การปลูกฝิ่นในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ทางตะวันออกของรัฐฉาน ใกล้ชายแดนไทย-พม่า ภาพถ่ายปี 2558 (ที่มาของภาพ: Panglong.org/UNODC)

Posted: 07 Jun 2018 11:25 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

เกษตรกรกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังคงปลูกฝิ่นในพม่า ได้จัดการประชุมสามัญเป็นปีที่ 6 ที่เมืองล่าเสี้ยว รัฐฉาน พร้อมออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลพม่าเลิกปราบปราม ชี้ฝิ่นเป็นพืชเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของคนในพื้นที่ขัดแย้ง ต่อให้กวาดล้าง-เดี๋ยวก็กลับมาปลูกใหม่ โดยเสนอโมเดล "ใบอนุญาตใช้ฝิ่นในทางการแพทย์" พร้อมเรียกร้องให้หันมาพัฒนาพื้นที่ห่างไกลเพื่อให้พวกเขาเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ รวมทั้งส่งเสริมกระบวนการสันติภาพกับกลุ่มชาติพันธุ์

ในการจัดประชุมของเกษตรกรผู้ปลูกฝิ่นแห่งเมียนมา (Myanmar Opium Farmer’s Forum -- MOFF) ที่เมืองล่าเสี้ยว รัฐฉาน ประเทศพม่า เมื่อ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งในปีนี้ได้จัดขึ้นเป็นปีที่ 6 โดยมีชุมชนที่ยังคงปลูกฝิ่นทั่วพม่าเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก มีทั้งจากชาติพันธุ์คะเรนนี กะยัน ไทใหญ่ ปะโอ ลาหู่ และกะฉิ่น โดยสาระสำคัญของการประชุมปีนี้คือต้องการให้รัฐบาลพม่ายกเลิกแนวทางปราบปรามฝิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ความขัดแย้ง และมุ่งพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน รวมถึงเรียกร้องให้กองทัพพม่า เร่งกระบวนการสันติภาพกับกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศ

สำหรับแถลงการณ์ของที่ประชุม MOFF (อ่านแถลงการณ์) ในปีนี้ระบุว่า ฝิ่นป็นพืชเศรษฐกิจของชนกลุ่มน้อยในพม่าเนื่องจากพวกเขาไม่มีความมั่นคงทางอาหาร และเข้าไม่ถึงสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานของรัฐ ทั้งในด้านการศึกษา และสาธารณะสุข การปลูกฝิ่นจึงเป็นหนทางเดียวที่ทำให้พวกเขามีรายได้มากพอมาจุนเจือครอบครัว ส่งลูกไปโรงเรียน และจ่ายค่ารักษาพยาบาล อย่างไรก็ตาม เนื่องจากฝิ่นยังคงเป็นพืชเสพติดที่ผิดกฎหมายในพม่า การกวาดล้างจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านจึงจำเป็นต้องจ่ายส่วยเป็นจำนวนมากเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ทางกลุ่มเกษตรกรจึงเรียกร้องให้ทางรัฐบาลยุติการจับกุม และดำเนินคดีให้กับผู้ปลูกฝิ่น และหันมาพัฒนาพื้นที่ห่างไกลให้เข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจได้

“การปลูกฝิ่นคือวิธีการแก้ปัญหาของพวกเรา แต่รัฐบาลกลับจ้องจะกวาดล้างพวกเรา และเจ้าหน้าที่รัฐก็มักจะเรียกเก็บส่วย และภาษีอย่างผิดกฎหมาย สิ่งเหล่านี้เป็นการผลักเราเข้าสู่ความยากจนที่ถลำลึกลงไปมากกว่าเดิม ทุกๆ ปี รัฐบาลได้ทำลายไร่ฝิ่น และชุมชนของพวกเราก็ต้องรับผลกระทบเป็นอย่างมาก เราปลูกฝิ่น แล้วยังต้องอยู่กับกลัว เราปลูกฝิ่น แต่รัฐบาลเข้ามาทำลาย แต่เมื่อเราไม่มีทางเลือกอื่น เราก็ต้องปลูกใหม่ และรัฐบาลก็เข้ามาทำลายใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นวัฏจักรที่ไม่มีทางจบสิ้น” แถลงการณ์ของ MOFF ระบุ

แถลงการณ์ยังระบุถึงสรรพคุณที่หลากหลายของฝิ่น โดยกล่าวว่าชนกลุ่มน้อยส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขของรัฐได้ จึงต้องอาศัยฝื่นซึ่งเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านแทนยารักษาโรค ในบางชนเผ่า ฝิ่นยังถูกใช้เป็นเครื่องรางในการขับไล่ภูติผี ฝิ่นจึงไม่ใช่เป็นแค่พืชเศรษฐกิจ แต่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ ด้วยเหตุนี้ ทางกลุ่มเกษตรกรจึงเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าเอาโมเดลการออกใบอนุญาตการใช้ฝิ่นในทางการแพทย์ของต่างประเทศมาใช้ด้วย

“พวกเราหลายคนอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ทางรัฐบาลไม่สามารถจัดการบริการสาธารณขั้นพื้นฐานได้ ทั้งทางด้านสาธารณสุขและการศึกษา ในพื้นที่ดังกล่าว ฝิ่นจึงถูกใช้เป็นยาพื้นบ้าน ฝิ่นถูกใช้เป็นยาแก้ปวด แก้อาการท้องเสีย มาลาเรีย และช่วยลดไข้ ฝิ่นยังถูกใช้ในการฝึกสัตว์ เช่นช้าง และยังสามารถรักษาโรคในสัตว์ได้หลากหลายชนิด ฝิ่นยังมีฤทธิ์ถอดพิษจากแมลงกดต่อย และใช้เป็นเครื่องปัดเป่าภูติผีปีศาจในหมู่ชนพื้นเมือง ฝิ่นจึงเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของพวกเรา”

ทางกลุ่มเกษตรกรกล่าวต่อว่า การปลูกฝิ่นเป็นภาพสะท้อนหนึ่งของความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในพม่า โดยในช่วงปี 1998-2002 ทางกองทัพพม่าได้ขับไล่ชนกลุ่มน้อยจำนวนมากออกจากพื้นที่และยึดไร่นาของพวกเขา หลายชุมชนที่ไม่เคยปลูกฝิ่นมาก่อนจึงต้องหันมาปลูก เนื่องจากทางกองทัพได้ทำลายพื้นที่ทำกินของพวกเขาไปจนหมด นอกจากนี้ ทั้งกองทัพและกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ยังเรียกร้องส่วยและค่าคุ้มครองจากผู้ปลูกฝิ่น ซึ่งเงินเหล่านี้ก็ถูกนำไปใช้ซื้ออาวุธมาสานต่อความขัดแย้งต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยทางกลุ่มเกษตรกรชี้ว่าปัญหาทั้งหมดนี้เกิดจากการที่รัฐบาลยังไม่ปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์เฉกเช่นพลเมืองทั่วไป

“เราต้องการได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมเฉกเช่นพลเมือง มีความเชื่อมที่ชัดเจนโยงระหว่างยาเสพติดกับความขัดแย้ง เราต้องจ่ายภาษีฝิ่นจำนวนมากให้กับกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่ม เจ้าหน้าที่รัฐ และกองทัพพม่า ตราบใดที่ยังไม่มีความเท่าเทียม ก็จะไม่มีสันติภาพในประเทศนี้ และตราบใดที่ยังไม่มีสันติภาพ ก็จะไม่มีการพัฒนา”

สุดท้าย ทางกลุ่มเกษตรกร MOFF ได้เรียกร้องให้รัฐบาลพม่าทบทวนกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวกับชนกลุ่มน้อย ทั้งกฎหมายยาเสพติด กฎหมายที่ดิน และให้ความสำคัญกับกระบวนการเจราเพื่อสันติภาพ โดยเสนอให้มีการตั้งคณะทำงานพิเศษขึ้นมาเพื่อดูแลปัญหายาเสพติดในพื้นที่ความขัดแย้ง และจะต้องมีตัวแทนของ MOFF อยู่ภายในคณะทำงานดังกล่าวด้วย

แถลงการณ์จากที่ประชุมเกษตรกรผู้ปลูกฝิ่นในพม่าครั้งที่ 6

เผยแพร่ครั้งแรกโดย TNI

พวกเราตัวแทนประชาคมผู้ปลูกฝิ่นชาวทั้งจากชาติพันธุ์คะเรนนี กะยัน ไทใหญ่ ปะโอ ลาหู่ และกะฉิ่น ได้มารวมตัวกันที่เมืองล่าเสี้ยวในรัฐฉาน ระหว่างวันที่ 26-28 พฤษภาคม 2561 เพื่อพิจารณาถึงความท้าทายที่พวกเราต้องเผชิญในชีวิต และแบ่งปันประสบการณ์เพื่อให้ร่วมกัน ในปี 2013 เราได้ก่อตั้งที่ประชุมของเกษตรกรปลูกฝิ่นแห่งเมียนมา (Myanmar Opium Farmer’s Forum -- MOFF) เพื่อสะท้อนเสียงของพวกเราให้เป็นที่รับรู้ และนี่มติจากการประชุมครั้งที่ 6 ของพวกเรา

นโยบายและกฎหมายยาเสพติดควรจะเคารพสิทธิของชุมชนผู้ผลิต และเราควรได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจที่มีผลต่อชีวิตเรา
การพัฒนาต้องมาก่อน

เราปลูกฝิ่นในฐานะพืชเศรษฐกิจเพราะพวกเรายากจน และขาดโอกาสในการมีชีวิตที่ดี เราไม่มีความมั่นคงทางอาหาร และภายในหมู่บ้านก็ไม่มีงานที่ให้ผลตอบแทนมากพอที่จะหาเลี้ยงครอบครัวได้ เราอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ตัดขาดจากการพัฒนา และมักได้ระบบผลกระทบจากพื้นที่ความขัดแย้งซึ่งไม่มีบริการสถารณะใดๆ การเข้าถึงตลาดเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าอื่นๆ ที่จำเป็นก็ทำได้ยากมาก เราต้องใช้เงินจากการขายฝิ่นเพื่อซื้ออาการและของใช้พื้นฐานภายในบ้าน ส่งลูกไปโรงเรียน และจ่ายค่ารักษาพยาบาล สำหรับเราการปลูกฝิ่นคือวิธีการแก้ปัญหาของพวกเรา แต่รัฐบาลกลับจ้องจะกวาดล้างพวกเรา และเจ้าหน้าที่รัฐก็มักจะเรียกเก็บส่วย และภาษีอย่างผิดกฎหมาย เมื่อเราไม่มีทางเลือกอื่น สิ่งเหล่านี้จึงเป็นการผลักเราเข้าสู่ความยากจนมากขึ้นไปกว่าเดิม ทุกๆ ปี รัฐบาลได้ทำลายไร่ฝิ่น และชุมชนของพวกเราก็ต้องรับผลกระทบเป็นอย่างมาก เราปลูกฝิ่น แล้วยังต้องอยู่กับกลัว เราปลูกฝิ่น แต่รัฐบาลเข้ามาทำลาย แต่เมื่อเราไม่มีทางเลือก เราก็ต้องปลูกใหม่ และรัฐบาลก็เข้ามาทำลายใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นวัฏจักรที่ไม่มีทางจบสิ้น

เราต้องการเปลี่ยนนโยบาย และต้องการเส้นทางอื่นๆ ที่ไม่ใช่การทำลาย แทนที่จะมองพวกเราเป็นอาชญากร และพรากเอาวิถีชีวิตของพวกเราไป เราต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนการพัฒนาชุมชนของเรา มองสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานให้พวกเรา และช่วยให้พวกเราเขาถึงตลาดเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าอื่นๆที่จำเป็น ข้อเรียกร้องของเราคือจะต้องไม่มีการจับกุม และทำให้ผู้ปลูกฝิ่นเป็นอาชญากร เลิกการทำลายไร่ของพวกเรา และมุ่งสู่การพัฒนา

พวกเราปลูกฝิ่นมาหลายต่อหลายรุ่น จึงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะสามารถหยุดปลูกฝิ่นได้ภายในทันที การลดปริมาณการปลูกฝิ่นจะต้องเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเราก็ต้องการความช่วยเหลือที่จำเป็นจากรัฐ ในระหว่างที่เรากำลังวิธีการอื่นในการดำรงชีวิต โดยโครงการพัฒนาดังกล่าว รวมไปถึงการปลูกพืชทดแทนนั้นจะต้องสอดคล้องกับเงื่อนไขภายในท้องถิ่นด้วย
สรรพคุณทางยาและการใช้ฝิ่นแบบพื้นบ้าน

พวกเราหลายคนอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ทางรัฐบาลไม่สามารถจัดการบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานได้ ทั้งทางด้านสาธารณสุขและการศึกษา ในพื้นที่ดังกล่าว ฝิ่นจึงถูกใช้เป็นยาพื้นบ้าน ฝิ่นถูกใช้เป็นยาแก้ปวด แก้อาการท้องเสีย มาลาเรีย และช่วยลดไข้ ฝิ่นยังถูกใช้ในการฝึกสัตว์ เช่นฝึกช้าง และยังสามารถรักษาโรคในสัตว์ได้หลากหลายชนิด ฝิ่นยังมีฤทธิ์ถอดพิษจากแมลงกดต่อย และใช้เป็นเครื่องปัดเป่าภูติผีปีศาจในหมู่ชนพื้นเมือง ฝิ่นจึงเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของพวกเรา

เราต้องการให้เกิดการยอมรับสรรพคุณทางยา และการใช้แบบพื้นบ้านของฝิ่นภายในชุมชนของเรา การใช้ฝิ่นในปริมาณที่พอเหมาะควรเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ได้รับการอนุญาต และเพื่อให้ความร่วมมือกับทางรัฐบาล เราจึงให้รัฐบาลมีโมเดลออกใบอนุญาตการปลูกฝิ่นทางการแพทย์ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับนานาชาติ ประเทศอื่นๆ เช่นอินเดียก็ใช้โมเดลดังกล่าวด้วยเช่นกัน เราจึงอยากเห็นการนำร่องแนวทางดังกล่าวในพม่าด้วยเช่นกัน
ที่ดินและการปลูกฝิ่น

เราบริหารจัดการและอาศัยอยู่ในที่ดินของเรามาหลายรุ่นโดยใช้ระบบทำเนียบปฏิบัติ แต่กฎหมายที่ดินสมัยใหม่กลับมารับรองธรรมเนียมปฏิบัติของชนกลุ่มน้อย หรือแนวทางการบริหารจัดการที่ดินร่วมกัน การปลูกพืชหมุนเวียนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่แพร่หลายของคนปลูกฝิ่นเนื่องจากมันเป็นพืชผิดกฎหมาย เป็นสิ่งที่รัฐไม่ให้การยอมรับโดยสิ้นเชิง ด้วยเหตุนี้ ที่ดินของบรรพบุรุษเราจำนวนมากจึงถูกยึดไป

การไม่มีกรรมสิทธิ์ที่ดินที่มั่นคงคือหนึ่งในเหตุผลว่าทำไมชุมชนของเราบางกลุ่มยังคงต้องพึ่งพาการปลูกฝิ่นเพื่อเครื่องดำรงชีวิต ในกรณีศึกษาหนึ่ง หลังกองทัพพม่ายึดไร่นาของพวกเรา เราก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากขึ้นไปปลูกในที่สูงขึ้นเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว

ฉะนั้น กฎหมายปัจจุบันที่เกี่ยวกับฝิ่นควรจะต้องถูกยกเลิก และกฎหมายที่ดินแห่งชาติฉบับใหม่ควรจะต้องรับรอง ปกป้อง และ สนับสนุน ธรรมเนียมปฏิบัติของพวกเรา
การปลูกฝิ่นและสันติภาพ

ชุมชนของเราบางกลุ่มต้องถูกพลัดพรากจากที่อยู่เดิมในช่วงการดำเนินนโยบาย “สี่ตัด” ที่กองทัพพม่าดำเนินการกับกลุ่มกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อย ตัวอย่างเช่น ในช่วงปี 1998-2002 หมู่บ้านหนึ่งในสมาชิกของพวกเราถูกกองทัพพม่าบังคับให้ออกจากพื้นที่ทั้งหมู่บ้าน “ตอนเรากลับไปที่หมู่บ้านของเรา มันไม่มีเหลืออยู่เลย เราไม่อะไรจะกิน เมื่อก่อนเราไม่ได้ปลูกฝิ่น แต่หลังจากกลับมา เราไม่มีทางเลือกอื่น จากนั้นทั้งหมู่บ้านเลยต้องปลูกฝิ่น”

สันติภาพเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับเรา หลายชีวิตในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง ในพื้นที่ดังกล่าว มันยากมากที่จะปลูกพืช ภูมิภาคของเราไม่มีการพัฒนาใดๆ และไม่มีบริการขั้นพื้นฐานจากรัฐบาล เราต้องการได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมเฉกเช่นพลเมือง มีความเชื่อมโยงระหว่างยาเสพติดกับความขัดแย้ง เราต้องจ่ายภาษีฝิ่นจำนวนมากให้กับกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่ม เจ้าหน้าที่ของรัฐ และกองทัพพม่า ตราบใดที่ยังไม่มีความเท่าเทียม ก็จะไม่มีสันติภาพในประเทศนี้ และตราบใดที่ยังไม่มีสันติภาพ ก็จะไม่มีการพัฒนา

เพื่อแก้ปัญหาทั้งหมดเหล่านี้ ควรจะต้องมีกระบวนการแยกย่อยในเรื่องของยาเสพติดกับสันติภาพ และการพูดคุยทางการเมือง โดยในกระบวยการดังกล่าว ควรจะมีตัวแทนในจำนวนที่เหมาะสมเข้าร่วม เราต้องการให้ตัวแทนของ MOFF รวมอยู่ในการพูดคุยนั้นด้วย

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.