Posted: 14 Nov 2018 03:26 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Wed, 2018-11-14 18:26


ภาคประชาสังคมแถลงกรมทรัพย์สินฯ ผิด พ.ร.บ. สิทธิบัตร ห้ามจดสิทธิบัตรพืช-สิทธิการบำบัดโรค เหตุเปิดช่องบริษัทผูกขาด ผู้ป่วยเดือดร้อน พบ บ.ไทยโอซูก้าผู้ยื่นขอเคยเข้าร่วมโครงการกับ รบ.ไทย ชี้รายละเอียดการขอสิทธิบัตรไม่มีใครได้ดูเป็นอุปสรรคต่อการคัดค้าน หนุนองค์กรเภสัชฯ-ม.รังสิตฟ้องกรมทรัพย์สินฯ เหตุเป็นผู้เสียหายโดยตรง พร้อมเร่งให้กรมทรัพย์สินฯ ยกคำขอฯผิดกม. -แก้ไขฐานข้อมูลสิทธิบัตร

14 พ.ย. 2561 จากกรณีที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ผ่านคำขอสิทธิบัตรกัญชาซึ่งเป็นพืชที่มีสรรพคุณในการรักษาโรคของบริษัทยาข้ามชาติในขั้นของการตรวจสอบเบื้องต้น และไปสู่ขั้นตอนการประกาศโฆษณา และการขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ทำให้หลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการทำผิด พ.ร.บ. สิทธิบัตรในมาตรา 9 ซึ่งเขียนไว้ชัดเจนว่าห้ามจดสิทธิบัตรพืชหรือสิทธิบัตรการบำบัดโรค และเป็นการเปิดช่องให้เกิดการผูกขาดสิทธิบัตร ทำให้องค์กรหรือบริษัทอื่นไม่สามารถทำวิจัยและพัฒนาต่อได้

กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ออกมาโต้แย้งเมื่อวันที่ 12 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยอ้างว่าไม่สามารถยกเลิกคำขอรับสิทธิบัตรกัญชาได้ต้องปล่อยให้เป้นไปตามกระบวนการ แต่ไม่ได้หมายความว่าคำขอเหล่านี้จะได้รับความคุ้มครอง

ล่าสุดวันนี้ ภาคประชาสังคม ประกอบด้วย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานเอฟทีเอ ว็อทช์ เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรงค์การเข้าถึงการรักษา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) ภญ.อุษาวดี สุตะภักดิ์ อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ภญ.อัจฉรา เอกแสงศรี นักวิชาการด้านระบบทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยา ได้แถลงข่าวตอบโต้ข้ออ้างดังกล่าวของกรมทรัพย์สินทางปัญญา

จากซ้ายไปขวา เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล, กรรณิการ์ กิจติเวชกุล, วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ, อัจฉรา เอกแสงศรี
กรมทรัพย์สินฯ ผิดม. 9 ห้ามจดสิทธิบัตรพืช-สิทธิการบำบัดโรค เปิดช่องบริษัทผูกขาด ผู้ป่วยเดือดร้อน


กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานเอฟทีเอ ว็อทช์ อธิบายว่า ขั้นตอนการรับสิทธิบัตรนั้นเริ่มจากจัดเตรียมคำขอฯ ยื่นคำขอฯ ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะทำการตรวจสอบเบื้องต้น ในขั้นตอนนี้หากพบว่าผิด พ.ร.บ. สิทธิบัตร อธิบดีกรมฯ ก็สามารถยกคำขอฯ สิทธิบัตรได้ทันที แต่ถ้าพบว่าถูกต้องเรียบร้อยก็จะไปสู่ขั้นตอนการประกาศโฆษณา และการขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์

เมื่อมีการประกาศโฆษณาแล้วแม้ยังไม่ได้รับสิทธิบัตร บริษัทอื่นที่กำลังทำการวิจัยและพัฒนาจะไม่สามารถดำเนินการได้เพราะถือเป็นการละเมิดคำขอฯ และสิ่งที่บริษัทผู้ขอสิทธิบัตรทำได้อีกอย่างคือการส่ง Notice ไปข่มขู่บริษัทอื่นๆ ที่กำลังวิจัยและพัฒนาตัวยาเดียวกัน และบอกว่าจะฟ้องร้องหากได้รับสิทธิบัตรแล้ว ซึ่งหากได้รับสิทธิบัตรความคุ้มครองจะเริ่มตั้งแต่วันที่ยื่นคำขอฯ ดังนั้นจึงฟ้องร้องเป็นผลย้อนหลังได้ ข้อน่ากังวลคือจะเกิดการผูกขาดของบริษัท

เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรงค์การเข้าถึงการรักษา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวเสริมว่า การยื่นคำขอฯ แบบกันท่าเช่นนี้ เท่ากับเป็นการกันท่าโดยเอาชีวิตคนป่วยเป็นตัวประกัน นอกจากนี้ระบบที่หย่อนยานในการตรวจสอบและคัดกรองของกรมฯ ยิ่งทำให้เกิดการผูกขาดที่ไม่เป็นธรรมและยาราคาแพง ไม่เพียงแต่ทำให้ประเทศสูญเสียงบประมาณค่ายาแพงเพราะการผูกขาดผ่านสิทธิบัตรยาที่ด้อยคุณภาพ แต่เท่ากับเป็นฆาตกรรมคร่าชีวิตผู้ป่วยทางอ้อมด้วย

กรรณิการ์กล่าวต่อว่า ส่วนในกรณีการขอสิทธิบัตรกัญชาโดยบริษัทต่างชาตินี้ แม้จะพบว่าผิดพ.ร.บ. สิทธิบัตร ตั้งแต่ในขั้นยื่นคำขอฯ โดยผิดในมาตรา 9 (1) สารสกัดจากพืชรับจดสิทธิบัตรไม่ได้ และ มาตรา 9 (4) ห้ามยื่นสิทธิบัตรที่เป็นการถือสิทธิในการใช้บำบัดโรค แต่กรมทรัพย์สินทางปัญญาก็ยังปล่อยคำขอฯนี้ออกมา จนกระทั่งคำขอฯนี้ออกมาเป็นประกาศโฆษณา จึงถือว่ากรมฯเป็นผู้ทำผิดกฎหมายเสียเอง

แม้กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะบอกว่าการประกาศโฆษณาไม่ได้แปลว่าได้รับสิทธิบัตร แต่เมื่อใดที่เขาได้รับสิทธิบัตร ความคุ้มครองจะเริ่มตั้งแต่วันที่เขายื่นคำขอฯ ดังนั้นแม้จะบอกว่ายังไม่ได้สิทธิบัตร แต่ก็เหมือนขาข้างหนึ่งอยู่ในสิทธิบัตรแล้ว


นอกจากไม่ยกคำขอฯ ยังให้แก้ไขคำขอฯ เพื่อยืดเวลาการคุ้มครองชั่วคราว


กรรณิการ์เสริมว่า มีคำขอฯ บางฉบับที่พบว่าผิดกฎหมายตั้งแต่แรก นอกจากรมทรัพย์สินทางปัญญาจะไม่ยกคำขอฯ แล้ว ยังยื่นขอให้มีการแก้ไขคำขอฯ หมายความว่าจะยืดระยะเวลาการคุ้มครองชั่วคราวออกไปนั่นเอง ที่สำคัญมีคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาสูงสุดว่าการแก้ไขคำขอฯในสาระสำคัญนั้นทำไม่ได้ ดังนั้นถึงมีการแก้ไขแต่คำขอฯ ฉบับนี้จะต้องถูกเพิกถอนในที่สุด แล้วการสู้คดีเรื่องสิทธิบัตรใช้เวลานาน บางบริษัทที่กำลังวิจัยพัฒนาหากสายป่านไม่ยาวพอ เขาอาจยอมถอย ประเทศชาติก็เสียประโยชน์


พบบ.ไทยโอซูก้าผู้ยื่นขอสิทธิบัตรเข้าร่วมโครงการกับรบ.ไทย


วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) กล่าวว่า ล่าสุดพบว่ามีสิทธิบัตรเกี่ยวกับกัญชาที่ยื่นขอรับการคุ้มครองทั้งหมด 12 สิทธิบัตร 6 คำขอฯ อยู่ในชั้นประกาศโฆษณาแล้ว อีก 5 คำขอฯ อยู่ในระหว่างยื่นตรวจสอบขั้นตอนการประดิษฐ์ จากการตรวจสอบพบว่ามีหลายคำขอฯสิทธิบัตรที่ขัดต่อ ม.9 ก็แสดงว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญาละเมิดกฎหมายเสียเอง และมี 3 คำขอฯซึ่งขณะนี้ได้ยื่นคำขอฯรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์

นอกจากนี้ใน 11 คำขอฯพบว่า 8 คำขอฯที่มาจากบริษัทเดียวกันชื่อ GW Pharmaceuticals ซึ่งบริษัทนี้มีสำนักงานใหญ่ที่อังกฤษ และมีการดำเนินกิจการอยู่ที่อเมริกา มีผลิตภัณฑ์ที่มีสารสกัดจากกัญชาขายแล้วประมาณ 30 ประเทศทั่วโลก เมื่อตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ทางบริษัทขายในปัจจุบันคือ ซาติแวก (Sativex) ซึ่งมีสารสกัดจากกัญชาคือ Cannabidiol (CBD) และ สาร Tetrahydrocannabinol (THC) ในอัตรา 1 ต่อ 1 ซึ่งเป็นสารที่รักษาโรคลมชัก โรคมะเร็ง ซาติแวกได้รับการอนุมัติแล้วโดย FDA อเมริกา บางส่วนขายในยุโรปและละตินอเมริกา และอีกหลายประเทศ

เมื่อตรวจสอบต่อพบว่าบริษัท GW Pharmaceuticals เป็นบริษัทที่มีการขอสิทธิบัตรสูงมาก โดยเฉพาะสิทธิบัตรกัญชา ในสหรัฐอเมริกาบริษัทนี้มีคำขอฯสิทธิบัตรกัญชามากถึง 51 สิทธิบัตร ในประเทศไทยบริษัทนี้ได้ร่วมมือกับบริษัทไทยโอซูก้า (Thai Otsuka) ซึ่งเป็นบริษัทยาและผลิตภัณฑ์อาหารมีฐานอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นและเป็นบริษัท 100 อันดับแรกที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น โดยบริษัท GW และโอซูก้ามีความร่วมมือกันในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2007

ส่วนในไทย บริษัทไทยโอซูก้ายังอยู่ในโครงการของรัฐบาลที่เรียกว่าเครือข่ายเมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ ฟู้ดอินโนโพลิส ซึ่งสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเคยเดินทางเข้าเยี่ยมบริษัทในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรเมื่อเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา (อ่านข่าวได้ที่นี่)


รายละเอียดการขอสิทธิบัตรไม่มีใครได้ดู จะค้านยังไง


วิฑูรย์กล่าวต่อว่า อีกขั้นคือเมื่อมีการประกาศโฆษณาแล้วใน 6 สิทธิบัตร มาตรา 40 เขียนชัดเจนว่าเมื่อมีการประกาศโฆษณาตามมาตรา 28 ถ้าคำขอฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อธิบดีสามารถยกคำขอฯ โดยให้พนักงานทำจดหมายแจ้งไปที่ผู้ยื่นขอ ดังนั้นอำนาจเต็มที่จึงอยู่ในกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อกระบวนการยกเลิกไม่ดำเนินไปตามกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะต้องรับผิดชอบ รวมถึงรัฐบาลต้องดำเนินการเรื่องนี้เพราะเป็นการละเมิดกฎหมาย มีผลกระทบต่อผู้วิจัยพัฒนา ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะถือเป็นการละเมิดคำขอฯ

วิฑูรย์ยกตัวอย่างในสหรัฐอเมริกาเมื่อมีการขอสิทธิบัตรทุกคนจะมีโอกาสได้เห็นรายละเอียดของสิทธิบัตรและข้อถือสิทธิ ปรากฏชัดเจนในเว็บไซต์ของสำนักงานสิทธิบัตรให้คนได้คัดค้าน แต่ในไทยหากไปดูในเว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะเห็นข้อสรุปเพียงหน้าเดียว ไม่ได้พูดถึงข้อถือสิทธิอย่างละเอียด เช่น การขอสิทธิบัตรกัญชาเพื่อรักษาโรคมะเร็ง มีข้อถือสิทธิอยู่ 61 รายการ ดังนั้นถ้าจะค้านก็ต้องเห็นว่า 61 รายการนี้ขออะไรบ้าง แต่ตอนนี้ไม่มีใครได้เห็นเลยนอกจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา

นอกจากนี้วิฑูรย์ยังชี้ว่า คำขอฯจำนวนครึ่งหนึ่งเป็นคำขอฯที่เรียกว่า สนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร หรือ PCT สนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตรระหว่างประเทศ ซึ่งจะเอื้ออำนวยให้มีการตรวจสอบเรื่องสิทธิบัตรโดยง่าย ในอินเดียทำเรื่องสิทธิบัตรอย่างเข้มแข็ง เมื่อใดมีการนำสะเดาหรือขมิ้นชันไปจดสิทธิบัตร เขาสามารถฟ้องร้องได้เลยในต่างประเทศ แต่ของเราแม้แต่ในประเทศยังไม่ได้เลย

“รัฐบาลอ้างว่าจะเดินหน้าไทยแลนด์ 4.0 คุณสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พูดว่า ไทยแลนด์ 4.0 ต้องสร้างจากความเข้มแข็งสองเรื่องคือ ความหลากหลายทางชีวภาพ และภูมิปัญญาท้องถิ่น และต่อยอดสู่การพัฒนาเศรษฐกิจแบบชีวภาพ พัฒนานวัตกรรม แต่ขณะนี้ความรับผิดชอบนอกเหนือกรมทรัพย์สินทางปัญญา ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบด้วย ถ้าไทยแลนด์ 4.0 ดำเนินไปข้างหน้า โดยไม่มีการปกป้องให้มีการพัฒนานวัตกรรม ละเลยสิ่งที่เป็นจุดแข็งและกลับมาทำลายประเทศเสียเอง คำว่าไทยแลนด์ 4.0 ก็เป็นเพียงวาทกรรมที่หวังใช้ความรู้ของประเทศให้นักลงทุนต่างประเทศได้ประโยชน์เท่านั้นเอง” วิฑูรย์กล่าว


หนุนองค์กรเภสัชฯ-ม.รังสิตฟ้องกรมทรัพย์สินฯ เพราะเป็นผู้เสียหายโดยตรง


กรรณิการ์กล่าวว่า รัฐบาลต้องแสดงความจริงใจ ไม่ใช่จะใช้ม.44 ปล่อยผีสิทธิบัตรอย่างเดียว ไม่ใช่บอกว่าเห็นด้วยกับไทยแลนด์ 4.0 แต่รัฐบาลก็ไปเห็นดีเห็นงามกับบริษัทข้ามชาติ เราอยากเรียกร้องให้องค์กรเภสัชกรรมและมหาวิทยาลัยรังสิตฟ้องร้องดำเนินคดีกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพราะเขาคือคนทำวิจัยและจะปล่อยผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด ถือเป็นผู้เสียหายโดยตรง ฟ้องได้หลายกรณี เช่น ตามมาตรา 157 ฐานะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และการทำผิดและละเว้นไม่ปฏิบัติตาม พรบ.สิทธิบัตร และกฎกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 22 พ.ศ.2542 โดยภาคประชาสังคมพร้อมสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการและความเชี่ยวชาญต่างๆ หรือฟ้องผ่านศาลทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะถือเป็นการฟ้องเพื่อทำให้ระบบทรัพย์สินทางปัญญาดีขึ้นและเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ” กรรณิการ์กล่าว


งานวิจัยพบสิทธิบัตรขัดม.9 จำนวนมากเกินครึ่งเป็นสิทธิบัตรไม่มีวันตาย


ภญ.อุษาวดี สุตะภักดิ์ อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ชี้ว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญานั้นเริ่มต้นจากหลักคิดที่ผิดเพี้ยนไป สะท้อนจากการให้สัมภาษณ์ของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเอง ที่เห็นว่า การยื่นขอรับสิทธิบัตรเป็นสิทธิที่ผู้ประดิษฐ์พึงจะดำเนินการได้ตามกฎหมายสิทธิบัตร แต่กรมทรัพย์ไม่ได้ตระหนักถึงหน้าที่ของตนเองในการคุ้มครองประโยชน์ของสาธารณะ เนื่องจากระบบสิทธิบัตรมีผลกระทบโดยตรงต่อคนทั้งประเทศ

หากกรมฯ ตระหนักถึงหน้าที่ต่อสาธารณะก็จะต้องกลั่นกรองคำขอฯรับสิทธิบัตรในแต่ละขั้นตอนอย่างรอบคอบและใช้วิจารณญาณอย่างเต็มที่ และแม้กฎหมายสิทธิบัตรของไทยอาจไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็ยังมีแนวคิดของการคุ้มครองสาธารณะอยู่ โดยเฉพาะ มาตรา 9 ของกฎหมายสิทธิบัตรนั้นเป็นตะแกรงร่อนเอาคำขอฯรับสิทธิบัตรที่ไม่ได้รับความคุ้มครองออกไปตั้งแต่ต้น

นอกจากนี้อุษาวดียังพบว่าจากงานวิจัย สิทธิบัตรที่กรมฯ ออกให้โดยเฉพาะเรื่องยา กรมฯ ปล่อยให้มีสิทธิบัตรที่ขัดมาตรา 9 ออกมาจำนวนมาก และเกินครึ่ง เป็นสิทธิบัตรไม่มีวันตาย หรือ evergreening patent


สิทธิบัตรไม่มีวันตาย (evergreening patent) คือ สิทธิบัตรที่ไม่มีความใหม่ ไม่มีนวัตกรรมที่สูงขึ้น ส่วนที่มีมากที่สุดคือสิทธิบัตรที่เรียกว่า “การใช้” หรือ “Use Claim” ในสหรัฐอเมริกาอาจปล่อยสิทธิบัตรได้ง่าย แต่ไทยเราเป็นประเทศกำลังพัฒนา เราจึงยังไม่ให้สิทธิบัตรกับ “การใช้”

ข้อเสนอระยะยาว

1. ต้องใช้คู่มือแนวทางการตรวจสอบสิทธิบัตร (patent examination guidelines) ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมพัฒนาขึ้นอย่างจริงจัง และต้องอบรมให้ผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรรายใหม่เข้าใจและใช้คู่มือดังกล่าวอย่างจริงจัง

2. พิจารณาใช้คำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและคำวินิจฉัยอื่นเป็นแนวทางในการอนุมัติสิทธิบัตรที่มีความคล้ายคลึงกัน

3 ต้องมีการตรวจสอบการใช้ประโยชน์ของผู้ทรงสิทธิต่อสิทธิบัตรที่ได้รับอนุมัติไปแล้ว หากเป็นไปเพื่อการผูกขาด ก็ต้องดำเนินการเมื่อไม่มีการใช้ประโยชน์จากสิทธิบัตรนั้นๆอย่างแท้จริง

4. แก้ไข พ.ร.บ. สิทธิบัตรให้คำขอฯสิทธิบัตรแสดงที่มาของทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น ระหว่างที่ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมาย ให้มีประกาศกระทรวงฯกำหนดให้การแสดงรายละเอียดนี้ อยู่ในเงื่อนไขการขอสิทธิบัตรเพื่อตรวจสอบความใหม่ และความเชื่อมโยงกับ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชปี 2542

5. เฝ้าระวังการเจรจาการค้า CPTPP ญี่ปุ่นต้องการเข้าถึงทรัพยากรชีวภาพของไทย ต้องการให้คุ้มครองนักลงทุนเพื่อฟ้องรัฐได้ รัฐบาลต้องไม่ยอมประเด็นเหล่านี้


กรมทรัพย์สินฯต้องเร่งยกคำขอฯ ที่ผิดกม. และแก้ไขฐานข้อมูลสิทธิบัตร


ภญ.อัจฉรา เอกแสงศรี นักวิชาการด้านระบบทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยา ชี้ว่า จากกรณีศึกษาเรื่องสิทธิบัตรกัญชานั้น พบว่าตามขั้นตอนการขอรับสิทธิบัตรประเทศไทย จะมีจุดที่เป็นปัญหาและต้องได้รับการแก้ไขและพัฒนาเพื่อให้เกิดกับประเทศไทยหลายขั้นตอน ได้แก่

ฐานข้อมูลสิทธิบัตร

ตั้งแต่เป็นข่าวสิทธิบัตรกัญชาจะเห็นได้ว่ามีการแถลงพบคำขอฯสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 9 คำขอฯ เป็น 10-12 คำขอฯ แสดงให้เห็นว่า การที่จะค้นหาข้อมูลเรื่องคำขอฯรับสิทธิบัตรจากฐานข้อมูลสิทธิบัตรเป็นเรื่องยากและไม่มีความแน่นอน ซึ่งประเด็นนี้ กรมทรัพย์สินฯ ต้องเปิดเผยมาทั้งหมดว่าจนถึงขณะนี้มีคำขอฯสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับกัญชาจริงๆ แล้วกี่คำขอฯ และต้องเปิดเผยทั้งหมดต่อสาธารณะ

ขั้นตอนการตรวจสอบคำขอฯรับสิทธิบัตร
- คำขอฯรับสิทธิบัตรที่ยื่นต่อกรมทรัพย์สินฯ แล้ว แต่ยังไม่ประกาศโฆษณาในหมวดนี้ เนื่องจากคำขอฯ ที่เราสามารถสืบค้นได้จะเป็นเฉพาะคำขอฯ ที่ได้ประกาศโฆษณา (จากวันที่ยื่นคำขอฯรับฯ ถึงวันประกาศโฆษณามีตั้งแต่ 2-5 ปี) ดังนั้นสาธารณชนหรือแม้แต่นักวิชาการที่ติดตามเรื่องนี้ จึงไม่สามารถรู้ได้ว่า ยังมีอีกกี่คำขอฯ ที่ได้ยื่นต่อกรมทรัพย์สินฯ แล้ว แต่ยังไม่ได้ยื่นประกาศโฆษณา ดังนั้นจึงขอให้กรมทรัพย์สินฯ เร่งตรวจสอบคำขอฯ ที่เกี่ยวกับกัญชาทั้งหมดตามมาตรา 28 พรบ. สิทธิบัตร คือ คำขอฯ นั้นไม่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 9 ให้รีบสั่งยกคำขอฯ นั้น ส่วนคำขอฯ ใดที่เห็นว่าถูกต้องในขั้นตอนนี้ ให้รีบประกาศโฆษณาให้สาธารณชนรับทราบ

- คำขอฯรับสิทธิบัตรที่ได้ประกาศโฆษณาแล้ว ขอให้อธิบดีปฏิบัติตามมาตรา 30 คือ เมื่อประกาศแล้ว ถ้าคำขอฯ ไม่ชอบด้วยมาตรา 5, 9, 10, 11 หรือ 14 ให้อธิบดีสั่งยกคำขอฯสิทธิบัตรนั้น

- คำขอฯรับสิทธิบัตรที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบการประดิษฐ์ ขอให้กรมฯ เร่งดำเนินการตามมาตรา 24, 25 ถ้าคำขอฯ ใดไม่มีความใหม่หรือขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น หรือไม่สามารถคุ้มครองได้ตามมาตรา 9 ให้เร่งยกคำขอฯ นั้น

การแก้ปัญหาที่ทำได้คือเร่งดำเนินการ ยกคำขอฯที่ผิดกฎหมาย ที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบก็เร่งตรวจสอบ ถ้าไม่ถูกต้องตามม.9 ก็ยกคำขอฯไป ที่ประกาศโฆษณาแล้ว คำขอฯที่ 6 ประกาศมาเกิน 5 ปีแล้ว ถ้าเกิน 5 ปีจะละทิ้งโดยปริยาย แต่ฐานข้อมูลยังไม่ละทิ้งให้


สิทธิบัตรยาผูกขาดทั้งที่กฎหมายระบุขอสิทธิบัตรไม่ได้ เวลายื่นคัดค้านน้อยเกินไป


เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรงค์การเข้าถึงการรักษา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า กรณีจดสิทธิบัตรกัญชาเป็นเพียงยอดภูเขาของปัญหาของกรมทรัพย์สินทางปัญญา เป็นตัวอย่างความหย่อนยานและหละหลวมของกรมฯ ที่ปล่อยให้มีคำขอฯรับสิทธิบัตรและยอมให้จดสิทธิบัตรในสิ่งที่ไม่สมควรได้

เฉลิมศักดิ์ยกตัวอย่างการใช้ยาชนิดหนึ่งเพื่อรักษาโรคชนิดหนึ่งถูกจดและให้สิทธิบัตรเป็นจำนวนมาก เช่นกรณียาต้านไวรัสเอชไอวีและยารักษาไวรัสตับอักเสบซี ทั้งๆ ที่การใช้ยาเพื่อการรักษาระบุในกฎหมายว่าขอสิทธิบัตรไม่ได้ นอกจากนี้ยาตัวเดียวยังยื่นคำขอฯหลายตัว ซึ่งเวลายื่นจะยื่นเหลื่อมเวลากัน ทำให้ยืดเวลาการผูกขาดไปได้ และขณะที่กฎหมายเปิดให้ยื่นคัดค้านการขอสิทธิบัตรหลังประกาศโฆษณาในระยะเวลาการยื่นคัดค้านเพียง 90 วัน ขณะที่คำขอฯแต่ละฉบับหนามากเป็น 1,000-2,000 หน้า ต้องอ่านทำความเข้าใจและหาประเด็นคัดค้าน

“ระบบฐานข้อมูลและการสืบค้นของกรมฯ มีปัญหาอย่างมาก แม้แต่คนของกรมฯ ที่ดูแลรับผิดชอบเอง ยังต้องใช้เวลาค้นหานานและให้ข้อมูลคาดเคลื่อน กรณีตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้น คือ คำขอฯ ยาต้านไวรัสเอชไอวีที่ชื่อย่อว่า TAF มูลนิธิเข้าถึงเอดส์มีจดหมายถามกรมฯ ไปว่ามีการยื่นขอสิทธิบัตรไหม กรมฯ ใช้เวลานานหลายเดือน เท่ากับกินเวลา 90 วันไปแล้ว ก่อนที่จะตอบกลับว่า "ไม่มี" แต่มาพบภายหลังว่ามีและเลยกำหนดที่จะยื่นคัดค้านแล้ว กรณีเช่นนี้สร้างความเสียหายให้กับประเทศ เพราะเปิดช่องให้บริษัทยาผูกขาด โดยอาศัยการยื่นจดสิทธิบัตรที่ด้อยคุณภาพ หรือที่เรียกว่า “สิทธิบัตรไม่มีวันที่สิ้นสุดอายุ” ผ่านระบบการตรวจสอบและคัดกรองที่หย่อนศักยภาพของกรมฯ” เฉลิมศักดิ์กล่าว


ชะลอร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตรฉบับใหม่ ที่ไม่ฟังเสียงภาคประชาสังคม


เฉลิมศักดิ์กล่าวต่อว่า ยิ่งไปกว่านั้น กรมฯ กำลังพยายามแก้ไข พรบ. สิทธิบัตร โดยที่ไม่รับฟังการท้วงติงและข้อเสนอแนะ ที่ภาคประชาสังคมยื่นผ่านการรับฟังความคิดเห็นออนไลน์ จนออกมาเป็นฉบับสุดท้ายที่จะยื่นสู่ ครม. และ สนช. ซึ่งมีการแก้ไขหลายมาตรา แต่ส่วนมากไม่ได้แก้ไขเรื่องสิทธิบัตรยาที่ไม่ควรได้ให้ลดลงเลย เช่น เรื่องการยื่นคัดค้าน 90 วันก็ยังไม่แก้ไข หลักเกณฑ์ที่จะให้หรือไม่ให้สิทธิบัตรก็ยังไม่ได้แก้ไข จึงอยากเรียกร้องให้ชะลอกายื่นการแก้ไข พ.ร.บ. สิทธิบัตร เพราะสิ่งที่ภาคประชาสังคมเสนอไม่ได้ถูกสะท้อนอยู่ในร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้ กลับคำนึงถึงบริษัทเอกชน การส่งเสริมให้มีสิทธิบัตรมากขึ้น แต่ไม่มีกลไกรัดกุมมากพอที่จะสกัดกั้นสิทธิบัตรที่ไม่มีคุณภาพ

ภาคประชาสังคมเสนอให้แก้ไขหลักเกณฑ์การพิจารณาสิทธิบัตร โดยเฉพาะยา ให้มีความรัดกุมและเล็งเห็นประโยชน์ของสาธารณะมากขึ้น รวมไปถึงการขยายเวลาการยื่นคัดค้าน และความโปร่งใสในการพิจารณาสิทธิบัตร

เฉลิมศักดิ์ระบุว่า กรมฯ ยังเสนอให้ยกเลิกหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจใช้มาตรการซีแอลให้เหลือเพียงกระทรวง แทนที่จะขยายให้หน่วยงานรัฐอื่นๆ เช่น สปสช. ประกาศใช้ซีแอลได้ ตามที่ภาคประชาสังคมเสนอ เพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านราคาและทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษา ซึ่งถือเป็นอำนาจบริหารประเทศเพื่อประโยชน์ของประชาชน

นอกจากนี้เฉลิมศักดิ์ชี้ว่า กรมฯ ยังเสนอเพิ่มในร่างกฎหมายให้บริษัทผู้ทรงสิทธิ์ฟ้องร้องต่อศาล ให้มีคำสั่งยกเลิกมาตรการซีแอลได้ในกรณีที่ภาวะวิกฤตหมดไปแล้วหรือไม่มีความจำเป็นแล้ว แต่การเปิดช่องไว้เช่นนี้จะยิ่งทำให้รัฐบาลไม่กล้าตัดสินใจหรือชะลอการนำมาตรการซีแอลมาบังคับใช้

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.