Posted: 14 Nov 2018 03:02 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Wed, 2018-11-14 18:02
พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ
รายงานตอนสุดท้ายที่สะท้อนการเปลี่ยนผ่านในพม่าที่ถดถอยผ่านกระบวนการสันติภาพในรัฐกะเหรี่ยง เมื่อ 12 ชุมชนในพื้นที่ตอนเหนือที่เพิ่งกลับไปฟื้นฟูบ้านเรือนเดิมได้ 2 ปีเศษกลับต้องอพยพอีกครั้ง หลังกองทัพพม่าเสริมกำลังและตัดถนนยุทธศาสตร์เพื่อเชื่อมค่ายทหาร จนเกิดการปะทะและความสูญเสีย ชุมชนเหล่านี้ต้องหนีทหารพม่ากลับไปซ่อนตัวในพื้นที่ป่าเขา อย่างที่เคยเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในห้วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ด้านภาคประชาสังคมกะเหรี่ยงชี้ว่าความไว้เนื้อเชื่อใจต่อทหารพม่าจะหมดสิ้นไป หากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้นานาชาติเฝ้าจับตาพม่า หาไม่แล้วกระบวนการเปลี่ยนผ่านและการเจรจาสันติภาพจะต้องกลับไปเริ่มที่ศูนย์อีกครั้ง
ภาพประกอบโดย: กิตติยา อรอินทร์
ที่มาของภาพประกอบ: KPSN
ใบผัดกระทบผืนน้ำ เสียงจากมอเตอร์ของเรือหางยาวทำลายความเงียบในหุบผาของแม่น้ำสาละวินช่วงต้นฤดูฝน โชคไม่ดีสำหรับนักเดินทางเพราะฝนตกมาตลอดทั้งคืนจนถึงเช้า ร้อนถึงผู้โดยสารในเรือหางยาวขนาดเล็กที่ไม่มีหลังคาคลุมต้องยกผ้าพลาสติกกางบังสายฝนตลอดการเดินทาง
ที่นั่งหน้าสุดนั้นคือ ‘หน่อเอ’ (นามสมมติ) นักเรียนชาวกะเหรี่ยงอายุ 23 ปี เธอโดยสารเรือหางยาวพร้อมกับเพื่อนนักเรียนจากหมู่บ้านอื่นๆ ในรัฐกะเหรี่ยง ปลายทางของพวกเธอคือโรงเรียนในระดับวิทยาลัยสำหรับผู้อพยพแห่งหนึ่งที่ชายแดนไทยด้านรัฐกะเหรี่ยง
‘หน่อเอ’ นักเรียนชาวกะเหรี่ยง ผู้อพยพจากหมู่บ้านฮิโกโลเดอ
บ้านเกิดของหน่อเอคือ ฮิโกโลเดอ (He Gho Loh Der) หมู่บ้านเล็กๆ ขนาด 23 ครัวเรือน ในอำเภอลูทอ (Lu Thaw) จังหวัดมูตรอ (Mutraw) รัฐกะเหรี่ยง เธอเพิ่งเรียนจบมัธยมปลายจากโรงเรียนในพื้นที่ปกครองของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union - KNU)
ชีวิตชายขอบหลังพม่าเปลี่ยนไม่ผ่าน (1): แม่ตาวคลินิก ความท้าทายสาธารณสุขชายแดน, 1 พ.ย. 2561
ชีวิตชายขอบหลังพม่าเปลี่ยนไม่ผ่าน (2): ผู้ลี้ภัยชายแดนไทย-รัฐฉาน, 8 พ.ย. 2561
ชีวิตชายขอบหลังพม่าเปลี่ยนไม่ผ่าน (ตอนจบ): ผู้อพยพชาวกะเหรี่ยงในดินแดนตนเอง, 14 พ.ย. 2561
สาเหตุของการอพยพ
หมู่บ้านฮิโกโลเดอ เป็นหนึ่งในหลายสิบชุมชนในจังหวัดมูตรอ (พม่าเรียกจังหวัดผาปูน) พื้นที่ซึ่งชาวบ้านผู้เคยเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (Internally Displaced Person - IDPs) หลบซ่อนตัวอยู่ในป่าได้กลับมาฟื้นฟูซ่อมแซมชุมชนเดิมของตน หลังจากมีข้อตกลงหยุดยิงระหว่างรัฐบาลพม่ากับ KNU
รายงาน "การเดินทางกลับพร้อมฝันร้าย" เผยแพร่เมื่อเดือนเมษายน 2561 โดยเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อสันติภาพ (KPSN) ระบุว่า ปฏิบัติการทางทหารของกองทัพพม่าในช่วงปี 2535-2536, 2538-2540 และ 2548-2551 ในพื้นที่จังหวัดมูตรอนั้น กองทัพพม่าถือว่าพื้นที่นี้เป็น "พื้นที่สีดำ" เพราะยังเป็นพื้นที่ควบคุมของกลุ่ม KNU ทำให้กองทัพพม่าปฏิบัติต่อทุกคน ทุกหมู่บ้าน "เสมือนเป้าหมายทางการทหาร" ส่งผลให้เกิดการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานของประชากรกว่า 80% ของพื้นที่ซึ่งเคยมี ประชากรมากถึง 107,000 คน (ปี 2546) ชาวบ้านหลายชุมชนในจังหวัดมูตรอต้องหลบซ่อนตัวในป่าเขาหรือในพื้นที่ห่างไกล จำนวนมากอพยพเข้ามาอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนไทย-พม่า
ข้อมูลในเดือนธันวาคม 2560 ของเดอะบอร์เดอร์คอนซอเตียม (TBC) พบว่า จำนวนประชากรในค่ายผู้อพยพชายแดนไทย-พม่า 10 แห่งรวม 93,337 คนนั้น ในจำนวนนี้มาจากจังหวัดมูตรอของรัฐกะเหรี่ยงถึง 14,672 คน หรือคิดเป็น 15.72% ของประชากรในค่ายผู้อพยพทั้งหมด
หากจะเล่าเรื่องราวความเป็นมาของผู้อพยพจากรัฐกะเหรี่ยง อาจต้องเริ่มทำความเข้าใจว่า แม้กองทัพพม่าจะลดความเข้มข้นของปฏิบัติการทางทหารลงในช่วงสิ้นปี 2551 แต่ในปี 2553 ยังคงมีชาวบ้านกว่า 27,000 คนที่ต้องพลัดพรากจากถิ่นฐานของตนและมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากการโจมตีย่อย การลาดตระเวน และการยิงปืนใหญ่มาจากที่ไกล
อย่างไรก็ตามจากการต่อต้านหนักของกองพลน้อยที่ 5 กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ทำให้ปลายปี 2554 กองทัพพม่าถอนกำลังจากพื้นที่ลาดตระเวนกลับมารวมกำลังอยู่ในค่ายหลัก 2 แห่งในอำเภอลูทอ คือ ที่ตำบลเคพู (Kay Pu) และเลอมูพลอ (Ler Mu Plaw) ต่อมาปี 2555 รัฐบาลพม่ากับสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ลงนามหยุดยิง 2 ฝ่าย ตามด้วยการลงนามในข้อตกลงหยุดยิงระดับประเทศ (National Ceasefire Agreement - NCA) ระหว่างรัฐบาลพม่ากับองค์กรติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ (Ethnic armed organisations - EAOs) 8 กลุ่มในปี 2558 (ปัจจุบันเพิ่มเป็น 10 กลุ่ม)
ออกจากป่ามาฟื้นฟูหมู่บ้านเก่า
สัญญาณความสงบตั้งแต่ปี 2555 ทำให้ชาวบ้านกะเหรี่ยงในพื้นที่เริ่มประชุมกันว่าจะบูรณะชุมชนของพวกเขาอย่างไร พวกเขาเริ่มซ่อมแซมเครือข่ายชลประทาน ถางที่นาของตนซึ่งอยู่ในเขตชลประทานขนาด 2,250 ไร่ที่ถูกละทิ้งไปนับตั้งแต่การโจมตีของพม่าช่วงปี 2540 จนกระทั่งปี 2556 ชาวบ้านกลับมาทำไร่ไถนาอีกครั้งใกล้กับเขตที่ทหารพม่าเคยยึดพื้นที่ระหว่างเคพูและเลอมูพลอ ช่วงแรกพวกเขาใช้วิธีเดินทางมาทำนาเพียงชั่วคราว แล้วกลับไปอาศัยในพื้นที่ห่างไกลปลอดภัยจากฐานทัพและถนนยุทธศาสตร์ของกองทัพพม่า
จนถึงปี 2559 ดูเหมือนการหยุดยิงระดับประเทศมีผลบังคับใช้ ทำให้ชาวบ้านเริ่มฟื้นฟูหมู่บ้านเดิมของตนขึ้นมาในพื้นที่หลายแห่งของอำเภอลูทอรวมทั้งหมู่บ้านฮิโกโลเดอ พวกเขาสร้างโรงเรียนประถมและสถานีอนามัยด้วย
นอกจากนี้ชาวกะเหรี่ยงในจังหวัดมูตรอยังอยู่ระหว่างกระบวนการริเริ่ม "อุทยานสันติภาพสาละวิน" (Salween Peace Park) กินพื้นที่กว่า 5,485 ตารางกิโลเมตร ที่มาของเรื่องนี้เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2559 ที่ผู้แทนชุมชนทั่วจังหวัดมูตรอเริ่มกระบวนการปรึกษาหารือสาธารณะ ช่วงต้นปี 2561 พวกเขาตั้งเป้าล่ารายชื่อสนับสนุนจากชาวบ้านในพื้นที่ 300 หมู่บ้านทั่วจังหวัดมูตรอเพื่อผลักดันเรื่องนี้
เป้าหมายของอุทยานสันติภาพสาละวินก็เพื่อสะท้อนความฝันของคนในพื้นที่ที่ต้องการเห็นสันติภาพถาวรภายหลังการลงนามหยุดยิงระดับประเทศ รวมทั้งต้องการสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง อยากคุ้มครองดูแลรักษามรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่มีความโดดเด่นในภูมิภาค ในพื้นที่อุทยานยังกำหนดพื้นที่ "ก่อ" (Kaw) หรือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อจำนวน 88 แห่งกินพื้นที่ 1.12 ล้านไร่ รวมทั้งประกาศพื้นที่ป่าชุมชน 23 แห่ง
แผนที่แสดงพื้นที่สร้างและซ่อมแซมถนนยุทธศาสตร์เชื่อมฐานทัพพม่าระหว่างหมู่บ้านเคพูและเลอมูพลอ ในอำเภอลูทอ รัฐกะเหรี่ยง และหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบ (ที่มา: KPSN)
ชุมชนผู้อพยพแห่งหนึ่งในอำเภอลูทอ รัฐกะเหรี่ยง (ที่มา: KPSN)
แผนที่แสดงพื้นที่อพยพ หลังกองทัพพม่าตัดถนนเชื่อมค่ายทหารทางตอนเหนือของรัฐกะเหรี่ยง
ภาพประกอบโดย: กิตติยา อรอินทร์ ที่มาของภาพประกอบ: KPSN
การอพยพซ้ำแล้วซ้ำเล่า
อย่างไรก็ตามหลังการฟื้นฟูชุมชนได้เพียงไม่กี่ปี อนาคตของชาวบ้านฮิโกโลเดอและผู้คนในอำเภอลูทอกลับต้องผันผวนกลายเป็นผู้อพยพอีกครั้ง เมื่อกองทัพพม่าจากเมืองเญาง์เลบิน (Nyaunglebin) และตองอู (Tuangoo) ในภาคพะโค จำนวน 4 กองพันเสริมกำลังเข้ามาในอำเภอลูทอ รัฐกะเหรี่ยง ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ด้วยข้ออ้างขอซ่อมแซมถนน เพื่อฟื้นฟูถนนยุทธศาสตร์เชื่อมฐานทัพพม่า 2 แห่งระหว่างหมู่บ้านเคพู (Kay Pu) และหมู่บ้านเลอมูพลอ (Ler Mu Plaw)
ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ และ 1 มีนาคม 2561 ทหารพม่ายิงปืนใส่ชาวบ้านกะเหรี่ยงที่กำลังจะข้ามถนนใกล้หมู่บ้านเคพู และในวันที่ 4 มีนาคม ทหารพม่าเริ่มปะทะกับทหารกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง ทำให้ชาวบ้านที่อยู่ใกล้พื้นที่เคลื่อนไหวของทหารพม่าเริ่มหลบหนีออกจากบ้านเรือนเข้าไปหลบซ่อนอยู่ในพื้นที่ป่าที่ห่างไกลออกไป
นับเป็นการเคลื่อนกำลังทหารพม่าครั้งใหญ่ที่สุดในจังหวัดมูตรอ นับตั้งแต่ปี 2551 โดยจนถึงปัจจุบันทหารพม่าเสริมกำลังทหารเข้ามาในพื้นที่มากกว่า 15,000 นาย ยังมีรายงานด้วยว่าผู้อพยพ 3 ครอบครัว จำนวน 16 คน ตัดสินใจเดินทางจากพื้นที่ขัดแย้งข้ามชายแดนเข้ามาฝั่งไทยเพื่อมาขออาศัยกับญาติที่ค่ายผู้อพยพแม่ลามาหลวงใน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ไทยปฏิเสธการลี้ภัย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ทำให้ผู้อพยพ 3 ครอบครัวกลับไปอาศัยอยู่ในหมู่บ้านผู้อพยพแห่งหนึ่งในรัฐกะเหรี่ยงแทน
สถานการณ์ในพื้นที่เฉพาะเดือนมีนาคม-เมษายน 2561 มีการปะทะระหว่างกองทัพพม่ากับทหารกะเหรี่ยง KNLA ไม่ต่ำกว่า 39 ครั้ง ชาวบ้านกะเหรี่ยงระบุว่า กองทัพพม่ายิงปืนใส่พลเรือนที่ไม่มีอาวุธและยิงปืนครกใส่พื้นที่ของพลเรือน มีการรบกวนพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้าน รวมทั้งมีการก่อสร้างถนนรุกล้ำเข้าไปใน "ก่อ" หรือพื้นที่บรรพชนตามความเชื่อของชาวกะเหรี่ยงด้วย
สำหรับหน่อเอและครอบครัว พวกเขากลายเป็น 1 ใน 304 ครอบครัวชาวกะเหรี่ยงใน 12 หมู่บ้าน ( 2,417 คน) ที่อพยพเข้าไปหลบซ่อนกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ป่าในตอนบนของอำเภอลูทอ จังหวัดมูตรอ รัฐกะเหรี่ยง นอกจากนี้ยังมีโรงเรียน 5 แห่งที่ต้องหยุดการเรียนการสอน
ด้วยเหตุที่เกิดความขัดแย้งขึ้นในพื้นที่ ทำให้พ่อแม่ของหน่อเอตัดสินใจส่งเธอเข้ารับการศึกษาต่อในพื้นที่ชายแดนไทย คนในชุมชนเองก็มีความหวังว่าเมื่อเธอจบการศึกษาขั้นสูงและสถานการณ์คลี่คลาย เธอจะได้กลับมาทำงานพัฒนาชุมชน
ด้าน ‘ฉ่ามู’ นักวิจัยของเครือข่ายปฏิบัติงานเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมกะเหรี่ยง (KESAN) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่าพื้นที่อำเภอลูทอก็เหมือนพื้นที่ห่างไกลอื่นๆ ของรัฐกะเหรี่ยงที่เยาวชนไม่ค่อยมีโอกาสศึกษาต่อหลังจบมัธยมศึกษา เพราะไม่มีสถานศึกษาขั้นสูงในพื้นที่ เยาวชนหลายคนถ้าไม่ช่วยทำงานให้องค์กรชุมชนกะเหรี่ยงในพื้นที่ก็จะช่วยครอบครัวทำไร่ทำนา หรือไม่ก็แต่งงานแยกไปจากครอบครัวเดิม กรณีของหน่อเอจึงเป็นไม่กี่กรณีที่ครอบครัวและชุมชนช่วยกันสนับสนุนเพื่อให้เธอมีทางเลือกที่ดีที่สุด
เมื่อทหารพม่าสังหารผู้นำชุมชนกะเหรี่ยง
วันที่ 5 เมษายน 2561 ‘ซอโอ้มู’ ผู้นำชุมชนชาวกะเหรี่ยงวัย 42 ปี หนึ่งในทีมงานให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวกะเหรี่ยงพลัดถิ่นถูกทหารพม่ายิงเสียชีวิตระหว่างเดินทางกลับมาที่หมู่บ้านเลอมูพลอ
การเสียชีวิตของซอโอ้มูเพิ่มความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจต่อทหารพม่าให้สูงยิ่งขึ้นไปอีก เนื่องจากซอโอ้มูเป็นผู้นำชุมชนในพื้นที่อำเภอลูทอ มีบทบาทในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนภูมิปัญญาชาวกะเหรี่ยง ทั้งยังเป็นผู้ผลักดันอุทยานสันติภาพสาละวินคนสำคัญอีกด้วย
ก่อนเสียชีวิตไม่กี่วัน วันที่ 19 มีนาคม 2561 ซอโอ้มูมีบทบาทร่วมกับผู้อพยพ 12 ชุมชน จัดสวดภาวนาและเรียกร้องให้กองทัพพม่าถอนทหารและยกเลิกการสร้างถนน โดยชาวบ้านเชื่อว่านี่เป็นสาเหตุทำให้กองทัพพม่าลอบสังหารเขา
สภาพรถจักรยานยนต์ของซอโอ้มูที่เพื่อนบ้านค้นหาพบ อย่างไรก็ตามทหารพม่ายังไม่ยอมคืนศพให้กับครอบครัวและไม่ระบุสถานที่เสียชีวิตของเขา (เอื้อเฟื้อภาพจาก KPSN)
พิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับซอโอ้มูที่บ้านของเขาในหมู่บ้านเลอมูพลอ ญาติได้นำเสื้อผ้าของซอโอ้มูมาห่อกับเสื่อเสมือนเป็นร่างกายของเขา (เอื้อเฟื้อภาพจาก KESAN)
พิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับซอโอ้มู โดยญาติและเพื่อนบ้านเสี่ยงกลับมาทำพิธีที่หมู่บ้านเลอมูพลอและนำรถจักรยานยนต์ในที่เกิดเหตุมาร่วมประกอบพิธีด้วย พิธีกระทำอย่างย่นย่อเพราะชาวบ้านต้องรีบแยกย้ายสลายตัว เนื่องจากกองทัพพม่ายังเคลื่อนไหวอยู่ใกล้ชุมชน (เอื้อเฟื้อภาพจาก KESAN)
พอลเส่งทวา ผู้อำนวยการ KESAN ในพิธีรำลึก 1 เดือนการเสียชีวิตของซอโอ้มู ที่ชายแดนไทย-พม่า
พอลเส่งทวา ผู้อำนวยการเครือข่ายปฏิบัติงานเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมกะเหรี่ยง (KESAN) และเพื่อนร่วมงานของซอโอ้มูบอกว่า การเสียชีวิตของซอโอ้มูเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของชุมชนและเพื่อนมิตร และเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด
ทั้งนี้ชุมชนในพื้นที่อำเภอลูทอต้องอพยพไปอาศัยอยู่ในป่าเขาเป็นเวลาติดต่อกันหลายปี และเพิ่งกลับมาฟื้นฟูชุมชนได้เพียง 2 ปีเศษหลังกระบวนการเจรจาสันติภาพเริ่มขึ้น แต่แล้วพวกเขาก็ต้องอพยพอีกครั้ง หลังการเสียชีวิตของซอโอ้มู จึงยิ่งทำให้ชาวบ้านสูญเสียความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกองทัพพม่า และตั้งคำถามว่าจะไว้ใจกองทัพพม่า และกระบวนการเจรจาสันติภาพได้หรือไม่
จนถึงขณะนี้ (พฤศจิกายน 2561) เป็นเวลาเกิน 7 เดือนแล้วที่ญาติของซอโอ้มูยังไม่ได้รับศพของเขามาประกอบพิธี เพื่อนบ้านที่ออกตระเวนค้นหาเจอแต่เพียงรถจักรยานยนต์ของเขา นอกจากนี้หลังเกิดเหตุ กองทัพพม่ายังแถลงว่าที่ต้องสังหารเพราะซอโอ้มูเป็นทหารกะเหรี่ยงสวมชุดพลเรือน และจะก่อเหตุวางระเบิด นั่นยิ่งทำให้ภาคประชาชนสังคมกะเหรี่ยงและผู้ที่เคยร่วมงานกับซอโอ้มูไม่พอใจคำอธิบายของกองทัพพม่าเป็นอย่างมาก
ทีมตอบสนองภาวะฉุกเฉินมูตรอ
กว่า 2 ชั่วโมงนับตั้งแต่ออกจากหมู่บ้านริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน รถกระบะโยนตัวขึ้นลงตามจังหวะความชันและโค้งของถนนดินแดงข้ามภูเขาในรัฐกะเหรี่ยง เบื้องหน้าคือหมู่บ้านเดอปูนุ ในอำเภอลูทอ ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโพวหลอโกละ (Pwo Law Kloe) ในภาษากะเหรี่ยง หรือแม่น้ำยุนซะลิน (Yunzalin) ในภาษาพม่า ที่นี่ถือเป็นศูนย์กลางปกครองจังหวัดมูตรอของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ในขณะที่อีก 25 กม. ไปทางทิศใต้จะเป็นที่ตั้งของตัวเมืองผาปูนที่รัฐบาลพม่าถือเป็นศูนย์กลางบริหารจังหวัด
หมู่บ้านเดอปูนุ ยังนับเป็นศูนย์กลางสำคัญขององค์กรประชาสังคมรัฐกะเหรี่ยงในจังหวัดมูตรอ ในช่วงรณรงค์เรื่องอุทยานสันติภาพสาละวินก็มีการจัดเวทีปรึกษาหารือสาธารณะหลายครั้งที่หมู่บ้านแห่งนี้
นับตั้งแต่เกิดการเผชิญหน้าระหว่างทหารพม่าและทหารกะเหรี่ยง KNLA ในพื้นที่จนทำให้มีผู้อพยพกว่า 12 หมู่บ้าน 2,417 คนดังกล่าว องค์กรชุมชนกะเหรี่ยงและกลุ่มประชาสังคมในพื้นที่ได้จัดตั้ง "ทีมตอบสนองภาวะฉุกเฉินมูตรอ" (Mutraw Emergency Assistance Team - MEAT) ขึ้นเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2561 เพื่อให้การช่วยเหลือทางการแพทย์และอาหารแก่ชาวบ้าน
ซอเทนเดอร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดมูตรอ อธิบายพื้นที่เกิดเหตุอพยพ 12 ชุมชน
อาคารไม้หลังเล็กๆ ถูกใช้เป็นสำนักงานของจังหวัดมูตรอ ซอเทนเดอร์ (Saw Tender) ชายสูงวัยชาวกะเหรี่ยงคือผู้ว่าราชการจังหวัดมูตรอ เขาชี้แผนที่ขนาดใหญ่ข้างฝาผนังแสดงพื้นที่เคลื่อนกำลังของทหารพม่า พื้นที่ก่อสร้างถนนยุทธศาสตร์เชื่อมค่ายของกองทัพพม่า และชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่ได้รับผลกระทบจนต้องอพยพ
ซอเทนเดอร์ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า กองทัพพม่าไม่มีการขออนุญาตก่อสร้างถนน มีเพียงการแจ้งฝ่ายเดียวว่าจะก่อสร้างถนน ถนนดังกล่าวไม่ใช่เพื่อประโยชน์ด้านพลเรือนแต่เป็นถนนทางการทหาร การเข้ามาในพื้นที่ของกองทัพพม่าจึงเป็นเหมือนการบุกรุก แม้ไม่มีการปล้นสะดมแบบที่เคยเกิดขึ้นในอดีตกับชุมชนชาวกะเหรี่ยง แต่ท่าทีของกองทัพพม่าเหมือนต้องการคุกคามไม่ให้ชาวบ้านอยู่ในพื้นที่ มีรายงานแจ้งเหตุยิงปืนโดนวัวควายสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านรวมทั้งยิงปืนเพื่อขู่ชาวบ้าน
ส่วนสภาพของ 12 ชุมชนหลังเกิดการอพยพ ผู้ว่าราชการจังหวัดมูตรอกล่าวว่า เริ่มแรกชาวบ้านนำสิ่งของติดตัวไปเพียงเล็กน้อยเพราะต้องอพยพด้วยความรวดเร็ว อย่างไรก็ตามเมื่อเริ่มตั้งหลักกันได้แล้ว ช่วงกลางคืน คนในชุมชนก็จัดกำลังไปขนสิ่งของที่จำเป็นออกมาจากบ้าน ทั้งอาหารแห้ง พืชผัก สัตว์เลี้ยง ข้าวของเครื่องใช้ที่พอขนได้
ซอเทนเดอร์เปิดเผยด้วยว่า จากการประเมินของแต่ละชุมชนผู้อพยพพบว่า หากสถานการณ์ยืดเยื้อจนถึงสิ้นปี 2561 โดยที่ชุมชนไม่สามารถกลับไปเพาะปลูกในที่ดินของพวกเขาได้ทัน อาหารแห้งที่หลายครอบครัวเก็บไว้อาจจะไม่พอ ด้วยเหตุนี้จึงพยายามให้แต่ละชุมชนตั้งกลุ่มเพื่อออกไปแสวงหาของกินในป่าร่วมกัน นอกจากนี้ทีมตอบสนองภาวะฉุกเฉินมูตรอยังเสนอด้วยว่าการระดมความช่วยเหลือประเภทยารักษาโรคและอาหารก็มีความจำเป็นต่อพื้นที่อย่างมากในระยะยาว
ที่นี่ถือเป็นศูนย์อำนวยการแจ้งข่าวสารผู้ต้องการการช่วยเหลือ ประสานเรื่องข้อมูลกับผู้อพยพในพื้นที่ป่า รับช่วงต่อการบริจาคเพื่อกระจายให้กับชุมชนผู้อพยพ ขณะที่ชุมชนผู้อพยพเองก็จะมีคณะกรรมการระดับหมู่บ้านทำหน้าที่รับสิ่งของช่วยเหลือเพื่อนำกลับไปแจกจ่ายอย่างทั่วถึง ส่วนศูนย์อำนวยการก็จะติดตามว่าสิ่งของช่วยเหลือนั้นไปถึงผู้อพยพหรือไม่ นอกจากนี้ยังเตรียมเจ้าหน้าที่เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านข้อมูลให้กับผู้อพยพ รวมทั้งดูแลด้านจิตใจสำหรับผู้อพยพที่ต้องหลบหนีเข้าไปซ่อนในป่า
เส้นทางสันติภาพที่ชะงักงัน
ที่ผ่านมาสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU พยายามหาทางคลี่คลายความตึงเครียดระหว่างกองทัพพม่าและกองทัพกะเหรี่ยง KNLA ในพื้นที่จังหวัดมูตรอ ผ่านกลไกตามข้อตกลงหยุดยิงระดับประเทศนั่นคือการประชุมของคณะกรรมการตรวจการร่วม (Joint Monitoring Committee - JMC) โดย KNU มีการจัดตั้งทีมเจรจาทางทหาร (Military Affairs Negotiation Team - MANT) อย่างไรก็ตาม กองทัพพม่ายกเลิกการเจรจาที่กำหนดขึ้นในวันที่ 29 มีนาคม 2561 โดยอ้างว่าผู้บัญชาการกองพลน้อยที่ 5 KNLA ไม่ร่วมประชุม
"เราเชิญชวนผู้นำ KNU ทั้ง 7 กองพลน้อยมาหารือแลกเปลี่ยน นำมาสู่การนัดเจรจากับพม่า (29 มีนาคม) ปรากฏว่าพม่าไม่ยอมเจรจา เขาต้องการเฉพาะตัวทหารหัวหน้า ระบุชื่อคนใดคนหนึ่งให้ไปเจรจากับเขา ทั้งที่เราคุยกับผู้นำทั้งที่เป็นผู้นำพลเรือนและทหาร เราส่งตัวแทนจากการประชุมไปเจรจาเขาก็ไม่ยอมเจรจา ที่ผ่านมาเขาต้องการกดดันให้เราถอนทหาร หรือแปรสภาพไปเป็นทหารเขาทั้งหมด เราทำไม่ได้ และไม่จำเป็นต้องทำ" ซอเทนเดอร์กล่าวถึงอุปสรรคในการเจรจา
ทาง KNU จึงออกแถลงการณ์ตอบโต้เมื่อ 2 เมษายน 2561 ย้ำว่าแม้ผู้บัญชาการกองพลน้อยที่ 5 KNLA ไม่ได้ร่วมในทีมเจรจา MANT แต่หน่วยงานนี้ได้รับมอบอำนาจจาก KNU/KNLA ในการเจรจากิจการทหาร และ KNU ยืนยันว่าจะคลี่คลายความขัดแย้งผ่านการเจรจาสันติภาพ
ส่วน พล.ท.บอจ่อแฮ รองผู้บัญชาการ KNLA กล่าวว่า กองทัพพม่าอ้างว่าการซ่อมแซมถนนเส้นนี้ก็เพื่อขนส่งเสบียงอาหารระหว่างค่ายทหาร 2 แห่งและชาวบ้านก็สามารถใช้ได้ถ้าพวกเขาต้องการ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากองทัพพม่าไม่เคยส่งเสบียงอาหารผ่านระหว่างค่ายทหารที่เคพูและเลมูพลอมาก่อน ถนนเส้นที่มีการก่อสร้างนี้เป็นยุทธศาสตร์ทางการทหาร กองทัพพม่าอ้างว่าได้แจ้งกับ KNLA กองพลน้อยที่ 5 หลายครั้งแล้วเรื่องการสร้างถนน แต่พวกเขาแค่แจ้ง พวกเขาไม่เคยได้รับการเห็นชอบให้สร้างถนนเลย ไม่ว่าจากฝ่าย KNLA กองพลน้อยที่ 5 และชาวบ้านในพื้นที่ พวกเขามีแต่ใช้กำลังทางทหารเพื่อแผนการสร้างถนน พล.ท.บอจ่อแฮ ถือว่าเรื่องนี้ละเมิดทั้งสัญญาหยุดยิงระดับประเทศ และระเบียบปฏิบัติของ KNU และ KNLA
ฟื้นฟูชุมชน ท่ามกลางความไม่ไว้ใจ
การหารือระหว่างผู้แทน KNU และ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการกองทัพพม่า นำมาสู่การลดการเผชิญหน้าของกองทัพพม่า อย่างไรก็ตามชาวบ้านยังไม่อพยพกลับพื้นที่เดิมเพราะไม่ไว้ใจในสถานการณ์ (ที่มา: New Light of Myanmar)
สถานการณ์ในพื้นที่อำเภอลูทอยังคงตึงเครียดอยู่จนถึงปัจจุบัน เมื่อ 17 พฤษภาคม 2561 มีการหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่าง พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย (Min Aung Hlaing) ผู้บัญชาการกองทัพพม่า และคณะผู้แทนจากสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงนำโดย พล.อ.มูตูเซพอ (Mutu Say Poe) ประธาน KNU ที่กองบัญชาการกองทัพภาคย่างกุ้ง ในนครย่างกุ้ง ในเพจของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ระบุว่า กองทัพพม่าตกลงที่จะเลื่อนการเคลื่อนกำลังทางทหารและก่อสร้างถนนในพื้นที่อำเภอลูทอ และเห็นด้วยที่จะหาทางออกเพื่อให้พลเรือนได้กลับคืนชุมชนของพวกเขา
22 พฤษภาคม 2561 ซอกาลาลโด ผู้แทนกองทัพกะเหรี่ยง KNLA แจ้งกับสื่อมวลชนท้องถิ่นว่า กองทัพพม่าที่อยู่แนวหน้ากว่า 200 นายได้ถอนกำลังออกจากตำบลเลอมูพลอ ในอำเภอลูทอ รวมทั้งถอนยานพาหนะที่ใช้ก่อสร้างถนนด้วย
ข้อมูลจากเครือข่ายปฏิบัติงานเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมกะเหรี่ยง (KESAN) เปิดเผยว่า ชาวบ้านทั้งหมดกว่า 304 ครัวเรือนจาก 12 หมู่บ้านยังคงอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าเขา เนื่องจากยังไม่ไว้ใจต่อสถานการณ์สู้รบและทหารพม่ายังคงกำลังอยู่ที่ค่ายทหาร 2 แห่ง ในจำนวนนี้มีชาวบ้านประมาณ 50 ครัวเรือนคอยสับเปลี่ยนกันไปดูไร่นาผืนเดิมที่พวกเขาได้เตรียมพื้นที่เพาะปลูกไว้ก่อนอพยพ และรอดูสถานการณ์ท่าทีของทหารพม่าต่อไป
ขณะที่ในช่วงต้นฤดูฝนทีมตอบสนองภาวะฉุกเฉินมูตรอเพิ่งจัดส่งอาหารแห้งและยาที่จำเป็นให้กับ 12 ชุมชนผู้อพยพ ส่วนซอเทนเดอร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดมูตรอ ประเมินด้วยว่าหากในระยะยาวทหารพม่าไม่ถอยไปทั้งหมด ชาวบ้านที่อพยพอาจตัดสินใจปักหลักและตั้งชุมชนขึ้นใหม่ในพื้นที่เหล่านี้ โดยในรอบหลายสิบปีก่อนที่มีการสู้รบหนักๆ ชาวบ้านพอมีประสบการณ์ในการอพยพขึ้นมาอยู่พื้นที่เหล่านี้อยู่บ้าน ทำให้พอจะรู้จักสภาพน้ำและดิน ส่วนการจัดการเรียนการสอนให้กับเยาวชนในชุมชน หากจุดไหนมีประชากรอยู่มากที่สุดก็อาจจะพิจารณาสร้างอาคารเรียนขึ้นในพื้นที่นั้น
การเจรจาสันติภาพส่อเค้าวุ่น มีการถอนตัว
เมื่อหันมองภาพใหญ่ การเจรจาสันติภาพระหว่างสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU และรัฐบาลพม่ายิ่งถดถอยมากขึ้นภายหลังการประชุมที่เนปิดอว์ระหว่าง 15-16 ตุลาคม 2561 พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการกองทัพพม่าเสนอให้กลุ่มชาติพันธุ์สละสิทธิการแยกตัวออกจากสหภาพ และให้มีกองทัพพม่าเพียงกองทัพเดียว ทำให้สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ยื่นหนังสือขอถอนตัวชั่วคราวจากการเจรจาสันติภาพในระดับต่างๆ โดยถือว่า 2 ข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขการเจรจาหยุดยิงทั่วประเทศ NCA มาก่อน
หลังการประชุมฉุกเฉินของคณะกรรมการกลางสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU เมื่อ 6-10 พฤศจิกายน 2561 ซอทะโดมู เลขาธิการสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ลงนามในแถลงการณ์ KNU ยืนยันว่าหลักการเจรจาหยุดยิงระดับประเทศ NCA ยังหมายรวมถึงการมีสหพันธรัฐแห่งสหภาพที่มีประชาธิปไตย กลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเองอย่างสมบูรณ์และเท่าเทียมกัน โดย KNU จะระงับการเข้าร่วมการประชุมในระดับทางการเป็นเวลาชั่วคราว อย่างไรก็ตามจะเข้าร่วมการประชุมในระดับไม่เป็นทางการเพื่อหาทางออกต่อไป
เรียกร้องนานาชาติคลี่คลายปัญหา
ไม่อยากต้องเริ่มต้นใหม่
พอล เซงทวา ผู้อำนวยการ KESAN แสดงความกังวลว่า แม้จะลงนามเจรจาหยุดยิงมาแล้ว แต่กองทัพพม่ายังคงเสริมขยายกำลังทางทหารในพื้นที่เพื่อเตรียมพร้อมทำสงคราม ทั้งการเสริมกำลัง การตัดถนน ก่อสร้างเครือข่ายการทหาร ขับไล่ คุกคามชาวบ้านในพื้นที่ โดยเขายังคงเรียกร้องให้กองทัพพม่าและรัฐบาลพม่าคลี่คลายแก้ไขปัญหาทางการเมืองผ่านกระบวนการเจรจา ไม่ใช้การทหาร
นอกจากนี้ยังเรียกร้องประชาคมระหว่างประเทศด้วยว่า "สำหรับผู้ที่สนับสนุนกระบวนการสร้างสันติภาพพม่า ต้องทบทวนอย่างจริงจังว่าเกิดอะไรขึ้นในพม่า เพราะกระบวนการสันติภาพไม่ได้คืบหน้าไปไหนเลย ควรแสวงหาว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไรเพื่อที่จะแก้ไข เพื่อไม่ให้กระบวนการสันติภาพที่ริเริ่มขึ้นกลับไปเริ่มต้นที่ศูนย์
รายชื่อหมู่บ้านในอำเภอลูทอ จังหวัดมูตรอ รัฐกะเหรี่ยง ที่อพยพออกจากชุมชนของตนหลังปฏิบัติการของทหารพม่าแล้วไปพักอาศัยในวัดหรือในป่า
ที่มา: ข้อมูลของเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อสันติภาพ (KPSN) สำรวจเดือนเมษายน 2561
ตำบลเคพู (Kay Pu)
1. หมู่บ้านทอคูมูเดอ (Taw Koo Mu Der) 35 ครัวเรือน ชาย 134 หญิง 146 รวม 280 คน
2. หมู่บ้านทะเมคี (T'May Kee) 10 ครัวเรือน ชาย 48 หญิง 37 รวม 85 คน
3. หมู่บ้านเททูคี (Thay Thoo Kee) 38 ครัวเรือน ชาย 152 หญิง 164 รวม 316 คน
4. หมู่บ้านโบนาเดอ (Boh Nar Der) 21 ครัวเรือน ชาย 83 หญิง 74 รวม 157 คน
5. หมู่บ้านโชเพอโคะ (Sho Per Koh) 48 ครัวเรือน ชาย 168 หญิง 169 รวม 337 คน
6. หมู่บ้านทีซีคี (Htee Hsee Kee) 11 ครัวเรือน ชาย 63 หญิง 58 รวม 121 คน
ตำบลซอมูพลอ (Saw Mu Plaw)
7. หมู่บ้านทีลีคาคี (Htee Li Kha Kee) 19 ครัวเรือน ชาย 58 หญิง 88 รวม 146 คน
8. หมู่บ้านบีโกะเดอ (Bee Koh Der) 19 ครัวเรือน ชาย 64 หญิง 63 รวม 127 คน
9. หมู่บ้านบลอโกะ (Blaw Koh) 13 ครัวเรือน ชาย 40 หญิง 55 รวม 95 คน
ตำบลเลอมูพลอ (Ler Mu Plaw)
10. หมู่บ้านฮิโกโลเดอ (He Gho Loh Der) 23 ครัวเรือน ชาย 107 หญิง 102 รวม 209 คน
11. หมู่บ้านเลอมูพลอ (Ler Mu Plaw) 50 ครัวเรือน ชาย 183 หญิง 181 รวม 364 คน
12. หมู่บ้านทีแคคี (Htee Khae Kee) 17 ครัวเรือน ชาย 97 หญิง 83 รวม 180 คน
รวม 304 ครัวเรือน ประชากรรวม 2,417 คน
ชุมชนที่เตรียมพร้อมอพยพ
ตำบลเคพู (Kay Pu)
1. หมู่บ้านที-บเวคี (Htee Bway Kee) 15 ครัวเรือน ชาย 51 หญิง 63 รวม 114 คน
ตำบลซอมูพลอ (Saw Mu Plaw)
2. หมู่บ้านเตอะคี (Theh Kee) 29 ครัวเรือน ชาย 81 หญิง 70 รวม 151 คน
3. หมู่บ้านเตอะซาคี (Theh Hsar Kee) 18 ครัวเรือน ชาย 79 หญิง 72 รวม 151 คน
ตำบลเลอมูพลอ (Ler Mu Plaw)
4. หมู่บ้านเซอทิ (Hser Hti) 10 ครัวเรือน ชาย 36 หญิง 31 รวม 67 คน
รวม 72 ครัวเรือน ประชากรรวม 483 คน
หมายเหตุ: ผู้รายงานขอขอบคุณ คุณนวพล คีรีรักษ์สกุล และคุณอินสอน ลำแพน สำหรับการแปลบทสัมภาษณ์ภาษากะเหรี่ยงและภาษาไทใหญ่
แสดงความคิดเห็น