธรรมที่เราไม่ควรลืม เหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะปลุกให้ประชาชนชาวไทยตื่นตัวและร่วมชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองมากกว่าที่เป็นอยู่ ทำไมถึงไม่เป็นเช่นนั้น #AllAgainstPremchai ไม่บังเกิดในระดับมวลชนทั้งที่เรารู้อยู่ว่าใครเป็นอาชญากรผู้ก่อการ
กรณีของชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมเยาวชนชาวลาหู่ ที่ถูกสังหารด้วยกระสุนปืนของเจ้าหน้าที่ทหารประจำด่านตรวจถาวรบ้านรินหลวง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2560 ที่ผ่านมา[12] แต่กระบวนการพิจารณาคดีอาญากลับไม่ชี้ว่าเป็นวิสามัญฆาตกรรม ไม่ออกหมายเรียกหลักฐานกล้องวงจรปิดแม้ร้องขอถึง 2 ครั้ง ทำให้ตั้งคำถามว่าความยุติธรรมอยู่ที่ใด ล่าสุดทนายความและกลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องความยุติธรรมให้ชัยภูมิ ป่าแส วางแผนจะจัดงานวิชาการใหญ่ในเดือนหน้า [13] ในระดับของประชาชนทั่วไป เรารู้สึกว่าควรลุกขึ้นมาทำอะไรหรือไม่ #AllForChaiyaphum จะบังเกิดหรือไม่ เราต้องคอยติดตาม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราต้องไม่ลืมว่าการเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองนั้นขึ้นอยู่กับพวกเราประชาชนทุกคน
ท้ายบทความนี้ผู้เขียนขอยกข้อคิดที่ทิโมธี สไนเดอร์ฝากเอาไว้มาเตือนใจพวกเรา หลังบทความนี้ขอให้เราเห็นคุณค่าแห่งอาชีพนักเขียนและนักข่าวผู้สืบค้นความจริง (จริงอยู่ที่ประชาชนสามารถทำหน้าที่เป็นพลเมืองนักข่าวได้ทุกคนแต่เราต้องตระหนักว่าผู้ประกอบอาชีพนี้เต็มตัว บรรดานักวิจัย และผู้ลงสนามสืบค้นความจริงเต็มตัวล้วนต้องทุ่มเทเวลา แรงกาย และเสี่ยงชีวิตมากเพียงใด):
การวิจัยและการเขียนเป็นงานยากที่ต้องอาศัยเวลาและเงิน ก่อนที่คุณจะหัวเราะเยาะ “สื่อกระแสหลัก” พึงระลึกว่าสื่อที่ว่านั้นไม่ใช่กระแสหลักอีกต่อไป การหัวเราะเยาะนั้นต่างหากที่กลายเป็นกระแสหลักและทำได้ง่ายดาย และการสืบสวนสอบสวนจริง ๆ นั้นเป็นงานที่เสี่ยงและยากลำบาก เพราะฉะนั้นจงพยายามด้วยตัวคุณเองที่จะเขียนบทความที่แท้จริง เชื่อมโยงกับโลกความเป็นจริง ออกเดินทาง สัมภาษณ์ และรักษาความสัมพันธ์กับแหล่งข้อมูล จดวิจัยบันทึกที่เป็นข้อเขียน ตรวจสอบทุกสิ่ง เขียนและแก้ไขร่างของตัวเอง ทำทุกอย่างนี้ในตารางเวลาที่แสนจะแน่นและไร้ความปรานี ถ้าคุณทำแล้วรู้สึกว่าตัวเองชอบ ขอให้เขียนบล็อกต่อไป ในขณะเดียวกันนี้ ก็ขอให้ยกความดีความชอบให้คนที่ทำงานนี้เป็นวิชาชีพ ผู้สื่อข่าวไม่ได้สมบูรณ์แบบมากไปกว่าคนอื่น ๆ ในวิชาชีพอื่น ๆ ที่ไม่สมบูรณ์แบบ แต่งานของคนที่ยึดหลักจริยธรรมวารสารสิ่งพิมพ์นั้นมีคุณภาพต่างจากงานของคนที่ไม่ได้ยึดมั่นในหลักการใดเลย [14]
เมื่อ “ผู้นำที่ไม่ชอบผู้สืบค้นก็คือผู้นำที่พร้อมจะเป็นทรราช” มาตรการป้องกันและแก้ไขทางเดียวของประชาชนผู้หวังดีต่อประเทศชาติและต้องการอนาคตที่ดีกว่า คือการลงมือสืบค้นและสอบสวนข้อเท็จจริงด้วยตัวเองอย่างยืนหยัดและไม่หวั่นเกรง เมื่อชีวิตและผลงานนักข่าวคนหนึ่งในสโลวาเกียสามารถระดมประชาชนให้รวมตัวกันทั่วประเทศและหลายพื้นที่ทั่วโลกมากเป็นประวัติการณ์ อีกทั้งช่วยให้ประชาชนที่เคยเฉยชาสิ้นหวังตื่นตัวทางการเมืองได้ในระดับหนึ่ง
ลองคิดดูสิว่าหากประชาชนชาวไทยทุกคนทำหน้าที่เป็นพลเมืองนักข่าว ช่วยกันคานอำนาจตรวจสอบโดยไม่เกรงกลัวที่จะตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจ หากประชาชนชาวไทยพร้อมจะรวมตัวกันต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมโดยมองว่าอาชญากรรมต่อผู้อื่นเป็นเรื่องของเราด้วย ต้องรับผิดชอบและต้องหาผู้มารับผิดชอบร่วมกัน สังคมเราจะเป็นเช่นไร วันนี้พรุ่งนี้ไม่มีคำว่าสายเกินไป เรามาเริ่มกันเถิด
#AllForElection
#AllForChaiyaphum
#AllAgainstPremchai
#AllAgainstDictatorship
เชิงอรรถ
[1]ว่าด้วยทรราชย์: 20 บทเรียนจากศตวรรษที่ 20 เขียนโดย ทิโมธี สไนเดอร์ ฉบับแปลภาษาไทยโดย เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และ ชยางกูร ธรรมอัน (บรรณาธิการ: วริตตา ศรีรัตนา) อยู่ในระหว่างการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สำนักนิสิตสามย่าน คาดว่าจะแล้วเสร็จและเผยแพร่ภายในพ.ศ. 2561
[2] http://www.gmanetwork.com/news/news/nation/568593/duterte-dares-media-to-boycott-his-activities/story/ หมายเหตุ: สำนวนแปลภาษาไทยในบทความนี้เป็นของผู้เขียนทั้งสิ้น
[3] https://www.rappler.com/nation/135177-duterte-media-killings-not-my-problem
[4] https://www.aljazeera.com/news/2018/02/duterte-bans-rappler-reporters-presidential-palace-180220130842018.html
[5] https://www.indexoncensorship.org/2017/09/viktor-orban-campaign-against-journalists/
[6] https://cpj.org/data/killed/?status=Killed&motiveConfirmed%5B%5D=Confirmed&motiveUnconfirmed%5B%5D=Unconfirmed&type%5B%5D=Journalist&start_year=2016&end_year=2018&group_by=year
[7] http://www.karch.ff.ukf.sk/index.php/sk/katedra/16-studium/26-uspesni-absolventi-katedry
[8] https://www.aktuality.sk/clanok/571169/online-protesty-po-vrazde-jana-kuciaka-a-martiny-kusnirovej/
[9] https://domov.sme.sk/c/20797026/za-slusne-slovensko-politicka-strana-magda-zelenakova-olej-hardn.html
[10] https://spectator.sme.sk/c/20842697/two-youths-beaten-in-trencin-due-to-sexual-orientation.htm
[11] https://www.theguardian.com/world/2014/sep/18/thai-prime-minister-apologises-bikini-comments-murder
[12] https://www.innnews.co.th/breaking-news/news_104693/
[13] https://prachatai.com/journal/2018/06/77311
[14]ว่าด้วยทรราชย์: 20 บทเรียนจากศตวรรษที่ 20 เขียนโดย ทิโมธี สไนเดอร์ ฉบับแปลภาษาไทยโดย เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และ ชยางกูร ธรรมอัน (บรรณาธิการ: วริตตา ศรีรัตนา)
**ขอขอบคุณ Veronika Planková ที่ช่วยตรวจสอบความน่าเชื่อถือของเอกสารภาษาสโลวักที่เลือกใช้ และขอขอบคุณ Barbora Kráľová บรรณาธิการใหญ่ฝ่ายวรรณกรรมแห่งสำนักพิมพ์ Ikar สาธารณรัฐสโลวัก ที่ช่วยแบ่งปันประสบการณ์การร่วมชุมนุมและส่งข่าวสารล่าสุดจากสื่อสโลวักแทบทุกสำนักมาพิจารณาประกอบการเขียน ขออุทิศบทความนี้แด่นักข่าวและนักกิจกรรมทางการเมืองทุกท่าน แด่ผู้ถูกกดขี่และสังหารโดยทรราชและระบอบเผด็จการทั่วโลก
และแด่มิตรสหายในสโลวาเกีย #AllForJan**
เกี่ยวกับผู้เขียน: ผศ.ดร.วริตตา ศรีรัตนา (verita.s@chula.ac.th) เป็นประธานหลักสูตร PhD in European Studies (PEUS) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[full-post]
แสดงความคิดเห็น