Posted: 13 Nov 2018 06:12 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2018-11-13 21:12


อุเชนทร์ เชียงเสน

บทความนี้ปรับปรุงเพิ่มเติมจากการอภิปรายของผู้เขียนในงานเสวนาเนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปี ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ ในหัวข้อ “รัฐศาสตร์สไตล์เกษียร: ครูกับศิษย์” วันเสาร์ที่ 27 ตุลาคม 2018 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แม้เนื้อหาจะเน้นไปทางความสัมพันธ์ระหว่างผู้เขียนและเกษียร แต่มีบางส่วนที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจโดยทั่วไป จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ ณ ที่นี้

ในช่วงหลายปีมานี้ในอาชีพอาจารย์ของผู้เขียน สิ่งหนึ่งที่ทำให้มีชีวิตอยู่ได้ท่ามกลางความยากลำบาก คือ นักศึกษา “นักศึกษาเหมือนยาฝิ่น” ที่คอยระงับความเจ็บปวดและทำให้เพลิดเพลินในบางครั้ง เพื่ออยู่กับความเจ็บปวดนั้นต่อไป

ตลอดเวลาของการเป็นอาจารย์ สิ่งหนึ่งที่พยายามไม่ยอมให้พลาด คือ การรับผิดชอบต่อชั้นเรียน/ผู้เรียนอย่างเต็มที่ ไม่ทิ้งหรืองดชั้นเรียนโดยไม่จำเป็นแบบสุดวิสัย การเตรียมตัวสอน จัดทำเอกสารประกอบ จัดเวลาให้นักศึกษาปรึกษาทั้งเรื่องเรียนและอื่นๆ การอ่านงานที่ตัวเองรับผิดชอบเป็นที่ปรึกษา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ สามารถวัดได้อย่างวัตถุวิสัย ส่วนสอนหรือทำได้ดีไหมนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

แม้จะพยายามอย่างไร ก็ใช่ว่าจะไม่มีข้อผิดพลาด มนุษย์คนหนึ่งล้วนเลวดี ผิดพลาดได้สารพัด มีทั้งคนรักและคนเกลียด ความรักและความเกลียดนั้น เกิดขึ้นได้ทั้งจากสิ่งที่เราทำและไม่ได้ทำ สิ่งที่เราผิดพลาดและไมได้ผิดพลาดอะไร สิ่งที่เราตั้งใจและไม่ตั้งใจ

แต่ทั้งหมดนี้ เป็นหน้าที่ของ “คนอื่น”-ไม่ใช่ “เราเอง”-ในการประเมิน

นี่คือสิ่งแรกที่อยากบอกกับเกษียร เตชะพีระ และผู้เขียนจะเริ่มทำหน้าที่ “คนอื่น” ข้างล่างนี้


การกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนอื่นมีได้หลายวิธี สำหรับความสัมพันธ์ของผู้เขียนกับเกษียรนั้น คงไม่มีวิธีการอื่นใดดีกว่าผ่านงานวิทยานิพนธ์ การเมืองภาคประชาชน-ถ้าไม่มีเกษียร ก็ไม่มีงานชิ้นนี้ และไม่มีผู้เขียนในวันนี้-ในฐานะ อาจารย์ที่ปรึกษา ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันจนกระทั่งสำเร็จการศึกษาและได้รับการตีพิมพ์ แรงบันดาลใจ ผ่านงานเขียนเก่าๆ และประสบการณ์จริง ด้วยความเป็นนักกิจกรรม 6 ตุลา และมีส่วนสนับสนุนการเคลื่อนไหวของประชาชนในช่วงหลัง และ นักยุทธศาสตร์ฝ่ายซ้าย ที่ให้กรอบการวิเคราะห์การเมืองและข้อเสนอต่อการเคลื่อนไหวในช่วงต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อยังเป็นฝ่ายซ้ายอยู่ ทั้งหมดนี้มีส่วนกำหนดวิธีคิด มุมมองของผู้เขียน กลายเป็นจุดยืนของผู้เขียนทั้งในชีวิตจริงและในวิทยานิพนธ์

อาจารย์ที่ปรึกษา “การเมืองภาคประชาชน”

หลังจากเข้ามาใน "ขบวนการ" ได้พักหนึ่งในช่วงชีวิตนักกิจกรรมนักศึกษา พวกเราหลายคนเริ่มตั้งคำถาม เห็นข้อจำกัดกลุ่มคนที่เรียกตนเองว่า “ภาคประชาชน” หรือเฉพาะจงลงไปคือ นักพัฒนาเอกชน/นักกิจกรรมทางการเมือง จึงพยายามศึกษา วิพากษ์วิจารณ์ข้อจำกัด และแสวงหาทางเลือกที่ไม่จำกัดตัวเองไว้ในแวดวงเอ็นจีโอ แต่ขยายตัวออกไปยังที่อื่นๆ อย่างกว้างขวาง ข้อเสนอหนึ่งคือ กลับไปทำ (สาย) อาชีพของตัวเองและเคลื่อนไหวทำการเปลี่ยนแปลงในสังคมการงานของตน ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เราไปเจอกับผู้คนที่กว้างขวาง ทำให้การเปลี่ยนแปลงกับชีวิตจริงไปด้วยกันได้ ไม่ใช่มี “อาชีพ” เป็นนักเปลี่ยนแปลงสังคม แบบนี้ต่างหากที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงขยายตัวไปได้ ไม่จ่อมจมอยู่กับแวดวงนักกิจกรรมอย่างแคบๆ ที่พึ่งตัวเองไม่ได้

บทสัมภาษณ์ของเกษียร เตชะพีระ ใน วารสารฟ้าเดียวกัน ฉบับปฐมฤกษ์ กลางปี 2546 “การเมืองภาคประชาชน : ผ้าซับน้ำตาโลกาภิวัฒน์ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร” ถือได้ว่าเป็นกระแสเดียวกันกับข้อวิพากษ์ของพวกเรา และช่วยให้เห็นถึงเส้นทางและข้อจำกัดของ “การเมืองภาคประชาชน” ได้ชัดเจนขึ้น และเป็นร่องรอยให้กับผู้เขียนในการศึกษา “การเมืองภาคประชาชน” ในเวลาต่อมา

ก่อนหน้านี้ วารสารฟ้าเดียวกัน ถูกคาดหวังจาก “ภาคประชาชน” บางส่วนว่าจะเป็น “Voice of การเมืองภาคประชาชน” และพร้อมกันนั้น “ภาคประชาชน” ก็เป็นเป้าหมายของวารสารเช่นกัน บทสัมภาษณ์ชิ้นแรกพร้อมคำโปรยหน้าปก “การเมืองภาคประชาชนที่จงรักภักดี” สร้างผลสะเทือนไม่น้อย แม้ฉบับแรกนี้จะถูกแจกจ่ายไปยัง “ภาคประชาชน” จำนวนมาก แต่ต่อมายอดสมาชิกจากกลุ่มนี้กลับตรงกันข้าม และที่สำคัญที่สุดนำมาสู่คำถามถึงผู้จัดทำว่า รับใช้ใคร? รับใช้ขบวนหรือไม่ ?

คำถามเหล่านี้เป็นสิ่งที่พวกเราเผชิญหน้าเสมอ เมื่อเริ่มตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ “ขบวนการ”

จากจุดนี้เอง พวกเราหลายคนจึงยกเลิกความคิดที่จะเป็นเอ็นจีโอ รวมทั้งผู้เขียนที่ตัดสินใจศึกษาต่อ พร้อมหอบหิวหัวข้อวิทยานิพนธ์ “การเมืองภาคประชาชน” นี้มาที่ธรรมศาสตร์

ที่รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ผู้เขียนไม่มีโอกาสได้เรียนกับเกษียรโดยตรง แต่หัวข้อนี้ไม่มีใครเหมาะเท่าเกษียร จึงขอนั่งเรียนโดยไม่ลงทะเบียนในวิชาการเมืองเปรียบเทียบเพื่อสร้างความคุ้นเคย หลังจากสอบประมวลความรู้แล้วจึงเริ่มคุยกับเกษียรว่าต้องการให้เป็นที่ปรึกษา แต่จะขอทำเค้าโครงให้เสร็จเพื่อเสนอให้พิจารณาก่อน อีก 6 เดือนต่อมา ผู้เขียนส่งเค้าโครงร่าง 52 หน้า เกษียรมี 1 คำถามให้อธิบายเพิ่มเติม และรับเป็นที่ปรึกษาในที่สุด

ผู้เขียนผ่านการสอบเค้าโครงวันที่ 9 เมษายน 2553 อีกวันถัดมา วันที่กระสุนดินปืนคละคลุ้งถนนราชดำเนิน ผู้เขียนและเพื่อนๆ หลายคนอยู่ที่นั่น ก่อนการปิดฉากการล้อมปราบ “เสื้อแดง” ในวันที่ 19พฤษภาคม 2553 ผู้เขียนอยู่แถวคลองเตย-บ่อนไก่ ผู้เขียนส่งข้อความหาอาจารย์ 2 ท่าน เกษียรเป็นหนึ่งในนั้น เพื่อบอกว่า ยังไม่ชีวิตอยู่ ไม่ต้องห่วง

หลังจากพฤษภา 2553 ผู้เขียนหายไปจากการทำวิทยานิพนธ์ไป 1ปีเต็ม ทั้งด้วยสภาพจิตใจและภารกิจบางอย่างกำหนดให้ตัวเองต้องทำต่อสิ่งที่เกิดขึ้น จนเรียกได้ว่าไม่มีความสัมพันธ์ต่อกันเหลือเลย กรรมการวิทยานิพนธ์อีกท่าน ประภาส ปิ่นตบแต่ง ประสานให้ผู้เขียนกับที่ปรึกษาได้คุยกันอีกครั้งหนึ่ง จนในที่สุดได้กลับมาเริ่มทำวิทยานิพนธ์ใหม่อีกครั้ง โดยได้รับทุนมหาบัณฑิตของ สกว. ภายใต้การเสนอเรื่องของที่ปรึกษา ทำให้พอมีทุนไม่ต้องกัดก้อนเกลือกิน หลุดพ้นจากเป็นกรรมาชีพ (เกือบ) จรจัด ทำงานวันหนึ่ง เพื่อมีชีวิตอยู่ได้วันหนึ่ง

จุดสุดท้ายชี้ขาดชีวิตของผู้เขียนเอง เป็นช่วงต้นปี 2555 ชีวิตกำลังเข้าสู่วิกฤตอีกครั้ง และกำลังจะตัดสินใจเลิกทำวิทยานิพนธ์ แต่เมื่อเริ่มคิดหน้าเกษียรก็ลอยมา จึงบังเกิดความกลัวว่าเกษียรจะโกรธและ “เลิกคบ” ทุกคนที่รู้จักย่อมตระหนักดีกว่าจะเกิดอะไรขึ้น จนกัดฟันเขียนจนจบและสอบผ่านในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนเส้นตาย

ในช่วงที่ทำวิทยานิพนธ์ นอกจากบาปกรรมที่ทำให้เกษียรต้องเป็นบรรณาธิการ แก้ไขงานเป็น “ประโยคๆ” ในบทท้ายๆ ที่เร่งรีบเขียนและต้องชดใช้กรรมหลายเท่านักในชีวิตการเป็นอาจารย์แล้ว สิ่งที่ได้รับที่สำคัญสุด คือ ความเข้าใจและให้อภัยต่อความผิดพลาด อ่อนด้อย ที่แปลมาเป็น “โอกาส”-ไม่ใช่โอกาสที่เกิดจากการปล่อยผ่านอย่างไร้คุณภาพ- โอกาสที่จะเริ่มต้นใหม่และประสบความสำเร็จในอนาคต

ไม่เกินไปเลยหากจะพูดว่าไม่มีเกษียรในตอนนั้นก็ไม่มีผู้เขียนในวันนี้


แรงบันดาลใจ

ผู้เขียนได้รู้จักเกษียรตั้งแต่ไม่รู้จักเกษียร ในนามปากกา “อาคม ชนางกูร” ผ่านบทความในหนังสืองานรำลึกเหตุการณ์เก่าๆ ที่กองอยู่ในห้องสำนักงานสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ชั้น 2 ตึกกิจกรรมนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

บทความเหล่านี้ได้แก่ “ทฤษฎีว่าด้วยรัฐของลัทธิมาร์กซ์กับการพัฒนาของรัฐชนชั้นนายทุนในรอบ 25 ปี” ในหนังสือ คลื่นแห่งทศวรรษ: รวมทัศนะ ความคำนึง และจินตนาการของนักวิชาการ นักการเมืองและนักเขียนร่วมสมัย 2526 , “ยุทธศาสตร์เชิงซ้อนในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ” (ในนามปากกา ประเสริฐ คงธรรม) ในหนังสือ วิพากษ์ทรรัฐ 2528, วิวาทะว่าด้วยรัฐและยุทธศาสตร์ในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ระหว่าง อาคม ชนางกูร VS. ลิขิต อุดมภักดี ใน วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง, และในชื่อจริงของเขาเอง "ประชาธิปไตยของประชาชนต้องเป็นอิสระจากรัฐและทุน,” ในหนังสือ อำนาจชาวบ้าน 2531

เด็ก “ช่างกล” มาเจอหนังสืออย่างนี้ ย่อมตื่นตาตื่นใจ “อ่านฉิบหาย”

ผู้เขียนเริ่มกิจกรรมทางการเมืองในช่วงปี 2540 แต่ได้เหยียบธรรมศาสตร์ครั้งแรกในงานรำลึก 20 ปี 6 ตุลาคม 2519 ในปี 2539 โดยการชักชวนของรุ่นพี่ชมรมอนุรักษ์ฯ และอาสาพัฒนา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ นั่งเรือมาร่วมงานจากพระราม 7 มายังท่าพระจันทร์

ในฐานะนักกิจกรรมนักศึกษาโนเนม ที่จัดงานรำลึก 14 ตุลา 6 ตุลา โดยเป็นแรงงาน เขียนป้ายผ้า จัดโต๊ะเก้าอี้ แบกโพเดียม มาหลายปี ผู้เขียนชื่นชม เห็นอกเห็นใจ คน 6 ตุลา มากกว่า 14 ตุลา ทั้งด้วยวิถีแห่งการปฏิบัติและอุดมการณ์ (ถึงขณะนี้ หลายอย่างก็ยังรู้สึกเช่นนั้นอยู่)

คน 14 ตุลา: ขบวนการ 14 ตุลา คือ ขบวนการที่ประสบความสำเร็จ จึงมองตัวเองว่ายิ่งใหญ่ และหลายคนในขณะนั้นประสบความสำเร็จในอาชีพ มีหน้ามีตา ดังนั้น ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ คนเหล่านี้มักจะยกวีรกรรมความสามารถของตัวเองในขบวนการนักศึกษามาเป็นตัวอย่างเปรียบเทียบเสมอในวงสนทนา และเรียกร้องกับคนรุ่นหลังอย่างไม่เข้าใจบริบท “สมัยผมนะ.......” แล้วต่อด้วยอะไรที่ยืดยาว เคยคิดตอบโต้คนรุ่นนี้เหมือนกันว่า ให้เอาลูกตัวเองมาจัดงาน ไปเรียกร้อง “จัดตั้ง” ลูกตัวเองซึ่งมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับพวกเราเสียก่อนดีไหม แต่ด้วยต้องพึ่งพาคนกลุ่มนี้ในการจัดงานจึงต้องเก็บไว้ในใจ แต่ไม่ค่อยรู้สึกประทับใจกับคนรุ่นนี้เท่าไหร่นัก

คน 6 ตุลา: ผู้เขียนและเพื่อนหลายคนรู้สึกชอบและประทับใจคน 6 ตุลามากกว่า เพราะ (อุดมการณ์) “ซ้ายกว่า” เท่าที่มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนด้วย หลังปี 2540 แล้ว จำนวนมากยังซ้ายและพยายามรักษาอุดมคติของตัวเองไว้ ขณะที่คน 14 ตุลาส่วนใหญ่ไม่ซ้าย และที่สำคัญคือ น่าเห็นใจในฐานะผู้แพ้ ทั้งตอน 6 ตุลา และป่าแตก เพราะแบบนี้หรือเปล่าที่ทำให้คน 6 ตุลา มีท่าทีต่อนักกิจกรรมรุ่นหลังต่างออกไป คนเหล่านี้มักไม่มีชื่อเสียง แต่เห็นอกเห็นใจพวกเรา ไม่อภิปรายแนะนำหรือมีความเห็นมากมายแล้วกลับไป แต่ยินดีช่วยงานทุกอย่าง บางคนคอยซื้อหาอาหาร ข้าวปลาให้ถึงดึกดื่น ลองเอ่ยชื่อคนเหล่านี้ดู นอกจากแวดวงเพื่อนของพวกเขา มีใครรู้จักบ้าง พี่วรรณแฟนพี่สินา พี่เงาะแฟนพี่ผา พี่เจ้าของร้านเช่าหนัง “เฟม วีดีโอ ท่าพระจันทร์” ที่ถึงตอนนี้ผู้เขียนยังไม่รู้จักชื่อเลย

แม้เกษียรจะไม่โนเนม แต่เกษียร เป็น “คน 6 ตุลา”

ผู้เขียนตระหนักดีว่าภาพแบบนี้มีลักษณะเหมารวม คน 14 ตุลา และ 6 ตุลาไม่ได้เป็นอย่างว่าทุกคน แต่คน 2 รุ่นนี้ ที่มีประสบการณ์และความสำเร็จต่างกัน จึงทำให้มีแนวโน้มที่ต่างกันด้วย การเรียกคน 2 รุ่นนี้แบบรวมๆว่า “คนเดือนตุลา” แม้จะช่วยปิดช่องว่างระหว่างรุ่นได้ แต่ได้ปิดบังซ่อนเร้นความแตกต่างซึ่งกลายเป็นอัตลักษณ์ที่สำคัญของพวกเขาเช่นเดียวกัน

การเข้าสู่วงการกิจกรรมนักศึกษา เปิดโอกาสให้ผู้เขียนได้เรียนรู้กับขบวนการประชาชนที่ “เป็นจริง” อย่างสมัชชาคนจน และคนรุ่น 6 ตุลาอย่าง “พี่มด” วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ “พี่ปุ้ม” วัชรี เผ่าเหลืองทอง คนแรกมีบทบาทสำคัญต่อสมัชชาคนจนในพื้นที่สาธารณะ ขณะที่คนหลังอยู่แถวหลังเป็นฝ่ายสนับสนุนมากกว่า

ทุกครั้ง เมื่อวางแผนเพื่อกำหนดการเคลื่อนไหว สิ่งหนึ่งที่สมัชชาคนทำ คือ “เดินสาย” ขอคำปรึกษา แนะนำจากส่วนต่างๆ อย่างอ่อนน้อมถ่อมตน การเข้าพบพูดคุยนี้ มีผลทั้งสองด้าน ด้านหนึ่ง ทำให้ส่วนต่างๆ เข้าใจสถานการณ์ ปัญหาของชาวบ้าน โดยคาดหวังว่าความเข้าใจนี้จะนำไปสู่การสนับสนุนอย่างใดอย่างหนึ่งในการเคลื่อนไหวที่จะเกิดขึ้น และอีกด้านหนึ่ง เพื่อขอคำแนะนำในการเคลื่อนไหวจริงๆ เพื่อการประเมินสถานการณ์ที่กว้างขวางและรอบด้านขึ้น เพื่อปรับยุทธิวิธีให้สอดคล้องเหมาะสม

สถานที่หนึ่งซึ่งมักแวะเวียนมาเสมอ คือ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิชาการด้านสันติวิธี แล้วอีกคนหนึ่ง คือ เกษียร เตชะพีระ ด้วย“พี่มด”ต้องการให้ผู้มาใหม่ได้เรียนรู้การทำงานเคลื่อนไหว จึงชักชวนให้ผู้เขียนติดสอยห้อยตามมาด้วย และนี่เป็นครั้งแรกที่ทำให้ผู้เขียนได้เจอและรู้จัก เกษียร เตชะพีระ ตัวจริง

ทั้งความเป็น “คน 6 ตุลา” ในความหมายที่ว่ามา ซึ่ง(ทึกทักเอาเองว่า) เปรียบเสมือน “รุ่นพี่” ทั้งงานเขียนเก่าๆ ที่กองฝุ่นเกรอะไว้รอรับนักอ่านหน้าใหม่ ในฐานะฝ่ายซ้าย “ผู้พ่ายแพ้” แต่ไม่ยอมจำนน และเมื่อตัวจริงที่ยังยึดโยงกับขบวนการประชาชน คอยทักท้วง เสนอแนะที่เป็นประโยชน์ในการเคลื่อนไหว เกษียรจึงกลายมาเป็นคนหนึ่งในรุ่นนี้ ในฐานะ “แรงบันดาลใจ” ในการเป็นนักกิจกรรมและเปลี่ยนแปลงสังคม


นักยุทธศาสตร์ฝ่ายซ้าย

ช่วงสารภาพบาปทางการเมืองของนักกิจกรรม โดยเฉพาะอดีตผู้นำนักศึกษาสนนท. ที่ไปร่วมขบวนการอนารยะสังคม/ปฏิปักษ์ประชาธิปไตยนั้น มีการอ้างถึงบทความ “ประชาธิปไตยของประชาชนที่เป็นอิสระจากรัฐและทุน” ของเกษียร ราวกับว่าการได้อ่านหรือรับอิทธิพลจากบทความทำให้พวกเขาเป็นอย่างนั้น

แน่นอน ตามข้อเท็จจริง บทความนี้มีอิทธิพลต่อนักศึกษา ใน สนนท.ไม่น้อย ชื่อบทความที่กลายเป็นยุทธศาสตร์ สนนท. ต่อเนื่องนับทศวรรษ (อย่างน้อยจนกระทั่งกลางทศวรรษ 2540) เป็นประจักษ์พยานในเรื่องนี้ดี อย่างไรก็ตาม นักกิจกรรมจำนวนมากเช่นกันไม่เข้าร่วมขบวนการพันธมิตรฯ หรือ กปปส.

ถ้าเป็นไปตามตรรกะนี้ –ได้รับอิทธิพลจากบทความจึงเข้าร่วมขบวนการฯ-ก็น่าเห็นใจพวกเขาอย่างมากเหมือนกัน หรือกล่าวได้ว่า “พวกเขาโชคร้าย” เพราะรู้จักแต่บทความนี้ และตีความอย่างขาดบริบทหรือความเข้าใจในที่มาของทฤษฎี

ในชุดบทความของเกษียรที่กล่าวมาแล้ว “ประชาธิปไตยของประชาชนที่เป็นอิสระจากรัฐและทุน” เป็นบทความที่ถูกเขียนขึ้นหลังสุด เมื่อ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” จบสิ้นลง เพื่อเสนอว่า “ภายใต้สภาวะแบบใหม่ของชนชั้นนายทุน ฝ่ายก้าวหน้าควรต่อสู้ประเด็นอะไรและอย่างไร” โดยเสนอให้มองประชาธิปไตยในแนวใหม่ คือ “ประชาธิปไตยในเมืองไทยเรานั้นมีฐานะเสมือนหนึ่งเครื่องมือทางการเมืองที่กลุ่มชนต่างๆ ในสังคมไทยยึดกุมดัดแปลงเอามาใช้ดำเนินการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อประโยชน์ของตนเอง”

ที่ผ่านมามีเพียง 2 กลุ่มที่ครอบงำการนิยามและช่วงชิงอำนาจกัน คือ ระบบราชการและภาคเอกชน ไม่มี “ภาคประชาชน” เข้ามามีเอี่ยวในหุ้นส่วนนี้ ทำให้ประชาธิปไตยฐานไม่แน่น คลอนแคลนง่าย เพราะไม่มีใครยินดีเสี่ยงสละชีวิตปกป้องระบอบการเมืองที่ไม่สามารถจะให้ผลประโยชน์แก่เขาอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมจากนักรัฐประหาร

เกษียรเสนอว่ามีลู่ทางที่พอจะสร้างอำนาจชาวบ้านขึ้นมา ผ่านระบอบประชาธิปไตยนี่แหละ นั่นคือ “การรวมตัวจัดตั้งสถาบันอำนาจของชาวบ้าน” อาศัยการจัดตั้งและเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นฐานกำลังไป “เบียดขับรัฐราชการ ชิงที่มั่นจากทุน” ทำให้ประชาธิปไตยหลุดจากมือรัฐราชการและนายทุนเอกชนแล้วตกเป็นของประชาชน

เหตุผลที่บทความนี้ ได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักศึกษา ส่วนหนึ่งเพราะ “ง่าย” ไม่มีการถกเถียงทางทฤษฎีที่ซับซ้อนและเปิดโอกาสให้กับการตีความให้สอดรับกับสถานการณ์ที่พวกเขาเผชิญได้

หากจะเชื่อมโยงกับการกลายพันธุ์มาต่อต้านประชาธิปไตยหรือการเมืองแบบรัฐสภาเสียเองแล้วก็เป็นการตีความในบริบทใหม่ที่รัฐราชการไม่ได้เป็นปัญหาหลักในการวิเคราะห์อีกต่อไป รัฐจึงหมายถึงรัฐบาล ซึ่งนายทุนเข้ามามีอำนาจในการปกครองผ่านการเลือกตั้ง รัฐและนายทุน จึงเป็นเนื้อเดียวกัน ประชาธิปไตยจึงเป็นแค่เครื่องมือของนายทุน หวนกลับไปที่ลัทธิมาร์กซ์แบบคลาสสิกและฝ่ายซ้าย พคท.

การตีความแบบนี้ทำให้ความคิดเรื่องการต่อสู้ในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาและประชาชนสามารถใช้ประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือของตนเองได้ ซึ่งจุดเริ่มต้นของข้อเสนอนี้ของเกษียรหายไป และกลายมาเป็นต่อต้าน/ต่อสู้กับประชาธิปไตยรัฐสภาเป็นด้านหลักแทน

พูดอย่างตรงไปตรงมา ท้ายที่สุด การตีความแบบนี้ของนักกิจกรรมยุคหลัง เป็นการตีความที่กลับหัวกลับหาง และกลับมาต่อต้านข้อเสนอหลักของเกษียรเสียเอง

ถ้าการอ่านงานมีผลต่อวิธีคิดโดยตรง พวกเขาจะไม่เป็นเช่นนี้หากได้อ่านต้นทางของข้อถกเถียงก่อนที่จะมาเป็นข้อสรุปในบทความดังกล่าว และนี่อาจเป็นความโชคดีของผู้เขียนเอง และเพื่อนๆ อีกหลายคน ที่ได้อ่านงานของอาคม ชนางกูร ก่อนหน้านี้ที่ให้คำตอบไว้อย่างน่าสนใจ

ข้อถกเถียงนี้คล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นในหมู่นักกิจกรรมในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และเป็นประโยชน์อย่างมากกับการเข้าใจหรือกำหนดจุดยืนต่อความขัดแย้งในช่วงนี้

หลังป่าแตกในหมู่ฝ่ายซ้ายไทยที่ยังไม่ล้มเลิกภารกิจปฏิวัติและความคิดสังคมนิยม มีข้อถกเถียง 2 ประเด็นเชื่อมโยงกัน ประเด็นแรก จะกำหนดท่าทีอย่างไรต่อระบอบประชาธิปไตยที่เปิดขึ้น ประเด็นที่สอง ปัญหาเขาควายว่าจะสนับสนุนพรรคการเมืองของชนชั้นนายทุนสู้กับเผด็จการทหาร หรือ สนับสนุนเผด็จการทหารสู้กับชนชั้นนายทุน โดยเกษียรเห็นว่าข้อถกเถียงนี้มาจากความเข้าใจรัฐแบบลัทธิมาร์กซ์ดั้งเดิมว่ารัฐเป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองและถูกกำหนดจากฐานเศรษฐกิจ ดังนั้น ผลที่ตามมาคือ ในทางทฤษฎีทหารขัดกับชนชั้นนายทุนไม่ได้ แต่เหตุการณ์จริงมีความขัดแย้งระหว่างทหารกับนายทุน “ถ้าอย่างนั้นทหารก็ขัดกับนายทุนได้ในขั้นธาตุแท้ ทหารอยู่คนละชนชั้นกับนายทุน และกรรมกรสมควรสามัคคีทหารมาโค่นล้มนายทุน”

ประเด็นแรก บทความ “ทางเลือกของพลังประชาธิปไตย”, ปริทัศน์สาร, ปีที่ 1 ฉบับที่ 7 (มิถุนายน, 2525) ได้วางหลักท่าทีต่อระบอบประชาธิปไตยรัฐสภาไว้อย่างกระชับชัดเจนว่า “เฉพาะหน้านี้ ขบวนการประชาธิปไตยควรจะรวมศูนย์ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไทยแบบรัฐสภาที่สมบูรณ์” เนื่องจากเป็นรูปแบบการปกครองที่ยอมรับค่านิยมของความขัดแย้ง ไม่ปฏิเสธกดปราบความขัดแย้งของกลุ่มผลประโยชน์หรือชนชั้นต่างๆ ด้วยความรุนแรง แต่มุ่งที่จะวางกรอบกฎเกณฑ์ ระเบียบปฏิบัติที่จะมากำกับความขัดแย้งให้คลี่คลายไปในทิศทางที่ชอบด้วยครรลองของกฎหมายอย่างสันติ เป็นรูปแบบที่ดำรงอยู่มายืนนานและให้เสรีภาพแก่ประชาชนมากที่สุด

หากไม่หันหลังให้กับการต่อสู้ในระบบทุกรูปแบบและปล่อยให้ชนชั้นอื่นพลังอื่นปู้ยี่ปู้ยำการเมืองที่เป็นจริงตามใจชอบแล้ว ประชาธิปไตยแบบรัฐสภาก็ “เป็นทางเลือกเดียวที่จะระดมพลังประชาธิปไตยได้อย่างกว้างไพศาลมากที่สุดในปัจจุบันที่จะมาแทนประชาธิปไตยครึ่งใบอันน่ารังเกียจ” ทั้งนี้ การกระทำเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการละทิ้งมวลชนขั้นพื้นฐาน แต่เพื่อให้การศึกษาและตระเตรียม รอโอกาสเหมาะสมที่จะช่วงชิงประชาธิปไตยที่แท้จริงของประชาชนในอนาคต เป็นการพลิกแพลงและมีกำลังพอจะทำทั้ง 2 ด้าน

ประเด็นที่สอง บทความ “ทฤษฎีว่าด้วยรัฐของลัทธิมาร์กซ์กับการพัฒนาของรัฐชนชั้นนายทุนไทยในรอบ 25 ปี” เสนอกรอบความเข้าใจใหม่ว่า “รัฐเป็นรัฐของสังคมที่ถูกแบ่งออกเป็นชนชั้น เป็นสิ่งสะท้อนสภาพความเป็นจริงของรูปธรรมทางประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ทางชนชั้นในสังคม” ดังนั้น การพิจารณาว่ารัฐเป็นตัวแทนของชนชั้นใดต้องดูว่า “รัฐนั้นเป็นสถาบันผลิตซ้ำแบบวิถีการผลิตและความสัมพันธ์ทางชนชั้นที่เอื้อให้ชนชั้นใดขึ้นมาเป็นชนชั้นหลัก สภาพความเป็นจริงทางภาววิสัยที่รัฐเอื้ออำนวยให้เกิดขึ้นทางเศรษฐกิจและการเมืองอำนวยประโยชน์แก่ชนชั้นใด ชนชั้นนั้นก็เป็นเจ้าของรัฐนั้นเป็นชนชั้นปกครอง” และในสภาพที่ดุลกำลังของชนชั้นในสังคมตรึงถ่วงและล้าเปลี้ย เป็นไปได้ที่จะมีผู้เผด็จการมาปกครอง โดยรัฐอาจทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับชนชั้นนายทุนบางกลุ่มแต่จะไม่เป็นปฏิปักษ์กับชนชั้นนายทุนทั่วไป และอำนาจเผด็จการรวมศูนย์นี้เองที่เอื้อต่อการพัฒนาไปข้างหน้าของทุนนิยมและชนชั้นนายทุนได้เช่นกัน

บทความได้เสนอต่อว่า “นักสังคมนิยม” ต้องไม่สนับสนุนการกดขี่ทุกรูปแบบ และ “ต้องวางเป้าหมายหลักแห่งการโจมตีไว้ตรงศัตรูที่คุกคามเราเร่งด่วนและเฉพาะหน้ากว่าอย่างสอดคล้องกับกำลังของเราที่เป็นจริง” ในสภาพที่ยังไม่มีตัวแทนที่เป็นจริงของชนชั้นกรรมกร ไม่สุกงอมพอที่จะเสนอรูปแบบการเมืองของชนชั้นกรรมกร “เราจึงควรร่วมมือกับพลังสังคมที่กว้างขวางที่สุดมาโดดเดี่ยวและโจมตีศัตรูที่ร้ายกาจที่สุด ปฏิกิริยาที่สุดก่อน และนั่นคือเผด็จการทหาร” และในกระบวนการนี้เพื่อชัยชนะระยะยาว ต้องสร้างทฤษฎี อุดมการณ์ทางการเมืองและองค์กรจัดตั้งของชนชั้นกรรมกร คือการสร้างกำลังมวลชนเพื่อตระเตรียมแก่การต่อสู้ระลอกใหม่ในอนาคต

หลังจาก “ทฤษฎีว่าด้วยรัฐฯ” ราวปีกว่า ปรากฏบทความอีกชิ้น “ยุทธศาสตร์เชิงซ้อนในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบปัจจุบัน" เสนอคำชี้แนะทางการเมืองคล้ายบทความแรกว่า ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของรัฐทุนนิยมไทยที่จะก้าวไปสู่ “รัฐประชาธิปไตยรัฐสภา” ภาระหน้าที่ระยะใกล้และไกลอยู่ที่ “การเข้าร่วมในกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนี้อย่างเป็นฝ่ายกระทำเพื่อตระเตรียมเงื่อนไขแก่การก่อสร้างขบวนการกรรมกรที่เป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเองในอนาคต” โดยมี “ยุทธศาสตร์เชิงซ้อน” คือ

ด้านหนึ่ง ขยายการต่อสู้ในประชาสังคม พยายามช่วงชิงครองความเป็นใหญ่เหนือประชาสังคม รักษาที่ทางในประชาสังคมที่เรามีส่วนเอาไว้ ขยายที่ทางนั้นออกไปรวมกับพลังการเมืองทุกกลุ่มทุกฝ่าย ร่วมกันปกป้องพิทักษ์ประชาสังคมจากการโจมตีและพยายามกลับเข้ามาควบคุมของระบบราชการ เสนอคำขวัญว่า ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและการปกครองตามกฎหมายที่เป็นธรรม ต่อต้านทหาร ต่อต้านการคุกคามของระบอบอำนาจนิยม ปกป้องและขยายสิทธิเสรีภาพทางวัฒนธรรม กระจายอำนาจให้ชาวบ้าน

อีกด้านหนึ่ง คือเร่งสร้างขบวนการแรงงานทั้งด้านความคิด การเมือง และการจัดตั้งที่เป็นอิสระและเป็นตัวของตัวเอง ปฏิบัติการนี้ไม่เพียงเพื่อเป็นกำลังคัดค้านการถอยหลังกลับไปสู่เผด็จการทหาร แต่ยังเป็นการตระเตรียมเพื่อก้าวข้ามพ้นมายาจอมปลอมของประชาสังคมกระฎุมพีในอนาคต

แม้ตอนนี้เกษียรจะหย่าร้างอย่างสันติกับสังคมนิยมแล้ว และคนรุ่นเราไม่ได้เป็นนักสังคมนิยมหรือบางคนยังพยายามจะเป็นซ้ายก็ตาม

ในฐานะ “นักยุทธศาสตร์ฝ่ายซ้าย” งานของเกษียรชุดนี้ทำให้เรา-อย่างน้อยก็คือผู้เขียนเอง-มีความเข้าใจรัฐที่ซับซ้อนมากขึ้น มากกว่าคัมภีร์ที่ท่องตามกันมาแต่อดีต รวมทั้งสิ่งที่เรียกว่า “รัฐราชการ” ในการวิเคราะห์สังคม และชี้ทางออกให้กับปัญหาเขาควายได้

งานของชุดนี้ทำให้เห็นความสำคัญและคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ปฏิเสธกดปราบความขัดแย้งของกลุ่มผลประโยชน์หรือชนชั้นต่างๆ ด้วยความรุนแรง และให้เสรีภาพแก่ประชาชน

งานของชุดนี้ให้แนวทางการต่อสู้ที่ “ปกป้อง” ไม่ใช่ “ทำลาย” “ประชาสังคม” ที่เรามีส่วนเอาไว้ ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและการปกครองตามกฎหมายที่เป็นธรรม คัดค้านการถอยหลังกลับไปสู่เผด็จการทหาร ปกป้องและขยายสิทธิเสรีภาพและกระจายอำนาจ

หลักการพวกนี้ ไม่เพียงมีความหมายต่อสถานการณ์ในอดีตเท่านั้นแต่ยังคงสำคัญถึงปัจจุบัน และจะช่วยถ่วงดึงรั้งเราไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง หรือเป็นนักปฏิวัติ “เข้าคลอง” ได้

สุดท้าย หากมีอะไรจะบอกเกษียรได้อีกบ้าง อยากเป็นประโยคนี้ "ชีวิตเราไม่ได้สำคัญอะไรนักหรอก เมื่อเราตายไป แม้กระทั่งคนที่เรารัก ต่อให้เขาไม่ลืม แต่เราก็สำคัญกับเขาน้อยลง ดังนั้น ในฐานะอาจารย์/นักวิชาการ สิ่งที่จะเหลือไว้ คือ ผลงานในรูปแบบของงานเขียนหรืออื่นๆ ที่ทำหน้าที่คล้ายกัน ที่รอผู้มาใหม่ ได้ค้นพบและศึกษาต่อไป"


[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.