Posted: 05 Jun 2018 11:49 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

เยี่ยมยุทธ สุทธิฉายา: สัมภาษณ์และเรียบเรียง

อิศเรศ เทวาหุดี: กราฟิกประกอบข่าว

อดีตกรรมการ กสทช. วิเคราะห์คำสั่ง 9/2561 ที่ออกมาช่วยเหลือธุรกิจทีวีดิจิตัล ตอกย้ำสภาพกดดันของการเมืองรัฐประหาร แนวทางช่วยเหลือมีความลักลั่น พักชำระค่างวดแต่คุมเนื้อหา-ให้ทีวีรัฐโฆษณา-อุดหนุนค่าโครงข่ายที่รัฐและทหารเป็นเจ้าของ สรุปช่วยใคร แนะ กสทช. ควรทำหน้าที่ตัวเอง ทำโรดแมปรองรับปัญหาคลื่นความถี่ให้ชัดเจน

หากอ่านคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2561 ที่ออกมาช่วยเหลือธุรกิจทีวีดิจิตอลที่กำลังประสบปัญหาไม่สามารถชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ได้ตามกำหนด โดยให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลที่ประสงค์จะขอพักชำระหนี้ได้ไม่เกินสามปี ให้มีการอุดหนุนค่าเช่าใช้โครงข่ายดิจิตอลทีวี (MUX) เป็นเวลา 24 เดือนให้จบจะพบว่ามีข้อกังขาหลายประการ

ในข้อที่เก้า คำสั่งได้ให้อำนาจสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พิจารณาว่ว่าผู้ประกอบการรายใดมีสิทธิได้รับการพักชำระหนี้ หากผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลทำผิดเงื่อนไข ผลิตรายการที่ขัดต่อ “กฎหมายและศีลธรรมอันดีของประชาชน” สำนักงาน กสทช. อาจพิจารณายกเลิกการพักชำระหนี้ได้ คำสั่งเช่นนี้เหมือนจะนำเงื่อนไขเรื่องความอยู่รอดของผู้ประกอบการมาปิดกั้นนำเสนอข่าวหรือมีการผลิตรายการที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลใช่หรือไม่ เหตุการณ์การปิดสื่อที่ผ่านมาอาจเป็นคำบอกใบ้ที่เห็นชัด

เรื่องการอุดหนุนค่าเช่าโครงข่ายดิจิตอลทีวีหรือ MUX ที่อยู่ในข้อที่แปด คำสั่งหัวหน้า คสช. ให้ กสทช. สำนักงาน กสทช. หรือคณะกรรมการบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะไปสนับสนุนค่าเช่าร้อยละ 50 แต่ผู้ให้บริการโครงข่าย MUX มีอยู่สี่รายได้แก่ กรมประชาสัมพันธ์ กองทัพบก อสมท. และกองทัพบก เท่ากับเงินที่รัฐช่วยจ่ายก็ยังไปตกอยู่กับผู้ให้บริการที่มีคนเช่าใช้โครงข่ายที่รัฐก็เป็นเจ้าของ (ทั้งส่วนหนึ่งและเต็มตัว) ใช่หรือไม่ เป็นลักษณะของอัฐยายซื้อขนมยาย โยกเงินจากกระเป๋าซ้ายแล้วย้ายไปกระเป๋าขวาใช่หรือไม่

อีกข้อหนึ่งที่น่าสนใจคือส่วนที่สองที่ให้กรมประชาสัมพันธ์ “อาจมีเงินรายได้จากการโฆษณาได้เท่าที่จำเป็นและเพียงพอต่อการผลิตรายการตามวัตถุประสงค์โดยต้องไม่เป็นการมุ่งต่อการแสวงหากำไรทางธุรกิจ” แม้จะมีคำว่าไม่แสวงกำไร แต่ช่องประชาสัมพันธ์ได้คลื่นความถี่มาประกอบกิจการโทรทัศน์โดยไม่ต้องประมูล แต่มีอำนาจในการกระโจนลงมากินส่วนแบ่งทางตลาดโฆษณา หารายได้กับผู้ประกอบการที่ประมูลคลื่นกันมาเลือดตาแทบกระเด็น เช่นนี้คือการแข่งขันแบบไม่เป็นธรรมใช่หรือไม่

ส่วนที่สองมีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับการช่วยเหลือดิจิตอลทีวี เช่นนี้เป็นการสอดไส้วาระแอบแฝงจากหัวหน้า คสช. หรือไม่

ออกคำสั่งอนุญาตให้มีการพักหนี้ มีเงินอุดหนุนค่าเช่าโครงข่าย แต่สุดท้ายให้ช่องทีวีของรัฐลงมาแย่งโฆษณา แถมตั้งบรรทัดฐานที่อาจนำไปสู่การเซ็นเซอร์เนื้อหาที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แบบนี้เรียกว่าช่วยหรือไม่ช่วย

คำถามมากมายจากคำสั่งหัวหน้า คสช. พุ่งตรงไปที่องค์กรอิสระที่ทำหน้าที่กำกับและบริหารคลื่นความถี่อย่าง กสทช. ถึงท่าทีที่เป็นเชิงรับ ให้คำสั่งหัวหน้าคณะรัฐประหารลงมาเป็นกรอบการทำงานก่อนทั้งๆ ที่อำนาจในการบริหารคลื่นความถี่และการดูแลเนื้อหาก็อยู่ในขอบเขตอำนาจและหน้าที่ของ กสทช. อยู่แล้ว กสทช. เป็นอิสระจริงหรือไม่ ท่าทีเช่นนี้สะท้อนความผูกพันระหว่าง กสทช. บอร์ด กสทช. กับรัฐบาลทหารอย่างไร

ประชาไทหอบหิ้วมวลข้อสงสัยไปพูดคุยกับสุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช. ที่เพิ่งยุติการทำหน้าที่ไปเมื่อปี 2560 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โดยคำตอบของสุภิญญาสะท้อนถึงปัญหาเรื้อรังรอบด้านของธุรกิจทีวีดิจิตอลจากแนวรบทางเศรษกิจและการเมืองหลังรัฐประหาร แนวโน้มการกลับไปสู่ระบบสัมปทานคลื่นแบบที่รัฐบาลต่อรองกับเอกชนเองในอดีตที่ไทยพยายามหนีออกมา รายการ ‘เดินหน้าประเทศไทย’ ที่ใช้เวลาไพรม์ไทม์ฟรีๆ ในระบบที่คนประมูลคลื่นมาด้วยเงินหลายล้านบาท ทั้งยังตั้งคำถามถึงความไม่อิสระของขององค์กรอิสระอย่าง กสทช. อีกด้วย ที่สุดท้ายทำให้เป้าหมายการช่วยทีวีดิจิตอลครั้งนี้คลุมเครือว่าจะช่วยใครกันแน่ระหว่างผู้ประกอบการหรือทหารและ คสช.
ประโยคคำถามตัวโตบน ‘ทำมาหากินลำบาก-คุมเนื้อหา’ ในการอุ้มทีวีดิจิตอล

สุภิญญาระบุว่าประเด็นทีวีดิจิตอลที่ถูกแก้ปัญหาด้วยคำสั่ง ม.44 บนเหตุผลว่าผู้ประกอบการประสบปัญหาทางธุรกิจนำมาซึ่งคำถามเรื่องความเป็นธรรม ความเท่าเทียมบนสนามแข่งขันของทีวีดิจิตอลและโทรคมนาคม การผูกสิทธิการได้รับความช่วยเหลือกับเนื้อหาการนำเสนอยิ่งตอกย้ำถึงกระทบโดยตรงจากการเมืองหลังรัฐประหารที่บีบให้การนำเสนอข่าวเหลือเพียงเฉดเดียว และลักษณะการวางเงื่อนไขเช่นนี้คือการทำให้การทำงานบนธุรกิจสื่อสารมวลชนกลับไปเป็นระบบสัมปทานที่รัฐวางเงื่อนไขให้เอกชนที่จะมาทำธุรกิจโทรทัศน์

“ถ้าเป็นจุดยืนของตัวเองสมัยทำงาน กสทช. ก็ไม่เคยเห็นด้วยกับการใช้ ม.44 อยู่แล้ว เหมือนเป็นการยกอำนาจของ กสทช. ให้กับคนที่เหนือกว่าในการตัดสินใจ และไม่มีการรับผิดรับชอบ ไม่มีการคานดุลจากคนที่ไม่เห็นด้วยได้ และอาจจะมีทางออกอื่นโดยให้ กสทช. แก้ปัญหาเรื่องนี้เองเช่นปรับแก้ประกาศนั้นเอง เพราะสิ่งที่ กสทช. ใช้ ม.44 คือการปฏิเสธประกาศของ กสทช. เอง

“ถ้าเราจะแก้เองก็ทำได้ด้วยประชาพิจารณ์ แต่เข้าใจว่า กสทช. คงมีความกลัวว่าถ้ามีการแก้ประกาศตัวเองเรื่องการผ่อนจ่ายอาจจะถูกฟ้องร้องในอนาคต จึงให้ใช้ ม.44 ที่ฟ้องไม่ได้ แต่ก็ขัดหลักนิติธรรมเพราะเป็นอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้ ถ้าพูดในทางหลักการกว้างๆ มันก็ไม่ควรจะมาถึงขั้นนั้นตั้งแต่แรก แต่ก็เข้าใจสถานการณ์ว่าเรื่องดิจิตอลทีวีก็เป็นเรื่องค้างคามานานที่ กสทช. ไม่กล้าตัดสินใจเสียทีในการแก้ปัญหา

“แต่ถ้าจะถามจุดยืนจริงๆ ก็ไม่เห็นด้วยที่จะต้องแก้ด้วยเหตุผลการผ่อนผันการจ่ายเพราะทีวีดิจิตอลประสบความลำบากในการทำธุรกิจ ถ้าจะมีการเยียวยา ช่วยเหลือ โดยเฉพาะเอาอำนาจของ คสช. มาเกี่ยวข้องด้วย มันควรจะอยู่บนหลักพื้นฐานว่านโยบายของรัฐหรือ กสทช. ไปกระทบสิทธิ เสรีภาพ สร้างความยากลำบากกับดิจิตอลทีวีอย่างไร ควรเอาหลักนี้มาเป็นเหตุและผล เพราะถ้าไม่ใช้หลักนี้ก็จะมีช่องโหว่ให้คนถามได้ ช่องที่ประมูลไม่ได้แต่แรกก็จะคิดว่า รู้อย่างนี้ประมูลมาให้ได้ก่อนดีกว่า มันก็จะถกเถียงไม่จบ แล้วโทรคมนาคมเช่นทรูหรือเอไอเอสเองก็อาจจะบอกว่าแบบนี้ต้องช่วยเราบ้างเพื่อให้เราทำต่อไปได้ หลักการเบื้องหลังการจะแก้มันจะไม่เข้มแข็งพอถ้าอยู่บนฐานของการช่วยธุรกิจเพราะกฎที่มีมันเข้มไป มันไม่น่าจะเป็นเหตุผลที่ดีเพราะจะกระทบกรณีอื่นด้วย

“ถ้าจะช่วยดิจิตอลทีวีด้วยเหตุที่เห็นชัดว่าสื่อมวลชนโดยเฉพาะโทรทัศน์ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนจากการเมือง เพราะว่าตั้งแต่หลังประมูลมาก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มีรัฐประหาร มีการปิดทีวีทุกช่องช่วงแรก มีการออกประกาศ คสช. มาจำกัดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการทำข่าวมากมาย โดยเฉพาะช่องข่าวที่ประมูลมา 7 ช่องก็แทบไม่สามารถแข่งขันกันอย่างหลากหลายแบบสีรุ้งอย่างที่เราตั้งใจให้แข่งขันกันหลายเฉดสีในแง่การเป็นตลาดความคิด ข่าวสารการเมือง สังคม แต่พอหลังรัฐประหารมันก็มีเฉดเดียวกันหมดเพราะมีข้อจำกัดทางกฎหมาย ฉะนั้นก็ยากที่ช่องข่าวจะอยู่รอดได้อยู่แล้ว เพราะถ้าเป็นข่าวทั่วๆ ไป ช่องอื่นก็มี ทำให้ช่องที่มีประสบความยากลำบากที่สุดจาก 24 ช่องที่ประมูลก็คือช่องข่าวเช่น เนชั่น สปริงนิวส์ คุณติ๋ม วอยซ์ทีวี รวมถึงช่องข่าวอื่นๆ เพราะไม่สามารถหาจุดขายที่แตกต่างจากช่องวาไรตี้อื่นๆ ได้เพราะข่าวเหมือนกันแต่ถูกรายการคืนความสุข หมายเหตุประเทศไทย หรือถ่ายทอดสดต่างๆ ช่วงชิงเวลา

“ถ้าอธิบายว่า คสช. มาเบียดบังเวลา มากระทบการทำงานของเอกชนและต้องชดเชย อันนี้ก็เป็นเหตุผลที่ฟังได้แต่เขาก็ไม่ได้ใช้เหตุผลนี้ แถมออกมาแล้วยังมีเงื่อนไขห้อยท้ายที่คนอาจจะกังวลว่าจะต้องมีการกำกับเนื้อหา คนก็ยิ่งมองว่าเป็นเครื่องมือในการที่ถ้าฉันจะช่วยเธอ เธอก็ต้องไม่วิจารณ์ฉัน แบบนี้ใช่หรือเปล่า หรือเป็นเงื่อนไขห้อยท้ายว่า ช่องไหนที่วิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจมากๆ แล้วผิดกฎ กสทช. โดนปิดหรือโดนเตือนบ่อยๆ อาจจะไม่ได้รับ (ความช่วยเหลือ) หรือเปล่า แบบนี้ก็ยิ่งไม่ถูกไปใหญ่เลย เพราะเป็นการใช้อำนาจที่ขาดหลักนิติธรรม กลับไปสู่ระบบก่อนที่จะมี กสทช. คือระบบสัมปทานที่ให้อำนาจรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจขณะนั้นเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะให้สิทธิใครได้สัมปทานมาทำธุรกิจสื่อ โทรคมนาคม หรือดาวเทียม โดยอาจจะแลกกับเงื่อนไขบางอย่างที่ไม่มีอิสรภาพ นั่นคือระบบเดิมที่เราพยายามหนีมาด้วยการมี กสทช. เพื่อปลดแอกสื่อให้มีอิสรภาพมากขึ้น ไม่ถูกจองจำในแง่ว่าเมื่อได้สัมปทานจากรัฐแล้วก็ไม่สามารถใช้เสรีภาพได้เพราะเขาให้ประโยชน์คุณแล้วคุณก็ต้องตอบแทนเขา นี่คือระบบเดิมที่เราพยายามปฏิรูปมา 20 ปี และเป็นเหตุผลที่เราต้องมี กสทช. แต่ถ้า กสทช. ไปทำเงื่อนไขแบบนั้นก็เท่ากับทำลายศักดิ์ศรีขององค์กรอิสระ เพราะระบบ กสทช. ไม่ได้ให้ กสทช. เป็นเจ้าของอำนาจ แต่เป็นคนบริหารจัดการคลื่นความถี่ ออกใบอนุญาตและมีเงื่อนไขกติกาล่วงหน้า ใครทำผิดก็สามารถลงโทษได้ แต่ผู้เสียหายก็สามารถไปฟ้องร้อง กสทช. ต่อศาลได้ มันมีการตรวจสอบและถ่วงดุลอยู่ แต่พอไปโยงกับอำนาจรัฐบาล ยิ่งเป็นรัฐบาลที่ไม่ปรกติ มี ม.44 แล้ว การตรวจสอบและถ่วงดุลไม่เกิดอยู่แล้ว และทำให้ถอยหลังกลับไปสู่ระบบสัมปทานกึ่งผูกขาด คือเอาระบบอุปถัมภ์มานำหลักนิติธรรม

“ถ้าจะเยียวยาเพราะทุกช่องได้รับผลกระทบเหมือนกันหมดก็ต้องเหมือนกันหมด มันคนละเรื่องกับการกำกับดูแลเนื้อหา เพราะการกำกับดูแลเนื้อหาก็เป็นอำนาจปกติที่ กสทช. ทำอยู่แล้ว ถ้าช่องไหนทำผิดมากๆ กสทช. ก็ปรับ เตือน ระงับใช้และเพิกถอนใบอนุญาตอยู่แล้ว ไม่ต้องมาอิงกับเรื่องนี้

“เห็นข่าวว่ามีวันที่ 7 มิ.ย. นี้เลขาธิการ กสทช. จะเชิญทุกช่องไปหารือ (เรื่องมาตรการพักชำระค่าใบอนุญาต) และเหมือนเป็นการส่งสัญญาณเป็นนัยๆ ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่าจะเป็นสัญญาณอย่างไร การปฏิบัติตามกติกาหมายถึงอะไรบ้าง และยิ่งถ้าหมายถึงการกำกับเนื้อหาก็ยิ่งจะลำบากเพราะสังคมกำลังวิจารณ์บรรทัดฐานการกำกับเนื้อหาของ กสทช. เช่นกรณีคำหยาบ ทั้งเรื่องในละครและรายการการเมือง คนก็จะเปรียบเทียบว่าทำไมกรณีนั้นถูกลงโทษรุนแรง เช่นกรณีวอยซ์ทีวี แต่ทำไมบางช่องไม่โดนวิจารณ์ มาตรฐานการกำกับเนื้อหาของ กสทช. มีปัญหาและถูกวิจารณ์มากอยู่แล้ว ถ้าจะเอาตรงนี้มาใช้เป็นเงื่อนไขว่าช่องไหนมีสถิติถูกลงโทษมากกว่ากันก็จะเกิดความไม่เป็นธรรมและสร้างข้อสงสัยว่าการลงโทษนั้นเป็นธรรมจริงหรือไม่ โดยเฉพาะการลงโทษเรื่องการเมืองในช่วง 4 ปี ที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่ฟ้องร้องไม่ได้ เช่นกรณีวอยซ์ทีวีขัดประกาศ คสช. ก็มีประกาศ คสช. ฉบับหนึ่งที่ออกมาคุ้มครองการใช้อำนาจของ กสทช. ที่ระบุว่าการลงโทษช่องที่ทำขัดประกาศ คสช. ไม่ต้องถูกฟ้องร้องทั้งทางอาญาและแพ่ง”

“ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ทำให้สถิติช่องที่ถูกร้องเรียนมันก็มากอยู่แล้ว เพราะจะสู้ที่ศาลก็ไม่ได้ และสถิติบันทึกที่อาจจะทำให้ไม่ได้รับการชดเชย เยียวยา ซึ่งมันก็ไม่แฟร์กับช่องที่ถูกตัดสินแบบนี้”

“สรุปคือ ไม่ควรจะเอาการทำหน้าที่ปกติที่ กสทช. ทำอยู่แล้ว และมีกลไกการลงโทษตามหลักนิติรัฐอยู่แล้วมาโยงกับเงื่อนไขการช่วยเหลือตรงนี้ เพราะมันเท่ากับเป็นการกลับไปสุ่ระบบอุปถัมภ์ และใช้อำนาจการอุปถัมภ์มาควบคุมสื่อ” สุภิญญากล่าว
เลือกตั้งใต้เงื่อนไขสื่อต้องเป็นเด็กดี กสทช. ใต้ภาวะอุปถัมภ์

สุภิญญาให้ความเห็นว่า การผูกเอาสิทธิในการได้รับความช่วยเหลืออยู่กับเนื้อหาการนำเสนอจะมีแรงกระเพื่อมจากวงการสื่อสู่สนามเลือกตั้ง และการทำหน้าที่ของ กสทช. ในด้านการกำกับเนื้อหาจะมีผลกับการความเป็นธรรมในการแข่งขันบนสนามสื่อซึ่งอาจส่งผลให้ผู้มีอำนาจอยู่ได้เปรียบในการเลือกตั้ง

“ตอนนี้เป็นบรรยากาศที่ทุกคนอดทน ทุกคนก็รอว่าถ้ามีการแข่งขันกันทางการเมืองก็จะทำให้บรรยากาศมันดีกว่านี้ คือทุกคนได้แข่งขันกันที่ความคิด และประชาชนก็มีสิทธิเลือก แต่ตอนนั้นสื่อเองก็ควรทำตัวเป็นตัวกลาง ไม่ได้หมายความว่าเป็นกลาง เลือกข้างไม่ได้ แต่ต้องมีมาตรฐานในการทำหน้าที่ระดับหนึ่ง โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ซึ่งยังถือว่าเป็นสื่อที่เข้าถึงสาธารณะและใช้คลื่นความถี่ ควรต้องทำหน้าที่ให้เที่ยงตรงกว่าสื่อออนไลน์หรือสื่ออื่นๆ ที่อาจจะมีเสรีภาพมากกว่า แต่สื่อโทรทัศน์มันมีกรอบของการใช้คลื่นความถี่สาธารณะที่มีกฎ กติกา มารยาทอยู่ ก็ขึ้นอยู่กับ กสทช. ในฐานะกรรมการแล้วว่าจะคุมเกมอย่างไร ถ้าคุมไม่อยู่ก็จะเกิดการเสียเปรียบได้เปรียบ คนที่มีอำนาจอยู่ก็อาจจะได้เปรียบในการเลือกตั้งมากกว่าถ้าคนที่มีอำนาจหนุนใครในการเลือกตั้ง ก็ทำให้คนที่ไม่มีอำนาจเสียเปรียบ เป็นสิ่งที่ไม่ควรให้เกิดขึ้น ดังนั้น กสทช. กับ กกต. ควรทำงานด้วยกัน ไม่ได้หมายความว่าช่วยกันเอียงข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดที่มีอำนาจนะ แต่ควรช่วยกันประคับประคองกติกาการแข่งขันของแต่ละพรรคการเมืองให้มีความเป็นธรรม และไม่ให้คนที่มีอำนาจปัจจุบันใช้อำนาจไปแทรกแซงจนเกินกว่าเหตุและทำให้เกิดความไม่เป็นกลางในการเลือกตั้ง” สุภิญญากล่าว

“ตอนนี้ทุกคนก็กังวลว่าทุกอย่างกำลังปูทางไปสู่แนวทางนั้น เพราะ กสทช. เองก็อยู่โดยระบบอุปถัมภ์แล้ว ตั้งแต่ 6 ต.ค. ปีที่แล้ว กสทช. ชุดปัจจุบันก็อยู่ด้วยมาตรา 44 เพราะชุดแรกหมดวาระไปตั้งแต่วันดังกล่าวเพราะครบ 6 ปีตามกฎหมาย แต่ คสช. ออกประกาศให้อยู่ต่อเพราะยังสรรหาชุดใหม่ไม่ได้ กสทช. ชุดปัจจุบันจึงอยู่ในลักษณะรักษาการ แต่เขาก็คงรู้สึกว่าฉันได้อยู่เพราะอำนาจนี้ ยิ่งทำให้สังคมหวังยากเพราะแม้แต่ กสทช. เองก็ยังอยู่ด้วยระบบอุปถัมภ์เลย แล้วจะไม่กำกับด้วยระบบอุปถัมภ์เหรอ ถ้ากำกับด้วยระบบอุปถัมภ์มันก็จะนำไปสู่ระบบอภิสิทธิ์ ซึ่งอำนาจอุปถัมภ์และทุนนิยมอภิสิทธิ์เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นในยุคนี้ คือการที่มีบางกลุ่มทุน บางกลุ่มช่องได้อภิสิทธิ์ไม่ถูกกำกับเพราะมีอำนาจอุปถัมภ์อยู่ การกำกับดูแลที่ควรเป็นไปตามหลักนิติธรรมก็ทำได้อยากเพราะทุกคนอยู่ภายใต้ความเกรงใจและความกลัวว่าจะไปกระทบกับคนที่อุปถัมภ์ตัวเอง”

“จำได้ว่าช่วงแรกที่ คสช. เข้ามาก็มีการตรวจสอบ กสทช. ที่สังคมเองก็ยังเชียร์เลย ที่มีการติงเรื่องการใช้งบประมาณจาก สนช. และมีคณะกรรมการ คตร. สังคมก็เชียร์กันใหญ่ให้ยุบหรือตรวจสอบ กสทช. แต่ตอนนี้ก็กลับตาลปัตรแล้ว กลายเป็น คสช. เองก็มาอุ้ม กสทช. ด้วย กสทช. เองก็ตอบแทนระบบอุปถัมภ์ด้วยการสนับสนุนนโยบายของ คสช. เต็มที่ ทำให้ดูไม่ดีและสั่นคลอนการกำกับดูแลทั้งระบบเลย และส่งผลต่ออุตสาหกรรมด้วย เพราะช่องต่างๆ ก็เริ่มระส่ำระสายแล้วว่าถ้าตัวเองไม่เข้าหาระบบอุปถัมภ์ก็อยู่ไม่ได้”
รัฐ-ทหารได้ประโยชน์ให้ทีวีรัฐโฆษณา - หนุนค่าเช่า MUX ย้ำ กสทช. ต้องมีแผนรองรับธุรกิจทีวีดิจิตอลชัดเจน

สุภิญญาตั้งข้อสังเกตเรื่องการให้กิจการโทรทัศน์และกิจการกระจายเสียงของกรมประชาสัมพันธ์อาจมีรายได้จากโฆษณาได้ว่าเป็นเรื่องที่ผิดหลักปฏิรูปสื่ออย่างรุนแรง เพราะการกระทำเช่นว่านำมาซึ่งคำถามเรื่องงบประมาณซ้ำซ้อน ข้อกังขาเรื่องการอุปถัมภ์ระหว่างรัฐบาล รัฐวิสาหกิจหรือเอกชนรายอื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการโฆษณา และยังทำให้สนามแข่งขันในธุรกิจทีวีดิจิตอลถูกก่อกวนจากผู้เล่นที่ไม่ต้องประมูลคลื่นมาเหมือนรายอื่นอีก 24 ช่องด้วยเงินจำนวนมากแต่รัฐก็ยังใช้เวลาไพรม์ไทม์ออกอากาศฟรีทุกวันศุกร์เวลา 18.00 น.

“อันนี้ไม่ควรอย่างแรงแต่ก็เหนื่อยจะค้านเพราะผิดหลักการปฏิรูปสื่ออย่างแรง คือช่อง 11 กับช่อง 5 ไม่ได้ประมูลคลื่น ได้คลื่นความถี่มาโดยอัตโนมัติแล้วแถมยังเอามาทำกึ่งธุรกิจอีก ช่อง 5 ก็มีโฆษณาด้วยซ้ำแต่ก็เรียกตัวเองว่าทีวีสาธารณะเพื่อความมั่นคงซึ่งมันก็ไม่ถูก ช่อง 11 ยิ่งแล้วใหญ่ ได้งบประมาณจากหลวงอยู่แล้วเหมือนไทยพีบีเอสแต่ก็ยังขอโฆษณา แบบนี้ถ้าไทยพีบีเอสขอทำโฆษณาบ้างแล้วคนจะด่าไหม

“กลายเป็นว่าใช้เงินหลวงแล้วยังตัองโฆษณาแข่งกับธุรกิจแล้วทำให้เขาเสียเปรียบเพราะธุรกิจประมูลมา แต่อันนี้ไม่ต้องประมูล แล้วยังเป็นช่องให้ครหาอีกว่ารัฐจะขอให้เอกชนหรือรัฐวิสาหกิจบางรายมาลงโฆษณาหรือเปล่า เป็นอัฐยายซื้อขนมยายหรือเปล่า เป็นระบบอุปถัมภ์อีกหรือเปล่า เป็นช่องทางให้เอกชนเข้ามาหนุนทางอ้อมหรือเปล่า คือมาซื้อโฆษณาทั้งที่ไม่มีคนดูเยอะ แต่เรื่องหลักการปฏิรูปสื่อก็ผิดอยู่แล้ว สื่อสาธารณะไม่ควรมาทำธุรกิจแบบนี้เพราะคุณไม่ได้แข่งขันเท่าเทียมเป็นธรรมกับเอกชน ไม่ได้ประมูลคลื่นมา ส่วนในมุมการเมือง นอกจากเป็นช่องทางโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) แล้วยังเป็นช่องทางทำธุรกิจอีก ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าตกลงใครได้ประโยชน์กันแน่

“ถ้าเป็นเมื่อ 10-20 ปีก่อน เรื่องนี้คงมีสื่อมวลชน นักวิชาการ เอ็นจีโอมาค้านกันเยอะแยะ ตัวเองก็ค้าน แต่ยุคนี้เหมือนทุกคนอ่อนแรงและเบื่อกันแล้วก็เลยไม่มีคนออกมาค้านเท่าไหร่ ก็งงเหมือนกันที่ (คำสั่ง) ออกมาเพราะเหมือนกับสอดไส้ ไม่มีที่มาที่ไป อยู่ๆ ก็ออกมาด้วย ม.44 แล้ว กลายเป็นคนจะมองว่าเป้าหมายจริงๆ คือจะออกเรื่องนี้ แล้วก็มีเรื่องช่วยดิจิตอลทีวีมาด้วย แต่ก็ทุลักทุเล แถมมีเงื่อนไขสารพัด ก็สงสารดิจิตอลทีวีเหมือนกันที่แข่งขันกันบนระบบใหม่ จ่ายเงินให้รัฐเต็มเม็ดเต็มหน่วยแถมต้องแบกรับเวลาที่รัฐมาใช้ฟรีอีก”

“อันนี้ขอพูดหน่อย มันก็ไม่แฟร์จริงๆ ไม่มีประเทศไหนในโลกใช้ทีวีเอกชนมากขนาดนี้แบบฟรีๆ ทุกวันศุกร์หกโมงเย็น ช่วงไพรม์ไทม์มาสี่ปีแล้ว ถ้ารวมค่าแอร์ไทม์ก็ไม่รู้เป็นราคากี่พันกี่หมื่นล้าน เป็นราคาที่สูงมาก และช่องก็ไม่กล้าโวยวาย ไม่กล้าฟ้องร้อง ถ้าเป็นธุรกิจอื่นๆ เช่นรัฐบาลไปขอใช้สถานที่โรงแรมทุกเย็นวันศุกร์ สักวันก็ต้องมีการจ่ายเงินเขา ต้องมีการวางบิลแล้ว จะไปใช้ที่เขาฟรีได้อย่างไร การใช้แอร์ไทม์ฟรีก็คือการใช้ที่เขาฟรีทั้งที่เขามาจากการประมูล ถ้าเป็นแบบสัมปทานแบบเดิมรัฐอาจจะขอใช้เมื่อไหร่ก็ได้

“แต่พอเป็นระบบใหม่รัฐก็มาขอใช้เมื่อไหร่ก็ได้โดยไม่มีใครหืออือ กสทช. เองก็ไม่เคยช่วยวิจารณ์ ตัวเองก็เคยพูดแล้วแต่มันก็เหมือนกับถ้าช่องเองไม่ลุกขึ้นมาก็คงยาก คงจำยอมรับสภาพไปเพราะกลัวว่าถ้าดื้อแพ่งขึ้นมาก็อาจจะโดนไม่ได้รับความช่วยเหลือ”

“เรื่องโครงข่าย ทางแรกที่ควรทำคือ กสทช. ควรจะกำกับราคาค่าโครงข่ายให้เป็นธรรมตั้งแต่แรก เพราะค่าโครงข่ายที่คิดกันที่ผ่านมามันแพงเกินจริง HD เดือนละ 9-10 ล้าน sd เืดอนละ 3-4 ล้าน ร้อยละห้าสิบ(ที่อุดหนุน) คงเป็นกำไรไปสักครึ่งหนึ่ง ถ้า กสทช. ใช้อำนาจตัวเองตามปรกติที่ระบุไว้ในเงื่อนไขว่า กสทช. มีสิทธิกำกับราคาได้ ตัวเองก็เคยพูดตั้งแต่แรกแล้วว่าต้องกำกับราคา ช่องเขาก็รู้ แต่เสียงไม่ผ่านจึงไม่เกิดการกำกับ เรื่องก็เลยเถิดมา การไปคิดเขาราคาแพงเขาก็อยู่ไม่ไหว จริงๆ ร้อยละ 50 ที่ลดคือต้นทุนที่แท้จริง มีกำไรนิดหน่อยด้วยซ้ำ แต่นี่คือไม่ได้ลด เพราะรัฐก็เอาเงินรัฐไปอุดหนุน จริงๆ ต่อให้ไม่จ่ายก็ยังครอบคลุมต้นทุนที่ลงทุนไปได้อยู่ ก็คิดดูว่าถ้าช่องจ่ายเดือนละ 10 ล้าน ปีหนึ่งก็ร้อยล้าน แล้ว ททบ. 5 จะได้กี่พันล้านต่อปีเพราะมี (เช่าโครงค่าย) ตั้งสิบช่อง แล้วเขาก็กินยาวไป 15 ปี คุณอาจจะไม่คุ้มทุนในปีสองปีแรก แต่มันจะคุ้มทุนในวันหนึ่ง ลองเอา 15 ปี คูณหนึ่งพันล้านเข้าไปก็หมื่นล้านแล้ว โดยเฉพาะช่อง 5 ลูกค้าเยอะ คนที่อาจลำบากหน่อยอย่าง อสมท. เพราะว่าช่องไม่เต็ม และเจอลูกค้ารู้ทันก็คือไม่จ่ายอยู่หลายราย เพราะมองว่าราคาไม่สมคุณภาพและร้องเรียนมาให้ กสทช. ตัดสิน ซึ่งก็มีมติเป็นตัวยืนแล้วว่าต่อให้ยังไม่จ่ายค่าเช่าก็ห้ามตัดสัญญาณ เพราะกระทบผู้บริโภค ทำให้บางช่องใช้มตินี้ไม่จ่ายจนกว่าจะได้ราคาที่เป็นธรรม และเข้าใจว่ามีหลายช่องก่อหวอดที่จะไม่จ่ายหรือจ่ายไม่ครบ ทำให้เป็นส่วนหนึ่งที่เขายอมออกมา แต่พอออกมารัฐก็ไม่ได้เสียประโยชน์อยู่ดี ก็คือเอาเงินไปช่วยจ่าย ไม่ได้ให้ลดราคา

"การทำ MUX ไม่ได้ทำมาให้รัฐหากำไร แต่เป็นโครงสร้างพื้นฐานภายในที่ต้องบริการสาธารณะ ก็เหมือนไฟฟ้า ประปาที่คิดไปตามจริง อย่างไรถ้าคนใช้เยอะก็ได้กำไรอยู่แล้ว มีลูกค้ากึ่งผูกขาดอยู่แล้ว เพราะอย่างไรเขาก็ต้องใช้คุณ เขาจะไปใช้ใคร มันก็มีไม่กี่เจ้า สัญญามันยาว 15 ปีอยู่แล้ว ขนาดไทยพีบีเอสลูกค้าน้อยกว่า ททบ. 5 เขายังคำนวณแล้วเลยว่าได้กำไร

ถ้าจะสรุปด้วยความเจ็บปวดมันก็พลาดที่เราให้ใบอนุญาตโครงข่าย MUX กับ ททบ. 5 ไปสองโครงข่าย เพราะ ททบ. 5 ได้สิทธิสองโครงข่าย เท่ากับทำให้เขามีลูกค้าได้มากกว่าคนอื่น ซึ่งตอนนั้นเราทำข้อเสนอแบบนี้แลกกับให้เขายุติอนาล็อกเร็ว เขาก็ยอมยุติช่องเจ็ดเร็วกว่าช่องสาม แต่ก็ได้กำไรเยอะแล้ว กลายเป็นว่าในขณะที่ช่องอื่นลุ่มๆ ดอนๆ คนที่ยังได้กำไรเต็มที่อยู่ก็คือโครงข่าย ในห่วงโซ่ของดิจิตอลทีวี ททบ. 5 เดือดร้อนน้อยที่สุดเพราะได้เงินค่าเช่า แต่เขาจะเดือดร้อนถ้าลูกค้าเขาทยอยเลิกกิจการ เพราะหมายความว่าอีกสิบปีต่อจากนี้คุณไม่มีสิทธิได้ค่าเช่าและไม่มีใครมาประมูล เลยเข้าใจว่าแม้เขาไม่อยากออกมาช่วยแต่ก็ต้องออกมาช่วยเพื่อพยุงให้อยู่ได้ คือมีความขัดแย้งกันของผลประโยชน์ คือเป็นลูกค้าของกองทัพบก ถ้าพูดตรงไปตรงมา แต่ถ้าจะช่วยไม่เต็มที่ ช่วยกั๊กๆ แบบนี้สุดท้ายประโยชน์ก็กลับมาที่คนเดิมหมดก็คือหน่วยงานรัฐที่คุมเกมและให้บริการโครงข่าย ที่น่าเศร้าคือ กสทช. ที่เป็นคนกำกับทุกคนและในความเป็นจริงคืออยู่เหนือทุกคนเพราะเป็นผู้ถือใบอนุญาตโครงข่าย ถือใบอนุญาตช่อง เห็นภาพรวมทั้งหมด ควรที่จะทำให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม แต่ตอนนี้ไม่เป็นธรรม ออกกติกามาเหมือนจะช่วยก็จริงแต่คนที่ได้ประโยชน์สูงสุดก็ยังได้ ก็คือหน่วยงานรัฐที่ได้สิทธิในการทำโครงข่าย อันนี้ก็ยอมรับว่าพลาดที่เราไปรับการต่อรองตรงนั้นให้ ททบ. 5 มีโครงข่ายมากขึ้นแล้วเขาจะเลิกอนาล็อกเร็ว ก็ไม่รู้ว่าคุ้มกันไหม

"แต่ข้อดีก็มีนิดหนึ่ง คือทำให้เกิดการผูกกันระหว่างช่องกับโครงข่าย ทำให้ทิ้งช่องไม่ได้ อย่างไรเสียก็ต้องช่วยดิจิตอลทีวีให้อยู่ไปได้เพราะมันผูกด้วยกัน แม้จะกระทบช่อง 5 ในฐานะเป็นช่องแต่เขาคงไม่สนใจมั้ง เพราะตอนนี้ในฐานะโครงข่ายเขาได้เงินมากกว่า แม้ตัวช่อง 5 จะได้รายได้น้อยลงแต่เงินที่ไปอยู่ที่โครงข่ายก็เข้าช่อง 5 เหมือนกัน ทำให้เขาต้องพยุงอนาคตของดิจิตอลทีวี ถ้าพยุงไม่อยู่เขาก็จะไม่ได้รับรายได้ระยะยาว โครงข่ายที่ไปวางก็จะกลายเป็นเสาร้าง และในเวลานั้นก็อาจจะพิสูจน์ความผิดพลาดของ กสทช. เว้นแต่ว่า กสทช. อาจจะมีวิสัยทัศน์และแก้ปัญหาทันด้วยการเร่งทำโรดแมปในการเวนคืนคลื่นความถี่หรือ spectrum roadmap แล้วบอกว่า เราจะประมูลคลื่นนั้นคืนมาทำโทรคมนาคม สังคมอาจจะว่าน้อยลง แต่ถ้าสมมติว่าอยู่รอวันตายไปวันๆ สุดท้ายช่องอยู่ไม่รอดจริงๆ โครงข่ายเหลือแต่เสาร้างๆ แล้วยังไม่มีแผนว่าคลื่นนั้นจะถูกนำไปทำอะไรต่อ กสทช. ก็จะโดนได้ว่าตกลงคุณไม่ได้แก้ปัญหา ถ้าจะผ่อนหนักเป็นเบา กสทช. ควรทำการศึกษาไว้ตั้งแต่ตอนนี้ ไม่รู้ว่าทำหรือยังในเรื่องที่มีข้อเรียกร้องว่าควรจะมี spectrum roadmap หรือแผนเรื่องการจัดสรรคลื่น มีการประเมินล่วงหน้าเลยว่าอีก 3 ปี 5 ปีไหวไหม ถ้าคืนกันหมดคลื่นเหล่านี้จะเอาไปทำอะไร จะเอาไปประมูลต่อ เอาเงินเข้ารัฐ หรือทำแบบรุกแบบในสหรัฐฯ คือรัฐไปประมูลกลับ ไม่ถึงกับเอาเงินไปให้เอกชน แต่ไม่เก็บเงินที่เขาต้องจ่ายที่เหลือ แลกกับการนำคลื่นนั้นไปประมูลแล้วได้เงินมากกว่า ถ้าแบบนี้ก็พออธิบายกับสังคมได้ แต่ กสทช. ก็ต้องวางแผนล่วงหน้า แต่เข้าใจว่าเขาคงยังไม่ทำเพราะชุดนี้คงประเมินว่าเขาอาจจะอยู่ไม่รู้ถึงเมื่อไหร่ และมันเป็นช่วงรอยต่อ อาจจะมีสภาพของการ play safe สูงหรือเปล่า แต่มันก็น่าเสียดายกับการที่มีชุดเฉพาะกาลอยู่นานขนาดนี้เป็นเรื่องเสียโอกาสเพราะชุดเฉพาะกาลจะทำเรื่องใหญ่ก็ไม่อยากทำเพราะไม่รู้จะผูกมัดอะไรไหม"

สุภิญญาระบุว่าสิ่งที่ กสทช. ในฐานะองค์กรอิสระที่ได้รับสวัสดิการและอภิสิทธิ์มากมายควรทำในตอนนี้คือเริ่มทำแผนรองรับที่ชัดเจนในกรณีที่ผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้

“กสทช. ก็ต้องประเมินและกล้าตัดสินใจว่าถ้าไม่ไหวจริงๆ จะประมูลคลื่นกลับมาหรือต้องแก้กฎให้เขาขายได้จริงๆ ก็ต้องประเมินข้อดี-เสีย มีงานศึกษาออกมา ถ้าต้องแก้กฎใหม่ก็ต้องแก้ให้เป็นเรื่องเป็นราว มีประชาพิจารณ์ มีคนฟ้องร้องไหม ถ้ามีคนฟ้องร้องก็จบไป ถ้าไม่มีคนฟ้องร้องก็สามารถเอามาแก้กฎได้ ถ้าทำเป็นขั้นตอนแบบนี้ก็สามารถทำได้ แต่ไม่รู้ว่าชุดนี้จะทำไหมเพราะอย่างที่บอกว่าอยู่แบบรอเวลา ช่องเองก็คงงงๆ ว่าจะเอาอย่างไรดี จะเก็บไว้เพื่อขายต่อ หรือทำอย่างไร แล้วถ้าแยกอีกช่องก็อาจจะมาโวยวายขอแก้อีก มันก็จะดูไม่ดี ก็เหมือนเรียกร้องไม่จบสิ้น มีปัญหาทีก็มาแก้ที ทีนี้ กสทช. ในฐานะที่เป็นคนคุมเกมก็ลองเสนอทางออกไปเลยไหม วางฉากสถานการณ์ออพชั่นหนึ่ง สอง สามเตรียมไว้ นี่คือสิ่งที่คิดว่าอุตสาหกรรมอยากเห็น คือเอาให้มันชัดเจน แต่พอไม่อยากใช้อำนาจเองแล้วใช้ ม.44 ก็เท่ากับเปิดช่องให้ ม.44 เป็นระบบอุปถัมภ์ เป็นบิ๊กบราเธอร์ เป็นลูกไก่ในกำมือ เสียเสรีภาพ เสียศักดิ์ศรีการเป็นสื่อเอกชนและความเป็นช่องแล้ว ก็น่าเสียดาย”

“สังคมก็ยิ่งถามถึงความจำเป็นของการดำรงอยู่ของ กสทช เพราะกว่าจะเกิดขึ้นมาได้ก็ยาก แถมมีสิทธิประโยชน์และอภิสิทธิ์ค่อนข้างมาก ให้เงินเดือนสูง สวัสดิการดี ให้อำนาจเต็มที่ มีพนักงานเยอะแยะเพราะต้องการให้เป็นองค์กรอิสระจริงๆ คือคุณทำงานสบายเลย และคุณไม่ต้องไปพึ่งรัฐด้วย เพราะรายได้ กสทช. มาจากการเก็บค่าธรรมเนียมทางตรงจากผู้รับใบอนุญาต อันนี้สังคมอาจจะยังไม่รู้ว่า กสทช. เป็นองค์กรอิสระที่อิสระจริงๆ ต่างจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ด้วยซ้ำเพราะ กกต. กับ กสม. ไม่สามารถหารายได้ด้วยตัวเอง อย่างไรก็ต้องไปของบประมาณจากสภา แต่ กสทช. พิเศษมากเพราะกฎหมายเขียนมาว่าให้เก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตได้ ส่วนหนึ่งไม่ต้องเอาเข้าคลัง ถ้าเป็นเงินประมูลคลื่นต้องเอาเข้าคลัง แต่ทุกๆ ปี กสทช. จะเก็บค่าธรรมเนียมโดยตรงจากเอไอเอส ทรู ดีแทค และช่องต่างๆ มาเป็นรายได้เพื่อใช้เป็นเงินเดือนของ กสทช. มีการการันตีโดยกฎหมายอยู่แล้ว คล้ายไทยพีบีเอสที่ใช้เงินภาษี แต่ก็ระบุชัดเจนว่าแต่ละปีจะตัดให้เท่าไหร่ โอกาสที่รัฐจะเข้าไปแทรกแซงไทยพีบีเอสก็ยากเพราะมีการออกแบบให้ค่อนข้างมีอิสระ และมีบอร์ดเฉพาะที่ไม่ขึ้นตรงกับรัฐมนตรี กสทช. ก็เหมือนกัน มีบอร์ดของตัวเองที่มีอำนาจเต็ม มีช่องทางตามกฎหมายให้เก็บรายได้เองได เพราะเขาต้องการให้ทำงานแบบมืออาชีพ เป็นอิสระจริงๆ ไม่ให้มีการแทรกแซงทางการเมืองเพราะระบบการเมืองแบบเดิมมันวุ่น อย่างที่เราเห็นกันว่าสัมปทานดาวเทียม มือถือ แก้สัมปทานกันมีฟ้องร้องวุ่นวายทั้งไอทีวีมาจนถึงมือถือในอดีต ไม่เกิดการแข่งขันเสรี มันเป็นอุปถัมภ์ แต่ยุคนั้นมันก็ไม่มีเสรีภาพ ยุคนั้นสื่ออนาล็อกไม่มีใครกล้าวิจารณ์รัฐอยู่แล้วเพราะว่าถ้าวิจารณ์ไปดีไม่ดีก็อาจไม่ได้สัมปทาน”

มาตรา 42 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม กำหนดให้รายได้ กสทช. มาจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปี โดยให้ กสทช. กำหนดในอัตรารวมทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละ 2 ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายของผู้รับใบอนุญาต รวมถึงค่าธรรมเนียมซิมการ์ดที่พวกเราใช้กันหมายเลขละ 10 บาท แต่สัดส่วนเล็กน้อยจากรายได้จากขุมทรัพย์คลื่นความถี่ก็ทำให้ กสทช. มีรายได้มหาศาล

“กฎหมายเขียนว่าเก็บได้ไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปีของรายได้ผู้ประกอบการ แต่จริงๆ ตัวเลขร้อยละ 2 ของธุรกิจโทรคมนาคมมันเยอะมาก เพราะรายได้เขาเป็นหลักหมื่นล้าน แต่มันก็ไม่ได้ร้อยละ 2 เต็มๆ หรอก เพราะจะมีลดหย่อนนู่นนี่ แต่ก็ยังเยอะอยู่ดี กสทช. มีรายได้จากค่าธรรมเนียม รวมถึงค่าธรรมเนียมเลขหมายด้วย ซิมการ์ดที่ซื้อกันหมายเลขละ 40-50 บาท เอกชนต้องจ่ายให้ กสทช. เบอร์ละ 10 บาท แล้วประเทศไทยมีกี่เบอร์ กสทช. จึงมีรายได้ต่อปีปีละ 8-9 พันล้านบาทซึ่งเยอะมาก แต่ กสทช. ก็ใช้ไม่หมด เขาใช้ปีละ 4-5 พันล้าน ซึ่งมากกว่าไทยพีบีเอสที่เป็นสถานีโทรทัศน์ 24 ชั่วโมง ต้องมีนักข่าวไปทำหน้าที่ ยังใช้แค่ 2 พันกว่าล้าน แต่ กสทช. ที่เป็นผู้กำกับ งานหลักๆ คือประชุม อาจจะมีการเฝ้าติดตามบ้าง แต่ก็ไม่มีโปรดักชั่นและทำงาน 24 ชั่วโมง ต้นทุนหลักๆ มาจากค่าตอบแทนพนักงานและบอร์ด ก็คือ 2-3 พันล้าน สวัสดิการก็ดี เขาก็ให้คุณทำงานเต็มที่ ที่เหลือก็มีค่าจัดประชุม ค่าสัมนา ซึ่งมันเหลือเฟือ เรื่องนี้ทีดีอาไอหรือใครต่อใครก็เคยวิจารณ์หลายรอบแล้วทั้งเรื่องการใช้เงินไปต่างประเทศ ค่ารับรอง ค่าอะไรที่มีปัญหามันก็มีจริง แต่กลายเป็นการใช้ข้อดี จุดแข็งของการออกแบบกฎหมายให้มีอิสระเพื่อไม่ให้ถูกแทรกแซง แต่กลายเป็นจุดอ่อนและไม่เป็นประโยชน์เลยถ้าทำงานอย่างไม่อิสระ คือได้เงินมากกว่าข้าราชการทั่วไปแต่ทำงานเป็นข้าราชการที่ต้องตอบสนองนโยบายรัฐบาล แล้วจะมีทำไม” สุภิญญากล่าว

“มีหลายเรื่องที่ กสทช. ทำงานได้เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ เช่นการจัดประมูลคลื่นเพื่อหาเงินเข้าคลัง สองปีที่ผ่านมาถ้าไม่มีเงินประมูลคลื่นจาก กสทช. ประเทศก็น่าจะลำบาก ก็เป็นเครดิตของ กสทช. ที่ช่วยชาติไป แต่ก็ยังไม่พอ มันมีงานกำกับดูแลที่ยังทำได้ไม่ดี หลายคนก็อาจจะมองว่าไม่คุ้มค่ากับค่าจ้างที่แพง แม้จะทำงานจัดสรรคลื่นให้เกิดขึ้น เอาเงินเข้าหลวง แต่นั่นก็เป็นงานตามหน้าที่อยู่แล้ว และนอกจากเงินส่วนนั้นที่เอาเข้าคลัง กสทช. ก็มีรายได้จากค่าธรรมเนียมทางตรง ถ้าจะแก้ตรงนี้ก็อาจจะต้องไปแก้ที่กฎหมาย กสทช. ให้ลดสัดส่วนลงจากสองให้เหลือหนึ่งกว่าหรือหนึ่ง หรือกำหนดเพดานขั้นต่ำเหมือนไทยพีบีเอสไปเลยว่าไม่ให้เกินสามหรือสี่พันล้านจากการคำนวณ เพราะมันจะมีแต่มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนใช้มือถือมากขึ้น ค่ายมือถือก็รวยขึ้นก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับ กสทช. มากขึ้น ซึ่งอันนี้ตอนออกแบบกฎหมายก็ไม่คิดว่าจะเป็นจุดโหว่ คนคิดกฎหมายก็คิดในแง่ดีและหวังกับ กสทช. มาก ตัวเอง (สุภิญญา) ก็มีส่วนผลักดันกฎหมายและมีความหวังกับ กสทช. มากว่าจะต้องเป็นองค์กรอิสระ ทำงานเหมือนที่ต่างประเทศเป็น”

“สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กสทช. ยุคนั้นก็เกรงใจในฐานะรัฐบาลเหมือนกันแต่คงไม่มากเท่าทุกวันนี้ เพราะอันนี้อยู่นาน 4 ปี และอำนาจ ม.44 อำนาจรัฐประหารมันมากกว่า กสทช. จึงมีแนวโน้มเอียงไปหาผู้มีอำนาจเยอะกว่า ในสมัยยิ่งลักษณ์ กสทช. ก็มีแนวเกรงอกเกรงใจเหมือนกัน มีการไปเซ็นเซอร์ละครเรื่องเหนือเมฆ 2 ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลชุดนั้นเหมือนกัน คนก็เริ่มจับสังเกตแต่แรกแล้วว่ามีการเกรงใจรัฐบาล แต่มันมาเห็นชัดขึ้นมากในรัฐบาลนี้ คือไม่ได้ทำหน้าที่เป็นกันชนระหว่างสื่อกับรัฐบาล แต่เป็นแขนขาหนึ่งของรัฐบาล ทำงานเหมือนสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเราก็มีสำนักนายกฯ อยู่แล้ว เรามีกรมประชาสัมพันธ์อยู่แล้ว ถ้า กสทช. ยังทำงานเหมือนกรมประชาสัมพันธ์หรือสำนักนายกฯ อีกมันใช่เหรอ อันนี้ควรเป็นสิ่งที่คนควรจะตั้งคำถาม” อดีตกรรมการ กสทช. ชวนตั้งคำถาม[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.