Posted: 09 Nov 2018 11:39 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sat, 2018-11-10 14:39
ทีมงาน 'เภสัชกรชายแดน' ติดตามการนำยาปฏิชีวนะ Amoxycillin ไปใช้ในสวนส้ม พบว่าปัจจุบันเกษตรกรได้ทำกันอย่างแพร่หลาย โดยซื้อยาปฏิชีวนะมาแกะเม็ดแคปซูลออกเอาแต่ผงยาออกมาละลายน้ำค้างไว้ 1 คืน หลังจากนั้นนำมากรองเอาแต่น้ำใส่ขวดแล้วนำมาฉีด 1 ปีจะฉีด 3 ครั้ง ไม่เช่นนั้นส้มจะเหลืองและตาย
เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2561 เพจเภสัชกรชายแดน รายงานว่าทีมงานเภสัชกรชายแดน ร่วมกับทีมทำงานในพื้นที่ชายแดนแห่งหนึ่งทางภาคเหนือของประเทศไทย ติดตามการนำยาปฏิชีวนะ Amoxycillin ไปใช้ในสวนส้ม ซึ่งแม้จะมีข้อมูลเผยแพร่มาก่อนหน้านี้ราว 5 ปี ตั้งแต่มีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งว่าสามารถใช้ยาปฏิชีวนะฉีดเข้าไปในต้นส้ม ผ่านท่อน้ำเลี้ยง ท่ออาหาร เพื่อกำจัดเชื้อคล้ายแบคทีเรีย Bacteria like ซึ่งเป็นสาเหตุการเกิดโรคกรีนนิ่งในต้นส้มได้ ขณะที่หน่วยงานซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลทางด้านการเกษตรระบุว่ามีการใช้เฉพาะในพื้นที่จำกัด แต่ข้อเท็จจริงในเวลานั้น ได้เริ่มมีเกษตรกรชาวสวนส้ม นำทฤษฎีดังกล่าวมาใช้แล้ว
ทีมงานพบว่าปัจจุบันเกษตรกรได้ทำกันอย่างแพร่หลาย โดยเกษตรกรจะไปซื้อยาปฏิชีวนะ (ยาอันตรายที่ต้องส่งมอบยาโดยเภสัชกร ไม่สามารถซื้อหาได้โดยทั่วไป) มาแกะเม็ดแคปซูลออกเอาแต่ผงยาออกมาละลายน้ำค้างไว้ 1 คืนหลังจากนั้นนำมากรองเอาแต่น้ำ ใส่ขวดแล้วนำมาฉีด โดย 1 ปีจะฉีด 3 ครั้ง ไม่เช่นนั้นส้มจะเหลืองและตาย
ทีมงานฯ พบผง Amoxycillin เกลื่อนพื้นดิน ซึ่งสามารถซึมสู่แหล่งน้ำใต้ดินต่อไปได้ พบชาวสวนเกษตรกรสัมผัสผงยาโดยตรง และแน่นอนว่าผู้บริโภคมีความเสี่ยงอย่างสูงที่จะได้รับยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นจากการตกค้างในผลส้ม นำไปสู่สภาวะเร่งเร้าให้เกิดเชื้อดื้อยาและบางคนอาจแพ้ยาที่ตกค้างในส้ม การที่แพ้ยาอาจจะแพ้ยาถึงขั้นแพ้แบบรุนแรง ทั้งแบบ Steven-Johnson Syndrome และ Toxic Epidermal Necrolysis (TEN) ที่เป็นการแพ้ยาที่มีความรุนแรงมาก อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตจากการที่เซลล์ผิวหนังตาย ผู้ป่วยจะมีไข้ เจ็บคอ อ่อนเพลียอย่างรุนแรง ผู้ป่วยจะเริ่มจากมีการมีแผลในบริเวณช่องปากและที่ริมฝีปาก (อาจเกิดแผลที่บริเวณอวัยวะเพศและที่บริเวณก้นด้วยก็ได้) และเริ่มมีอาการทางผิวหนังคือเกิดผื่นและผิวหนังที่เกิดผื่นจะเกิดการลอกอย่างรุนแรงตามมา
เกษตรกรชาวสวนส้ม เจ้าของสวนส้ม นักวิจัยด้านเกษตร นักวิชาการและข้าราชการด้านส่งเสริมการเกษตร อาจต้องมองให้รอบด้านมากยิ่งขึ้นเพราะทุกวันนี้ พบการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะในอาหารจำมากขึ้น กระทั่งในอนาคตมีแนวโน้มว่ามนุษย์จะไม่มียาใช้สำหรับต่อสู้กับเชื้อธรรมดาพื้นฐาน เพราะร่างกายของมนุษย์ดื้อต่อยาต่างๆ ไปเสียแล้ว
แสดงความคิดเห็น