Posted: 08 Nov 2018 02:50 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2018-11-08 17:50


พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ

นับตั้งแต่ได้เอกราชจากอังกฤษ พม่าปกครองโดยเผด็จการทหารมานาน 5 ทศวรรษ จนมีการเปลี่ยนผ่านทางการมืองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยมากขึ้นเรื่อยๆ มีการเลือกตั้งในปี 2553 และ 2558 การสู้รบกับชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ ที่มีมากถึง 15 กลุ่มก็เริ่มมีข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) ตั้งแต่ปี 2554 สถานการณ์ที่ดูคลี่คลายนี้ทำให้องค์กรให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศเริ่มทยอยลดระดับหรือกระทั่งยุติความช่วยเหลือ

เป็นเวลา 1 ปีเต็มแล้วที่ค่ายผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนไทย-พม่าด้านรัฐฉานถูกตัดความช่วยเหลือโดยเฉพาะด้านอาหาร ปัจจัยพื้นฐานที่สุดในการมีชีวิต ชาวบ้านจำนวนมากเผชิญกับความยากลำบาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่พวกเขาจะกลับบ้าน เพราะพวกเขาเห็นว่ารัฐบาลพม่ายังไม่ปฏิรูปประชาธิปไตยอย่างแท้จริง กระบวนการสันติภาพก็ยังไม่ลุล่วง หลายพื้นที่ยังคงมีการสู้รบโดยที่โลกมองไม่เห็น

รายงานชุดนี้พาไปสำรวจชุมชนผู้อพยพจากรัฐฉานทั้งใน ‘กุงจ่อ’-ชุมชนที่อยู่ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ และ ‘ดอยดำ’-ชุมชนที่อยู่ฝั่งพม่าในรัฐฉาน
- กุงจ่อ -
ชุมชนผู้ลี้ภัยชายแดน อ.เวียงแหง

กลางเดือนพฤษภาคม 2561 เราเดินทางมาถึงถนนเล็กๆ แยกออกจากทางหลวงชนบทหมายเลข 1322 คดเคี้ยวไปตามเนินเขาสลับกับหมู่บ้านและไร่ชา ถนนคอนกรีตสิ้นสุดไปตั้งแต่เนินเขาลูกก่อนแล้ว พักหนึ่งคณะของเราหยุดอยู่กลางลานของหมู่บ้านเล็กๆ ในพื้นที่ชายแดน ที่นี่คือหมู่บ้าน 'กุงจ่อ' ชุมชนของผู้ลี้ภัยจากรัฐฉาน ตั้งอยู่ที่อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่

ลุงจายแลง หัวหน้าชุมชนผู้อพยพกุงจ่อ แสดงตัวอย่างงานทอผ้าของกลุ่มแม่บ้านในชุมชน

เก้าอี้นั่งพลาสติกและกาน้ำชาถูกจัดแจง บทสนทนาเริ่มขึ้น "ลุงจายแลง" ชายผมสีดอกเลาในวัย 60 ปีเศษเป็นหัวหน้าชุมชนผู้ลี้ภัยกุงจ่อตั้งแต่แรกก่อตั้งเมื่อ 19 ปีที่แล้ว

ค่ายผู้ลี้ภัยสงครามจากรัฐฉานนั้นมีทั้งหมด 6 แห่ง มีประชากรรวม 6,185 คน กุงจ่อเป็นค่ายผู้ลี้ภัยจากรัฐฉานเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่อยู่ในฝั่งไทย ปัจจุบันมี 90 ครัวเรือน ประชากร 402 คน เป็นชาย 192 คน หญิง 210 คน

ขณะที่ค่ายผู้ลี้ภัยอีก 5 แห่งที่เหลืออยู่ในฝั่งรัฐฉาน ผู้ลี้ภัยในฝั่งรัฐฉานถือเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (Internally Displaced Person - IDPs) ตามคำนิยามของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติหมายถึงผู้อพยพที่แสวงหาที่พักพิงปลอดภัยอยู่ภายในประเทศของตนโดยไม่สามารถข้ามพรมแดนเข้ามาในประเทศอื่นได้ (ดูล้อมกรอบด้านล่างเรื่องค่ายผู้อพยพภายในประเทศ)

กราฟฟิกโดย กิตติยา อรอินทร์
ยุทธการ ‘ตัด 4’ ปฐมบท (บังคับ) อพยพในรัฐฉาน

คำถามพื้นฐานสำคัญสำหรับผู้ที่สนใจเรื่องนี้ก็คือ ทำไมจึงเกิดการอพยพขึ้น?

ข้อมูลของมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ (SHRF) พบว่าค่ายผู้อพยพจากรัฐฉานทั้งที่อยู่ในรัฐฉานและฝั่งไทยเกิดขึ้นมากว่า 19 ปีแล้ว เป็นผลมาจากการกวาดล้างครั้งใหญ่ของกองทัพพม่าซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่ตอนกลางของรัฐฉานระหว่างปี 2539-2541

ย้อนกลับไปในช่วงปี 2538 กองทัพเมิงไต (Mong Tai Army - MTA) นำโดยขุนส่าประกาศวางอาวุธกับรัฐบาลทหารพม่า ทำให้ทหารไทใหญ่กลุ่มที่ไม่ยอมวางอาวุธนำโดยเจ้ายอดศึกตั้งกลุ่มเรียกร้องเอกราชกลุ่มใหม่ในนามสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (Restoration Council of Shan State) และมีองค์กรทางการทหารคือกองทัพรัฐฉาน (Shan State Army) หรือ RCSS/SSA เกิดขึ้นในปี 2539

ในรายงาน ‘ผู้ถูกช่วงชิง’ (Dispossessed) ของ SHRF ระบุว่า ระหว่างปี 2539 - 2540 กองทัพพม่าได้ใช้ยุทธการ ‘ตัด 4’ (‘Four Cuts’ operation) ได้แก่ เสบียง, ทุน, การข่าว, กำลังคน เพื่อตัดการสนับสนุนกองทัพรัฐฉาน โดยบังคับโยกย้ายชุมชนในพื้นที่ 11 อำเภอของรัฐฉานตอนใต้ให้เข้าไปอยู่ในตัวเมือง ส่งผลให้หมู่บ้านกว่า 1,478 แห่งต้องกลายเป็นหมู่บ้านร้าง มีการประเมินว่าชาวบ้านราว 300,000 แสนคนถูกบังคับให้ทิ้งถิ่นฐานบ้านเรือน คนที่ต่อต้านหรือถูกจับได้ว่าหลบหนีกลับไปทำกินในที่ดินของตนเองจะถูกยิงเสียชีวิตหรือถูกทหารพม่านำตัวไปทรมาน

แผนที่แสดงการบังคับอพยพชาวบ้าน 1,478 หมู่บ้านใน 11 อำเภอของรัฐฉาน
ช่วงปี 2539–2541 ทำให้ชาวบ้านกว่า 3 แสนคนไร้ที่อยู่
(ที่มา: รายงาน ผู้ถูกช่วงชิง, มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ (SHRF), เมษายน 2541)

ช่วงเวลานั้น SHRF เก็บข้อมูลการสังหารพลเรือนได้ 600 กรณี รวมทั้งการสังหารหมู่ชาวบ้าน 56 คนที่เมืองกุ๋นฮิงในปี 2540 ต่อมาปี 2545 SHRF ร่วมกับเครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่ (SWAN) เผยแพร่รายงาน ‘ใบอนุญาตข่มขืน’ (License to Rape) รวบรวมข้อมูลที่กองทัพพม่าใช้วิธีการข่มขืนและความรุนแรงทางเพศในรูปแบบอื่นๆ ต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงในรัฐฉานซึ่งนับเป็นสัดส่วน 1 ใน 4 ของเหยื่อถูกสังหาร โดยมีการนำเสนอข้อมูลถึง 625 กรณี

กล่าวโดยสรุปได้ว่าตั้งแต่ปี 2539 มีพลเรือนจากรัฐฉานหนีเข้าสู่ภาคเหนือของประเทศไทยจำนวนมาก ประมาณการว่าปี 2541 ชาวบ้านอย่างน้อย 80,000 คนหลบหนีจากพื้นที่บังคับอพยพเข้าสู่ประเทศไทยโดยกระจายตัวทำงานตามพื้นที่เกษตรหรือทำงานก่อสร้างในเชียงใหม่

อย่างไรก็ตามทางการไทยไม่ยอมให้มีการจัดตั้งค่ายผู้อพยพจากรัฐฉาน ซึ่งแตกต่างจากกรณีค่ายผู้อพยพจากรัฐกะเหรี่ยงและรัฐคะเรนนีตามแนวชายแดนไทย-พม่าที่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) โดยเจ้าหน้าที่ไทยถือว่าการอพยพของชาวไทใหญ่จากรัฐฉานเป็นเพียง "ผู้อพยพตามฤดูกาล"

นอกจากนี้สถานการณ์บริเวณตอนใต้ของรัฐฉานยิ่งสลับซับซ้อนมากขึ้นในปี 2542 เมื่อรัฐบาลทหารพม่าให้อำนาจกองทัพสหรัฐว้า (United Wa State Army-UWSA) ซึ่งมีข้อตกลงหยุดยิงกับกองทัพพม่า นำประชากรชาวว้ากว่า 126,000 คนจากพื้นตอนเหนือของรัฐฉานติดกับชายแดนจีนลงมาอาศัยทางตอนใต้ของรัฐฉานที่ติดชายแดนไทย ได้แก่ ท่าขี้เหล็ก เมืองสาด เมืองโต๋น

การอพยพเข้ามาอยู่ใหม่ดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อหมู่บ้านที่เป็นพื้นที่รองรับซึ่งส่วนใหญ่เป็นชุมชนชาวไทใหญ่ ลาหู่ และอาข่า โดยทหารพม่าเข้าทำการยึดบ้าน ที่ดินทำกิน พืชผลการเกษตรจากชาวบ้านกลุ่มเดิม อีกทั้งกองทัพสหรัฐว้ายังเก็บภาษีและเกณฑ์ชาวบ้านในพื้นที่ไปใช้แรงงานด้วย ดังนั้น ชาวบ้านหลายพันคนที่ทนการกดขี่ปราบปรามไม่ไหวจึงหลบหนีไปยังพื้นที่อื่นของรัฐฉานหรือเข้ามาในประเทศไทย


ชีวิตชายขอบหลังพม่าเปลี่ยนไม่ผ่าน (1): แม่ตาวคลินิก ความท้าทายสาธารณสุขชายแดน, 1 พ.ย. 2561


ค่ายผู้อพยพรัฐฉานแห่งเดียวในไทย



วัดฟ้าเวียงอินทร์ ฝั่งที่อยู่ในพื้นที่รัฐฉานปัจจุบันถูกใช้เป็นค่ายทหารพม่า มีการขุดสนามเพลาะและวางบังเกอร์เป็นแนวป้องกันโดยรอบ ในพื้นที่ตั้งแต่ชายแดนไท-พม่าที่ด่านหลักแต่ง/เปียงหลวง ไปจนถึงเมืองโต๋น เมืองทา มีการเสริมกำลังและวางเครือข่ายป้อมค่ายทางการทหารของกองทัพพม่า
และกองทัพสหรัฐว้า UWSA อยู่โดยตลอด

ภาพถ่ายจากดาวเทียมแสดงให้เห็นป้อมค่ายและเครือข่ายทางการทหารของกองทัพพม่า ในพื้นที่ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นที่อยู่ของผู้อพยพที่ชุมชนกุงจ่อ
(ที่มา: Google Maps)

เดิมทีกุงจ่อเป็นที่ดินส่วนหนึ่งของวัดฟ้าเวียงอินทร์ วัดศูนย์รวมจิตใจชุมชนชาวไทใหญ่ที่สร้างคร่อมดินแดนไทย อำเภอเวียงแหงกับรัฐฉาน ต่อมาในปี 2545 หลังเกิดการสู้รบครั้งใหญ่ระหว่างกองทัพพม่ากับกองทัพรัฐฉาน กองทัพพม่าสงสัยว่าชาวบ้านซึ่งอาศัยอยู่ใกล้กับพรมแดนให้การสนับสนุนทหารไทใหญ่ จึงได้ยิงโจมตีหมู่บ้านเหล่านั้น พลเรือนถูกสังหาร 6 ราย บาดเจ็บ 12 ราย บางส่วนถูกจับกุมและซ้อมทรมาน ทำให้ชาวบ้านใน 4 หมู่บ้านที่อยู่ใกล้ชายแดน ได้แก่ บ้านห้วยยาว, บ้านป๋างฮอก, บ้านปางใหม่สูง, บ้านปางก้ำก่อ ตัดสินใจหลบหนีเข้าสู่ประเทศไทย

เริ่มแรกผู้ลี้ภัย 4 หมู่บ้านพักอาศัยอยู่ในวัดต่างๆ ของอำเภอเวียงแหง ต่อมาในปี 2546 ได้ย้ายไปรวมอาศัยอยู่ในที่ดินของวัดฟ้าเวียงอินทร์

ทางการไทยอนุญาตให้ตั้งค่ายที่พักพิงชั่วคราวขึ้นมาเรียกว่า “ค่ายอพยพกุงจ่อ” พวกเขาได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากองค์กรระหว่างประเทศหลายหน่วยงาน แต่ทาง UNHCR ไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนผู้ลี้ภัยเหล่านี้ ด้วยเหตุดังกล่าว ผู้ลี้ภัยที่ค่ายกุงจ่อจึงไม่มีสิทธิไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม ซึ่งแตกต่างจากผู้ลี้ภัยจากรัฐกะเหรี่ยง คะเรนนีและมอญที่อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยการสู้รบทั้ง 9 แห่งตามชายแดนไทย-พม่า
โอกาสและการดำรงชีวิตในพื้นที่ชายแดน


พี่ชายช่วยแม่อาบน้ำให้น้องคนเล็ก ในช่วงกลางวันจะมีสมาชิกส่วนหนึ่งออกไปทำงานนอกชุมชน หน้าที่ดูแลครัวเรือนที่เหลือจึงตกเป็นของแม่บ้าน

พื้นที่ส่วนกลางของชุมชนผู้อพยพกุงจ่อ ลานกว้างใช้เป็นสนามเด็กเล่น

แบ่งบางส่วนสำหรับเป็นลานซักล้างและห้องน้ำส่วนกลาง

ค่ายผู้อพยพจากรัฐฉานแห่งนี้อยู่ได้ด้วยความสนับสนุนจากผู้บริจาคระหว่างประเทศซึ่งสนับสนุนจัดหาอาหารขั้นพื้นฐานให้กับผู้ลี้ภัยเหล่านี้ในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา ก่อนจะตัดการช่วยเหลือไปเมื่อปลายปี 2560

ปัจจุบันสมาชิกของชุมชนก็พยายามช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ มีการจัดครูอาสาสมัครสอนภาษาอังกฤษเสริมให้กับเด็กนักเรียนเกือบ 100 คนภายในค่ายทุกเย็นวันจันทร์ถึงศุกร์ เด็กนักเรียนในชุมชนจะเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนบ้านหลักแต่งซึ่งได้ความช่วยเหลือเรื่องรถโรงเรียนจากเครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่ ส่วนระดับมัธยมศึกษาขึ้นไปพ่อแม่ต้องออกค่าใช้จ่ายเอง ปี 2561 มีนักเรียน 4-5 คนที่สามารถเรียนถึงระดับมัธยมปลาย ที่ผ่านมาในชุมชนมีเด็กเรียนจนจบปริญญาตรีด้านคอมพิวเตอร์ 1 คน

ส่วนองค์กรการกุศลจากนิวซีแลนด์ The Branch Foundation หรือ TBF เริ่มทำงานกับค่ายผู้อพยพกุงจ่อมาตั้งแต่ปี 2552 เน้นงานฝึกอาชีพผ่านการตั้งศูนย์ทอผ้า 2 แห่งภายในค่าย และร่วมกับองค์กรเยสุอิตสงเคราะห์ผู้ลี้ภัย (JRS) แจกเชื้อเห็ดและสาธิตการเพาะเห็ด นอกจากนี้ TBF ยังสนับสนุนแนวคิดของหัวหน้าชุมชนผู้ลี้ภัยที่มีไอเดียทำบ่อหมักก๊าซชีวภาพภายในค่ายเพื่อให้สมาชิกของชุมชนมีแก๊สสำหรับปรุงอาหาร รวมถึงสนับสนุนโซลาร์เซลล์เพื่อให้ภายในค่ายมีไฟฟ้าพื้นฐานใช้ (อ่านรายงาน)
การดิ้นรนหลังถูกตัดความช่วยเหลือ


เมื่อความช่วยเหลือด้านอาหารยุติลงหลังกระบวนการสันติภาพในพม่า โดยองค์กรผู้บริจาคเดิมหลายแห่งย้ายการจัดสรรความช่วยเหลือออกจากพื้นที่ชายแดนตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560

ลุงจายแลงให้ข้อมูลว่า ที่ค่ายกุงจ่อ ตอนแรกๆ เคยได้รับปันส่วนข้าวสารจากองค์กรผู้บริจาคแห่งหนึ่ง 16 ก.ก. ต่อคนต่อเดือน ต่อมาลดลงเหลือ 11 ก.ก.ต่อคนต่อเดือน ส่วนน้ำมันพืชเคยได้ 1 ลิตรต่อคนต่อเดือน ต่อมาลดลงเหลือครึ่งลิตรต่อคนต่อเดือน

นับตั้งแต่ความช่วยเหลือถูกตัดทั้งหมดตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 เป็นต้นมา มีการหาความช่วยเหลือฉุกเฉินให้กับค่ายแห่งนี้ โดยได้รับความช่วยเหลือฉุกเฉินจาก "Philanthropy Connections Foundation" หรือ PCF (อ่านรายงาน) จัดหาอาหารพื้นฐานให้กับผู้ลี้ภัยโดยได้รับการปันส่วนข้าวสาร 12 ก.ก. ต่อคนต่อเดือน และได้รับน้ำมันพืช 1 ก.ก ต่อคนต่อเดือน โดย PCF ระบุในรายงานขององค์กรว่าจะให้ความช่วยเหลือจนกว่าสถานการณ์ช่วยเหลือจะถูกฟื้นฟู

ความช่วยเหลือที่ถูกตัดยังกระทบกับสถานการณ์ด้านการศึกษาภายในค่ายผู้ลี้ภัยด้วย เพราะมีการตัดค่าใช้จ่ายสนับสนุนชั้นเรียนภาษาอังกฤษของค่ายผู้ลี้ภัย อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปลายปี 2560 PCF และ Magical Light Foundation จากสิงคโปร์ได้เข้ามาสนับสนุนเบี้ยเลี้ยงสำหรับครูสอนภาษาอังกฤษในค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้แทน
กระเสือกกระสนเลี้ยงชีพในพื้นที่ชายแดน


เมื่อความช่วยเหลือพื้นฐานถูกจำกัดมากขึ้นเรื่อยๆ ชาวบ้านในค่ายผู้อพยพกุงจ่อที่อยู่ในวัยแรงงานมักจะออกไปทำงานรับจ้างตามพื้นที่เกษตรที่อยู่รอบๆ ชุมชน โดยเป็นงานรับจ้างตามฤดูกาล เช่น รับจ้างเก็บกระเทียม พริก ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ปีหนึ่งๆ จะมีวันที่ออกไปรับจ้าง 90 วัน ไม่เกิน 100 วันเท่านั้น โดยการจ่ายค่าตอบแทน เจ้าของสวนมักไม่ได้จ่ายเป็นค่าจ้างรายวัน แต่จ่ายตามปริมาณงาน

"ไม่ใช่จ้างรายวันนะ เอาแรงเข้าว่า อย่างเช่นเก็บพริก ถ้าราคาสูง สมมติพริกราคากิโลกรัมละ 10 บาท (เจ้าของสวน) เขาก็จ้างเก็บกิโลกรัมละ 3 บาทบ้าง 5 บาทบ้าง บางปีพริกไม่มีราคา เขาก็แบ่งผลผลิตให้ 50-50 ก็มี" ลุงจายแลงอธิบาย หากเจ้าของสวนใช้วิธีแบ่งผลผลิตที่เก็บได้ บางคนก็เอาไปขาย บางคนก็เก็บเอามาตากแห้งเก็บไว้กินในครัวเรือน

ส่วนกระเทียม ปีหนึ่งๆ มีงานเพียงไม่กี่วัน เช่น จ้างปลูกกระเทียม จ้างคลุมฟางที่ไร่กระเทียม จ้างเก็บกระเทียม โดยเจ้าของสวนจ่ายค่าตอบแทนรายวัน ค่าตอบแทนขึ้นอยู่กับความต้องการใช้แรงงาน ถ้ามีเจ้าของสวนรายเดียวและมีลูกจ้างหลายคนก็อาจเหลือจ้างวันละ 240 บาท แต่ถ้าต้องการใช้แรงงานมากก็อาจจ้างถึงวันละ 300 บาท

ส่วนแรงงานก่อสร้าง แม้จะมีรายได้เยอะกว่า แต่ในชุมชนกุงจ่อก็มีคนออกไปรับจ้างไม่มาก ประมาณ 25-30 คนเท่านั้น เพราะเป็นงานใช้ทักษะ

"ช่างอ่อน (ช่างใหม่) ได้วันละ 250-300 บาท ช่างใหญ่วันละ 350 บาท แต่งานก่อสร้างตามบ้านนอกไม่เหมือนในเมือง เดือนสองเดือนก็สร้างเสร็จไม่มีงาน หน้าฝนจะไม่มีงานก่อสร้างเลย" ลุงจายแลงพูดถึงหน้างานก่อสร้าง

เพื่อให้อยู่รอดได้ หลายครอบครัวในชุมชนผู้อพยพกุงจ่อจำเป็นต้องออกไปหางานทำต่างพื้นที่ เช่นครอบครัวของป้าขิ่นกับลุงเอ (นามสมมติ) คู่ผัวเมียในวัย 50 ปีเศษ พวกเขามีลูก 4 คน ลูกชายคนโตอายุ 32 ปี ลูกสาวคนรองอายุ 22 ปี ลูกชายคนที่สามอายุ 17 ปี และลูกสาวคนสุดท้องอายุ 6 ปี และยังมีแม่ของป้าขิ่นวัย 90 ปี ลูกเขยซึ่งเป็นสามีของลูกสาวคนรอง ทั้งคู่เพิ่งมีลูกสาววัย 2 ปี รวมทั้งบ้านมีสมาชิก 9 คน

ครอบครัวของป้าขิ่นไม่ได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตา ลูกชายคนโตเป็นคนพิการหูหนวกแต่กำเนิด ต้องไปอาศัยอยู่กับญาติที่ตัวเมืองเชียงใหม่ ลูกชายคนที่สามเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนชายแดนแห่งหนึ่ง ส่วนลูกสาวคนสุดท้องอายุ 6 ปี เรียนอยู่ที่โรงเรียนภายในค่ายผู้อพยพ ลูกสาวคนรองและลูกเขย ช่วงกลางวันจะออกไปรับจ้างที่สวนกระเทียมเช่นเดียวกับลุงเอ ส่วนป้าขิ่นซึ่งขาขวาไม่ดี ออกไปรับจ้างทำงานลำบาก จะรับเป็นผู้ดูแลหลานสาววัย 2 ปี และแม่เฒ่าวัย 90 ปี

ป้าขิ่นกล่าวว่า ก่อนที่ความช่วยเหลือผู้อพยพจะถูกตัด ลูกสาวคนสุดท้องที่ไปเรียนที่โรงเรียนในค่ายผู้อพยพยังพอมีค่าขนมบ้าง ปัจจุบันเป็นไปได้ยากเพราะในครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ป้าขิ่นหวังว่าความช่วยเหลือเรื่องการศึกษาสำหรับเยาวชนและเรื่องอาหารจะยังคงพอมีอยู่ ส่วนในอนาคตก็ยังคิดว่าจะอยู่ที่หมู่บ้านกุงจ่อ เพราะเธอรู้สึกปลอดภัยกว่าการกลับไปบ้านเกิด อีกทั้งลูกหลานยังมีโอกาสได้เรียนหนังสืออีกด้วย
อนาคตที่ไม่ชัดเจน บนเส้นทางเจรจาสันติภาพ


นอกจากสภาพความเป็นอยู่ของผู้ลี้ภัยที่ค่ายกุงจ่อจะลำบากขึ้นเพราะต้องดิ้นรนพึ่งพาตัวเองแล้ว สถานการณ์ในรัฐฉานเองก็เปลี่ยนแปลงด้วย หลังพม่าจัดการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายนปี 2553 และตั้งรัฐบาลกึ่งทหารกึ่งพลเรือนของประธานาธิบดีเต็งเส่ง มีการเจรจาหยุดยิง 2 ฝ่ายระหว่างกองทัพรัฐฉานกับรัฐบาลพม่าเริ่มมาตั้งแต่ 19 พฤศจิกายน 2554

ต่อมาในเดือนตุลาคม 2558 กองทัพรัฐฉานได้ร่วมลงนามในข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (National Ceasefire Agreement - NCA) ซึ่งเป็นการเจรจาหยุดยิงแบบพหุภาคีระหว่างกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์และรัฐบาลพม่า ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน 2558 ทำให้ได้รัฐบาลพลเรือนของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD)

อย่างไรก็ตามการเจรจาสันติภาพหลังการเจรจาหยุดยิงทั้ง 2 ระดับก็ไม่มีความคืบหน้า กองทัพรัฐฉานยังไม่สามารถตกลงกับรัฐบาลพม่าได้ในประเด็นสำคัญ เช่น พื้นที่ปกครองตนเอง กองทัพรัฐฉานเสนอขอพื้นที่ปกครองตนเอง 2 แห่ง คือเมืองเต๊าะ (หัวเมือง) และเมืองทา อย่างไรก็ตามยังไม่มีความคืบหน้าจากฝ่ายรัฐบาลพม่า (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ขณะเดียวกันยังคงมีการรายงานการปะทะกันระหว่างกองทัพรัฐฉาน และกองทัพพม่าอยู่เป็นระยะ

สำหรับคำถามที่ว่ารัฐบาลพม่ามีการชวนผู้อพยพตามแนวชายแดนให้กลับไปตั้งถิ่นฐานหรือไม่ จายแลงกล่าวว่า ผ่านมาไม่เคยมีตัวแทนจากรัฐบาลพม่าเข้ามาคุยกับผู้ลี้ภัยที่ชุมชนกุงจ่อเลย

"รัฐบาลพม่าว่าเราไม่ใช่คนประเทศพม่า เพราะไม่พูดภาษาพม่า"

แผนที่แสดงพื้นที่ซึ่งถูกกำหนดเป็นที่ตั้งถิ่นฐานใหม่ของผู้อพยพกุงจ่อ
ฐานทัพของกองทัพพม่าและกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่
ที่มา: SHRF

ก่อนหน้านี้ในเดือนสิงหาคมปี 2555 สภาผู้อพยพนอร์เวย์ (Norwegian Refugee Council) ได้เข้ามาสำรวจความเห็นของผู้อพยพในค่ายผู้อพยพกุงจ่อว่ายินดีกลับไปตั้งถิ่นฐานที่เมืองทา ภายในรัฐฉานหรือไม่ พวกเขาให้คำตอบว่า ยังไม่อยากกลับไปในพื้นที่เมืองทา เพราะยังไม่ปลอดภัยจากทหารพม่าและกลุ่มอาสาสมัครที่อยู่ฝ่ายรัฐบาล พื้นที่ยังเต็มไปด้วยกับระเบิด และผู้อพยพในชุมชนยังอพยพมาจากพื้นที่ต่างๆ ในภาคกลางของรัฐฉาน (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ด้านองค์กรชุมชนไทใหญ่ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า สภาพพื้นที่ซึ่งจัดเตรียมไว้สำหรับผู้อพยพกลับไปนั้น "แทบจะเป็นหมู่บ้านร้าง" นอกจากนี้ยังมีการสู้รบระหว่างทหารไทใหญ่กับพม่าในหลายพื้นที่ รวมทั้งพื้นที่เมืองทาด้วย

จายแลงให้ข้อมูลว่า ในพื้นที่ดังกล่าวนอกจากเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของกองทัพรัฐฉานแล้ว ยังเป็นที่ตั้งฐานทัพของทหารพม่า ทหารกองทัพสหรัฐว้า นอกจากนี้ยังมี อส.มูเซอร์ หรือทหารอาสาสมัครลาหู่ด้วย

"ถ้ามี 4 กลุ่มก็ไม่อยู่ แต่ถ้ามีทหารไทใหญ่กลุ่มเดียวก็จะไป"

"ทหารว้าก็มี อส.มูเซอร์ ทหารไทใหญ่ก็มี ทหารพม่าก็อยู่ โดยเฉพาะทหารว้าเจรจายาก ถ้าในพื้นที่มีแต่ทหารไทใหญ่ฝ่ายเดียวก็อยู่ได้ แต่พอมีหลายฝ่ายชาวบ้านไม่มีความมั่นใจในการดำรงชีวิต นอกจากนี้ในรัฐฉานก็ยังมีการยิงกันอยู่ ไม่ได้สงบสุข เกิดสันติภาพกันจริงๆ อย่างที่หลายคนเข้าใจ" จายแลงกล่าว
- ดอยดำ -
ชีวิตผู้พลัดถิ่นภายในประเทศที่ชายแดนรัฐฉาน


ค่ายผู้อพยพดอยดำ ชายแดนรัฐฉานตรงข้าม อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่

ภาพถ่ายจากดาวเทียมแสดงให้เห็นเครือข่ายและป้อมค่ายทางการทหารของกองทัพสหรัฐว้า UWSA ในพื้นที่ใกล้ค่ายผู้อพยพดอยดำ (ที่มา: Google Maps)

ทหารกองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA ให้ความคุ้มครองชาวบ้านในชุมชนผู้อพยพดอยดำ

ไม่เพียงแค่ชุมชนผู้อพยพที่กุงจ่อเท่านั้น แต่ตามแนวชายแดนไทย-พม่าตรงข้าม จ.แม่ฮ่องสอน จ.เชียงใหม่ จนถึง จ.เชียงราย ยังมีค่ายอพยพอยู่ในพื้นที่รัฐฉานอีก 5 แห่ง พวกเขาถือเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (Internally Displaced Person - IDPs) ตามคำนิยามของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติซึ่งหมายถึงผู้อพยพที่แสวงหาที่พักพิงปลอดภัยอยู่ภายในประเทศของตน โดยไม่สามารถข้ามพรมแดนเข้ามาในประเทศอื่นได้

หนึ่งในนั้น คือ ค่ายผู้อพยพดอยดำ ปลายสุดของตำบลเมืองทา อำเภอเมืองโต๋น รัฐฉาน ไม่ไกลจากชายแดนไทย-พม่าด้าอำเภอเวียงแหง เป็นค่ายอพยพซึ่งมีประชากร 289 คน รวม 62 ครัวเรือน ตั้งอยู่บนภูเขาสูง 1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล และมีค่ายของทหารกองทัพรัฐฉานให้ความคุ้มครองอยู่ในพื้นที่

ลุงจิ่ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านดอยดำเล่าให้ฟังว่า ชาวบ้านในพื้นที่รัฐฉานตอนใต้โดยเฉพาะจากเมืองนายหลบหนีจากยุทธการ ‘ตัด 4’ ของพม่าในช่วงปี 2543-2544 ไปซ่อนตัวในป่าเขา แล้วค่อยๆ มารวมกันที่ดอยดำ

ลุงออ ผู้ใหญ่บ้านของชุมชนผู้อพยพแห่งนี้เล่าว่า แต่เดิมเขาเคยอาศัยอยู่ที่เมืองทา แต่เมื่ออยู่ไม่ได้จึงอพยพมาที่ดอยดำ และตอนนี้ค่ายผู้อพยพดอยดำไม่ได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรบรรเทาทุกข์มาตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2560

ก่อนหน้านี้ชาวบ้านเคยได้รับความช่วยเหลือเป็นข้าวสารเฉลี่ย 13 กิโลกรัมต่อคนต่อเดือน ช่วงแรกๆ ได้รับถั่วเหลืองกับมันฝรั่ง ส่วนน้ำมัน พริก และเกลือได้รับบริจาคเป็นบางปี พวกพืชผักอาหารอย่างอื่นก็พยายามหาเอง โดยหลังจากมีข่าวไม่ได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรบรรเทาทุกข์มาตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2560 ทำให้ปัจจุบันมีกลุ่มชาวไทใหญ่ที่อาศัยและทำงานในประเทศไทยรวมกลุ่มกันขึ้นเพื่อระดมการบริจาคให้ความช่วยเหลือด้านอาหารกับค่ายแห่งนี้เป็นระยะ
ชีวิตต้องสู้ เมื่อเมล็ดพันธุ์หว่านแล้วไม่ได้ผล


ลุงออเล่าให้ฟังด้วยว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านที่ดอยดำพยายามเพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์เพื่อพึ่งพาตัวเองด้านอาหารให้ได้มากที่สุด โดยพยายามปลูกในที่ดินผืนเล็กๆ ใกล้ๆ หมู่บ้าน เช่น ผักกาด ฟักทอง ผักชี ต้นหอม หอมแดง มะเขือเครือหรือฟักแม้ว มะระ กล้วย ฯลฯ รวมทั้งเลี้ยงไก่ หมู และวัว

ลุงออ ผู้ใหญ่บ้านของชุมชนผู้อพยพดอยดำกับผลมันฝรั่งผลเล็กแกร็นที่ปลูกไม่ได้ผลบนดอยดำ

ผลแตงกวาที่เก็บเกี่ยวได้บนดอยดำ

กระเทียมกลีบเล็กที่ชาวบ้านบางรายพยายามปลูกบนดอยดำ

พืชหลายชนิดเมื่อปลูกแล้วกลับไม่ได้ผลดี ลุงออหยิบผลมันฝรั่งขนาดเท่าหัวแม่มือที่ปลูกได้ 3 เดือนแต่ไม่ทันจะเก็บเกี่ยวต้นก็ตายเสียก่อน นอกจากนี้ชาวบ้านเคยหาพันธุ์ไก่และหมูของบรรษัทด้านการเกษตรมาเลี้ยง แต่ไก่และหมูตายเพราะทนสภาพอากาศไม่ได้ ปัจจุบันชาวบ้านจึงเลี้ยงไก่และหมูพื้นเมืองแทน ขณะที่มีชาวบ้านอยู่ 5-6 ครัวเรือนที่รับจ้างเลี้ยงวัว โดยมีชาวบ้านจากฝั่งไทยเอาวัวคู่ตัวผู้-ตัวเมียมาให้เลี้ยง ถ้าวัวออกลูกก็แบ่งจำนวนกันคนละครึ่งหรือจะขายลูกวัวคืนให้คนที่นำมาฝากเลี้ยงก็ได้ วิธีนี้เหมือนฝากเงินก้อนกับธนาคาร ครัวเรือนที่เลี้ยงวัวจะเลี้ยงราว 7-8 ตัว วัวที่โตจนอายุ 4-5 ปีจะมีคนรับซื้อตัวละ 30,000 บาท

ส่วนการเลี้ยงหมูเมื่อหมูโตเต็มที่ก็จะขายได้ตัวละ 2,000-3,000 บาท แต่ชาวบ้านก็ประสบปัญหาไม่สามารถเลี้ยงส่งขายได้สม่ำเสมอ เพราะคู่แข่งอย่างหมูพันธุ์จากบรรษัทด้านการเกษตรมีคุณภาพเนื้อดีกว่า ทำให้บ่อยครั้งถูกกดราคาเหลือตัวละ 1,500 บาท หากราคาต่ำกว่านั้นก็ต้องยอมเชือดกินเองในหมู่บ้าน สำหรับการเลี้ยงไก่พื้นเมือง ชาวบ้านที่เวียงแหงรับซื้อกิโลกรัมละ 150 บาท หากขายในชุมชนก็ได้ราคาต่ำลงอีกหน่อย

ลุงออบอกว่าชาวบ้านพบพื้นที่เพาะปลูกแห่งใหม่ที่มีสภาพดินอุดมสมบูรณ์แต่พื้นที่นั้นก็อยู่ห่างจากหมู่บ้านถึง 5 กิโลเมตรและมีสภาพไม่ปลอดภัย ถ้าเพาะปลูกในที่ดินไกลๆ ก็ต้องลงทุนเฝ้าไม่ให้สัตว์ป่าเข้ามาในไร่ ทำให้ชาวบ้านเลือกเพาะปลูกในพื้นที่ใกล้ๆ หมู่บ้านที่พอจะเอาตัวรอดดูแลพืชผลเองได้

ด้วยสภาพความเป็นอยู่ที่ลำบาก ทำให้มีชาวบ้านบางส่วนลงไปรับจ้างตามฤดูกาลที่ชายแดนใกล้อำเภอเวียงแหง เมื่อได้ค่าจ้างก็จะนำไปซื้อข้าวของกลับมาที่หมู่บ้าน บางคนก็รับจ้างรายวันเป็นครั้งคราวกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่ชายแดนไทยทั้งการปลูกป่าและทำแนวป้องกันไฟป่า

ขณะที่หมอจิ่ง แพทย์อนามัยวัย 48 ปีที่ประจำอยู่ที่ชุมชนผู้อพยพดอยดำ เล่าให้ฟังว่า ความช่วยเหลือด้านเวชภัณฑ์ในปัจจุบันได้มาจากประชาชนไทใหญ่ที่รวบรวมกันบริจาค ส่วนโรคที่พบประจำในชุมชนได้แก่ มาลาเรีย ปวดไส้ติ่ง นอกจากนี้ยังพบการขาดสารอาหารในชาวบ้านและเด็กหลายราย ผู้สูงอายุในชุมชนก็มักเป็นโรคความดันโลหิตสูง ส่วนโรคภัยที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ชายแดน ล่าสุดในปี 2558 มีชาวบ้านถูกกับระเบิดบาดเจ็บ 3 ราย
การเสริมกำลังทางทหารเข้าใกล้ชุมชนผู้อพยพ


ระหว่างปี 2548-2549 ช่วงที่มีการตั้งค่ายผู้อพยพที่ดอยดำ กองทัพสหรัฐว้าเคยเสริมกำลังเข้ามาในพื้นที่ในช่วงที่กองทัพสหรัฐว้าสนธิกำลังกับกองทัพพม่าบุกดอยไตแลง แต่หลังจากนั้นมาก็ไม่เกิดเหตุปะทะกันหนักๆ อีก อย่างไรก็ตามแม้กองทัพรัฐฉานจะลงนามหยุดยิงแล้ว แต่การเสริมกำลังทางทหารของกองทัพพม่ายังคงเกิดขึ้นในพื้นที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนรัฐฉาน (SHRF) เปิดเผยล่าสุดว่าเมื่อวันที่ 16 และ 23 กันยายน 2561 กองทัพพม่าส่งอากาศยานไร้คนขับหรือโดรนขึ้นบินเหนือพื้นที่ซึ่งอยู่ในความดูแลของกองทัพรัฐฉาน สร้างความหวาดกลัวให้กับผู้อพยพว่าจะเกิดการโจมตีรอบใหม่

ที่ผ่านมากองทัพพม่า และกองทัพสหรัฐว้า เสริมกำลังทหารในพื้นที่ชายแดนใกล้ดอยดำแห่งนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตำบลเมืองทา อำเภอเมืองโต๋น โดยกองทัพสหรัฐว้าตั้งฐานทัพ 40 แห่งตรึงแนวชายแดนตลอด 40 กม. จากด้าน ต.เปียงหลวง/หลักแต่ง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ไปจนถึง อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน

ขณะที่กองทัพพม่าสร้างถนนยุทธศาสตร์เพื่อเชื่อมเมืองทากับเมืองปั่น หวังใช้เป็นเส้นทางลำเลียงกำลังพลและยุทธภัณฑ์เพื่อต่อสู้กับฐานที่มั่นของกองทัพรัฐฉาน และยังเป็นแนวป้องกันสำหรับการลงทุนก่อสร้างเขื่อนเมืองโต๋นในแม่น้ำสาละวินที่บริษัท Three Gorges Corporation เข้ามาสำรวจอย่างลับๆ ตั้งแต่ปี 2561 โดยเขื่อนเมืองโต๋นจะเป็นการร่วมทุนระหว่างไทยกับจีน 90% ของไฟฟ้าที่ผลิตได้จะส่งออกไปยังประเทศไทย เป็นเขื่อนใหญ่ที่สุดในจำนวน 3 เขื่อนที่จะก่อสร้างกั้นแม่น้ำสาละวินในพื้นที่รัฐฉาน

จำนวนและประชากรค่ายผู้อพยพชายแดนไทย-รัฐฉาน

ที่มา: มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ (SHRF), สิงหาคม 2560

1. ค่ายผู้อพยพกองมุ่งเมือง (ก่อตั้ง 2550)
ประชากร 246 คน (ชาย 119 หญิง 127) เยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี 41%
ที่ตั้ง รัฐฉาน ตรงข้ามบ้านหมอกจำแป๋ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน

2. ค่ายผู้อพยพดอยไตแลง (ก่อตั้ง 2542)
ประชากร 2,309 คน (ชาย 1,130 หญิง 1,179) เยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี 52%
ที่ตั้ง รัฐฉาน ตรงข้าม อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน

3. ค่ายผู้อพยพดอยดำ (ก่อตั้ง 2549)
ประชากร 238 คน (ชาย 121 หญิง 117) เยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี 37%
ที่ตั้ง รัฐฉาน ตรงข้าม อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่

4. ค่ายผู้อพยพกุงจ่อ (ก่อตั้ง 2545)
ประชากร 402 คน (ชาย 192 คน หญิง 210 คน) เยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี 40%
ที่ตั้ง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่

5. ค่ายผู้อพยพดอยสามสิบ (ก่อตั้ง 2549)
ประชากร 356 คน (ชาย 208 หญิง 148) เยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี 32%
ที่ตั้ง รัฐฉาน ตรงข้าม อ.ฝาง จ.เชียงใหม่

6. ค่ายผู้อพยพดอยก่อวัน (ก่อตั้ง 2544)
ประชากร 2,634คน (ชาย 1,246 หญิง 1,388) เยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี 34%
ที่ตั้ง รัฐฉาน ตรงข้าม อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย

จำนวนรวม 6,185 คน (ชาย 3,016 หญิง 3,169) เยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี 39%

อ้างอิง

DISPOSSESSED, A report on forced relocation and extrajudicial killings
in Shan State, Burma. the Shan Human Rights Foundation (SHRF), April 1998

จดหมายข่าวมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนไทใหญ่, SHRF, 30 ส.ค. 2560

ข่าวสารรัฐฉาน: ทหารพม่าจี้ย้ายอีกนับสิบหมู่บ้านในรัฐฉาน หลังเผาวอด 3 หมู่บ้าน (สำนักข่าวฉาน), ประชาไท, 7 สิงหาคม 2552

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.