Posted: 08 Nov 2018 03:32 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2018-11-08 18:32


กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)


เด็กและเยาวชนมีความสำคัญในการกำหนดทิศทางประเทศ แต่จะทำอย่างไรให้มี ‘ช่องทาง’ รับฟังความคิดของพวกเขาและเข้ามาร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะที่มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของทุกกลุ่มวัย ?

จากคำถามข้างต้น นำมาสู่ที่มาการประชุมเชิงปฏิบัติการ ‘สานพลังภาคีเครือข่ายเยาวชนสู่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ’ เมื่อเร็วๆ นี้ ที่จัดโดย คณะอนุกรรมการพัฒนาการสร้างเสริมศักยภาพและจัดกลุ่มเครือข่าย ภายใต้ คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ซึ่งได้เชิญแกนนำกลุ่มเครือข่ายเยาวชนทั้งในและนอกสถาบันการศึกษามาร่วมประชุมเชิงปฎิบัติการ อาทิ สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย สหพันธ์นิสิตนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย กลุ่มนิสิตนักศึกษารัฐศาสตร์ กลุ่มนิสิตนักศึกษารัฐศาสตร์ โครงการบัณฑิตอาสาสมัครมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ฯลฯ นับเป็นจุดเริ่มต้นในการให้เด็กๆ รู้จักกระบวนการพัฒนาและขับเคลื่อนประเด็นนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ที่เรียกว่า สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 11 แล้วในปีนี้

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคีเครือข่ายสมาชิกสมัชชาสุขภาพมักเป็นผู้มีอายุเฉลี่ยสูง ขณะที่เด็กเยาวชนยังอยู่ในวัยเรียนมีข้อจำกัดเรื่องเวลา การมาร่วมในกลไกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติอาจกระทบต่อการเรียนหนังสือหรือต้องมีผู้ปกครองมาด้วย ส่งผลให้ไม่มีกลุ่มเด็กเยาวชนเข้ามาร่วมกระบวนการนี้อย่างจริงจังในช่วงที่ผ่านมา

นพ.พลเดช ระบุว่า ถึงเวลาต้องดึงกลุ่มนี้เข้ามาร่วมแล้ว ไม่เช่นนั้นจะขาดคนรุ่นหลังรับช่วงต่อ ประกอบกับเด็กเยาวชนอยู่ในยุค Social Media มีประเด็นเกิดขึ้นใหม่ๆ เสมอ เช่น E-Sport หรือการแข่งขันเกมออนไลน์ที่คนรุ่นเก่าอาจไม่เข้าใจมากพอ ต้องอาศัยคนรุ่นใหม่ที่คุ้นเคยกับประเด็นทางสังคมเหล่านี้ มาร่วมขับเคลื่อนประเด็นสาธารณะให้สอดคล้องกับยุคสมัย

บรรยากาศเวที ‘สานพลังภาคีเครือข่ายเยาวชนสู่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ’ ช่วยให้เยาวชนหลากหลายสาขาวิชา หลายสถาบันการศึกษา และหลายภูมิภาค ได้มาพบปะ เรียนรู้ และร่วมพัฒนาประเด็นที่เห็นว่าสำคัญ ได้แก่ พฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสม การจัดการขยะในกรุงเทพมหานคร การส่งเสริมความรู้ด้านสุขภาพแก่ประชาชน และการพัฒนาทักษะชีวิตสำหรับเด็กละเยาวชน ซึ่งแต่ละหัวข้อล้วนเป็นประเด็นปัญหาของประเทศเวลานี้


ธนันนันท์ ญาณวัฒนานพกุล สมาพันธ์นิสิตและนักศึกษาทันตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเข้าร่วมเวทีในวันนี้ทำให้ได้รู้ว่าแต่ละเรื่องที่เป็นประเด็นนโยบายสาธารณะต้องผ่านอะไรบ้าง เปิดโอกาสในการแสดงความคิดเห็น และรู้ว่าแต่ละประเด็นต้องสร้างการมีส่วนร่วมจึงจะประสบความสำเร็จ

“ส่วนตัวสนใจเรื่อง ปัญหาขยะ เพราะเคยไปต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ที่มีการบริหารจัดการต่างจากเรา แต่ละบ้านคัดแยกขยะและมีตารางเก็บขยะประเภทต่างๆ ในแต่ละวัน จึงอยากให้ประเทศไทยวางระบบแบบนี้บ้าง”

สอดคล้องกับความเห็นของ แวอามีเนาะห์ สุหลง หรือ “น้องแวร์” เยาวชนจากโครงการบัณฑิตอาสา ภายใต้สถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ที่กล่าวว่า การร่วมเรียนรู้เชิงปฏิบัติการกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในวันนี้ ทำให้ความรู้จับต้องได้ เกิดความสนุก พัฒนาความคิด ทำให้เกิดการซึมซับรับรู้มากกว่าการเรียนในห้องเรียน และทำให้ได้รู้ว่าการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อเสนอไปยังหน่วยงานต่างๆ ต้องผ่านกระบวนการหาข้อมูลและรับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน

“เคยร่วมงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติประจำปี แต่ก็เป็นเพียงการเข้าร่วมเฉยๆ ไม่ได้รู้มาก่อนว่าแต่ละวาระที่เข้าสู่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติจะต้องผ่านขั้นตอนมากมายอย่างนี้” น้องแวร์ระบุ ก่อนกล่าวต่อไปว่า การเข้าร่วมงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งต่อไปจะมีความเข้าใจและมีส่วนร่วมมากกว่าที่ผ่านมา และจะนำกระบวนการนี้ไปประยุกต์ใช้กับงานพัฒนาศักยภาพเด็กเยาวชนที่ เกาะบุโหลน จ.สตูล ซึ่งเธอทำงานอยู่

วุฒิพงษ์ ชำนาญไพร สภาเด็กและเยาวชน จ.นครสรรค์ เล่าว่า จากประสบการณ์การทำงานในฐานะตัวแทนสภาเด็กมานานกว่า 7 ปี ประเด็นที่สัมผัสมา มักเป็นเรื่องเดิมๆ อาทิ ปัญหาท้องไม่พร้อม โตไปไม่โกง หรืออนามัเจริญพันธุ์ หากการได้มาร่วมเรียนรู้กระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติทำให้ได้เพื่อนหลากหลาย เรียนรู้ว่ามีปัญหาอื่นๆ ที่ใกล้ตัวเรา ได้แลกเปลี่ยนความคิดความเห็นทำให้มีมุมมองและข้อเรียนรู้ใหม่ๆ เช่น เรื่องของสิทธิตามหลักประกันสุขภาพที่เด็กเยาวชนต่างก็ใช้สิทธินี้ แต่ไม่รู้รายละเอียด ซึ่งตนจะนำเรื่องเหล่านี้ไปเติมเต็มงานที่ทำเพื่อให้เด็กเยาวชนรู้ถึงสิทธิการรักษาพยาบาลของตัวเองมากขึ้น

เช่นเดียวกับ รณฤทธิ์ เรือนทอง จากชมรมเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ ที่บอกว่า เดิมคิดว่ามาร่วมกระบวนการนี้จะได้แต่ประเด็นปัญหาสุขภาพ แต่พบว่ามีประเด็นอื่นๆ เช่น เรื่องขยะที่ได้เรียนรู้มุมมองใหม่ในการแก้ปัญหาจากเพื่อน เรื่องสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เพื่อนซึ่งร่ำเรียนมาทางนี้นำมาเล่าให้ฟัง

“การที่เราอยู่ในวัยใกล้เคียงกันทำให้คุยกันรู้เรื่องแม้จะเพิ่งพบกัน และจะสานต่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ที่ดีต่อไป และผมจะนำกระบวนการที่ได้รับไปถ่ายทอดบอกต่อ”

เมธชนนท์ ประจวบลาภ สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเด็นทางสังคมที่หลากหลายในเวลานี้ เด็กเยาวชนก็มีส่วนได้เสียโดยตรง ยกตัวอย่าง ตนเองป่วยเพราะแพ้อาหาร เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐตามสิทธิ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พบว่าหมอฉีดยาที่ตนเองแพ้ให้จนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง นำมาสู่ความสนใจในเรื่องการพัฒนาคุณภาพของการบริการสุขภาพ หรือประเด็น E-Sport ซึ่งแม้ไม่ใช่คนเล่นเกมโดยตรง แต่ก็เข้าถึงความรู้สึกและความคิดของเด็กเยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มที่เล่น E-Sport การได้ร่วมพัฒนาข้อเสนอฯ จะทำให้ประเด็น ‘รอบด้าน’พร้อมสำหรับการนำเสนอยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

แนวความคิดและมุมมองใหม่ๆ ที่ได้จากภาคีเครือข่ายเด็กและเยาวชนจะช่วยมาเติมเต็มประเด็นนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพให้รอบคอบและรอบด้านมากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อนำไปสู่การพัฒนากลไกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่สมบูรณ์แบบได้ดียิ่งขึ้นนั่นเอง

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.