Posted: 13 Nov 2018 06:23 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2018-11-13 21:23
ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ เตรียมถวายตำแหน่ง “ผู้อุปถัมภ์ UNHCR ด้านสันติภาพ และเมตตาธรรม” แด่ ว.วชิรเมธี ชี้เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้ในระดับโลก ขณะที่ก่อนสลายชุมนุมเสื้อแดง 53 พบเคยทวีต “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” พร้อมถูกวิจารณ์หนักขณะนั้นว่าสร้างความชอบธรรมให้แก่การแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง
ภาพซ้าย ถูกทวีตในคืนวันที่ 9 เม.ย. 2553 ก่อนการเข้าสลายการชุมนุมในวันต่อมา (10 เม.ย.2553) จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่จำนวนมา ซึ่ง วิจักขณ์ พานิช เขียนไว้ในบทความ “ความคมของฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” บทเรียนของพุทธศาสนาในสังคมประชาธิปไตย เมื่อ มิ.ย.2555 ระบุว่า ข้อความดังกล่าวของ ว.วชิรเมธี ถูกลบออกไปในภายหลัง
13 พ.ย.2561 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า วันที่ 19 พ.ย.นี้ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) จะมีการจัดงานมุทิตาจิตพร้อมสัมภาษณ์พิเศษ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) ในโอกาสที่ UNHCR ถวายตำแหน่ง “ผู้อุปถัมภ์ UNHCR ด้านสันติภาพ และเมตตาธรรม” ซึ่งถือเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งนี้ในระดับโลกพร้อม เจ้าหญิงซาร่า ซิด จากประเทศจอร์แดน ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็น “ผู้อุปถัมภ์ UNHCR ด้านสุขภาพแม่ และทารกแรกเกิด”
รายงานของ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ UNHCR ระบุด้วยว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 ท่าน ว.วชิรเมธี ได้ให้ความกรุณาแก่ UNHCR ในการสร้างการรับรู้ ระดมทุน และสร้างความเชื่อมโยงระหว่างหลักคำสอนทางพุทธศาสนาต่อการช่วยเหลือผู้ลี้ภัย โดยท่ามกลางวิกฤติผู้ลี้ภัยที่เกิดขึ้นทั่วโลก การส่งเสริมความเมตตาปราณีต่อเพื่อนมนุษย์มีความสำคัญมากขึ้น เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณ และเชิดชูความทุ่มเทในการสร้างการรับรู้ และความเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตของผู้ลี้ภัยทั่วโลก UNHCR ได้ถวายตำแหน่ง “ผู้อุปถัมภ์ UNHCR ด้านสันติภาพ และเมตตาธรรม” แด่ ท่าน ว.วชิรเมธี โดยเป็นตำแหน่งในระดับโลกที่มอบให้แก่บุคคลที่ได้ทุ่มเทการทำงาน สร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของผู้ลี้ภัยในระดับประเทศ ภูมิภาค และนานาชาติ โดยพิธีถวายตำแหน่งจะจัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่ UNHCR เมืองเจนีวา ในวันที่ 15 พ.ย.นี้
“ความคมของฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” บทเรียนของพุทธศาสนาในสังคมประชาธิปไตย
วาทกรรมทางการเมืองของพระสงฆ์ จาก 6 ตุลา 19 ถึง เมษา-พฤษภา 53
ว.วชิรเมธี กับข้อเสนอ “องค์กรเซ็นเซอร์คำเทศนา”
มติชนออนไลน์ รายงานเหตุผลของการมอบรางวัลนี้ ซึ่ง อรุณี อัชชะกุลวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการแผนกส่งเสริมความร่วมมือภาคเอกชน (ประเทศไทย) สำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า คัดเลือกผู้ได้รับตำแหน่งจากบุคคลที่มีสถานะในแต่ละประเทศที่ได้ทำงานด้านการช่วยรณรงค์เรื่องผู้ลี้ภัยมาเป็นเวลานาน และยังให้การช่วยเหลือในทุกๆ ด้าน ทั้งการสร้างการรับรู้ การระดมทุน การเปลี่ยนแปลงชีวิตหรือนโยบายที่ทำให้ผู้ลี้ภัยมีชีวิตที่ดีขึ้น โดยแต่ละท่านจะทำงานในสายงานของตัวเอง ซึ่งท่าน ว.วชิรเมธี จะเป็นผุ้อุปถัมภ์ยูเอ็นเอชซีอาร์ด้านสันติภาพและเมตตาธรรม เพราะท่านเชื่อว่าสันติภาพจริงๆ เกิดขึ้นจากตัวเรา วิธีการคือท่านจะเทศน์เกี่ยวกับเรื่อง "โลกทั้งผองเป็นพี่น้องกัน" เพราะฉะนั้น ถ้าเราเป็นแบบนั้น เราก็จะให้ความสนใจผู้ลี้ภัยมากขึ้นในแง่ที่ว่าผู้ลี้ภัยก็เป็นเพื่อนมนุษย์เหมือนกันกับเรา
ด้วยเหตุนี้ ท่าน ว.วชิรเมธีจึงมีความรู้เกี่ยวกับการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เพื่อให้โลกมีสันติภาพ ในขณะเดียวกัน เจ้าหญิงซาร่า ซิด ดูแลเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพแม่และเด็กของผู้ลี้ภัยมาตลอด โดยจะมอบรางวัลพร้อมกันในวันที่ 15 พฤศจิกายน ที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และในวันที่ 19 พฤศจิกายน จะได้สัมภาษณ์ท่าน ว.วชิรเมธี โดยมีนักแสดงสาว ปู-ไปรยา ลุนด์เบิร์ก ทูตสันถวไมตรีของยูเอ็นเอชซีอาร์ประเทศไทย ร่วมแสดงความยินดี" อรุณี กล่าว
อย่างไรผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ช่วงสถานการณ์ความขัดแย้งและการชุมนุมทางการเมือง รวมทั้งการสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. ปี 2553 ว.วชิรเมธี ถูกหยิบยกเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ เมื่อ ว.วชิรเมธี ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ @vajiramedhi ว่า “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” ในคืนวันที่ 9 เม.ย. 2553 ก่อนการเข้าสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. ในวันต่อมา (10 เม.ย.2553) จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่จำนวนมาก ซึ่ง วิจักขณ์ พานิช เขียนไว้ในบทความ “ความคมของฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” บทเรียนของพุทธศาสนาในสังคมประชาธิปไตย เมื่อ มิ.ย.2555 ระบุว่า ข้อความดังกล่าวของ ว.วชิรเมธี ถูกลบออกไปในภายหลัง ทั้งนี้เหตุที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในขณะนั้นเนื่องจากถูกมองว่าเป็นการสนับสนุนหรือสร้างความชอบธรรมให้แก่การแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง เนื่องจากข้อความนี้เผยแพร่ช่วงเวลาที่ต่อมามีการเข้าสลายการชุมนุม
สำหรับข้อความนี้ ในหนังสือ "หนึ่งคนตาย ล้านคนตื่น" ของ ว.วชิรเมธี ตีพิมพ์เมื่อปี 2555 หน้า 11 ว.วชิรเมธี ขยายความไว้ว่า "เราเคยได้ยินพระท่านสอนอยู่บ่อยๆ ว่า การฆ่าสัตว์เป็นบาป แต่อาตมาอยากบอกว่า การฆ่าเวลาต่างหากที่เป็นบาปมหันต์ยิ่งกว่า เพราะเมื่อคุณฆ่าสัตว์ หากสำนึกได้ คุณก็อาจจะไปหาสัตว์มาปล่อยเอาบุญ แต่หากคุณฆ่าเวลาด้วยวิธีใดก็ตาม ถึงแม้คุณจะสำนึกผิดกลับมาเห็นคุณค่าของเวลา ทว่าก็ไม่สามารถย้อนเวลาที่ผ่านไปแล้วให้หวนคืนกลับมาได้อีก"
สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านศาสนา โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัวถึงกรณีนี้ด้วยว่า ที่จริงแล้ว ว. วชิรเมธีเคยได้รับวัลสันติภาพกูสซี่ (The GUSI Peace Prize Foundation) มาแล้วเมื่อปี 2554
เหตุผลมีหลายประการ ประการหนึ่งก็คือ "ในฐานะผู้บุกเบิกการนำเสนอธรรมะที่เข้าใจง่ายสู่สาธารณชนผ่านทางเว็บไซต์ สถานีธรรมะ ท่าน ว.วชิรเมธี และเว็บไซต์ โซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก อาทิ เฟซบุ๊ก (Facebook) และทวิตเตอร์ (Twitter) เป็นต้น" แต่ที่เราจำได้ดีที่สุดคือ ทวิตข้อความ "ฆ่าเวลาบาปไม่น้อยกว่าฆ่าคน" ช่วงใกล้จะเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุม 10 เม.ย.2553 ที่มีคนตาย 21 คน และในช่วงพฤษภา 2553 ก็เสนอวาทกรรม "กระชับพื้นที่คนเลว ขยายพื้นที่คนดี" พูดถึงเรื่องการบังคับใช้กฎหมายต้องศักดิ์สิทธิ์ตามวาทกรรมรัฐบาลยุคนั้น และหลัง คสช.ยึดอำนาจปี 2557 ว. วชิรเมธีก็เคยออกรายการ "เดินหน้าประเทศไทย" กล่าวว่า "ค่านิยม 12 ประการคล้ายธรรมะในพระพุทธศาสนา" เป็นต้น[full-post]
แสดงความคิดเห็น