Posted: 12 Jun 2018 06:57 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
หมายเหตุ: บทความนี้ตั้งใจจะนำเสนอใน วงสนทนา “112ปี พุทธทาสวิจารณ์ได้” เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ณ วัชรสิทธา ชั้น 5 อาคารพงศ์วรภา แต่ผู้เขียนติดภารกิจจึงมิสามารถจะเข้าร่วมได้ จึงขอนำเสนอในรูปของบทความผ่านประชาไท มา ณ ที่นี้
บทนำ
หากกล่าวว่าชนชั้นกลางมีส่วนอย่างยิ่งในการสนับสนุนรัฐประหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เราอาจกล่าวได้เช่นกันว่า ชุดศีลธรรมบางประการที่คนเหล่านี้ยึดถือและอ้างถึงมีส่วนร่วมในการเติมน้ำมันรถถังให้เข้ามายึดอำนาจรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย ในที่นี้ขอนำเสนอชุดศีลธรรมแบบพุทธทาส โดยเฉพาะประเด็น "เผด็จการโดยธรรม" ที่แม้หลายคนพยายามตีความว่าเป็นการ "เล่นคำ" ของพุทธทาส โดยไม่มีนัยแบบตรงตัวอักษร หากสำหรับผู้เขียนแล้วนับเป็นข้อกังขาเป็นอย่างยิ่ง และเสนอว่าวลีนี้เป็นสินค้าทางศีลธรรมในนาม "พุทธ(ทาส)พาณิชย์" ที่ถูกผลิตซ้ำและนำไปบริโภคต่อในสังคมการเมืองไทยที่มักจะตัดขาดมิติทางการเมืองของศาสนาออกไปโดยไม่ตระหนักถึงอิทธิพลของมัน
พุทธ(ทาส)พาณิชย์ และเผด็จการโดยธรรม
พุทธทาสมรณภาพในปี 2536 ความแตกต่างจากภิกษุอื่นๆผู้โด่งดังหลังมรณภาพก็คือ พุทธทาสมิได้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างเช่นเกจิอาจารย์ต่างๆ เช่น การที่เผาศพแล้วอัฐิกลายเป็นพระธาตุ หรือ การที่ซากสังขารไม่เน่าเปื่อย ไม่มีการกล่าวถึงปาฏิหาริย์ หรือสิ่งเหนือธรรมชาติใดๆ แต่ชื่อเสียงของพุทธทาสกลับยังดำรงอยู่ และสืบต่อในฐานะของคำสอน ภาพลักษณ์ที่เรียบง่าย จุดเด่นของพุทธทาสมิใช่การวิปัสสนาในรูปแบบการนั่งสมาธิ เข้าฌาณ แต่เป็นการใช้วาทะ ข้อเขียนเป็นเครื่องมือสำคัญในการเผยแพร่และสร้างการเข้าถึง ในระยะหลังการอ้างอิงวลี ประโยค คำสอนของพุทธทาส ถูกนำมาใช้เช่นเดียวกับคำคมของผู้มีชื่อเสียงระดับโลกต่างๆ ดังที่เราอาจจะได้ยิน "ตัวกู ของกู" "ตายก่อนตาย" "นิพพานชิมลอง" ฯลฯ
ท่ามกลางกระแสการบริโภคศาสนาและความเชื่อ ความศรัทธาแบบชาวบ้านกับพุทธแบบชาวบ้าน คุณไสย ฯลฯ ถูกตีตราอย่างด่วนสรุปว่างมงาย กระทั่งการชี้ว่าเป็น "เดรัจฉานวิชา" ขณะที่สำนักพุทธทาสนิยม ไม่มีภาพลักษณ์ดังกล่าว แต่กลับมีภาพที่เป็นพุทธศาสนาแห่งความมีเหตุผล ศาสนาแห่งความฉลาด ทั้งที่บางแง่มุมของพุทธทาสอย่างความเป็นนักทดลอง การบุกเบิกการสอนและปฏิบัติที่แหวกแนวและแตกต่าง กลับมิได้รับการเน้นย้ำ (เช่น การวิพากษ์คัมภีร์วิสุทธิมรรค การชี้ว่า พระอภิธรรมเป็นส่วนเกินของไตรปิฎก ฯลฯ)
จะเห็นว่าสำนักพุทธทาสนิยม ไม่สามารถสร้างเครือข่ายพระสงฆ์ได้ในระดับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต, หลวงปู่ชา สุภัทโท ฯลฯ ที่แม้จะมีชื่อเสียง แต่ก็วางระบบสร้างลูกศิษย์และมีระเบียบของสำนักตนขึ้นมาด้วย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับเป็นลูกศิษย์ที่เป็นชนชั้นกลางที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ประเวศ วะสี, อังคาร กัลยาณพงษ์, เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, สุลักษณ์ ศิวรักษ์, รสนา โตสิตระกูล ฯลฯ กรณีนักบวชอย่างสมณโพธิรักษ์แห่งสันติอโศก, พระไพศาล วิสาโล, ว.วชิรเมธี ก็ไม่ได้ถือว่าเป็นศิษย์สำนักสวนโมกข์แต่รับคำสอนของพุทธทาสมาตีความอีกต่อหนึ่ง กลุ่มคนเหล่านี้เองได้สอนของพุทธทาสมาผลิตซ้ำ หรือรวมตัวกันทำกิจกรรมต่างๆ ในนามของพุทธทาส
จึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่ผู้ที่อยู่แวดล้อมพุทธทาส จะเป็นชนชั้นกลาง คนในเขตเมือง ผู้เขียนเสนอว่า การขยายตัวของการบริโภคความเป็นพุทธทาสนั้นสัมพันธ์กับสิ่งที่เรียกว่า "พุทธ(ทาส)พาณิชย์" นั่นคือ การแปลงพุทธทาสให้เป็นสินค้า ซึ่งต่างจากพุทธพาณิชย์ที่ชนชั้นกลางปรามาสอย่างเช่นพวกเครื่องราง ของขลัง แต่สินค้าประเภทนี้ คือ สินค้าอันประณีตของชนชั้นกลาง เดิมพุทธทาสเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ การเผยแพร่ผ่านหนังสือ การรู้จักภาพลักษณ์ผ่าน ปกหนังสือ และองค์ประกอบต่างๆ เช่น ลายมือ ภาพถ่ายของพุทธทาสและสภาพแวดล้อมของสวนโมกข์ เรียกได้ว่า คลังอัตลักษณ์ของพุทธทาสนั้นมีอยู่มากหลายจนสามารถนำไปผลิตเป็นสินค้าได้ ไม่ว่าจะเป็น หนังสือ ปฏิทิน โปสการ์ด เทป ซีดี เสื้อยืด ฯลฯ สินค้าเช่นนี้บรรจุคำสอน โอวาทที่มีลักษณะเป็นคำคมที่ดูแสดงถึงภูมิของผู้บริโภคสินค้านั้นๆ ความเป็นสินค้าธรรมะพรีเมียมของพุทธทาสยิ่งทำให้แยกพุทธทาสออกไปจากปริมณฑลทางการเมือง ทั้งที่ข้อเสนอของเขามีความเกี่ยวข้องกับการเมืองเป็นอย่างยิ่ง
ผู้เขียนได้อภิปรายความเป็นการเมืองของพุทธทาสในประเด็น "เผด็จการโดยธรรม" อย่างละเอียดในบทความที่ชื่อว่า "ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ! วิพากษ์พุทธทาสในวันล้ออายุปีที่ 105" เมื่อปี 2554[1] โดยสรุปก็คือ พุทธทาสไม่ได้เชื่อในการเมืองระบอบประชาธิปไตย เท่ากับ คนดีที่แม้จะเป็นเผด็จการก็ตาม พุทธทาสยกอุปมากับพระพุทธเจ้าที่ฟันดูคล้ายกับสฤษดิ์ ธนะรัชต์มากกว่า แต่ยิ่งกว่านั้นคืออยู่เหนือกฎหมายเสียด้วย
“พระพุทธเจ้าท่านมีระบบสังคมนิยมแต่วิธีปฏิบัติงานเป็นเผด็จการ... ประชาธิปไตยมันโอ้เอ้ไม่ทำประโยชน์ให้ทันแก่เวลา...มันต้องมีการบังคับและ ให้ทำทันที...มิหนำซ้ำพระองค์เองก็ทรงบัญญัติว่า ทรงอยู่เหนือวินัย เช่นเดียวกับที่ว่ากฎหมายสมัยโน้น เขาบัญญัติใช้แก่ประชาชนไม่ใช้แก่พระราชา” [2]
บริบทของเนื้อหานี้น่าจะเป็นข้อความที่ส่งไปถึงสัญญา ธรรมศักดิ์ ที่ช่วยให้กำลังใจ และเสริมความชอบธรรมให้กับเขาที่ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน ช่วงปี 2518 โดยเฉพาะประโยคที่ว่า “ถ้าคนดีเผด็จการ นั่นแหละดี ถ้าคนเลวก็ใช้ไม่ได้ เมื่อระบบสังคมนิยมดี มันต้องมีเครื่องมือเป็นเผด็จการ” [3] ซึ่งเราก็เห็นผลลัพธ์ได้ดีว่า สัญญา ธรรมศักดิ์ล้มเหลวเพียงใด
เมื่อพิจารณาจากประเด็น "พุทธ(ทาส)พาณิชย์" แล้ว ศัพท์ "เผด็จการโดยธรรม" นั้นได้รับการจดจำและกล่าวถึงอย่างมีนัยสำคัญ และถูกนำมาใช้ต่างกรรม ต่างวาระ ในฐานะสินค้าทางธรรมะในเวลาต่อมา
รัฐประหาร 2549 กับ เผด็จการโดยธรรม
ความพ้องกันอย่างบังเอิญก็คือ ปีที่ครบ 100 ปี ชาตกาลพุทธทาส เป็นปีเดียวกันกับที่เกิดรัฐประหาร 2549 รัฐประหารที่ทิ้งช่วงจากครั้งก่อน 15 ปี และที่กลายเป็นวาระใหญ่โตก็เนื่องจากองค์การยูเนสโกยกย่องเป็น "บุคคลสำคัญของโลก" เกียรติภูมิของพุทธทาสในช่วงนี้ยิ่งทำให้วงการพุทธ(ทาส)พาณิชย์คึกคักยิ่งขึ้น เกิดการผลิตสื่อคำสอน และสินค้าทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับพุทธทาสขึ้นมาจำนวนมาก เช่น นิตยสารในเดือนพฤษภาคมอย่าง ศิลปวัฒนธรรม, สารคดี การพิมพ์ต้นฉบับต่างๆ เช่น 100 ปี ร้อยจดหมาย พุทธทาส-สัญญา, ร้อยคน ร้อยธรรม 100 ปี พุทธทาส, ชาตกาล 100 ปี พุทธทาสภิกขุ ประวัติชีวิต การงาน หลักธรรม ฯลฯ
ข้อสังเกตสำคัญก็คือ แม้ทักษิณ ชินวัตร ก็อ้างถึงผลงานของพุทธทาสด้วยความยกย่อง ในวาระที่จะครบรอบ 100 ปีชาตกาลพุทธทาส เมื่อปี 2548
“คำหนึ่งที่พระพุทธทาสพูดไว้ในหนังสือธรรมะกับการเมือง คือ ท่านให้ความสนใจต่อบุคลากรทางการเมืองมาก ประชาธิปไตยจะรุ่งเรืองหรือไม่อยู่ที่คุณภาพของบุคลากรทางการเมืองเป็นหลัก ระบบอย่างเดียวไม่พอ ท่านพูดว่าถ้านักการเมืองไม่เป็นนักการเมืองโพธิสัตว์ ถ้านักการเมืองไม่รักเพื่อนมนุษย์ ไม่เข้าใจว่าเพื่อน มนุษย์คือเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันทั้งสิ้น ถ้ามีนักการเมืองแบบนั้นมากๆ ประชาธิปไตยจะกลายเป็นประชาธิปตาย เป็นสิ่งที่ดีมาก ท่านให้สติมาก”[4]
ในข้อความนี้ทักษิณเน้น "บุคคล" ไปคู่กับ "ระบบ" นักการเมืองที่ดีแบบ "นักการเมืองโพธิสัตว์" ที่รักเพื่อนมนุษย์ เข้าใจความเป็นเพื่อนทุกข์ คือ คำตอบ ความเชื่อดังกล่าวร่วมกับแนวคิด "เผด็จการโดยธรรม" ที่พุทธทาสเสนอเช่นกัน และมันจะกลายมาเป็นหอกที่กลับมาทิ่มแทงทักษิณและขบวนการทางการเมืองที่สนับสนุนพวกเขา การอ้างพุทธทาสโดยทักษิณดังกล่าว เป็นประเด็นที่ทำให้เจิมศักดิ์หยิบขึ้นมาโจมตีเพื่อลดความชอบธรรมในการอ้างถึงพุทธทาส และชี้ให้เห็นถึงการดำเนินนโยบายที่ขัดกับสิ่งที่พุทธทาสสอน ว่า
"ดูแล้ว ก็ไม่แปลกใจ ที่ท่านผู้นำของเรา จะอ้างว่า รู้ซึ้งถึงแนวทางพุทธศาสนาและรู้ซึ้งคำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาส แต่นิยมแก้ปัญหายาเสพติดด้วยการฆ่าตัดตอน แก้ปัญหาไข้หวัดนกด้วยการฆ่าไก่ทิ้ง และกินไก่โชว์ แก้ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ด้วยการอุ้ม ฆ่า ตาต่อตา ฟันต่อฟัน แก้ปัญหาคอรัปชั่นสนามบินสุวรรณภูมิ ด้วยการบิดประเด็นไปที่มหานครสุวรรณภูมิกับการมีสนามบินยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ฯลฯ ผู้นำของเรา ช่างรู้แจ้งถึงแก่นพุทธศาสนา และรู้ซึ้งถึงคำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาส เสียจริง"[5]
ด้านหนึ่งแล้วก็ปฏิเสธมิได้ถึงปัญหาของรัฐบาลไทยรักไทย กรณีทุจริต หรือการดำเนินนโยบายอันเป็นที่น่ากังขา สวมรูปกับภาพนักการเมืองที่ชั่วร้ายอย่างลงตัว ปฏิเสธมิได้เลยว่า ลูกศิษย์ลูกหาพุทธทาสเป็นผู้ร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่มีบทบาทสำคัญที่ "ออกบัตรเชิญรัฐประหาร" จำลอง ศรีเมืองที่มักแสดงตนว่ามีความใกล้ชิดกับพุทธทาส พิภพ ธงไชย[6], เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง[7], รสนา โตสิตระกูล[8] ฯลฯ ก็ล้วนมีบทบาทในเวทีของพันธมิตรฯ ที่มีการนำที่แข็งแกร่งโดยสนธิ ลิ้มทองกุลและสื่อเครือผู้จัดการที่มาพร้อมคำขวัญ "เราจะสู้เพื่อในหลวง"
ที่น่าสนใจคืองานเสวนาเดือนมีนาคม 2549 ก่อนรัฐประหาร 6 เดือนมีการกล่าวถึง "เผด็จการโดยธรรม" โดยตรงจากการชูประเด็นของเหวง โตจิราการ ยกคำพูดของพุทธทาสขึ้นมากล่าวว่า "เราต้องมีประชาธิปไตยอย่างที่เป็นธัมมิกสังคมนิยมและต้องเป็นเผด็จการด้วย ให้มันหมดความกำกวมกันเสียทีแปลความได้ว่า ต้องเป็น 'เผด็จการโดยธรรม' " ส่วน ว.วชิรเมธี เห็นไม่ต่างกันนักว่า "ธัมมิกสังคมนิยมจะเป็นระบอบการปกครองแบบใดก็ได้แม้แต่ระบอบเผด็จการ แต่ต้องมีธรรมะเป็นตัวกำกับเสมอ...ธัมมิกสังคมนิยม ในความหมายของท่านพุทธทาสหมายถึงการปกครองทุกๆ ระบอบเท่าที่โลกมี ที่มีธรรมะเป็นส่วนผสมอยู่ในนั้น...ดังนั้น เราจะเห็นว่าธัมมิกสังคมนิยม ไม่ได้หมายความว่าต้องสถาปนาระบอบการปกครองขึ้นมาใหม่ชนิดที่เรียกว่าเป็นเอกเทศเลย แต่หมายถึงระบอบการปกครองทุกระบอบเพียงแต่เพิ่มคำว่าธรรมะเข้าไปในระบอบการปกครองให้เป็นการปกครองโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของชนส่วนใหญ่"[9]
ในที่สุดรัฐบาลประชาธิปไตยที่ถูกตรวจสอบอย่างหนัก ก็ถูกเช็คบิลด้วยรถถังของทหารบกในวันที่ 19 กันยายน 2549 อย่างไรก็ตามการกล่าวโทษพุทธทาสว่าเป็นเหตุให้รัฐประหารคงไม่เป็นธรรมนัก อย่างไรก็ตามการอ้างพุทธทาสจะมากขึ้นเรื่อยๆ หลังรัฐประหาร 2549 วาทกรรมทางศีลธรรมแบบพุทธทาสงอกเงยเติบโตอย่างน่าสนใจ เมื่อคณะรัฐประหารที่นำโดยสุรยุทธ์ จุลานนท์ไม่สามารถกำจัดทักษิณ ชินวัตรและพรรคการเมืองของเขาได้อย่างเด็ดขาด การทำลายล้างกลุ่มการเมืองนี้จึงยิ่งเพิ่มน้ำหนักไปที่ศีลธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ
กรณีพิภพ ธงไชย ยกคำพุทธทาสมาโต้นักการเมืองบนเวทีปราศรัยที่สะพานมัฆวานเพื่อต่อต้านรัฐบาลพรรคพลังประชาชน เมื่อปี 2551 ในประเด็น "ธรรมมิกสังคมนิยม" ว่า “การเมืองในปัจจุบันมีแต่อสัตบุรุษ เพราะการเมืองที่ไม่ได้มีธรรมะจึงทำให้นักการเมืองกลายเป็นสัตว์ไปจริงๆตามที่ท่านพุทธทาสระบุไว้”[10] เข้าใจว่าที่พิภพยกมา มาจากหนังสือเรื่อง ธรรมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ[11] อันเป็นหนังสือสำคัญเล่มหนึ่งที่ให้อรรถาธิบายประเด็น "เผด็จการโดยธรรม" ไว้
การชุมนุมยกระดับไปจนถึงการยึดทำเนียบรัฐบาลกลางปี 2551 และการยึดสนามบินสุวรรณภูมิช่วงปลายปี 2551 แรงกดดันทางการเมืองนำไปสู่การยุบพรรคพลังประชาชนแล้วมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยมีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรี
ในทางกลับกัน เมืองไทยภายใต้รัฐบาลประชาธิปัตย์อันเป็นฐานสำคัญของกลุ่มคนต่อต้านฝ่ายทักษิณและผู้สนับสนุน การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มเสื้อแดงที่ผงาดขึ้นมาคู่กับคนเสื้อเหลือง ทำให้การกำหนดความดี-ชั่ว เกิดขึ้นในอีกรูปแบบหนึ่ง คราวนี้มิได้มุ่งไปที่ทักษิณและนักการเมืองอย่างเดียวแล้ว แต่มันได้กวาดไปถึงมวลชนผู้สนับสนุนพรรคหลังจากที่การชุมนุมเสื้อแดงมีแนวโน้มคุกคามการใช้ชีวิตของคนเขตเมืองหลังจากมีการชุมนุมช่วงสงกรานต์ปี 2552 อย่างไรก็ตามมีการปราบปราบและสลายการชุมนุมลงไป จนกระทั่งปีรุ่งขึ้นก็มีการชุมนุมใหญ่อีกครั้งแต่คราวนี้ยึดครองพื้นที่ใจกลางเมืองกรุงอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนนั่นคือ การยึดพื้นที่บริเวณราชประสงค์
โดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ดี วลีเจ้าปัญหาของ ว.วชิรเมธี ที่ว่า "ฆ่าเวลาบาปไม่น้อยไปกว่าการฆ่าคน" ที่ปรากฏในทวิตเตอร์ของ ว.วชิรเมธี คืนวันที่ 9 เมษายน 2553[12]ก่อนการปราบเสื้อแดงในวันที่ 10 ก็หาข้อแก้ตัวได้ยากว่าเป็นการโพสต์โดยไม่มีบริบททางการเมือง ดังที่กล่าวมาแล้วว่าจุดเด่นของพุทธทาสคือการ "เล่นคำ" ที่มีลักษณะกระตุกความคิด การที่ ว.วชิรเมธี ทวิตเล่นคำในบริบทเช่นนี้ จะเจตนาหรือไม่ก็ตาม จนเกิดความตีความว่า สิ่งที่ ว.วชิรเมธีทวิต อาจไม่ต่างจากบทสัมภาษณ์ของ พระกิตติวุฑโฑ ที่รู้จักกันในวลีว่า "ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป" อย่างไรก็ตาม ว.วชิรเมธีได้ชี้แจงในเวลาต่อมาว่า การทวิตดังกล่าวเป็นของอาสาสมัคร และชี้ว่าหากลองอ่านให้ดี ไม่ได้บอกว่าฆ่าคนไม่บาป แต่สามารถตีความได้ว่า "ฆ่าคนก็บาป ฆ่าเวลาก็บาป" บาปในที่นี้ไม่ใช่บาปในความหมายเดียวกับการฆ่าคน แต่เป็นการพูดเพื่อ"กระตุก"ให้ตื่นมาเห็นความสำคัญของเวลา และกล่าวอุปมาว่าฆ่าเวลาบาปมากกว่า ก็เพราะคนเราอาจเผลอฆ่าเวลาให้ผ่านไปอย่างไร้ค่าได้วันหนึ่งๆ นับร้อยครั้งพันครั้ง และแนวคิดนี้ก็อยู่ในบทความชื่อ "มายาการของหลอดด้าย" ที่สอนให้คนเข้าใจคุณค่าเวลาที่เขียนประมาณปี 2550[13] อีกหนึ่งเดือนต่อมาการล้อมปราบเสื้อแดงบริเวณราชประสงค์เพื่อยึดพื้นที่คืน เกิดขึ้นพร้อมกับความตายของคนเสื้อแดง การกระชับพื้นที่คืน เรียกร้องคนกรุงเทพฯ ออกมาล้างถนนเพื่อชำระสิ่งสกปรกที่เกิดขึ้นจากการชุมนุม ทั้งที่เป็นการทำลายหลักฐานจากการล้อมปราบของทหารที่เข้ามาปฏิบัติการ ความโกรธแค้นดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นเฉพาะในเมืองหลวงแต่ลุกลามไปยังจังหวัดต่างๆ ด้วย กระนั้นในวาระที่ครบรอบ 6 เดือนการปราบปราบเสื้อแดงที่ราชประสงค์ ก็พบว่า ว.วชิรเมธีได้บรรยายหัวข้อ "ขยายพื้นที่ของความดี กระชับพื้นที่แห่งความชั่ว" ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2553 ทั้งที่ศัพท์กระชับพื้นที่ถูกใช้ในการจัดการกับเสื้อแดง ชื่อหัวข้อนี้จึงทำให้เรากระหวัดไปถึงการล้อมปราบในเดือนพฤษภาคมขึ้นมา ไม่ว่าจัดเจนหรือไร้เดียงสาทางการเมือง ว.วชิรเมธีก็ได้นำตัวเองไปสู่ทิศทางตรงกันข้ามกับมวลชนกลุ่มใหญ่ไปแล้ว
หลังจากการที่กรุงเทพฯ สงบสุขจากการชุมนุมของคนเสื้อแดง ก็ได้ฤกษ์การเปิดสวนโมกข์กรุงเทพฯ ในเดือนสิงหาคม 2553 คำให้สัมภาษณ์ของบัญชา พงษ์พานิชสะท้อนแนวคิดเกี่ยวกับพื้นที่ดังกล่าวเมื่อเทียบกับความวุ่นวายหลายเดือนก่อนในกรุงเทพฯว่า “ช่วงที่ผ่านมาบ้านเมืองเราพูดถึงเรื่องการกระชับพื้นที่กันมามากแล้ว จึงอยากใช้โอกาสนี้ขอคืนพื้นที่บุญ ให้กับสังคมไทยสักครั้งที่สวนโมกข์ กรุงเทพฯ อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อให้ทุกคนได้มาร่วมคืนพื้นที่บุญในใจตน และมาตกลงใจกันว่าต่อไปนี้เราจะขยายพื้นที่บุญให้กว้างขึ้นทุกแห่งทุกหน”[14] สวนโมกข์กรุงเทพฯได้รับการสนับสนุนเครือข่ายทุนยักษ์ใหญ่ในประเทศ และผู้มากบารมี[15] ใช้งบประมาณถึง 285 ล้านบาท บนแปลงที่ดินของสวนสาธารณะที่ได้รับพระบรมราชานุญาตแสดงให้เห็นถึงสถานะที่สูงส่งของพุทธทาสที่วางตัวลงใจกลางกรุงเทพฯ คำว่า "กระชับพื้นที่" และ "ขอคืนพื้นที่" ที่ถูกใช้งานในช่วงปราบเสื้อแดงก็ยังเป็นวลีที่ถูกผลิตซ้ำและติดอยู่ในมโนทัศน์ชนชั้นกลาง และแสดงให้เห็นถึงความชอบธรรมในการใช้อำนาจและกำลังจัดการอย่างไม่ต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน
รัฐประหาร 2557 กับ เผด็จการโดยธรรม
ก่อนรัฐประหาร 2557 คำสอนของพุทธทาสที่ถูกเลือกมาไม่น้อยผูกพันอยู่กับ อำนาจที่เป็นธรรม อันสูงส่งกว่า ระบอบการเมืองโลกย์ๆ เมื่อฝันร้ายของชนชั้นกลางกลับมาอีกรอบ พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของคนที่พวกเขาเกลียดแสนเกลียดได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งสูงสุดในการบริหารประเทศ เธอโดนโจมตีมากมายทั้งการบริหารงาน ไปจนถึงบุคลิก เรื่องส่วนตัว กระทั่งการถูกถากถางและสร้างเรื่องอื้อฉาวทางเพศสาดโคลนใส่ โดยเฉพาะประเด็นช่วยเหลือพี่ชายที่เป็นสุดยอดตัวร้ายในสายตาของชนชั้นกลาง ในคราวที่ทักษิณกลับไทยชั่วคราวมาในปี 2554 แต่ไม่ถูกจับกุมนั่นคือ "ความพ่ายแพ้พลังศีลธรรม"[16]
ที่น่าสนใจคือ โทนการโพสต์สื่อโซเชียลของ ว.วชิรเมธี ที่เปลี่ยนจากส่งเสริมรัฐบาลสมัยอภิสิทธิ์มาเป็นส่อเสียดรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ในเฟสบุ๊คของเขาปรากฏดังนี้[17]
“การเมืองที่ไม่มีธรรมะ คือหายนะของมวลรวมประชาชาติ”
(28 มีนาคม 2555)
“ประชาธิปไตยที่ได้มาเพราะเงิน มักเป็นสินค้าด้อยคุณภาพ"
(28 มีนาคม 2555)
“ประชาธิปไตยอำนาจเป็นของประชาชน แต่เราลืมถามว่าประชาชนมีศักยภาพพอที่จะใช้อำนาจหรือยัง”
(16 เมษายน 2555)
“เนสา สภา ยตถ น สนติ สนโต: คนดีไม่มีอยู่ในที่ใด ที่นั้นไซร้ไม่ควรเรียกว่า สภา”
(20 ตุลาคม 2555)
ผู้เขียนเสนอว่าพลังทางพุทธศาสนา และความเชื่อแบบพุทธทาสในมิติของ "เผด็จการโดยธรรม" นี้เองเป็นพลังงานแฝงในการทำรัฐประหาร ปี 2557 อีกครั้งหนึ่ง เมื่อการชุมนุมทางการเมืองในปี 2556-2557 ในนามของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่มีสัญลักษณ์สำคัญคือการเป่านกหวีดเพื่อขับไล่รัฐบาลอันเริ่มมาจากการประท้วงการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งของรัฐบาล นำไปสู่การจุดติดเรื่องการชุมนุม รัฐบาลถูกกดดันอย่างหนักจนต้องยุบสภาเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ในเมื่อธงของฝ่ายเคลื่อนไหว ไม่ใช่การเลือกตั้ง พวกเขาพยายามขัดขวางการเลือกตั้งเรียกร้อง "การปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง" อีกนัยหนึ่งก็คือ การเรียกร้องให้เกิดการรัฐประหาร ซึ่งพวกเขาก็ทำได้สำเร็จจริงๆ ในเดือนพฤษภาคม 2557 ที่ทหารเติมน้ำมันและเคลื่อนรถถังออกมาอีกครั้ง
การชุมนุมด้วยคนมหาศาล การยึดพื้นที่สาธารณะ ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากเหล่าชนชั้นกลางที่ถูกกระตุ้นด้วยมโนทัศน์ทางศีลธรรม นักการเมืองรายบุคคลถูกวิจารณ์เรียงตัวด้วยกรอบความดีความชั่ว พลังมหาศาลนี้ถูกนำโดยนักการเมืองที่เดิมมีภาพลักษณ์ที่ไม่น่าไว้ใจมาก่อน นั่นคือ สุเทพ เทือกสุบรรณ การเคลื่อนไหวครั้งนี้เขาเปลี่ยนภาพนักการเมืองมาเป็น "ลุงกำนัน" ที่พึ่งพาได้ และพร้อมจะเปลี่ยนแปลงประเทศด้วยความดีงาม กองทัพธรรมครั้งนี้ กลุ่มที่มีบทบาทนอกจากสันติอโศกแล้ว ก็คือ พุทธอิสระที่เป็นพระสายบู๊ และเป็นตัวสะท้อนการเมืองศีลธรรมที่มีพระสงฆ์เป็นกองหนุนอันสำคัญ
หลังปิดงานสำคัญด้วยสิ่งที่เรียกว่า รัฐประหารแล้ว สุเทพ เทือกสุบรรณ หาทางลงด้วยวิธีการเดียวกับดารา หรือผู้เป็นข่าวอื้อฉาวทั้งหลาย ก็คือ การชุบตัวด้วยการเข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุ แต่ที่เปี่ยมความหมายอย่างยิ่งก็คือ การไปจำวัดอยู่ที่วัดธารน้ำไหล หรือสวนโมกขพลาราม สุราษฎร์ธานี ฐานที่มั่นสำคัญของพุทธทาสภิกขุ ทั้งยังมีสถานะ "พระบวชใหม่วีไอพี" ต่างจากพระนวกะอื่นๆ ที่มาจำพรรษาที่นี่เช่นกัน ในทางกลับกันสุเทพยังได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นกล่าวกันว่า ตั้งแต่พุทธทาสมรณภาพไป ช่วงดังกล่าวสวนโมกข์กลับมาแน่นขนัด ญาติโยมยื้อแย่งกันใส่บาตร โดยมีเป้าหมายมากราบและถ่ายรูปกับ "หลวงลุงกำนัน"[18] ปรากฏการณ์นี้ยิ่งทำให้เห็นถึงความแนบแน่นทางอุดมการณ์ศีลธรรมแบบพุทธทาสที่ตอบโจทย์การเคลื่อนไหวเพื่อล้มล้างรัฐบาลที่ไร้ความชอบธรรม ระบอบประชาธิปไตยไม่ได้ตอบโจทย์สังคมไทยที่พวกเขาคาดหวัง เมื่อขาดแคลนเผด็จการผู้เป็นธรรม
บทสรุป เผด็จการครึ่งใบ กับ รัฐประหารในอนาคต
จากบทเรียนของรัฐประหารทั้งสองครั้ง ที่มีอุดมการณ์ทางศีลธรรมและการเมืองแบบพุทธทาสกำกับอยู่ ตราบใดที่ยังไม่มีการทำความเข้าใจและการแก้ไขโจทย์ดังกล่าวนั่นหมายถึงว่า ในอนาคตพลังเช่นนี้ก็จะหนุนให้เกิดการรัฐประหารอีก เพราะการรัฐประหารไม่ได้อยู่ที่พลานุภาพทางอาวุธเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่พลานุภาพทางศีลธรรมที่เป็นตัวกำหนดและกำกับ วงจรรัฐประหารไม่ถูกตัดขาดไปง่ายๆ เพราะพลังความชอบธรรมในการตีความทางพุทธศาสนา ในที่นี้หมายถึงคำสอนพุทธทาสแบบคัดสรรอย่าง "เผด็จการโดยธรรม" ที่เป็นสินค้าทางศีลธรรม ก็จะทำงานเช่นนี้ต่อไป
หากไม่ละทิ้ง หรือตีความพุทธทาสแบบใหม่ ก็ยากที่จะละจากโลกรัฐประหารและการยึดอำนาจของเหล่าเผด็จการหรืออาจกล่าวได้ว่า หากปล่อยไว้ วลี "เผด็จการโดยธรรม" อาจกลายเป็นส่วนหนึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับไม่เป็นลายลักษณ์อักษรของประเทศไทยไปอีกนานเท่านาน.
เชิงอรรถ
[1] ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. "ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ! วิพากษ์พุทธทาสในวันล้ออายุปีที่ 105". สืบค้นเมื่อ 12 เมษายน 2561 จาก https://prachatai.com/node/35144/talk (27 พฤษภาคม 2554)
[2] ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ฯ, 2518, หน้า103
[3] ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ฯ, 2518, หน้า112
[4] ผู้จัดการ Online. " 'ทักษิณ' อ้างศึกษา 'พุทธทาส' ลึกซึ้ง-ใช้ 'ธรรมนำการเมือง' ". สืบค้นเมื่อ 11 เมษายน 2561 จาก http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9480000145877(22 ตุลาคม 2548)
[5] เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง. "ทักษิณรู้แจ้งพุทธศาสนา รู้ซึ้งคำสอนอาจารย์พุทธทาส แค่ตั้งโจทย์ ก็ผิดแล้ว". สืบค้นเมื่อ 11 เมษายน 2561 จาก https://prachatai.com/journal/2005/11/6300 (7 พฤศจิกายน 2548)
[6] พิภพ ธงไชย มีความสัมพันธ์ที่ดีกับพุทธทาส ดูจากการประสานงานให้มาซาโนบุ ฟุกูโอกะ ผู้เขียน ปฏิวัติด้วยฟางเส้นเดียว เข้าพบเมื่อปี 2533 ดูใน หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ. BIA7.1/16 พิภพ ธงไชย (พ.ศ.2478-2536) สืบค้นเมื่อ 11 เมษายน 2561 จาก http://archives.bia.or.th/front-show_page_detail_bak.php?pdfid=5809&main_level=2&main_refcode=BIA07010007-0161-0084-00-0000 (10 สิงหาคม 2533)
[7] เจิมศักดิ์ อ้างถึงความใกล้ชิดจากการไปทำรายการสัมภาษณ์ ดูใน เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง. "พุทธศาสนากับการเมืองสามานย์". สืบค้นเมื่อ 11 เมษายน 2561 จาก http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9510000085461(21 กรกฎาคม 2551)
[8] รสนากล่าวถึงพุทธทาสว่าเป็นแรงบันดาลใจหนึ่ง ดูใน สุขใจ. "รสนา โตสิตระกูล : บนหนทางเพื่อชีวิตและสังคม". สืบค้นเมื่อ 11 เมษายน 2561 จาก http://www.sookjai.com/index.php?topic=178357.0 (10 สิงหาคม 2559)
[9] ผู้จัดการ Online. "100 ปีพุทธทาส เมื่อการเมืองยังต้องการธรรมะ". สืบค้นเมื่อ 12 เมษายน 2561 จาก https://mgronline.com/daily/detail/9490000032193 (9 มีนาคม 2549)
[10] ผู้จัดการ Online. "“พิภพ” ยกคำ “พุทธทาส” ซัดนักการเมือง “หลงกิเลส”". สืบค้นเมื่อ 11 เมษายน 2561 จาก https://mgronline.com/politics/detail/9510000084430 (17 กรกฎาคม 2551)
[11] ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ โดย พุทธทาสภิกขุ พิมพ์แจกเป็นที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพ นางมณฑา หมื่นนิกร ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม กรุงเทพมหานคร วันเสาร์ที่ 13 ธันวาคม 2518 (กรุงเทพฯ : อักษรสัมพันธ์), 2518
[12] วิจักขณ์ พานิช. " 'ความคมของฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน' บทเรียนของพุทธศาสนาในสังคมประชาธิปไตย ". สืบค้นเมื่อ 11 เมษายน 2561 จาก https://blogazine.pub/blogs/buddhistcitizen/post/3465 (8 มิถุนายน 2555)
[13] ประชาชาติธุรกิจ. " ท่าน 'ว.วชิรเมธี' ขอเคลียร์ ออกหนังสือ 'ชำระความเชื่อ เพื่อเอื้อความจริง' ". สืบค้นเมื่อ 12 เมษายน 2561 จาก https://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1357812819 (11 มกราคม 2556)
[14] โพสต์ทูเดย์ "เปิดสวนโมกข์กรุงเทพฯคืนพื้นที่บุญให้ประเทศไทย". สืบค้นเมื่อ 11 เมษายน 2561 จาก https://www.posttoday.com/politic/report/40839 (25 กรกฎาคม 2553)
[15] ทุนจัดตั้ง เครือซิเมนต์ไทย (SCG), ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), ธนาคารออมสิน, บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ทุนภัทร จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท. เคมิคอล จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม, จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน), บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด, (มหาชน), คุณเจริญ - คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี, นพ.ชัยยุทธ - ม.ร.ว.พรรณจิตร กรรณสูต, ขุนบวรรัตนารักษ์ - นางช้อย - นางสาวยุพา บวรรัตนารักษ์, สุธีรัตนามูลนิธิ นครศรีธรรมราช
[16] ผู้จัดการ Online. " 'ทักษิณ' กลับไทยไม่ติดคุก คือความพ่ายแพ้พลังศีลธรรม ". สืบค้นเมื่อ 12 เมษายน 2561 จาก https://mgronline.com/politics/detail/9540000147005 (19 พฤศจิกายน 2554)
[17] ธนากร พันธุระ และอังกูร หงษ์คณานุเคราะห์, "การศึกษาความสัมพันธ์ของความเชื่อทางศาสนากับโครงสร้างอำนาจการเมืองไทยกรณีศึกษา คำสอนของพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว. วชิรเมธี)", วารสารสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 40 : 1 : 26-27
[18] วิจักขณ์ พานิช. "พระสุเทพกับสวนโมกข์". สืบค้นเมื่อ 12 เมษายน 2561 จาก https://prachatai.com/journal/2014/11/56321(2 พฤศจิกายน 2557)
[full-post]
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
หมายเหตุ: บทความนี้ตั้งใจจะนำเสนอใน วงสนทนา “112ปี พุทธทาสวิจารณ์ได้” เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ณ วัชรสิทธา ชั้น 5 อาคารพงศ์วรภา แต่ผู้เขียนติดภารกิจจึงมิสามารถจะเข้าร่วมได้ จึงขอนำเสนอในรูปของบทความผ่านประชาไท มา ณ ที่นี้
บทนำ
หากกล่าวว่าชนชั้นกลางมีส่วนอย่างยิ่งในการสนับสนุนรัฐประหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เราอาจกล่าวได้เช่นกันว่า ชุดศีลธรรมบางประการที่คนเหล่านี้ยึดถือและอ้างถึงมีส่วนร่วมในการเติมน้ำมันรถถังให้เข้ามายึดอำนาจรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย ในที่นี้ขอนำเสนอชุดศีลธรรมแบบพุทธทาส โดยเฉพาะประเด็น "เผด็จการโดยธรรม" ที่แม้หลายคนพยายามตีความว่าเป็นการ "เล่นคำ" ของพุทธทาส โดยไม่มีนัยแบบตรงตัวอักษร หากสำหรับผู้เขียนแล้วนับเป็นข้อกังขาเป็นอย่างยิ่ง และเสนอว่าวลีนี้เป็นสินค้าทางศีลธรรมในนาม "พุทธ(ทาส)พาณิชย์" ที่ถูกผลิตซ้ำและนำไปบริโภคต่อในสังคมการเมืองไทยที่มักจะตัดขาดมิติทางการเมืองของศาสนาออกไปโดยไม่ตระหนักถึงอิทธิพลของมัน
พุทธ(ทาส)พาณิชย์ และเผด็จการโดยธรรม
พุทธทาสมรณภาพในปี 2536 ความแตกต่างจากภิกษุอื่นๆผู้โด่งดังหลังมรณภาพก็คือ พุทธทาสมิได้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างเช่นเกจิอาจารย์ต่างๆ เช่น การที่เผาศพแล้วอัฐิกลายเป็นพระธาตุ หรือ การที่ซากสังขารไม่เน่าเปื่อย ไม่มีการกล่าวถึงปาฏิหาริย์ หรือสิ่งเหนือธรรมชาติใดๆ แต่ชื่อเสียงของพุทธทาสกลับยังดำรงอยู่ และสืบต่อในฐานะของคำสอน ภาพลักษณ์ที่เรียบง่าย จุดเด่นของพุทธทาสมิใช่การวิปัสสนาในรูปแบบการนั่งสมาธิ เข้าฌาณ แต่เป็นการใช้วาทะ ข้อเขียนเป็นเครื่องมือสำคัญในการเผยแพร่และสร้างการเข้าถึง ในระยะหลังการอ้างอิงวลี ประโยค คำสอนของพุทธทาส ถูกนำมาใช้เช่นเดียวกับคำคมของผู้มีชื่อเสียงระดับโลกต่างๆ ดังที่เราอาจจะได้ยิน "ตัวกู ของกู" "ตายก่อนตาย" "นิพพานชิมลอง" ฯลฯ
ท่ามกลางกระแสการบริโภคศาสนาและความเชื่อ ความศรัทธาแบบชาวบ้านกับพุทธแบบชาวบ้าน คุณไสย ฯลฯ ถูกตีตราอย่างด่วนสรุปว่างมงาย กระทั่งการชี้ว่าเป็น "เดรัจฉานวิชา" ขณะที่สำนักพุทธทาสนิยม ไม่มีภาพลักษณ์ดังกล่าว แต่กลับมีภาพที่เป็นพุทธศาสนาแห่งความมีเหตุผล ศาสนาแห่งความฉลาด ทั้งที่บางแง่มุมของพุทธทาสอย่างความเป็นนักทดลอง การบุกเบิกการสอนและปฏิบัติที่แหวกแนวและแตกต่าง กลับมิได้รับการเน้นย้ำ (เช่น การวิพากษ์คัมภีร์วิสุทธิมรรค การชี้ว่า พระอภิธรรมเป็นส่วนเกินของไตรปิฎก ฯลฯ)
จะเห็นว่าสำนักพุทธทาสนิยม ไม่สามารถสร้างเครือข่ายพระสงฆ์ได้ในระดับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต, หลวงปู่ชา สุภัทโท ฯลฯ ที่แม้จะมีชื่อเสียง แต่ก็วางระบบสร้างลูกศิษย์และมีระเบียบของสำนักตนขึ้นมาด้วย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับเป็นลูกศิษย์ที่เป็นชนชั้นกลางที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ประเวศ วะสี, อังคาร กัลยาณพงษ์, เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, สุลักษณ์ ศิวรักษ์, รสนา โตสิตระกูล ฯลฯ กรณีนักบวชอย่างสมณโพธิรักษ์แห่งสันติอโศก, พระไพศาล วิสาโล, ว.วชิรเมธี ก็ไม่ได้ถือว่าเป็นศิษย์สำนักสวนโมกข์แต่รับคำสอนของพุทธทาสมาตีความอีกต่อหนึ่ง กลุ่มคนเหล่านี้เองได้สอนของพุทธทาสมาผลิตซ้ำ หรือรวมตัวกันทำกิจกรรมต่างๆ ในนามของพุทธทาส
จึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่ผู้ที่อยู่แวดล้อมพุทธทาส จะเป็นชนชั้นกลาง คนในเขตเมือง ผู้เขียนเสนอว่า การขยายตัวของการบริโภคความเป็นพุทธทาสนั้นสัมพันธ์กับสิ่งที่เรียกว่า "พุทธ(ทาส)พาณิชย์" นั่นคือ การแปลงพุทธทาสให้เป็นสินค้า ซึ่งต่างจากพุทธพาณิชย์ที่ชนชั้นกลางปรามาสอย่างเช่นพวกเครื่องราง ของขลัง แต่สินค้าประเภทนี้ คือ สินค้าอันประณีตของชนชั้นกลาง เดิมพุทธทาสเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ การเผยแพร่ผ่านหนังสือ การรู้จักภาพลักษณ์ผ่าน ปกหนังสือ และองค์ประกอบต่างๆ เช่น ลายมือ ภาพถ่ายของพุทธทาสและสภาพแวดล้อมของสวนโมกข์ เรียกได้ว่า คลังอัตลักษณ์ของพุทธทาสนั้นมีอยู่มากหลายจนสามารถนำไปผลิตเป็นสินค้าได้ ไม่ว่าจะเป็น หนังสือ ปฏิทิน โปสการ์ด เทป ซีดี เสื้อยืด ฯลฯ สินค้าเช่นนี้บรรจุคำสอน โอวาทที่มีลักษณะเป็นคำคมที่ดูแสดงถึงภูมิของผู้บริโภคสินค้านั้นๆ ความเป็นสินค้าธรรมะพรีเมียมของพุทธทาสยิ่งทำให้แยกพุทธทาสออกไปจากปริมณฑลทางการเมือง ทั้งที่ข้อเสนอของเขามีความเกี่ยวข้องกับการเมืองเป็นอย่างยิ่ง
ผู้เขียนได้อภิปรายความเป็นการเมืองของพุทธทาสในประเด็น "เผด็จการโดยธรรม" อย่างละเอียดในบทความที่ชื่อว่า "ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ! วิพากษ์พุทธทาสในวันล้ออายุปีที่ 105" เมื่อปี 2554[1] โดยสรุปก็คือ พุทธทาสไม่ได้เชื่อในการเมืองระบอบประชาธิปไตย เท่ากับ คนดีที่แม้จะเป็นเผด็จการก็ตาม พุทธทาสยกอุปมากับพระพุทธเจ้าที่ฟันดูคล้ายกับสฤษดิ์ ธนะรัชต์มากกว่า แต่ยิ่งกว่านั้นคืออยู่เหนือกฎหมายเสียด้วย
“พระพุทธเจ้าท่านมีระบบสังคมนิยมแต่วิธีปฏิบัติงานเป็นเผด็จการ... ประชาธิปไตยมันโอ้เอ้ไม่ทำประโยชน์ให้ทันแก่เวลา...มันต้องมีการบังคับและ ให้ทำทันที...มิหนำซ้ำพระองค์เองก็ทรงบัญญัติว่า ทรงอยู่เหนือวินัย เช่นเดียวกับที่ว่ากฎหมายสมัยโน้น เขาบัญญัติใช้แก่ประชาชนไม่ใช้แก่พระราชา” [2]
บริบทของเนื้อหานี้น่าจะเป็นข้อความที่ส่งไปถึงสัญญา ธรรมศักดิ์ ที่ช่วยให้กำลังใจ และเสริมความชอบธรรมให้กับเขาที่ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน ช่วงปี 2518 โดยเฉพาะประโยคที่ว่า “ถ้าคนดีเผด็จการ นั่นแหละดี ถ้าคนเลวก็ใช้ไม่ได้ เมื่อระบบสังคมนิยมดี มันต้องมีเครื่องมือเป็นเผด็จการ” [3] ซึ่งเราก็เห็นผลลัพธ์ได้ดีว่า สัญญา ธรรมศักดิ์ล้มเหลวเพียงใด
เมื่อพิจารณาจากประเด็น "พุทธ(ทาส)พาณิชย์" แล้ว ศัพท์ "เผด็จการโดยธรรม" นั้นได้รับการจดจำและกล่าวถึงอย่างมีนัยสำคัญ และถูกนำมาใช้ต่างกรรม ต่างวาระ ในฐานะสินค้าทางธรรมะในเวลาต่อมา
รัฐประหาร 2549 กับ เผด็จการโดยธรรม
ความพ้องกันอย่างบังเอิญก็คือ ปีที่ครบ 100 ปี ชาตกาลพุทธทาส เป็นปีเดียวกันกับที่เกิดรัฐประหาร 2549 รัฐประหารที่ทิ้งช่วงจากครั้งก่อน 15 ปี และที่กลายเป็นวาระใหญ่โตก็เนื่องจากองค์การยูเนสโกยกย่องเป็น "บุคคลสำคัญของโลก" เกียรติภูมิของพุทธทาสในช่วงนี้ยิ่งทำให้วงการพุทธ(ทาส)พาณิชย์คึกคักยิ่งขึ้น เกิดการผลิตสื่อคำสอน และสินค้าทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับพุทธทาสขึ้นมาจำนวนมาก เช่น นิตยสารในเดือนพฤษภาคมอย่าง ศิลปวัฒนธรรม, สารคดี การพิมพ์ต้นฉบับต่างๆ เช่น 100 ปี ร้อยจดหมาย พุทธทาส-สัญญา, ร้อยคน ร้อยธรรม 100 ปี พุทธทาส, ชาตกาล 100 ปี พุทธทาสภิกขุ ประวัติชีวิต การงาน หลักธรรม ฯลฯ
ข้อสังเกตสำคัญก็คือ แม้ทักษิณ ชินวัตร ก็อ้างถึงผลงานของพุทธทาสด้วยความยกย่อง ในวาระที่จะครบรอบ 100 ปีชาตกาลพุทธทาส เมื่อปี 2548
“คำหนึ่งที่พระพุทธทาสพูดไว้ในหนังสือธรรมะกับการเมือง คือ ท่านให้ความสนใจต่อบุคลากรทางการเมืองมาก ประชาธิปไตยจะรุ่งเรืองหรือไม่อยู่ที่คุณภาพของบุคลากรทางการเมืองเป็นหลัก ระบบอย่างเดียวไม่พอ ท่านพูดว่าถ้านักการเมืองไม่เป็นนักการเมืองโพธิสัตว์ ถ้านักการเมืองไม่รักเพื่อนมนุษย์ ไม่เข้าใจว่าเพื่อน มนุษย์คือเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันทั้งสิ้น ถ้ามีนักการเมืองแบบนั้นมากๆ ประชาธิปไตยจะกลายเป็นประชาธิปตาย เป็นสิ่งที่ดีมาก ท่านให้สติมาก”[4]
ในข้อความนี้ทักษิณเน้น "บุคคล" ไปคู่กับ "ระบบ" นักการเมืองที่ดีแบบ "นักการเมืองโพธิสัตว์" ที่รักเพื่อนมนุษย์ เข้าใจความเป็นเพื่อนทุกข์ คือ คำตอบ ความเชื่อดังกล่าวร่วมกับแนวคิด "เผด็จการโดยธรรม" ที่พุทธทาสเสนอเช่นกัน และมันจะกลายมาเป็นหอกที่กลับมาทิ่มแทงทักษิณและขบวนการทางการเมืองที่สนับสนุนพวกเขา การอ้างพุทธทาสโดยทักษิณดังกล่าว เป็นประเด็นที่ทำให้เจิมศักดิ์หยิบขึ้นมาโจมตีเพื่อลดความชอบธรรมในการอ้างถึงพุทธทาส และชี้ให้เห็นถึงการดำเนินนโยบายที่ขัดกับสิ่งที่พุทธทาสสอน ว่า
"ดูแล้ว ก็ไม่แปลกใจ ที่ท่านผู้นำของเรา จะอ้างว่า รู้ซึ้งถึงแนวทางพุทธศาสนาและรู้ซึ้งคำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาส แต่นิยมแก้ปัญหายาเสพติดด้วยการฆ่าตัดตอน แก้ปัญหาไข้หวัดนกด้วยการฆ่าไก่ทิ้ง และกินไก่โชว์ แก้ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ด้วยการอุ้ม ฆ่า ตาต่อตา ฟันต่อฟัน แก้ปัญหาคอรัปชั่นสนามบินสุวรรณภูมิ ด้วยการบิดประเด็นไปที่มหานครสุวรรณภูมิกับการมีสนามบินยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ฯลฯ ผู้นำของเรา ช่างรู้แจ้งถึงแก่นพุทธศาสนา และรู้ซึ้งถึงคำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาส เสียจริง"[5]
ด้านหนึ่งแล้วก็ปฏิเสธมิได้ถึงปัญหาของรัฐบาลไทยรักไทย กรณีทุจริต หรือการดำเนินนโยบายอันเป็นที่น่ากังขา สวมรูปกับภาพนักการเมืองที่ชั่วร้ายอย่างลงตัว ปฏิเสธมิได้เลยว่า ลูกศิษย์ลูกหาพุทธทาสเป็นผู้ร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่มีบทบาทสำคัญที่ "ออกบัตรเชิญรัฐประหาร" จำลอง ศรีเมืองที่มักแสดงตนว่ามีความใกล้ชิดกับพุทธทาส พิภพ ธงไชย[6], เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง[7], รสนา โตสิตระกูล[8] ฯลฯ ก็ล้วนมีบทบาทในเวทีของพันธมิตรฯ ที่มีการนำที่แข็งแกร่งโดยสนธิ ลิ้มทองกุลและสื่อเครือผู้จัดการที่มาพร้อมคำขวัญ "เราจะสู้เพื่อในหลวง"
ที่น่าสนใจคืองานเสวนาเดือนมีนาคม 2549 ก่อนรัฐประหาร 6 เดือนมีการกล่าวถึง "เผด็จการโดยธรรม" โดยตรงจากการชูประเด็นของเหวง โตจิราการ ยกคำพูดของพุทธทาสขึ้นมากล่าวว่า "เราต้องมีประชาธิปไตยอย่างที่เป็นธัมมิกสังคมนิยมและต้องเป็นเผด็จการด้วย ให้มันหมดความกำกวมกันเสียทีแปลความได้ว่า ต้องเป็น 'เผด็จการโดยธรรม' " ส่วน ว.วชิรเมธี เห็นไม่ต่างกันนักว่า "ธัมมิกสังคมนิยมจะเป็นระบอบการปกครองแบบใดก็ได้แม้แต่ระบอบเผด็จการ แต่ต้องมีธรรมะเป็นตัวกำกับเสมอ...ธัมมิกสังคมนิยม ในความหมายของท่านพุทธทาสหมายถึงการปกครองทุกๆ ระบอบเท่าที่โลกมี ที่มีธรรมะเป็นส่วนผสมอยู่ในนั้น...ดังนั้น เราจะเห็นว่าธัมมิกสังคมนิยม ไม่ได้หมายความว่าต้องสถาปนาระบอบการปกครองขึ้นมาใหม่ชนิดที่เรียกว่าเป็นเอกเทศเลย แต่หมายถึงระบอบการปกครองทุกระบอบเพียงแต่เพิ่มคำว่าธรรมะเข้าไปในระบอบการปกครองให้เป็นการปกครองโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของชนส่วนใหญ่"[9]
ในที่สุดรัฐบาลประชาธิปไตยที่ถูกตรวจสอบอย่างหนัก ก็ถูกเช็คบิลด้วยรถถังของทหารบกในวันที่ 19 กันยายน 2549 อย่างไรก็ตามการกล่าวโทษพุทธทาสว่าเป็นเหตุให้รัฐประหารคงไม่เป็นธรรมนัก อย่างไรก็ตามการอ้างพุทธทาสจะมากขึ้นเรื่อยๆ หลังรัฐประหาร 2549 วาทกรรมทางศีลธรรมแบบพุทธทาสงอกเงยเติบโตอย่างน่าสนใจ เมื่อคณะรัฐประหารที่นำโดยสุรยุทธ์ จุลานนท์ไม่สามารถกำจัดทักษิณ ชินวัตรและพรรคการเมืองของเขาได้อย่างเด็ดขาด การทำลายล้างกลุ่มการเมืองนี้จึงยิ่งเพิ่มน้ำหนักไปที่ศีลธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ
กรณีพิภพ ธงไชย ยกคำพุทธทาสมาโต้นักการเมืองบนเวทีปราศรัยที่สะพานมัฆวานเพื่อต่อต้านรัฐบาลพรรคพลังประชาชน เมื่อปี 2551 ในประเด็น "ธรรมมิกสังคมนิยม" ว่า “การเมืองในปัจจุบันมีแต่อสัตบุรุษ เพราะการเมืองที่ไม่ได้มีธรรมะจึงทำให้นักการเมืองกลายเป็นสัตว์ไปจริงๆตามที่ท่านพุทธทาสระบุไว้”[10] เข้าใจว่าที่พิภพยกมา มาจากหนังสือเรื่อง ธรรมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ[11] อันเป็นหนังสือสำคัญเล่มหนึ่งที่ให้อรรถาธิบายประเด็น "เผด็จการโดยธรรม" ไว้
การชุมนุมยกระดับไปจนถึงการยึดทำเนียบรัฐบาลกลางปี 2551 และการยึดสนามบินสุวรรณภูมิช่วงปลายปี 2551 แรงกดดันทางการเมืองนำไปสู่การยุบพรรคพลังประชาชนแล้วมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยมีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรี
ในทางกลับกัน เมืองไทยภายใต้รัฐบาลประชาธิปัตย์อันเป็นฐานสำคัญของกลุ่มคนต่อต้านฝ่ายทักษิณและผู้สนับสนุน การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มเสื้อแดงที่ผงาดขึ้นมาคู่กับคนเสื้อเหลือง ทำให้การกำหนดความดี-ชั่ว เกิดขึ้นในอีกรูปแบบหนึ่ง คราวนี้มิได้มุ่งไปที่ทักษิณและนักการเมืองอย่างเดียวแล้ว แต่มันได้กวาดไปถึงมวลชนผู้สนับสนุนพรรคหลังจากที่การชุมนุมเสื้อแดงมีแนวโน้มคุกคามการใช้ชีวิตของคนเขตเมืองหลังจากมีการชุมนุมช่วงสงกรานต์ปี 2552 อย่างไรก็ตามมีการปราบปราบและสลายการชุมนุมลงไป จนกระทั่งปีรุ่งขึ้นก็มีการชุมนุมใหญ่อีกครั้งแต่คราวนี้ยึดครองพื้นที่ใจกลางเมืองกรุงอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนนั่นคือ การยึดพื้นที่บริเวณราชประสงค์
โดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ดี วลีเจ้าปัญหาของ ว.วชิรเมธี ที่ว่า "ฆ่าเวลาบาปไม่น้อยไปกว่าการฆ่าคน" ที่ปรากฏในทวิตเตอร์ของ ว.วชิรเมธี คืนวันที่ 9 เมษายน 2553[12]ก่อนการปราบเสื้อแดงในวันที่ 10 ก็หาข้อแก้ตัวได้ยากว่าเป็นการโพสต์โดยไม่มีบริบททางการเมือง ดังที่กล่าวมาแล้วว่าจุดเด่นของพุทธทาสคือการ "เล่นคำ" ที่มีลักษณะกระตุกความคิด การที่ ว.วชิรเมธี ทวิตเล่นคำในบริบทเช่นนี้ จะเจตนาหรือไม่ก็ตาม จนเกิดความตีความว่า สิ่งที่ ว.วชิรเมธีทวิต อาจไม่ต่างจากบทสัมภาษณ์ของ พระกิตติวุฑโฑ ที่รู้จักกันในวลีว่า "ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป" อย่างไรก็ตาม ว.วชิรเมธีได้ชี้แจงในเวลาต่อมาว่า การทวิตดังกล่าวเป็นของอาสาสมัคร และชี้ว่าหากลองอ่านให้ดี ไม่ได้บอกว่าฆ่าคนไม่บาป แต่สามารถตีความได้ว่า "ฆ่าคนก็บาป ฆ่าเวลาก็บาป" บาปในที่นี้ไม่ใช่บาปในความหมายเดียวกับการฆ่าคน แต่เป็นการพูดเพื่อ"กระตุก"ให้ตื่นมาเห็นความสำคัญของเวลา และกล่าวอุปมาว่าฆ่าเวลาบาปมากกว่า ก็เพราะคนเราอาจเผลอฆ่าเวลาให้ผ่านไปอย่างไร้ค่าได้วันหนึ่งๆ นับร้อยครั้งพันครั้ง และแนวคิดนี้ก็อยู่ในบทความชื่อ "มายาการของหลอดด้าย" ที่สอนให้คนเข้าใจคุณค่าเวลาที่เขียนประมาณปี 2550[13] อีกหนึ่งเดือนต่อมาการล้อมปราบเสื้อแดงบริเวณราชประสงค์เพื่อยึดพื้นที่คืน เกิดขึ้นพร้อมกับความตายของคนเสื้อแดง การกระชับพื้นที่คืน เรียกร้องคนกรุงเทพฯ ออกมาล้างถนนเพื่อชำระสิ่งสกปรกที่เกิดขึ้นจากการชุมนุม ทั้งที่เป็นการทำลายหลักฐานจากการล้อมปราบของทหารที่เข้ามาปฏิบัติการ ความโกรธแค้นดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นเฉพาะในเมืองหลวงแต่ลุกลามไปยังจังหวัดต่างๆ ด้วย กระนั้นในวาระที่ครบรอบ 6 เดือนการปราบปราบเสื้อแดงที่ราชประสงค์ ก็พบว่า ว.วชิรเมธีได้บรรยายหัวข้อ "ขยายพื้นที่ของความดี กระชับพื้นที่แห่งความชั่ว" ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2553 ทั้งที่ศัพท์กระชับพื้นที่ถูกใช้ในการจัดการกับเสื้อแดง ชื่อหัวข้อนี้จึงทำให้เรากระหวัดไปถึงการล้อมปราบในเดือนพฤษภาคมขึ้นมา ไม่ว่าจัดเจนหรือไร้เดียงสาทางการเมือง ว.วชิรเมธีก็ได้นำตัวเองไปสู่ทิศทางตรงกันข้ามกับมวลชนกลุ่มใหญ่ไปแล้ว
หลังจากการที่กรุงเทพฯ สงบสุขจากการชุมนุมของคนเสื้อแดง ก็ได้ฤกษ์การเปิดสวนโมกข์กรุงเทพฯ ในเดือนสิงหาคม 2553 คำให้สัมภาษณ์ของบัญชา พงษ์พานิชสะท้อนแนวคิดเกี่ยวกับพื้นที่ดังกล่าวเมื่อเทียบกับความวุ่นวายหลายเดือนก่อนในกรุงเทพฯว่า “ช่วงที่ผ่านมาบ้านเมืองเราพูดถึงเรื่องการกระชับพื้นที่กันมามากแล้ว จึงอยากใช้โอกาสนี้ขอคืนพื้นที่บุญ ให้กับสังคมไทยสักครั้งที่สวนโมกข์ กรุงเทพฯ อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อให้ทุกคนได้มาร่วมคืนพื้นที่บุญในใจตน และมาตกลงใจกันว่าต่อไปนี้เราจะขยายพื้นที่บุญให้กว้างขึ้นทุกแห่งทุกหน”[14] สวนโมกข์กรุงเทพฯได้รับการสนับสนุนเครือข่ายทุนยักษ์ใหญ่ในประเทศ และผู้มากบารมี[15] ใช้งบประมาณถึง 285 ล้านบาท บนแปลงที่ดินของสวนสาธารณะที่ได้รับพระบรมราชานุญาตแสดงให้เห็นถึงสถานะที่สูงส่งของพุทธทาสที่วางตัวลงใจกลางกรุงเทพฯ คำว่า "กระชับพื้นที่" และ "ขอคืนพื้นที่" ที่ถูกใช้งานในช่วงปราบเสื้อแดงก็ยังเป็นวลีที่ถูกผลิตซ้ำและติดอยู่ในมโนทัศน์ชนชั้นกลาง และแสดงให้เห็นถึงความชอบธรรมในการใช้อำนาจและกำลังจัดการอย่างไม่ต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน
รัฐประหาร 2557 กับ เผด็จการโดยธรรม
ก่อนรัฐประหาร 2557 คำสอนของพุทธทาสที่ถูกเลือกมาไม่น้อยผูกพันอยู่กับ อำนาจที่เป็นธรรม อันสูงส่งกว่า ระบอบการเมืองโลกย์ๆ เมื่อฝันร้ายของชนชั้นกลางกลับมาอีกรอบ พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของคนที่พวกเขาเกลียดแสนเกลียดได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งสูงสุดในการบริหารประเทศ เธอโดนโจมตีมากมายทั้งการบริหารงาน ไปจนถึงบุคลิก เรื่องส่วนตัว กระทั่งการถูกถากถางและสร้างเรื่องอื้อฉาวทางเพศสาดโคลนใส่ โดยเฉพาะประเด็นช่วยเหลือพี่ชายที่เป็นสุดยอดตัวร้ายในสายตาของชนชั้นกลาง ในคราวที่ทักษิณกลับไทยชั่วคราวมาในปี 2554 แต่ไม่ถูกจับกุมนั่นคือ "ความพ่ายแพ้พลังศีลธรรม"[16]
ที่น่าสนใจคือ โทนการโพสต์สื่อโซเชียลของ ว.วชิรเมธี ที่เปลี่ยนจากส่งเสริมรัฐบาลสมัยอภิสิทธิ์มาเป็นส่อเสียดรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ในเฟสบุ๊คของเขาปรากฏดังนี้[17]
“การเมืองที่ไม่มีธรรมะ คือหายนะของมวลรวมประชาชาติ”
(28 มีนาคม 2555)
“ประชาธิปไตยที่ได้มาเพราะเงิน มักเป็นสินค้าด้อยคุณภาพ"
(28 มีนาคม 2555)
“ประชาธิปไตยอำนาจเป็นของประชาชน แต่เราลืมถามว่าประชาชนมีศักยภาพพอที่จะใช้อำนาจหรือยัง”
(16 เมษายน 2555)
“เนสา สภา ยตถ น สนติ สนโต: คนดีไม่มีอยู่ในที่ใด ที่นั้นไซร้ไม่ควรเรียกว่า สภา”
(20 ตุลาคม 2555)
ผู้เขียนเสนอว่าพลังทางพุทธศาสนา และความเชื่อแบบพุทธทาสในมิติของ "เผด็จการโดยธรรม" นี้เองเป็นพลังงานแฝงในการทำรัฐประหาร ปี 2557 อีกครั้งหนึ่ง เมื่อการชุมนุมทางการเมืองในปี 2556-2557 ในนามของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่มีสัญลักษณ์สำคัญคือการเป่านกหวีดเพื่อขับไล่รัฐบาลอันเริ่มมาจากการประท้วงการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งของรัฐบาล นำไปสู่การจุดติดเรื่องการชุมนุม รัฐบาลถูกกดดันอย่างหนักจนต้องยุบสภาเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ในเมื่อธงของฝ่ายเคลื่อนไหว ไม่ใช่การเลือกตั้ง พวกเขาพยายามขัดขวางการเลือกตั้งเรียกร้อง "การปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง" อีกนัยหนึ่งก็คือ การเรียกร้องให้เกิดการรัฐประหาร ซึ่งพวกเขาก็ทำได้สำเร็จจริงๆ ในเดือนพฤษภาคม 2557 ที่ทหารเติมน้ำมันและเคลื่อนรถถังออกมาอีกครั้ง
การชุมนุมด้วยคนมหาศาล การยึดพื้นที่สาธารณะ ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากเหล่าชนชั้นกลางที่ถูกกระตุ้นด้วยมโนทัศน์ทางศีลธรรม นักการเมืองรายบุคคลถูกวิจารณ์เรียงตัวด้วยกรอบความดีความชั่ว พลังมหาศาลนี้ถูกนำโดยนักการเมืองที่เดิมมีภาพลักษณ์ที่ไม่น่าไว้ใจมาก่อน นั่นคือ สุเทพ เทือกสุบรรณ การเคลื่อนไหวครั้งนี้เขาเปลี่ยนภาพนักการเมืองมาเป็น "ลุงกำนัน" ที่พึ่งพาได้ และพร้อมจะเปลี่ยนแปลงประเทศด้วยความดีงาม กองทัพธรรมครั้งนี้ กลุ่มที่มีบทบาทนอกจากสันติอโศกแล้ว ก็คือ พุทธอิสระที่เป็นพระสายบู๊ และเป็นตัวสะท้อนการเมืองศีลธรรมที่มีพระสงฆ์เป็นกองหนุนอันสำคัญ
หลังปิดงานสำคัญด้วยสิ่งที่เรียกว่า รัฐประหารแล้ว สุเทพ เทือกสุบรรณ หาทางลงด้วยวิธีการเดียวกับดารา หรือผู้เป็นข่าวอื้อฉาวทั้งหลาย ก็คือ การชุบตัวด้วยการเข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุ แต่ที่เปี่ยมความหมายอย่างยิ่งก็คือ การไปจำวัดอยู่ที่วัดธารน้ำไหล หรือสวนโมกขพลาราม สุราษฎร์ธานี ฐานที่มั่นสำคัญของพุทธทาสภิกขุ ทั้งยังมีสถานะ "พระบวชใหม่วีไอพี" ต่างจากพระนวกะอื่นๆ ที่มาจำพรรษาที่นี่เช่นกัน ในทางกลับกันสุเทพยังได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นกล่าวกันว่า ตั้งแต่พุทธทาสมรณภาพไป ช่วงดังกล่าวสวนโมกข์กลับมาแน่นขนัด ญาติโยมยื้อแย่งกันใส่บาตร โดยมีเป้าหมายมากราบและถ่ายรูปกับ "หลวงลุงกำนัน"[18] ปรากฏการณ์นี้ยิ่งทำให้เห็นถึงความแนบแน่นทางอุดมการณ์ศีลธรรมแบบพุทธทาสที่ตอบโจทย์การเคลื่อนไหวเพื่อล้มล้างรัฐบาลที่ไร้ความชอบธรรม ระบอบประชาธิปไตยไม่ได้ตอบโจทย์สังคมไทยที่พวกเขาคาดหวัง เมื่อขาดแคลนเผด็จการผู้เป็นธรรม
บทสรุป เผด็จการครึ่งใบ กับ รัฐประหารในอนาคต
จากบทเรียนของรัฐประหารทั้งสองครั้ง ที่มีอุดมการณ์ทางศีลธรรมและการเมืองแบบพุทธทาสกำกับอยู่ ตราบใดที่ยังไม่มีการทำความเข้าใจและการแก้ไขโจทย์ดังกล่าวนั่นหมายถึงว่า ในอนาคตพลังเช่นนี้ก็จะหนุนให้เกิดการรัฐประหารอีก เพราะการรัฐประหารไม่ได้อยู่ที่พลานุภาพทางอาวุธเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่พลานุภาพทางศีลธรรมที่เป็นตัวกำหนดและกำกับ วงจรรัฐประหารไม่ถูกตัดขาดไปง่ายๆ เพราะพลังความชอบธรรมในการตีความทางพุทธศาสนา ในที่นี้หมายถึงคำสอนพุทธทาสแบบคัดสรรอย่าง "เผด็จการโดยธรรม" ที่เป็นสินค้าทางศีลธรรม ก็จะทำงานเช่นนี้ต่อไป
หากไม่ละทิ้ง หรือตีความพุทธทาสแบบใหม่ ก็ยากที่จะละจากโลกรัฐประหารและการยึดอำนาจของเหล่าเผด็จการหรืออาจกล่าวได้ว่า หากปล่อยไว้ วลี "เผด็จการโดยธรรม" อาจกลายเป็นส่วนหนึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับไม่เป็นลายลักษณ์อักษรของประเทศไทยไปอีกนานเท่านาน.
เชิงอรรถ
[1] ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. "ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ! วิพากษ์พุทธทาสในวันล้ออายุปีที่ 105". สืบค้นเมื่อ 12 เมษายน 2561 จาก https://prachatai.com/node/35144/talk (27 พฤษภาคม 2554)
[2] ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ฯ, 2518, หน้า103
[3] ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ ฯ, 2518, หน้า112
[4] ผู้จัดการ Online. " 'ทักษิณ' อ้างศึกษา 'พุทธทาส' ลึกซึ้ง-ใช้ 'ธรรมนำการเมือง' ". สืบค้นเมื่อ 11 เมษายน 2561 จาก http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9480000145877(22 ตุลาคม 2548)
[5] เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง. "ทักษิณรู้แจ้งพุทธศาสนา รู้ซึ้งคำสอนอาจารย์พุทธทาส แค่ตั้งโจทย์ ก็ผิดแล้ว". สืบค้นเมื่อ 11 เมษายน 2561 จาก https://prachatai.com/journal/2005/11/6300 (7 พฤศจิกายน 2548)
[6] พิภพ ธงไชย มีความสัมพันธ์ที่ดีกับพุทธทาส ดูจากการประสานงานให้มาซาโนบุ ฟุกูโอกะ ผู้เขียน ปฏิวัติด้วยฟางเส้นเดียว เข้าพบเมื่อปี 2533 ดูใน หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ. BIA7.1/16 พิภพ ธงไชย (พ.ศ.2478-2536) สืบค้นเมื่อ 11 เมษายน 2561 จาก http://archives.bia.or.th/front-show_page_detail_bak.php?pdfid=5809&main_level=2&main_refcode=BIA07010007-0161-0084-00-0000 (10 สิงหาคม 2533)
[7] เจิมศักดิ์ อ้างถึงความใกล้ชิดจากการไปทำรายการสัมภาษณ์ ดูใน เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง. "พุทธศาสนากับการเมืองสามานย์". สืบค้นเมื่อ 11 เมษายน 2561 จาก http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9510000085461(21 กรกฎาคม 2551)
[8] รสนากล่าวถึงพุทธทาสว่าเป็นแรงบันดาลใจหนึ่ง ดูใน สุขใจ. "รสนา โตสิตระกูล : บนหนทางเพื่อชีวิตและสังคม". สืบค้นเมื่อ 11 เมษายน 2561 จาก http://www.sookjai.com/index.php?topic=178357.0 (10 สิงหาคม 2559)
[9] ผู้จัดการ Online. "100 ปีพุทธทาส เมื่อการเมืองยังต้องการธรรมะ". สืบค้นเมื่อ 12 เมษายน 2561 จาก https://mgronline.com/daily/detail/9490000032193 (9 มีนาคม 2549)
[10] ผู้จัดการ Online. "“พิภพ” ยกคำ “พุทธทาส” ซัดนักการเมือง “หลงกิเลส”". สืบค้นเมื่อ 11 เมษายน 2561 จาก https://mgronline.com/politics/detail/9510000084430 (17 กรกฎาคม 2551)
[11] ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ โดย พุทธทาสภิกขุ พิมพ์แจกเป็นที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพ นางมณฑา หมื่นนิกร ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม กรุงเทพมหานคร วันเสาร์ที่ 13 ธันวาคม 2518 (กรุงเทพฯ : อักษรสัมพันธ์), 2518
[12] วิจักขณ์ พานิช. " 'ความคมของฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน' บทเรียนของพุทธศาสนาในสังคมประชาธิปไตย ". สืบค้นเมื่อ 11 เมษายน 2561 จาก https://blogazine.pub/blogs/buddhistcitizen/post/3465 (8 มิถุนายน 2555)
[13] ประชาชาติธุรกิจ. " ท่าน 'ว.วชิรเมธี' ขอเคลียร์ ออกหนังสือ 'ชำระความเชื่อ เพื่อเอื้อความจริง' ". สืบค้นเมื่อ 12 เมษายน 2561 จาก https://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1357812819 (11 มกราคม 2556)
[14] โพสต์ทูเดย์ "เปิดสวนโมกข์กรุงเทพฯคืนพื้นที่บุญให้ประเทศไทย". สืบค้นเมื่อ 11 เมษายน 2561 จาก https://www.posttoday.com/politic/report/40839 (25 กรกฎาคม 2553)
[15] ทุนจัดตั้ง เครือซิเมนต์ไทย (SCG), ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), ธนาคารออมสิน, บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ทุนภัทร จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท. เคมิคอล จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม, จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน), บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด, (มหาชน), คุณเจริญ - คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี, นพ.ชัยยุทธ - ม.ร.ว.พรรณจิตร กรรณสูต, ขุนบวรรัตนารักษ์ - นางช้อย - นางสาวยุพา บวรรัตนารักษ์, สุธีรัตนามูลนิธิ นครศรีธรรมราช
[16] ผู้จัดการ Online. " 'ทักษิณ' กลับไทยไม่ติดคุก คือความพ่ายแพ้พลังศีลธรรม ". สืบค้นเมื่อ 12 เมษายน 2561 จาก https://mgronline.com/politics/detail/9540000147005 (19 พฤศจิกายน 2554)
[17] ธนากร พันธุระ และอังกูร หงษ์คณานุเคราะห์, "การศึกษาความสัมพันธ์ของความเชื่อทางศาสนากับโครงสร้างอำนาจการเมืองไทยกรณีศึกษา คำสอนของพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว. วชิรเมธี)", วารสารสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 40 : 1 : 26-27
[18] วิจักขณ์ พานิช. "พระสุเทพกับสวนโมกข์". สืบค้นเมื่อ 12 เมษายน 2561 จาก https://prachatai.com/journal/2014/11/56321(2 พฤศจิกายน 2557)
แสดงความคิดเห็น