Posted: 15 Nov 2018 06:34 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2018-11-15 21:34
สืบเนื่องจากเป็นวันประกาศเอกราชของเตอร์กิสถานตะวันออกซึ่งเป็นสาธารณรัฐอายุสั้นสำหรับชาวอุยกูร์ก่อนจะถูกผนวกรวมกับจีน มีนักกิจกรรมชาวอุยกูร์ในสหรัฐฯ ร่วมแสดงออกด้วยการเดินขบวนประท้วงเรียกร้องให้สหรัฐฯ กดดันให้จีนหยุดรังแกชาวอุยกูร์ด้วยการจับเข้าค่ายกักกัน
นักกิจกรรมชาวอุยกูร์ในสหรัฐฯ ร่วมแสดงออกในวันประกาศเอกราชของอดีตสาธารณรัฐอุยกูร์ด้วยการเดินขบวนประท้วงในสหรัฐฯ เมื่อช่วงวันที่ 13 พ.ย. ที่่ผ่านมา
ซึ่งตามประวัติศาสตร์ เมื่อวันที่ 12 พ.ย. เป็นทั้งวันฉลองครบรอบ 74 ปีและ 85 ปี การสถาปนาสาธารณรัฐเตอร์กิสถานตะวันออกสองครั้งที่คงอยู่ได้ไม่นานก่อนจะถูกผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของจีน
กลุ่มที่จัดการประท้วงในครั้งนี้คือ 'ขบวนการเพื่อการตื่นรู้แห่งชาติเตอร์กิสถานตะวันออก' (East Turkistan National Awakening Movement) มีผู้เข้าร่วมส่วนหนึ่งเป็นชาวอุยกูร์พลัดถิ่นซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีคือ เรบิยา คาเดียร์ อดีตประธานกลุ่มสภาอุยกูร์โลก (World Uyghur Congress) กลุ่มผู้ประท้วงชุมนุมหน้าทำเนียบขาวพร้อมถือธงของสหรัฐฯ และธงเอกราชเตอร์กิสถานตะวันออก พวกเขาเรียกร้องให้สหรัฐฯ กดดันจีนในการหยุดการข่มเหงรังแกชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิม
ถึงแม้ว่าจะมีเรื่องที่ทางการจีนกดขี่ข่มเหงชาวอุยกูร์ในพื้นที่ซินเจียงมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว แต่ในช่วงปีที่ผ่านมามีการปราบปรามชาวอุยกูร์หนักขึ้น โดยที่สหประชาชาติวิจารณ์เรื่องที่จีนคุมขังชาวอุยกูร์ไว้ราว 1 ล้านคนในค่ายกักกันเพื่อทำการปลูกฝังปรับทัศนคติทั้งในทางการเมืองและในทางวัฒนธรรม มีรายงานบางส่วนก็ระบุว่าค่ายกักกันเหล่านี้เคยคุมขังชาวอุยกูร์ไว้มากถึงราว 2 ล้านคน ในค่ายกักกันดังกล่าวทางการจีนบีบให้ชาวอุยกูร์ละทิ้งความเชื่อศาสนาอิสลามของตัวเองรวมถึงละทิ้งวัฒนธรรมอื่นๆ ที่ทำให้พวกเขามีลักษณะเฉพาะตัวต่างออกไปจากชาวจีนเชื้อสายฮั่น นอกจากนี้ยังห้ามการถือศีลอดช่วงรอมฎอนและห้ามไม่ให้มีการเรียนการสอนคัมภีร์อัลกุรอานกับเด็ก
ไอดิน อันวาร์ ชาวอเมริกันเชื้อสายอุยกูร์กล่าวว่าจีนพยายามลบล้างอัตลักษณ์ความเป็นอุยกูร์ทิ้งรวมถึงบีบให้ถือสัตย์ปฏิญาณว่าจะสวามิภักดิ์ต่อรัฐจีน อันวาร์บอกอีกว่าผู้คนที่มาชุมนุมในวันนี้ต่างก็มีญาติพี่น้องของพวกเขาอย่างน้อย 1 คน ถูกคุมขังในค่ายกักกันแทบทั้งสิ้น เช่นลุงเขยของเขาเองก็มีญาติถูกคุมขังอยู่ในนรวมมากกว่า 70 รายและหนึ่งในนั้นก็ถูกสังหารจากการฉีดสารพิษ ชีวิตนอกสถานกักกันก็ไม่ได้ดีไปกว่ากัน พวกเขาถูกห้ามไม่ให้ปฏิบัติตามพิธีกรรมศาสนาอิสลาม ทั้งการถือศีลอด การสวมฮิญาบ การไว้เครา ห้ามแม้กระทั่งไม่ให้ตั้งชื่อลูกด้วยชื่ออิสลาม
โชห์รัต ซากีร์ หัวหน้ารัฐบาลเขตปกครองพิเศษซินเจียงกล่าวว่าการปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติเรื่อง "สงครามต่อต้านการก่อการร้าย" ของนานาชาติ เขาบอกอีกว่าค่ายกักกันดังกล่าวเป็น "สถาบันฝึกอบรมวิชาชีพ" เพื่อที่จะ "ฝึกอบรมภาษา ความรู้ทางกฎหมาย ทักษะวิชาชีพ และการลดความหัวรุนแรง เป็นเนื้อหาหลักเพื่อให้คนในพื้นที่สามารถหางานได้เป็นแนวทางหลัก"
แต่ในสหรัฐฯ ประเด็นการต่อสู้ของชาวอุยกูร์ก็ได้รับการสนับสนุนจากนักการเมืองอย่างไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดี และนิคกี ฮาลีย์ อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ ที่กล่าวประณามการกระทำของจีน วุฒิสมาชิกรีพับลิกัน มาร์โค รูบิโอ ก็ล็อบบี้กระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ให้มีท่าทีต่อจีน
ทำไมผู้นำประเทศมุสลิมถึงไม่วิจารณ์จีนกรณี 'ค่ายกักกัน' ชาวอุยกูร์
โอมาร์ สุไลมาน นักปราชญ์มุสลิมชาวอเมริกันกล่าวว่ากลุ่มประเทศมุสลิมหลายประเทศกลับโต้ตอบการกดขี่ของจีนที่กระทำต่ออุยกูร์น้อยมากจนแทบรู้สึกว่าพวกเขาทอดทิ้งชาวอุยกูร์อย่างสิ้นเชิง โดยที่กลุ่มประเทศมุสลิมเหล่านี้มีจีนเข้าไปแผ่ขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจ
"มันเป็นเรื่องย้อนแย้งที่พวกเขาถูกทารุณกรรมจากจีนเพราะเป็นมุสลิมมากเกินไป ในขณะที่โลกมุสลิมเหมือนจะมองว่าพวกเขาเป็นมุสลิมไม่มากพอที่จะสู้เพื่อพวกเขา"
"จีนต้องพึ่งพาในเรื่องการค้า และประเทศต่างๆ รวมถึงสหรัฐฯ ควรจะดำเนินการกดดันทางเศรษฐกิจมากพอเพื่อที่จะหยุดยั้งไม่ให้เกิดการกดขี่เช่นนี้ต่อไปอีก" สุไลมานกล่าว
เรียบเรียงจาก
Uighurs marking 'independence day' call for international help, Aljazeera, Nov. 14, 2018
แสดงความคิดเห็น