Posted: 03 Nov 2018 12:53 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-11-04 02:53


เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2561 ราชกิจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 ระบุว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ให้ไว้ ณ วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 เป็นปีที่ 3 ในรัชกาลปัจจุบัน

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561”

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560

มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้ “ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” หมายความว่า ทรัพย์สินในพระองค์และทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์

“ทรัพย์สินในพระองค์” หมายความว่า ทรัพย์สินที่เป็นของพระมหากษัตริย์อยู่แล้วก่อนเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ทรัพย์สินที่รัฐทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และทรัพย์สินที่ทรงได้มาไม่ว่าในทางใดและเวลาใดอันเป็นการส่วนพระองค์ ทั้งนี้ รวมถึงดอกผลที่เกิดจากบรรดาทรัพย์สินเช่นว่านั้นด้วย

“ทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์” หมายความว่า ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์นอกจากทรัพย์สินในพระองค์

มาตรา 5 การใดที่มีผลทำให้สิ้นสุดการเป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์จะกระทำมิได้เว้นแต่จะได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว

ในกรณีที่มีปัญหาว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ตามโบราณราชประเพณีให้เป็นไปตามพระบรมราชวินิจฉัย

มาตรา 6 การจัดการ การดูแลรักษา การจัดหาผลประโยชน์ และการดำเนินการอื่นใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย เพื่อการนี้ พระมหากษัตริย์จะทรงมอบหมายให้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ บุคคลใด หรือหน่วยงานใดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ สำหรับทรัพย์สินใดภายใต้เงื่อนไขอย่างใดก็ได้

เมื่อได้ทรงมอบหมายให้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ บุคคลใด หรือหน่วยงานใดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์สำหรับทรัพย์สินใดแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ในกรณีทั้งปวงเกี่ยวกับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ห้ามมิให้ระบุพระปรมาภิไธยหรือข้อความใดอันแสดงหรืออนุมานได้ว่าพระมหากษัตริย์เป็นคู่กรณีหรือคู่ความ ให้ระบุเพียงชื่อผู้ได้รับการมอบหมายดังกล่าวแล้ว และในกรณีที่ทรงมอบหมายให้บุคคลหรือหน่วยงานอื่นใดที่มิใช่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นผู้จัดการ ให้ต่อท้ายด้วยคำว่า “ผู้จัดการทรัพย์สินในพระองค์” หรือ “ผู้จัดการทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์” แล้วแต่กรณี สำหรับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์มีหน้าที่เป็นผู้จัดการ ให้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นคู่กรณีหรือคู่ความ

มาตรา 7 ให้มีสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ มีฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นหน่วยงานในพระมหากษัตริย์ มีหน้าที่จัดการ ดูแลรักษา จัดหาผลประโยชน์ และดำเนินการอื่นใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ตามที่จะทรงมอบหมายทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ที่ยังมิได้ทรงมอบหมายให้บุคคลใดหรือหน่วยงานใดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์นั้น ให้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์มีหน้าที่ดำเนินการตามวรรคหนึ่งเว้นแต่จะมีพระบรมราชวินิจฉัยเป็นอย่างอื่น

มาตรา 8 ในสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” ประกอบด้วย ประธานกรรมการและกรรมการอื่น ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย และในจำนวนนี้จะได้ทรงแต่งตั้งกรรมการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์คนหนึ่งเป็นผู้อำนวยการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการ

การพ้นจากตำแหน่งกรรมการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และผู้อำนวยการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย

คณะกรรมการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์มีอำนาจหน้าที่ดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ในการนี้ ให้มีอำนาจออกระเบียบเกี่ยวกับการบริหารกิจการและการบริหารงานบุคคลของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์

ผู้อำนวยการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์มีอำนาจหน้าที่บริหารกิจการสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ให้เป็นไปตามระเบียบของคณะกรรมการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์และที่คณะกรรมการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์กำหนด และเป็นผู้แทนของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก รายได้จากทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ให้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์นำไปจ่ายหรือลงทุนได้ ทั้งนี้ ตามที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว ส่วนที่เหลือจะจำหน่ายหรือใช้สอยได้ก็แต่โดยพระมหากษัตริย์ตามพระราชอัธยาศัย

มาตรา 9 ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์จะต้องเสียภาษีอากร หรือได้รับยกเว้นภาษีอากรย่อมเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

มาตรา 10 ให้ทรัพย์สินส่วนพระองค์ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 ที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นทรัพย์สินในพระองค์ตามพระราชบัญญัตินี้

ให้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 ที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ตามพระราชบัญญัตินี้

ให้บุคคล หน่วยงาน หรือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ใดตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ยังคงมีอำนาจจัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์นั้นตามที่ได้ทรงมอบหมายต่อไป จนกว่าจะมีพระบรมราชวินิจฉัยเป็นอย่างอื่น

มาตรา 11 ให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 เป็นสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ตามพระราชบัญญัตินี้

ให้คณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และผู้อำนวยการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. ๒๕๖๐ ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นคณะกรรมการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์และผู้อำนวยการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ แล้วแต่กรณีตามพระราชบัญญัตินี้

ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ ความผูกพัน และพนักงานและลูกจ้างของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 ที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มาเป็นของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 12 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงการจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ให้เหมาะสมแก่การบริหารจัดการยิ่งขึ้น โดยถวายเป็นพระราชอำนาจในการจัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย เพื่อให้การใช้ประโยชน์ทรัพย์สินนั้นเป็นไปโดยเหมาะสมตามที่จะทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยตามโบราณราชประเพณี จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.