Posted: 05 Jun 2018 10:44 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล

เป็นเรื่องยากเย็นเอาการถ้าจะให้จินตนาการความเป็นไทยกับความเป็นพุทธออกจากกัน หนังสือ ‘รัฐกับศาสนา ศีลธรรม อำนาจ และอิสรภาพ’ ของสุรพศ ทวีศักดิ์ เป็นการรวบรวมบทความซึ่งส่วนใหญ่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาไท แม้จะไม่ได้มุ่งให้คำตอบกระบวนการหลอมรวม 2 สิ่งนี้เข้าด้วยกัน แต่ก็ให้ภาพร่างของคำตอบไว้ประมาณหนึ่ง และมันสร้างผลกระทบมากมายมาจนปัจจุบัน

พุทธทาส ศีลธรรมแบบไทยๆ ความหวาดกลัวอิสลาม พระสงฆ์กับการความขัดแย้งทางการเมือง กรณีธรรมกาย การแยกศาสนาออกจากรัฐ ถูกรวบรวมมากล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้อย่างรอบด้าน ชาวพุทธไทยจำนวนหนึ่งอาจอ่านด้วยความรู้สึกขุ่นเคือง ซึ่งก็ดูจะเป็นเรื่องปกติที่สุรพศเผชิญมาอย่างต่อเนื่องจากการชี้ประเด็น แลกเปลี่ยน และถกเถียงกับสาธารณะ

“ต้นเหตุของการ ‘ลดทอน’ (มิติด้านอารมณ์ความรู้สึก ความหลากหลายในการศึกษาตีความและอื่นๆ) คือการสถาปนา “พุทธศาสนาของรัฐ ซึ่งรวมศูนย์อำนาจปกครอง การจัดการศึกษา การตีความคำสอนและอื่นๆ ภายใต้ “คณะสงฆ์ของรัฐ” ซึ่งทำให้พุทธศาสนาของรัฐมีวัฒนธรรมอำนาจนิยม และเป็นเครื่องมือสร้าง “อำนาจชอบธรรม” (legitimacy) และ “อำนาจครอบงำ” (domination) ของรัฐมายาวนาน นี่ต่างหากคือ “ปัญหาระดับรากฐาน” จริงๆ ที่จำเป็นต้องช่วยกันคิดหาทางแก้ไขกันต่อไป” (จากเรื่อง ความ (ไม่) เป็น “พุทธศาสนาแบบเหตุผลนิยม)

จุดที่น่าสนใจประการหนึ่งของหนังสือเล่มนี้คือ ผู้เขียนอาศัยมุมมองภายในพุทธศาสนาเองและมุมมองภายนอกจากปรัชญาตะวันตก ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน เพื่อมองพุทธศาสนาไทยอย่างวิพากษ์ มิใช่การยกยอปอปั้นเช่นที่มักเห็นเป็นส่วนใหญ่

“พุทธศาสนาไทยมีคุณค่าต่อสังคมสมัยใหม่หรือไม่ ถ้าใช้เกณฑ์คุณค่าสมัยใหม่มาประเมินดังที่กล่าวมา ก็จะเห็นได้ชัดว่า พุทธศาสนาไทยทั้งบั่นทอนเสรีภาพทางศาสนาเอง เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสู่เสรีประชาธิปไตย และทำให้การตีความคำสอนในพระไตรปิฎกในเชิงก้าวหน้าใดๆ ไม่มีผลในทางปฏิบัติจริง”

การแยกศาสนาออกจากรัฐ เป็นอีกประเด็นที่กล่าวได้ว่าสุรพศเป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ ในหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงเรื่องนี้อยู่หลายบทความ (ถ้าต้องการทำความเข้าใจการแยกศาสนาออกจากรัฐแบบเข้มข้น แนะนำให้อ่านอีกเล่มของผู้เขียน ‘จากพุทธศาสนาแห่งรัฐ สู่พุทธศาสนาที่เป็นอิสระจากรัฐ’) สุรพศชี้ให้เห็นว่า การพัวพันกันระหว่างอำนาจรัฐกับศาสนา สร้างความเสียหายต่อศาสนาพุทธอย่างไร ไม่เพียงเท่านั้น มันยังกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม เฆี่ยนตีความสัมพันธ์ระหว่างศาสนิก และศาสนาถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐในการโฆษณาชวนเชื่อของฟากฝ่ายอนุรักษ์นิยม

ข่าวการจับกุมพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่และพระที่มีชื่อเสียงในช่วงที่ผ่านมา หากนำเนื้อหาที่สุรพศต้องการสื่อจับกับเหตุการณ์นี้ จะพบว่าแรงกระเพื่อมในมิติต่างๆ ไม่ว่าการเมืองในวงการสงฆ์ ความมัวหมองต่อพุทธศาสนา การคอร์รัปชั่น เป็นต้น ล้วนผูกโยงไปสู่รากเหง้าที่ว่าศาสนาพุทธเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างอำนาจรัฐ หากรัฐและศาสนาแยกจากกัน ผลกระทบจากเหตุการณ์และสิ่งที่ต่อเนื่องมาน่าจะเป็นไปในอีกรูปแบบหนึ่ง

แน่นอนว่ามุมมองของสุรพศต่อพุทธศาสนาในสังคมไทยมิใช่สิ่งที่ถูกต้องสมบูรณ์ชนิดที่หาข้อโต้เถียงไม่ได้ แต่เพราะต้องการการโต้เถียงนี่เอง การนำเสนอความคิดออกสู่สาธารณะจึงจำเป็น ท่ามกลางการถูกปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกจากอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ผู้ที่พยายามปฏิรูปประเทศ...และศาสนาพุทธ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะยิ่งเป็นการดึงศาสนาพุทธให้เป็นฐานค้ำยันพลังอนุรักษ์นิยมมากยิ่งขึ้น การปฏิรูปพุทธศาสนาภายใต้สภาวการณ์นี้ย่อมเป็นไปไม่ได้

มองอย่างผิวเผินอาจรู้สึกว่าผู้เขียนวางตนเป็นปฏิปักษ์ต่อพุทธศาสนา เนื้อหาบางส่วนดุดัน ตรงไปตรงมา และวิพากษ์อย่างถึงรากถึงโคน แต่ก็ไม่ใช่ท่าทีของศัตรู ตรงกันข้าม สุรพศวิพากษ์พุทธศาสนาแบบไทยเพื่อต้องการให้ศาสนาพุทธในสังคมไทยได้รับการปลดปล่อย

ปลดปล่อยจากอะไร? ปลดปล่อยจากอุดมการณ์ราชาชาตินิยม ปลดปล่อยจากการเป็นพุทธศาสนาของรัฐที่คอยค้ำจุนอำนาจชนชั้นนำ ปลดปล่อยคำสอนจากการผูกขาดการตีความของมหาเถระสมาคม ปลดปล่อยสังฆะออกจากการเป็นข้าราชการของรัฐและธรรมวินัยที่แข็งกระด้าง ปลดปล่อยศาสนิกจากมายาคติที่ครอบงำ และปลดปล่อยเสรีภาพในการนับถือหรือไม่นับถือศาสนาให้เป็นอำนาจตัดสินใจของปัจเจกอย่างแท้จริง
และทำให้ศาสนาพุทธมีความเป็นมนุษย์มากกว่าที่เป็นอยู่

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.