Posted: 01 Nov 2018 09:28 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2018-11-01 23:28


นัชชา ตันติวิทยาพิทักษ์

“มีหลายครั้งที่ปีศาจพยายามจะเอาตัวฉันไป แต่ทำไม่สำเร็จ และฉันยังอยู่ตรงนี้...” เสียงของวิทนีย์ ฮูสตันที่เผยความรู้สึกลึกๆ ของเธอในการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่งซึ่งภาพยนตร์สารคดี ‘Whitney’ (2018) เลือกนำมาใส่ในตอนต้นเรื่อง เพื่อนำเราเข้าสู่เบื้องลึกชีวิตทั้งจุดสูงสุดและจุดต่ำสุดที่คาบเกี่ยวกับเรื่องอัตลักษณ์ สีผิว เพศสภาวะ และการเป็นซุปเปอร์สตาร์ในอุตสาหกรรมความบันเทิงของ ‘วิทนีย์ ฮูสตัน’ นักร้องหญิงผิวดำอเมริกันเจ้าของรางวัลแกรมมี่ผู้โด่งดังไปทั่วโลกในบทเพลงอย่าง ‘I will always love you’ ‘I have nothing’ หรือ ‘I wanna dance with somebody’

ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ใช้วิธีการเล่าโดยนำฟุตเทจและรูปภาพเก่าในช่วงเวลาที่วิทนีย์ยังมีชีวิตมาร้อยเรียง ประกอบกับคำสัมภาษณ์ของคนใกล้ชิดทั้งแม่ พี่ชาย ญาติ เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน จุดเด่นอยู่ที่บางฟุตเทจก็มีความเป็นส่วนตัวมากๆ ในแบบที่เราอาจไม่เคยเห็นมุมนี้ของเธอในที่สาธารณะ พร้อมกับการลำดับภาพและเสียงสัมภาษณ์ที่สอดรับกับเรื่องราวอย่างลงตัว

วิทนีย์เกิดวันที่ 9 สิงหาคม 1963 ที่เมืองนวร์ก รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา ในครอบครัวชนชั้นกลางค่อนข้างเคร่งศาสนาที่พยายามอย่างหนักในการขยับสถานะขึ้นไปให้สะดวกสบายกว่าที่เป็นอยู่ ผลก็คือในวัยเด็กวิทนีย์และพี่น้องต้องระหกระเหินไปอยู่บ้านญาติๆ แม่ของเธอเริ่มจากการเป็นนักร้องคอรัสตระเวนไปแสดงตามที่ต่างๆ และไต่สู่การออกอัลบั้มเดี่ยว แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

ชีวิตวัยเด็กของวิทนีย์ไม่ได้สวยงามนัก ในปี 1967 ย่านที่เธออยู่เกิดจลาจลที่เรียกว่า ‘จราจลนวร์ก’ (Newark riots) ซึ่งเกิดขึ้นจากแรงกดดันของคนผิวดำต่อการถูกเลือกปฏิบัติในด้านต่างๆ เช่น การจ้างงาน การเช่าบ้าน และชนวนจราจลเกิดจากเหตุการณ์ตำรวจผิวขาวสองนายทุบตี จอห์น สมิธ คนขับแท็กซี่ผิวดำ วิทนีย์ยังจำช่วงเวลานั้นได้ดีและเล่าว่าเธอหวาดกลัวเพียงไร

หลังจลาจลไม่นานครอบครัวของเธอก็ย้ายไปสู่ย่านชนชั้นกลางที่ดีกว่าเดิม วิทนีย์ซึ่งเกิดมาพร้อมพรสวรรค์ด้านการร้องเพลงและการถูกฝึกซ้อมอย่างเข้มงวดจากผู้เป็นแม่ได้กลายเป็นความหวังเพียงหนึ่งเดียวที่จะทำให้ความฝันของแม่เป็นจริง และเธอก็ทำสำเร็จด้วยการออกซิงเกิลเดี่ยวในวัย 21 ปี
ด้วยเสียงร้องมีเอกลักษณ์ที่สะดุดหูเหล่าโปรดิวเซอร์ของค่ายเพลงมากมายจนมีการแย่งชิงตัว แต่เธอตัดสินใจเซ็นสัญญากับอริสต้า เรคคอร์ด และ ‘Hold me’ คือซิงเกิลแรกที่ทำให้เพลงของเธอติด 5 อันดับแรกของชาร์ตเพลงอาร์แอนด์บี หลังจากนั้นด้วยความสามารถ เสียงร้อง และเสน่ห์เฉพาะตัว ก็ทำให้เธอกลายเป็นขวัญใจคนอเมริกาอย่างรวดเร็ว

ต่อมาในปี 1991 ชื่อของวิทนีย์ก็ถูกกล่าวขานอย่างถล่มทลายหลังการร้องเพลงชาติอเมริกาอย่างเพลง ‘The Star-Spangled Banner’ ในเวอร์ชั่นที่แปลกและแตกต่างที่งานระดับชาติอย่างงานแข่งขันซูเปอร์โบวล์ โดยเวอร์ชั่นนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นเวอร์ชั่นที่น่าจดจำที่สุดตลอดกาล นั้นเพราะเพลงชาตินี้มีนัยของการกดขี่ข่มเหงและทำให้คนผิวดำในอเมริกันไม่รู้สึกมีอารมณ์ร่วมมากนัก แต่วิทนีย์เปลี่ยนอารมณ์ของเพลงที่พูดเรื่องความเข้มแข็ง การคุกคาม ให้มีท่วงทำนองของเสรีภาพและการอยู่ร่วมกัน และในบริบทของการเมืองตอนนั้น สหรัฐอเมริกากำลังร้อนระอุจากการทำสงครามอ่าวเปอร์เซีย ความเป็นชาตินิยมในอเมริกาจึงฮึกเหิมมากเป็นพิเศษ ทั้งคนผิวดำผิวขาวต่างรักและประทับใจเธอจากเพลงนี้

ชื่อเสียงของเธอโด่งดังเพิ่มขึ้นไปอีกจากการเล่นหนังเรื่อง ‘The Bodyguard’ ในปี 1992 หนังเมโลดราม่าที่เล่าถึงความรักต่างสีผิวเรื่องแรกๆ ที่ฮิตไปทั่วโลก แม้นักวิจารณ์จากหลายที่จะเบะปากให้กับการแสดงของเธอก็ตาม และเพลงที่เป็นที่จดจำตลอดกาล ‘I will always love you’ ขึ้นอันดับหนึ่งแทบทุกชาร์ตเพลงเป็นเวลายาวนานหลายเดือน ด้านครอบครัวเธอแต่งงานกับ ‘บ็อบบี้ บราวน์’ นักร้องอาร์แอนด์บีที่โด่งดังพอตัวในยุคนั้น และในปี 1993 ‘คริสติน่า บราวน์’ หรือ ‘คริสซี่’ ลูกสาวของทั้งคู่ก็เกิดมา

ชีวิตเธอเหมือนจะไปได้สวย แต่ปมปัญหาต่างๆ ในชีวิตที่เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก ก็ค่อยๆ ทยอยผุดขึ้นมาตามหลอกหลอน สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายใจ ด้วยความดังอย่างถึงขีดสุดของเธอที่กลบรัศมีสามีของเธอจนมิด ความอิจฉาก่อขึ้นในตัวบ็อบบี้โดยที่เขาเองก็ไม่รู้ตัว วิทนีย์รู้และพยายามทำทุกอย่างเพื่อกอบกู้ความสัมพันธ์ ยอมแม้กระทั่งไล่ ‘รอบิ้น โครว์ฟอร์ด’ เพื่อนสาวคนสนิทหลายสิบปีที่เป็นผู้ดูแลจัดการบริหารงานทุกอย่างออก เพื่อให้บ็อบบี้รู้สึกว่าเธอเลือกเขา หลังจากที่บ็อบบี้กับรอบิ้นนั้นทะเลาะกันมาตลอด

ถึงกระนั้นก็ไม่สามารถทำให้บ็อบบี้รู้สึกดีขึ้น เขาเริ่มก่อเรื่องมากมาย ลวนลามพนักงาน นอกใจ หรือกระทั่งพูดจาไม่ดีและตบตีเธอ และสุดท้ายแม้กระทั่งพ่อแท้ๆ ของเธอซึ่งกลายเป็นผู้บริหารจัดงานเงินในบริษัทของเธอก็ได้ยักยอกเงินจำนวนมากไปเป็นของตัวเองกับเพื่อน เกิดคดีความฟ้องร้อง ที่เธอไม่ได้อะไรกลับมานอกหัวใจที่แหลกสลาย คนที่สนิทรอบตัวเธอเล่าว่าเธอกลายเป็นคนปิดกั้นตัวเองและไม่ยอมไว้ใจใครอีก

หลังจากนั้นเหมือนกราฟชีวิตของเธอก็เหมือนตกลงอย่างต่อเนื่อง เธอติดยาและเริ่มไม่ยอมทำงาน แม้บริษัทจะลงทุนไปหลายล้านเหรียญเพื่อดันให้เธออกอัลบั้มใหม่ที่คนทั่วโลกรอคอย แต่เธอก็ปล่อยให้เวลาล่วงผ่านไป ลึกๆ แล้วการเป็นคนดังที่มีคนทั่วโลกให้ความรักความสนใจท่วมท้นคงเหมือนคลื่นยักษ์ที่โหมกระหน่ำใส่เธอระลอกแล้วระลอกเล่า ภาพลักษณ์ของเธอที่ถูกสร้างโดยบริษัทกับตัวตนที่แท้จริงของเธอนั้นจึงอาจปฏิเสธซึ่งกันและกันเอง แม้เธอจะพูดมาตลอดว่าเธอจะร้องเพลงออกมาจากหัวใจและจิตวิญญาณ แต่ความสับสนนี้ก็บั่นทอนความมั่นใจในการร้องเพลงของเธอลงไปเรื่อยๆ และในท้ายสุดลูกสาวเพียงคนเดียวของเธอ ‘คริสซี่’ ก็ติดยา และพยายามฆ่าตัวตาย วิทนีย์ใจสลายอีกครั้งเมื่อรู้ข่าว คนสนิทของวิทนีย์เล่าให้ฟังในสารคดีว่าคริสซี่เกลียดแม่ของเธอถึงขนาดพูดว่าเธออยากฆ่าแม่ให้ตาย

วิทนีย์พยายามกอบกู้ตัวเองอีกครั้ง เธอหย่ากับบ็อบบี้ เข้าสถานบำบัดยา ออกอัลบั้มใหม่ และทัวร์คอนเสิร์ตอีกครั้งแม้หลายคนจะห้ามเธอ แต่เนื่องจากเหตุผลทางการเงินที่ร่อแร่เต็มทีเธอจึงตัดสินใจทำ คอนเสิร์ตที่ยุโรปครั้งหนึ่งขณะที่เธอกำลังร้องเพลง คนดูหลายสิบคนเดินออกจากฮอลล์คอนเสิร์ตกะทันหันเนื่องจากทนฟังเสียงร้องที่ไม่เหมือนเดิมของเธอไม่ได้ หนังใส่ฟุตเทจเสียงอันแหบพร่าเพี้ยนบิดเบี้ยวของเธอเข้ามาให้ฟัง อันเป็นฉากที่น่าสะเทือนใจไม่น้อย

ปลายปี 2011 วิทนีย์ตัดสินใจเล่นหนังอีกครั้งเรื่อง ‘Sparkle’ หนังรีเมคหนึ่งในเรื่องโปรดของเธอ เธอตั้งใจเล่นอย่างเต็มที่ และมีความสุขมากในกองถ่าย รับรู้ได้ถึงความรักที่คนในกองมอบให้เธอ และทำให้เธอรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับอะไรบางอย่างอีกครั้ง หลังถ่ายหนังเสร็จ ขณะที่เธอกำลังนอนแช่น้ำในอ่างอาบน้ำของโรงแรม เธอบอกผู้ดูแลของเธอว่าอยากกินคัพเค้ก ผู้ดูแลออกไปซื้อให้ เมื่อกลับมาถึง ผู้ดูแลพบน้ำไหลเจิ่งนองทั่วห้อง และที่ห้องน้ำร่างหมดสติของวิทนีย์นอนคว่ำหน้าในอ่างอาบน้ำ วิทนีย์เสียชีวิตในวันนั้นเอง และในปี 2015 ‘คริสซี่’ ลูกสาวคนเดียวของเธอก็ฆ่าตัวตายสำเร็จ

หนังจบด้วยเพลง ‘I have nothing’ ที่เราอาจเคยฟังผ่านหูกันมาหลายร้อยครั้ง แต่ครั้งนี้อาจเป็นครั้งที่เศร้าสร้อยที่สุดครั้งหนึ่งหลังจากเราได้รับรู้เรื่องราวทั้งชีวิตของเธอมา บางทีชื่อเสียงอาจใช่สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเธออีกต่อไป หลังผ่านจุดสูงสุดและต่ำสุดในชีวิตมา บางทีเธอร้องเพลงนี้ก็เพราะหวังว่าคนรอบตัวเธอสักคนจะไม่ปล่อยเธอไว้เพียงลำพังกับชื่อเสียงที่มีแต่จะกัดกินเธอลงไปเรื่อยๆ จนเธอไม่อาจเปิดใจให้ใครได้อีก และสุดท้ายก็เป็นไปได้ว่าอ้อมกอดของความตายอาจเป็นสิ่งที่เหลืออยู่เพียงอย่างเดียวสำหรับเธอ


“Don't make me close one more door
I don't want to hurt anymore
Stay in my arms if you dare
Or must I imagine you there
Don't walk away from me
I have nothing, nothing, nothing
If I don't have you, you, you, you, you”


[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.