Posted: 06 Jun 2018 01:18 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

กัลยา จุฬารัฐกร เครือข่ายสตรีชนเผ่าแห่งประเทศไทย

สำหรับผู้หญิง, ชาวนาและชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศกำลังพัฒนา เมล็ดพันธุ์มีความหมายเท่ากับอาหาร และอาหารนั้นหมายความถึงชีวิต แต่การเสนอแก้ไข "พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช" ระลอกล่าสุด ทำให้พวกเขาเกรงว่าจะเป็นการแย่งชิงเมล็ดพันธุ์ไปจากมือของชุมชนผู้เก็บรักษาและพัฒนาองค์ความรู้ท้องถิ่นเรื่องความหลากหลายของพันธุ์พืช เพื่อนำเมล็ดพันธุ์เหล่านั้นไปไว้ในมือของบรรษัทใหญ่

ที่มาของภาพประกอบ: ดัดแปลงจาก APWLD/Neil Palmer-CIAT Wikipedia และ Inhabitat
ทั่วทั้งโลก ผู้หญิงได้เพาะเมล็ดพันธุ์พืชกว่า 7,000 สายพันธุ์เพื่อรสชาติ คุณค่าทางอาหาร ความทนทานต่อศัตรูพืช ความแห้งแล้ง น้ำท่วม และการทนทานต่อความเค็ม ในประเทศไทย สำนักวิจัยและพัฒนาข้าวได้เก็บข้อมูลไว้ตั้งแต่ปี 2480 เป็นต้นมาว่าประเทศไทยมีสายพันธุ์ข้าวแตกต่างกันถึง 5,900 ชนิด แต่ 80% ของข้าวที่มีการปลูกกันทั่วไปนั้นมีเพียง 5 สายพันธุ์ เนื่องจากการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ข้าวทำให้ความหลากหลายของเมล็ดพันธุ์ลดลง

ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการรับประกับความมั่นคงทางอาหาร ทั้งการรักษาความหลากหลายของเมล็ดพันธุ์พืช และการเลี้ยงปากท้องของทั้งครอบครัวและชุมชน ผู้หญิงคิดเป็น 43% ของแรงงานภาคเกษตรกรรมในประเทศกำลังพัฒนา และถือเป็นแรงงานหลักในหลายประเทศ

000

“การแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ถือเป็นเรื่องปกติในกลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง พวกเราแลกเปลี่ยนและแบ่งปันเมล็ดพันธุ์เพื่อความมั่นคงทางอาหารและการรักษาเมล็ดพันธุ์ การแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ยังถือเป็นการทดสอบเมล็ดพันธ์ไปในตัว เช่นก่อนที่เราจะตัดสินใจปลูกข้าว เราจะแลกเปลี่ยนพันธุ์ข้าวกับคนอื่นและพยายามหาว่าพันธุ์ข้าวชนิดไหนที่จะเหมาะกับสภาพอากาศ และพันธุ์ข้าวชนิดไหนจะมีรสชาติแบบที่เราชอบ” แน่งน้อย แซ่เซ่ง ประธานเครือข่ายสตรีชนเผ่าแห่งประเทศไทยกล่าว

หากการเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะมีผลให้เกษตรกรในประเทศไทยต้องอยู่ภายใต้การกำกับของอนุสัญญาสำนักงานสหภาพเพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชฉบับปี 1991 สำหรับชาวนาผู้หญิง นี่หมายความว่าการเก็บและแบ่งปันเมล็ดพันธุ์จะมีโทษทางอาญา และชาวนาอาจจะต้องเสียค่าปรับถึง 400,000 บาทหรือจำคุกถึงสองปี และเมล็ดพันธุ์ที่ชาวนาเก็บรักษาไว้อาจจะโดนทำลายหากการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืชนั้นเป็นการละเมิดสิทธิบัตรของบรรษัท
เสียงจากชุมชนพื้นเมือง: เมล็ดพันธุ์คือชีวิตของพวกเรา


หน่อแอริ ทุ่งเมืองทอง รองประธานเครือข่ายสตรีชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (ที่มา: APWLD)

“เมล็ดพันธุ์คือความมั่นคงทางอาหาร, คืออัตลักษณ์ คือชีวิตของพวกเรา พวกเราชนเผ่าพื้นเมืองมีเมล็ดพันธุุ์และวิธีการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ของเราเองเพื่อการเพาะปลูกในฤดูกาลหน้า” หน่อแอริ ทุ่งเมืองทอง รองประธานเครือข่ายสตรีชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยกล่าว

“พวกเราจะต้องมีส่วนร่วมในการให้ความคิดเห็นหากกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเมล็ดพันธุ์พืชจะถูกร่างขึ้นมาและบังคับใช้ในประเทศไทย”

แม้ว่าประเทศอินโดนีเซียจะไม่ได้เป็นภาคีในอนุสัญญาสำนักงานสหภาพเพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ แต่รัฐบาลอินโดนีเซียก็กำลังออกกฎหมายใหม่ที่สอดคล้องกับเนื้อหาของอนุสัญญาดังกล่าว ชาวนาในประเทศอินโดนีเซียต้องเผชิญกับโทษจำคุกสูงสุด 10 เดือนและโทษปรับหนึ่งล้านรูเปียสำหรับการแลกเปลี่ยนและเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ การคัดค้านของนักกิจกรรมและชาวนานำไปสู่คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญว่ากฎหมายฉบับนี้ขัดรัฐธรรมนูญและมีผลเป็นโมฆะ

ส่วนในอินเดียนั้น ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา มีรายงานการฆ่าตัวตายอย่างน้อย 12,000 รายในภาคอุตสาหกรรมเกษตรทุกปี เพราะเมื่อเมล็ดพันธุ์ที่ของชาวนาถูกแทนที่ด้วยเมล็ดพันธุ์ของบรรษัท ชาวนาจะถูกบังคับให้ซื้อเมล็ดพันธุ์พร้อมกับยาฆ่าแมลงและปุ๋ยจากบรรษัท เนื่องจากเมล็ดพันธุ์จะถูกออกแบบมาให้ทนกับสารเคมีจากยาฆ่าแมลงและปุ๋ยจากบรรษัทที่ซื้อเท่านั้น ทำให้ชาวนาตกอยู่ในวงเวียนของการซื้อแบบผูกขาดและอยู่ในวงจรหนี้สิน และเมื่อราคาผลผลิตตกต่ำลงเนื่องจากนโยบายการค้าเสรี ชาวนาจะยิ่งตกอยู่ในกับดักหนี้จนชาวนาตัดสินใจฆ่าตัวตาย การฆ่าตัวตายของชาวนาในแต่ละครั้งได้ทิ้งผู้หญิงและเด็กในครอบครัวไว้ข้างหลัง และคนเหล่านี้ก็ต้องดิ้นรนในการมีชีวิตอยู่ต่อไป


เมื่อประชาชนถูกยึดกุมอาหารผ่านการยึดเมล็ดพันธุ์, 18 ตุลาคม 2560

(เอกสารประกอบ) RCEP ความตกลงพันธมิตรทางการค้รระดับภูมิภาค ปล้มสะดมจากชุมชนเพื่อผลกำไร


ความพยายามแก้ไขกฎหมายคุ้มครองพืชพันธุ์
ภายใต้กรอบเจรจาการค้าข้ามชาติ


นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีความพยายามในการออกกฎหมายให้ไทยตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขของอนุสัญญาสำนักงานสหภาพเพื่อคุ้มครองพืชพันธุ์ใหม่ แต่ความพยายามครั้งก่อนหน้านั้นถูกคัดค้านอย่างรุนแรงจากกลุ่มชาวนาในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม การเสนอแก้ไขกฎหมายครั้งล่าสุดนี้เกิดขึ้นภายใต้บริบทของการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP) ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสิบชาติในอาเซียนและคู่ค้าอีกหกประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ โดยการเจรจาทั้งหมดผ่านมาแล้ว 2 รอบ รอบล่าสุดในเดือนพฤษภาคมเกิดขึ้นที่สิงคโปร์ และการเจรจาที่ประเทศไทย รอบที่ 24 จะเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้

การรวมตัวกันของคู่ค้า 16 ประเทศนี้จะคิดเป็นสัดส่วนจำนวนประชากรเกือบครึ่งโลก การเซ็นสัญญาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคนี้คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปี 2561 หลังจากมีการเจรจากันมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2556 ตัวข้อตกลงฯ นี้จะมุ่งไปยังการค้าขายสินค้า, บริการ, การลงทุน, การร่วมมือทางเศรษฐกิจ, ทรัพย์สินทางปัญญา, การแข่งขัน, การตกลงข้อพิพาท, อี-คอมเมิร์ซ, และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อย

หากมีการหาข้อสรุปร่วมกันได้ ทุกชาติจะมีภาระผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องแก้ไขกฎหมายและนโยบายภายในของตนเองให้สอดคล้องกับข้อตกลงต่างๆ ซึ่งชาติภาคีพยายามเร่งรัดหาข้อสรุปให้ได้ภายในปีนี้ ประเทศไทยจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงนี้เช่นเดียวกับการอยู่ภายใต้อนุสัญญาของสำนักงานสหภาพเพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ผลลัพธ์คือการยึดครองเมล็ดพันธุ์ของบรรษัทและการควบคุมภาคเกษตรกรรมจะเกิดขึ้นอีกครั้ง การประชุมที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ในประเทศไทยจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่ออนาคตของชาวนาทั้งภูมิภาค

แนวคิดเรื่องทรัพย์สินทางปัญญายังคงเป็นสิ่งแปลกปลอมในหลายประเทศกำลังพัฒนารวมถึงประเทศไทย ซึ่งชุมชนและชาวนายังคงพึ่งพาองค์ความรู้ดั้งเดิมในการเก็บรักษาและแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์อย่างเสรีมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ เมล็ดพันธุ์ของชุมชนและชาวนาโดยทั่วไปจะมีราคาถูกกว่าเมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการรับรองของบรรษัท ในขณะที่การเพาะเมล็ดพันธุ์ของบรรษัทมักจะมุ่งไปที่การผลิตพืชเศรษฐกิจและพืชอาหารหลัก กระบวนการผลิตเช่นนี้ทำให้เมล็ดพันธุ์ของบรรษัทแทบไม่มีความจำเป็นสำหรับชาวนาหญิงที่มักจะทำการเกษตรที่ใช้ปัจจัยการผลิตแบบลงทุนต่ำและการผลิตเพื่อการยังชีพ

ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวหมายเลขหนึ่งในอาเซียนและหมายเลขสี่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สิ่งนี้เกิดขึ้นได้เนื่องจากพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืชปี 2542 นั้นมีจุดมุ่งหมายในการสร้างสมดุลระหว่างการปกป้องสิทธิชุมชนและผลประโยชน์ของบรรษัท

ความสมดุลที่ว่านี้ถูกคัดค้านอย่างหนักจากบรรษัทยักษ์ใหญ่ และบรรษัทเหล่านี้คือบรรษัทเดียวกับกลุ่มหกยักษ์ (ได้แก่ บีเอเอสเอฟ, ไบเออร์, ดาว, ดูปองท์, มอนซานโต้, ซินเจนทา) ซึ่งสถิติในปี 2556 บริษัทเหล่านี้ควบคุมส่วนแบ่ง 75% ในตลาดเคมีเกษตร และ 63% ในตลาดเมล็ดพันธ์เชิงพาณิชย์ ทั้งๆ ที่บริษัทเหล่านี้ผลิตอาหารออกมาเพียง 20% ของความต้องการอาหารทั่วโลก การผูกขาดที่ว่าทำให้บรรษัทเหล่านี้สามารถตั้งราคาสินค้าได้ตามต้องการโดยเกษตรกรและผู้บริโภคจำเป็นต้องจ่ายราคาเหล่านั้น ในปัจจุบันกลุ่มหกยักษ์ได้ควบรวมกิจการจนเหลือเพียงสามยักษ์ (ไบเออร์-มอนซานโต, ดาว ดูปองท์, ไชน่าเคม-ซินเจนทา) ซึ่งจะทำให้การขึ้นราคาเมล็ดพันธุ์ ยาฆ่าแมลง และปุ๋ยเป็นเรื่องง่ายยิ่งกว่าเดิม

ในขณะที่อาหาร 80% ในโลกถูกผลิตโดยการเกษตรระดับครอบครัวซึ่งมีผู้หญิงเป็นผู้ทำนาหลัก การเกษตรขนาดเล็กถือเป็นวิถีชีวิตหลักในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ ตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา มีการประมาณกันว่าพืชกว่า 2.1 ล้านสายพันธุ์จาก 7,000 ชนิดถูกเพาะปลูกและดูแลโดยระบบที่ชาวนาพัฒนาขึ้นมาในระดับชุมชน

ระบบเกษตรกรรมที่นำโดยชุมชนและชาวนาเป็นรากฐานที่ทำให้ชาวนาในประเทศกำลังพัฒนายังคงเป็นไทแก่ตัว เช่นเดียวกับการมีความมั่นคงทางอาหาร ผู้หญิงและชาวนาได้เลี้ยงปากท้องของครอบครัว ชุมชน และประเทศตั้งแต่ก่อนการมาถึงของธุรกิจเกษตร พวกเธอจะทำแบบนั้นต่อไปตราบเท่าที่จะสามารถควบคุมและเข้าถึงเมล็ดพันธุ์อย่างที่เคยเป็นมาตลอดหลายศตวรรษ

“การแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ไม่ได้เป็นแค่วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของเรา มันเป็นการรักษาความหลากหลาย ความมั่นคงทางอาหาร และอธิปไตยทางอาหาร พวกเรากังวลอย่างมากเรื่องการผ่านกฎหมายพันธุ์พืชใหม่ของรัฐบาล” แน่งน้อยกล่าว

“เรากลัวว่านโยบายนี้จะเป็นประโยชน์เฉพาะกับบรรษัทที่ต้องการครอบครองเมล็ดพันธุ์ของชุมชน และไม่เป็นคุณกับชาวบ้าน ซึ่งสำหรับพวกเขาเมล็ดพันธุ์ไม่ใช่เป็นแค่เครื่องแสวงหากำไร เมล็ดพันธุ์คือการแบ่งปันและการดำรงอยู่ของความหลากหลายทางพันธุ์พืชในโลกของเรา”

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.