Posted: 08 Jun 2018 04:09 AM PDT

พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์

การแพร่เข้าไปของพระพุทธศาสนาในสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันเป็นไปอย่างกว้างขวาง แม้ว่าสหรัฐฯ จะเป็นประเทศที่แยกระบบการปกครอง (รัฐ) ออกจากศาสนา (secular state) หรือ ศาสนาไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมกำกับดูแลโดยรัฐ หากการนับถือศาสนาเป็นไปตามความนิยมเชิงปัจเจก ตามแบบอย่างจารีตอเมริกัน ซึ่งเน้นเสรีภาพในเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับศาสนาตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ อเมริกันเป็นที่ตั้ง โดยที่การปกครองไม่อิงหรือผูกพันกับการนับถือศาสนาใดๆ

ภายใต้ระบบการเปิดเสรีอเมริกันดังกล่าว ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวอย่างมากมายของกิจกรรมเชิงลัทธิเชิงศาสนาต่างๆ ในสหรัฐฯ นอกเหนือไปจากพลเมืองอเมริกันแล้ว ในช่วงที่ผ่านมายังมีนักการเมืองอเมริกันที่อ้างตนเองอย่างเป็นทางการว่า นับถือศาสนาพุทธรวมอยู่ในนั้นด้วย ได้แก่ สมาชิกวุฒิสมาชิก (สว.) หญิง Mazie Keiko Hirono แห่งรัฐฮาวายที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2555 ,สมาชิกสภาคองเกรส (สส.) Hank Johnson แห่งรัฐจอร์เจีย และ สส.หญิง Colleen Hanabusa แห่งรัฐฮาวาย ทั้งหมดสังกัดพรรคเดโมแครต พรรคเดียวกับนายบารัก โอบามา อดีตผู้นำสหรัฐฯ

ขณะที่ก่อนหน้านี้นักการเมืองอเมริกันหลายคนได้พบกับผู้นำชาวพุทธ ได้แก่ ทะไลลามะ ที่เดินทางไปสหรัฐฯบ่อยครั้ง และพบกับผู้นำทางการเมืองของอเมริกันก่อนหน้านี้ ดังมีนายจอร์จ ดับเบิลยู บุช อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ และอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา เป็นต้น นอกเหนือไปจากที่ผู้นำทางด้านจิตวิญญาณของชาวทิเบตยังเคยพบสมาชิกวุฒิสภา (สว.) John McCain อดีตผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ,สส.หญิง Nancy Pelosi ผู้นำในสภาล่าง (คองเกรส) ของพรรคเดโมแครตที่เธอถึงขนาดเดินทางไปหาพระองค์ถึงธรรมศาลา ในรัฐหิมาจัลประเทศ อินเดีย และในส่วนของสส. John Boehner ผู้นำเสียข้างมากในสภาคองเกรส (Speaker of House) แห่งพรรครีพับลิกันขณะนั้น ก็ได้มีการพบปะกับทะไลลามะมาแล้วเช่นเดียวกัน

ไม่รวมถึงคนมีชื่อเสียงของอเมริกันอีกจำนวนมากที่หันมานับถือพระพุทธศาสนา เช่น Brad Pitt , Angelina Jolie , Jennifer Lopez , Ron Reagan , Keanu Reeves , Richard Gere ,Steve Jobs หรือแม้กระทั่ง Steve Wynn เจ้าของคาสิโนและโรงแรม Wynn แห่งเมืองลาสเวกัส ที่หากถือตามหลักการของหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาแล้ว ธุรกิจบ่อนถือว่าเป็นธุรกิจบาป

แม้แต่คนในครอบครัวของนายโอบามา Maya Soetoro-Ng ซึ่งเกิดที่อินโดนีเซีย และเป็นน้องสาวต่างบิดาของอดีตประธานาธิบดี ก็แสดงตนเองว่ายอมรับนับถือพระพุทธศาสนาในแง่การยอมรับในหลักการเชิงปรัชญา (philosophically Buddhist) เช่นเดียวกัน โดยขณะนี้ Soetoro-Ng พำนักอยู่ในรัฐฮาวาย สหรัฐฯ

การหันมาให้ความสนใจและนับถือพระพุทธศาสนาของ Soetoro-Ng เป็นเพราะเธอได้รับอิทธิพลจากความเป็นคนเอเชีย เมื่อวัยเด็กที่เคยอาศัยในอินโดนีเซียและบรรยากาศของชุมชนคนเอเชียในรัฐฮาวาย ซึ่งที่มีคนเชื้อสายญี่ปุ่นที่นับถือพระพุทธศาสนาอยู่เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามทั้งหมดเกี่ยวข้องกับความกับความสนใจของตัวเธอเองด้วย ทั้งนี้หากมองจากฐานของความสนใจในพระพุทธศาสนาของ Soetoro-Ng ซึ่งเป็นน้องสาวของบารักโอบามาที่เธออ้างตอนทำแคมเปญเลือกตั้งช่วยพี่ชายทั้ง ๒ ครั้งว่า “โตมาด้วยกันและมีความสัมพันธ์ฉันท์น้องพี่ที่ดีมาตลอด”แล้ว อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ บารัก โอบามา น่าจะได้รับอิทธิพลเชิงความรู้และความสนใจด้านพระพุทธศาสนาอยู่ไม่น้อย ซึ่งสามารถเป็นแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งต่อการเยี่ยมชมพุทธศาสนสถาน เนื่องในโอกาสเยือนไทยระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2555 โดยที่ตัวของนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯเองในเวลานั้น ก็ให้ความสนใจพระพุทธศาสนาและศาสตร์ตะวันออกอยู่ไม่น้อย ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงบริบทแห่ง“โอกาสอันเหมาะสม”ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและโอกาสในการถ่ายทอดวัฒนธรรมด้านอื่นๆจากฝั่งไทยไปยังฝั่งอเมริกาก็ย่อมมีทางเป็นไปได้มาก

ข้อมูลของ U-T San Diego ระบุว่า เมื่อปี 2555 ชาวอเมริกันที่เป็นชาวพุทธและให้ความสนใจเรื่องการปฏิบัติตามหลักการของศาสนาพุทธ มีประมาณ 1.2 ล้านคน โดยมีสัดส่วนเอเชียน-อเมริกัน จำนวนมากกว่าคนเชื้อสายอื่น และในจำนวนนี้ ร้อยละ 40 อาศัยอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนียภาคใต้ ความสนใจในพุทธศาสนานี้ แบ่งออกเป็น ความสนใจทั้งในฝ่ายนิกายมหายานและเถรวาท ซึ่งเป็นนิมิตรหมายที่ดีอย่างยิ่งในการเชื่อมโยงโลกทั้ง 2 ซีกเข้าด้วยกัน เพราะยิ่งสังคมอเมริกัน เดินหน้าไปหาวัตถุมากขึ้นเท่าใด ส่วนของผู้ที่เล็งเห็นทุกขสัจจ์ ก็ย่อมมีเพิ่มมากขึ้นไปด้วย คนอเมริกันกำลังมองหนทางที่จะแก้ปัญหาชีวิตของพวกเขาเช่นเดียวกัน เพียงแต่หลักความเชื่อ ซึ่งมีแรงส่งมาจากรากเหง้าทางด้านวัฒนธรรม ไม่เหมือนกับการมองหรือวิสัยทัศน์แบบไทยๆ

ผู้เขียนมีข้อสังเกตเกี่ยวกับความสนใจต่อพุทธศาสนาของคนอเมริกัน ดังนี้

1. เพื่อบำบัดความกระหายใคร่รู้ หรือมีความสนใจเฉพาะบุคคลนั้นๆ เป็นความสนใจส่วนตัว

2. เพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน อเมริกาเจริญด้วยวัตถุ แต่มีข้อบกพร่องทางด้านจิต หรือการจัดการต่อกระบวนการภายใน ซึ่งปัญหานี้คนอเมริกันได้ให้ความสนใจอย่างถึงรากเหง้าหรือแก่นของคำ สอน (พุทธธรรม) วัฒนธรรมบางอย่างของอเมริกันมีส่วนต่อความเบี่ยงแบนในการตีความหลักพุทธธรรม แต่น่าจะน้อยกว่าการตีความที่อิงวัฒนธรรมของคนไทย ที่มักยึดโยงกับประเพณีและค่านิยมบางประการเข้าไว้ด้วย แม้อิทธิพลด้านวัฒนธรรมอเมริกันและความสนใจเชิงความรู้พุทธปรัชญาส่งผลต่อ ท่าทีการนับถือพระพุทธศาสนาของคนอเมริกัน แต่คนอเมริกันกลับใส่ใจ ในแง่การบำบัดภายในหรือในแง่ของปฏิบัติทางจิตโดยตรง หลักปฏิบัติในเรื่องการฝึกสมาธิและสติจึงได้รับความนิยมในหมู่อเมริกันจำนวนหนึ่ง

3. เป็นไปตามกระแสการเติบโตของศาตร์บูรพา ในอเมริกา เหมือนกับที่ศาตร์ตะวันออกอย่างเช่น โยคะ ได้รับความสนใจอย่างมากจากคนอเมริกันชนในเวลานี้ พร้อมๆกับการประยุกต์ศาตร์เหล่านี้ให้กลมกลืนกับวัฒนธรรมของอเมริกันเอง ในแง่ของพุทธศาสนาก็เช่นเดียวกัน

4. เป็นไปตามกระแสของสื่อตะวันออกที่เข้ามาเผยแพร่ในอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ทั่วไป สารคดี หนังสือและสื่อออนไลน์ต่างๆ โดยเฉพาะจากฟากจีนและอินเดีย ที่เป็นสดมภ์หลักของแหล่งผลิต สื่อตะวันออก

5. ความสนใจในเชิงสิทธิมนุษยชน ปกติคนอเมริกันอ่อนไหวง่ายในเรื่องสิทธิมนุษยนชนอยู่แล้ว ได้แก่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชาวพุทธทิเบต เรื่องนี้มีกลุ่มนักการเมืองและนักสิทธิมนุษยชนในอเมริกาให้ความสนใจอย่างมาก พร้อมกับออกมาคัดค้านและประท้วงรัฐบาลจีนตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันเมื่อองค์ทะไลลามะเดินทางไปยังอเมริกา ก็ได้รับความสนใจอย่างมากทั้งจากบรรดาผู้สนใจพระพุทธศาสนา นักสิทธิมนุษยชน และสื่อต่างๆ

6. ความสนใจในอารยธรรมพุทธศาสนา พุทธศาสนาได้ก่อกำเนิดอารยธรรมที่น่าสนใจในหลายๆที่ที่แผ่อิทธิพลไปถึง เป็นความสนใจในแง่ประวัติศาสตร์และอารยธรรมของมนุษย์ ซึ่งก็นับเป็นส่วนหนึ่งของความสนใจของคนอเมริกัน

7.ความสนใจเชิงวิชาการ หลายสถาบันการศึกษาอันดับต้นๆของอเมริกา เช่น มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส (UCLA) มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเบิร์กเลย์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มหาวิทยาลัยชิคาโก ฯลฯ ได้มีการก่อตั้งศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนา (Center for Buddhist studies) ขึ้นมา หากเป็นการให้ความรู้วิชาการเชิงปรัชญาและทำการวิจัยเชิงการปฏิบัติ ซึ่งเรื่องดังกล่าวนับว่าน่าสนใจเพราะหากองค์กรพุทธฝ่ายไทยสามารถเชื่อมกับองค์กรด้านการศึกษาของอเมริกันได้ ก็จะทำให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาจากฝั่งไทยไปยังฝั่งอเมริกามีความเป็นระเบียบแบบแผนมากขึ้น ทั้งยังสามารถทำงานเชิงลึกด้านการวิจัยพระพุทธศาสนา

คงไม่อาจปฏิเสธว่า อเมริกันและคนตะวันตกส่วนหนึ่งสนใจในเรื่องหลักการของการปฏิบัติ ซึ่งย่อมต้องใช้ความรู้เกี่ยวกับหลักคำสอนในแง่การปฏิบัติ แต่งานด้านวิชาการนั้น เป็นงานที่มีหลักมีเกณฑ์ มีบรรทัดฐาน การวิจัยและวิเคราะห์ การทำงานด้านวิจัยเชิงความร่วมมือด้านพระพุทธศาสนาจะช่วยให้การหยั่งรากของพระศาสนาในสหรัฐฯลงลึกมากขึ้น สามารถตอบสนองต่อความต้องการของคนในโลกตะวันตกขณะเดียวกันสามารถเสริมจุดอ่อนของระบบพระพุทธศาสนาในเมืองไทยให้เข้มแข็งมากขึ้นท่ามกลางสังคมร่วมสมัย

พุทธศาสนาเถรวาทในอเมริกานั้น นับตั้งแต่ปีพ.ศ.2514 ที่วัดไทยแห่งแรกถือกำเนิดในสหรัฐฯ ที่นครลอสแองเจลิส (แอล.เอ.) รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยชื่อเมื่อแรกตั้งว่า ศูนย์พุทธศาสนเถรวาท (The Theravada Buddhist Center, Inc.) ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดไทยลอสแองเจลิส (Wat Thai of Los Angeles) เมื่อ 11 มิถุนายน 2522 นั้น การขยายตัวของฝ่ายพุทธศาสนาเถรวาทไทยในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ยังอยู่แต่ในวงแคบๆ เฉพาะในกลุ่มของชาวพุทธไทยลาว หรือชาวพุทธเถรวาทเอเชียชาติอื่นๆ โดยยังคงมีลักษณะของความแปลกแยกกับชาวพุทธอเมริกันทั่วไปอยู่มาก เนื่องจากชาวพุทธไทยและลาว หรือชาวพุทธเชื้อสายเอเชียมีจำนวนมากพอที่จะสมาคมกันเองมากกว่าที่สมาคมกับคนอเมริกันโดยทั่วไป ต่างจากชาวพุทธทิเบต (ทั้งลามะและฆราวาส) ที่มีจำนวนน้อยกว่า ทำให้ต้องหันไปสมาคมหรือติดต่อกับคนอเมริกันทั่วไปมากขึ้น และเป็นเหตุให้พระพุทธศาสนานิกายตันตระยานหรือวัชรยาน ถูกเผยแผ่ไปได้กว้างไกลในหมู่คนอเมริกันมากกว่าพุทธศาสนาแบบเถรวาท ประเด็นดังกล่าวถือเป็นการปรับตัวที่สำคัญมากของพุทธศาสนาฝ่ายวัชรยาน ทำให้นิกายของทิเบตนิกายเดียวกันนี้มีอิทธิพลต่อนับถือพุทธศาสนาของคนอเมริกันค่อนข้างมากในปัจจุบัน

อดีตพระโรเบิร์ต สนฺติกโร ซึ่งเป็นชาวอเมริกัน เคยกล่าวเอาไว้ว่า

“พระเอเชียส่วนใหญ่ในอเมริกันไม่เหมือนพระอเมริกัน คำว่าพระที่ผมใช้นี้รวมถึงภิกษุณีด้วย พวกเราที่เป็นคนอเมริกันกับพระเอเชียจำนวนหนึ่งไม่มากนัก ได้กลับอเมริกาหรือไปอยู่อเมริกาเพื่อเผยแผ่กับคนอเมริกัน โดยตั้งใจจะนำพุทธศาสนาให้เข้าถึงวัฒนธรรมอเมริกัน ไม่เหมือนกับพระไทย พระจีน พระญวนกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ซึ่งไม่ได้ตั้งใจแบบนั้น พระไทยไปเพื่อบริการคนไทย พระจีนก็ไปเพื่อบริการคนจีน ที่จะต่างกันก็คือพระชาวทิเบตเพราะว่าผู้อพยพชาวทิเบตในอเมริกามีน้อย แต่คนอเมริกันที่สนใจพุทธแบบทิเบตมีเยอะ ส่วนใหญ่พระเอเชียก็จะอยู่แต่กับคนเชื้อชาติเดียวกับตน”

วัดไทยฝ่ายเถรวาทถูกสร้างขึ้นในสหรัฐฯในเวลาต่อมา เช่น วัดไทยกรุงวอชิงตันดี.ซี. ซึ่งเริ่มมีพระสงฆ์รับนิมนต์ไปประจำเมื่อ 5 กรกฎาคม 2517 ,วัดวชิรธรรมปทีป ที่เมืองนิวยอร์ค ได้รับอนุญาตตามกฎหมายอเมริกันเมื่อ 22 กรกฎาคม 2518 มีต้นกำเนิดจาก Buddhist study center ซึ่งตั้งขึ้นเป็นสมาคมเมื่อปี 2508 , วัดพุทธวราราม ที่เมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด ซึ่งได้รับอนุญาตตามกฎหมายอเมริกัน เมื่อ 25 มีนาคม 2519 , วัดธัมมาราม แห่งเมืองชิคาโก มีชื่อตามที่ทางการอนุญาตเมื่อ 17 พฤษภาคม 2519 ว่า The Thai Buddhist temple หลังจากนั้นก็เกิดมีวัดไทยในสหรัฐฯขึ้นมาจำนวนมากมาย ส่วนใหญ่ด้วยเงินบริจาคและการสนับสนุนหลักจากชุมชนไทย และเพื่อสนองตอบต่อเจตนารมณ์เชิงสังคม (วัฒนธรรมประเพณี) ของคนไทยในสหรัฐฯเสียเป็นส่วนใหญ่

ทั้งนี้ น่าสังเกตว่า การสร้างวัดไทยในสหรัฐฯ ยังเกี่ยวพันกับการปฏิบัติข้อกฎหมายของสหรัฐฯอีกด้วย รวมถึงยังเกี่ยวข้องกับ “การดูแลควบคุมวินัยประพฤติของพระสงฆ์” เพื่อความเรียบร้อยงดงามเชิงวัตรปฏิบัติ ซึ่งอำนาจของมหาเถรสมาคม (มส.) แห่งประเทศไทยเอื้อมไม่ถึงแม้ว่า จะมีสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา (The Council of Thai Bhikkhus in the U.S.A.) เป็นองค์กรดูแลรับผิดชอบพระสงฆ์อยู่แล้วก็ตาม แต่กฎหมายของสหรัฐฯเป็นคนละระบบกับกฎหมายไทย จึงก่อให้เกิดปัญหาด้านการควบคุมวินัยสำหรับพระสงฆ์ที่ฝ่าฝืน อย่างเช่น แม้สมัชชาสงฆ์ หรือชาวพุทธไทยรู้ว่าพระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งละเมิดวินัยสงฆ์ถึงขั้นปาราชิก แต่ก็ไม่สามารถจับสึกได้ หากไม่ขัดกับข้อกฎหมายของอเมริกัน โดยเฉพาะพระสงฆ์ที่ได้รับสถานะเป็นผู้มีถิ่นฐานถาวรในสหรัฐฯ (Green card holder) และพระสงฆ์ที่เป็นพลเมืองอเมริกัน (US citizen) ยิ่งไม่สามารถทำการลงโทษใดๆทางวินัย กับพระสงฆ์ที่ละเมิดวินัย (แต่ไม่ผิดกฎหมายอเมริกัน) เหล่านั้นได้เลย

ความสัมพันธ์เชิงศาสนา ระหว่างคนไทยกับคนอเมริกัน โดยมีพระพุทธศาสนาเป็นตัวเชื่อมนั้นสามารถที่จะทำให้สัมพันธภาพระหว่างสองประเทศ พัฒนาไปในทางที่ดีมากยิ่งขึ้นและเป็นประโยชน์ในแง่การเกิดสันติธรรมภายในและภายนอกของประชาชนทั้งสองประเทศ โดยที่สันติธรรมภายในที่หมายถึงการปฏิบัติทางใจนั้น ส่งผลต่อสันติธรรมภายนอก ที่หมายถึงการกระทำของมนุษย์ทั้งหลาย

ส่วนทางออกของปัญหาสัมพันธภาพระหว่างไทยและสหรัฐฯ โดยอาศัยพระพุทธศาสนา มีดังนี้

1.เสริมสร้างความรู้ความใจ ให้เห็นถึงความสำคัญและคุณค่าของพระพุทธศาสนาให้เกิดขึ้นกับบรรดาพุทธศาสนิกของทั้งสองประเทศ

2.ขวนขวายเรียนรู้วัฒนธรรมของกันและกัน (หมายถึงวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมอเมริกัน) โดยไม่จำกัดเพียงบริบทวัฒนธรรมด้านภาษาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องครอบคลุมวัฒนธรรมด้านอื่นด้วย

3.ฝ่ายไทย ซึ่งเป็นฝ่ายเผยแผ่พระพุทธศาสนาควรศึกษาระบบกฎหมายอเมริกันให้เข้าใจชัดเจน

4.ฝ่ายการเมือง (รัฐบาล+รัฐสภา) ควรส่งเสริมด้าน นโนบายและงบประมาณต่อฝ่ายศาสนา

5.ในแง่ของการส่งพระธรรมทูตไปจากเมืองไทย ต้องมีกระบวนการทดสอบ คัดกรองที่รัดกุมมากยิ่งขึ้น

6.การติดตามและวิเคราะห์ กระแสสถานการณ์ความเป็นไปของคนอเมริกันและของโลกอย่าได้ขาดหาย หรือต้องมีการติดตามผลการทำงานอย่างต่อเนื่อง

7.เปิดเวทีสำหรับการแปลกเปลี่ยนความคิดเห็นประเด็นด้านศาสนา (โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นพระพุทธศาสนาเพียงศาสนาเดียว) ระหว่างฝ่ายไทยและฝ่ายอเมริกัน

หากการมาเยือนวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ของนายบารัก โอบามา เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2555 โดยมีคำพูดของประธานาธิบดีถึงพระสุธีธรรมานุวัตร (เทียบ สิริญาโณ) คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ตอนนำชมวัดโพธิ์ ทำนองขอให้ช่วยสวดภาวนา (อธิษฐาน) ขอให้เขาผ่านพ้นปัญหาการเผชิญหน้าประเด็นผาการคลัง (Fiscal cliff) เมื่อปลายปี 2555 ('We're working on this budget. We're going to need a lot of prayer for that’; Barack Obama) ไปให้ได้ รวมถึงความสนใจเยี่ยมชมวัดไทยอันเก่าแก่ในกรุงเทพแห่งเดียวกันนี้นั้น เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงการเตรียมตัวที่ดี การให้ความสำคัญกับความเชื่อ และศิลปวัฒนธรรมของไทย โดยเฉพาะพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญสูงสุดของวัฒนธรรมไทย ทำให้เห็นคุณูปการที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ หากมีการสานต่อเชิงความสัมพันธ์ทางด้านศาสนาที่ถูกต้องและเหมาะสมกับ สถานการณ์ เพราะในสหรัฐฯเองมีขั้วชาวพุทธและไม่ใช่ชาวพุทธ ทั้งนักการเมืองและบุคคลสำคัญ รวมทั้งตัวประธานาธิบดีเองที่มีภูมิหลังของตัวเองและครอบครัวในเชิงการเปิด กว้างทางความคิดด้านศาสนา รอต่อเชื่อมกับชาวพุทธที่เมืองไทย

ขึ้นกับความสามารถของชาวพุทธไทยเราที่จะสืบสานความสัมพันธ์เพื่อเอื้อประโยชน์ด้านสันติธรรมทั้งภายนอกและภายในให้ได้มากที่สุดโดยไม่จำกัดพรมแดน ได้หรือไม่เท่านั้น เพราะพระพุทธศาสนาไม่ได้อยู่แค่ประเทศไทยเท่านั้น หากแต่นับวันจะถูกเผยแผ่ไปยังดินแดนของผู้มีปัญญาและมีเหตุผลมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนในอดีตที่มีการเคลื่อนย้ายพระศาสนาจากอินเดียมายังสุวรรณภูมิ ฉันใดก็ฉันนั้น

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.