เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวชาวมุสลิม ก่อนเกิดเหตุเหตุการณ์สังหารหมู่เมื่อปี 2530 ที่หมู่บ้านฮาชิมปุระ รัฐอุตตรประเทศของอินเดีย (ที่มา: Praveen Jain/Indianexpress)
Posted: 01 Nov 2018 11:51 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Fri, 2018-11-02 01:51
จากเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจอินเดียสังหารหมู่ชาวมุสลิม 42 รายในหมู่บ้านฮาชิมปุระ รัฐอุตตรประเทศของอินเดียเมื่อปี 2530 นั้น ในที่สุดเจ้าหน้าที่ซึ่งมีส่วนก่อเหตุฆ่าคนโยนทิ้งน้ำ ก็ถูกศาลสูงสุดตัดสินจำคุกตลอดชีวิตจากหลายข้อหารวมทั้งข้อหาฆาตกรรมและทำลายหลักฐาน ทว่าผู้ที่สั่งการยังคงไม่ถูกดำเนินคดี "ในที่สุดแล้วความจริงก็เป็นฝ่ายชนะ และคนบางคนก็จะต้องชดใช้ที่ฆาตกรรมผู้บริสุทธิ์" ซีชาน ญาติของผู้เสียชีวิตกล่าว
เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ที่ผ่านมา ศาลในอินเดียตัดสินลงโทษจำคุกตลอดชีวิตเจ้าหน้าที่ตำรวจเกษียณอายุ 16 นาย จากกองกำลังตำรวจภูธรรัฐอุตตรประเทศ (PAC) ในข้อหาสังหารหมู่ชาวมุสลิม 42 รายในหมู่บ้านฮาชิมปุระ รัฐอุตตรประเทศ เหตุการณ์เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2530
ผู้พิพากษา เอส มุราลิธา และ วิโนด โกเอล แห่งศาลสูงเดลีตัดสินกลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่เคยตัดสินให้จำเลยพ้นโทษในกรณีนี้ โดยผู้พิพากษาของศาลสูงกล่าวว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในฮาชิมปุระเป็นการ "สังหารอย่างมีเป้าหมาย" ต่อประชาชนชาวมุสลิมที่ปราศจากอาวุธและไม่สามารถป้องกันตัวได้ ในคำตัดสินของศาลล่าสุดระบุว่าคดีนี้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างอุกฉกรรจ์ที่มีการสังหารโดยวางเป้าหมายเป็นบุคคลในชนกลุ่มน้อยในแบบที่ระบบกฎหมายก่อนหน้านี้ไม่สามารถเอาผิดผู้ก่อเหตุได้
เหตุการณ์สังหารหมู่ดังกล่าวเกิดขึ้นในคืนวันที่ 22 พ.ค. 2530 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจติดอาวุธกวาดต้อนชาวมุสลิมหลายสิบคนในเมืองมีรัตที่มีเหตุจลาจลในยุคนั้น เจ้าหน้าที่ทางการยิงชาวมุสลิมที่พวกเขากวาดต้อนมาเสียชีวิต มีการพบซากศพส่วนใหญ่อยู่ริมลำคลองใกล้ที่เกิดเหตุในเวลาต่อมา
ศาลตัดสินลงโทษอดีตเจ้าหน้าที่กองกำลังตำรวจติดอาวุธประจำจังหวัด 16 นาย ในข้อหาฆาตกรรม, ลักพาตัว, ร่วมก่ออาชญากรรม และทำลายหลักฐาน จากคำตัดสินล่าสุดนี้ทำให้ครอบครัวของเหยื่อและนักสิทธิมนุษยชนที่รอคอยความยุติธรรมมาเป็นเวลากว่า 31 ปีบอกว่าในที่สุดพวกเขาก็ได้รับความเป็นธรรมแล้ว
โมฮัมเหม็ด ซีชาน เป็นหนึ่งในญาติของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้น เขาบอกว่ามีหลังจากการตัดสินคดีลงโทษเจ้าหน้าที่ผู้ก่อเหตุก็มีการเฉลิมฉลองในย่านของพวกเขาด้วยการแจกจ่ายขนมหวานและทุกคนต่างพากันแสดงความยินดี ปู่ของซีชานชื่อโมฮัมเหม็ด ยาซิน เป็นหนึ่งในเหยื่อรายแรกที่ถูกยิงสังหาร พ่อของซีชานก็ถูกจับกุมและทารุณกรรมโดยตำรวจก่อนมีการปล่อยตัว ซีชานบอกว่ามันเป็นการรอคอยความยุติธรรมอย่างเจ็บปวดยาวนาน ย่าของเขาเสียชีวิตไปก่อนขณะรอคอยความเป็นธรรมให้กับสามีที่เสียชีวิตไป ข่าวการตัดสินล่าสุดจึงนำพาความยินดีมาสู่ทุกคน "ในที่สุดแล้วความจริงก็เป็นฝ่ายชนะ และคนบางคนก็จะต้องชดใช้ที่ฆาตกรรมผู้บริสุทธิ์" ซีชานกล่าว
นักสิทธิมนุษยชนชื่อ ฮาช แมนเดอร์ บอกว่าการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมในเรื่องนี้เป็น "การต่อสู้ครั้งใหญ่เพื่อความยุติธรรม" จากการที่ก่อนหน้านี้มีการพยายามอำพรางหลักฐานและมีอคติเอียงข้างจากรัฐบาลในคดีนี้ แต่ผู้รอดชีวิตและครอบครัวก็ยืนหยัดต่อสู้จนกระทั่งทำให้เกิดผลลัพธ์เป็นคำตัดสินในครั้งล่าสุดนี้ได้ แมนเดอร์บอกอีกว่าการต่อสู้ในครั้งนี้ยังถือเป็นการต่อสู้เดิมพันของกลุ่มชนชั้นแรงงานที่ยากจนด้วย อย่างไรก็ตามถึงแมนเดอร์ย้ำเตือนว่ากลุ่มคนระดับสูงที่เป็นผู้สั่งการในเรื่องนี้และคนที่มีส่วนรู้เห็นในการอำพรางหลักฐานก็ยังคงไม่ถูกดำเนินคดี
ถึงแม้ว่าศาลชั้นต้นเคยพิพากษาไม่เอาผิดกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของอินเดียและผู้รอดชีวิตจากการสังหารหมู่ก็อุทธรณ์ต่อศาลสูงให้พิจารณาคดีนี้อีกครั้ง หนึ่งในผู้รอดชีวิตเล่าว่าเขาถูกยิงที่โดนแขนในช่วงที่มีการสังหารหมู่ เขาและร่างอื่นๆ ถูกนำไปโยนทิ้งคลองหลังจากนั้น แต่ด้วยความมืดทำให้พวกเขาไม่เห็นว่ายังมีผู้รอดชีวิต เขาซุ่มหลบอยู๋ที่พุ่มไม้และหนีตายได้สำเร็จหลังจากรถตำรวจออกไปแล้ว
วรินดา โกรเวอร์ ทนายความตัวแทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอินเดียกล่าวว่าสิ่งที่ท้าทายที่สุดในคดีนี้คือการที่ผู้ทำการสืบสวนสอบสวนเป็นฝ่ายรัฐบาลเอง ทำให้มีแนวโน้มว่าจะปกป้องผู้ต้องหาแทนที่จะทำให้เหยื่อได้รับความเป็นธรรม และหลักฐานชิ้นสำคัญก็ถูกปิดกั้น
ชับนัม อัชมี ผู้ก่อตั้งกลุ่มสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ANHAD กล่าวว่า อีกความท้าทายหนึ่งคือการที่คดีนี้มีการตัดสินในช่วงที่สังคมถูกกดดันอย่างหนักให้ยอมตามวาระของกลุ่มฝ่ายขวานิยมฮินดูซึ่งในอินเดียมีประชากรชาวฮินดูมากกว่าร้อยละ 80 ของประเทศ และมีประชากรชาวมุสลิมราวร้อยละ 14 ของประเทศ อัชมีบอกอีกว่าการสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นรัฐมีส่วนร่วมในการก่อเหตุด้วย รวมถึงชาวมุสลิมในเหตุการณ์นั้นถูกสังหารโดยมีการวางแผนไตร่ตรองไว้ก่อนอย่างเป็นระบบ
เรียบเรียงจาก
India: Ex-policemen get life term for 1987 massacre of Muslims, Aljazeera, 01-11-2018[full-post]
แสดงความคิดเห็น