Posted: 15 Nov 2018 07:09 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2018-11-15 22:09


ประธาน กสม. เปิดงานส่งเสริมสิทธิในที่ดินที่เป็นสิทธิมนุษยชน ย้ำ กม.ไทยกำหนดที่ดินที่ไม่มีเอกชนได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามกฎหมายที่ดินเป็น “ป่าไม้” ทั้งหมด ไม่พิจารณาสภาพความเป็นจริงกระทบต่อสิทธิของประชาชน แนะรัฐแก้ไข


15 พ.ย.2561 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รายงานว่า วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เข้าร่วมพิธีเปิด “การสัมมนาเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคว่าด้วยการมีส่วนร่วมกับสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมสิทธิในที่ดินที่เป็นสิทธิมนุษยชน” (Engaging National Human Rights Institutions Toward the Promotion of Land Rights as Human Rights) ที่โรงแรมพูลแมน กรุงเทพ แกรนด์ สุขุมวิท จัดโดยเครือข่ายองค์กรเอกชนเพื่อการปฏิรูปการเกษตรและการพัฒนาชนบทแห่งเอเชีย (Asian NGO Coalition for Agrarian Reform and Rural Development – ANGOC) และเครือข่ายที่ดินระหว่างประเทศแห่งเอเชีย (ILC Asia) ร่วมกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP)

วัส กล่าวถ้อยแถลงในช่วงพิธีเปิดตอนหนึ่งว่า ปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน เป็นปัญหาสำคัญที่พบในประเทศไทยเช่นเดียวกับประเทศในกลุ่ม ANGOC กสม. พบว่า ปัญหาในพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่อนุรักษ์ตามกฎหมาย มีสาเหตุหลักมาจากกฎหมายภายในของไทยกำหนดให้ที่ดินที่ไม่มีเอกชนได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินเป็น “ป่าไม้” ทั้งหมด โดยไม่ได้พิจารณาสภาพความเป็นจริงของที่ดิน นอกจากนั้นบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวกับพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งมีโทษทางอาญา ยังมี “ข้อกฎหมายปิดปาก (Estoppel)” ที่ไม่ยอมให้นำพยานหลักฐานพิสูจน์ข้อเท็จจริงในชั้นศาลว่า ประชาชนที่ถือครองที่ดินอยู่มาก่อนการประกาศเขตป่า โดยเฉพาะชุมชนชาติพันธุ์ที่อยู่ในป่า อาจไม่ทราบถึงการกำหนดเขตดังกล่าวของภาครัฐ จึงกระทบต่อสิทธิของประชาชน

วัส กล่าวอีกว่า ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา กสม. ได้พิจารณาออกข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องรวม 3 เรื่อง เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาตามหลักสิทธิมนุษยชน ได้แก่ (1) ข้อเสนอแนะที่ 1/2560 ลงวันที่ 25 เม.ย. 2560 เกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างพื้นที่ป่าไม้ตามกฎหมาย พื้นที่อนุรักษ์ และที่ดินที่ประชาชนถือครอง (2) ข้อเสนอแนะที่ 3/2561 ลงวันที่ 13 มิ.ย. 2561 เกี่ยวกับสิทธิในที่ดินของชุมชนชาติพันธุ์ดั้งเดิม และ (3) ข้อเสนอแนะที่ 4/2561 ลงวันที่ 13 มิ.ย. 2561 เกี่ยวกับการแก้ปัญหาการทับซ้อนของแนวเขตที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงกับที่ทำกินของประชาชน

“ข้อเสนอแนะบางส่วนได้มีการรับฟังความคิดเห็นขององค์กรภาคประชาสังคมด้วยและปัจจุบันคณะรัฐมนตรีได้รับข้อเสนอแนะทั้งสามเรื่องนี้ไปพิจารณาและเตรียมพร้อมในการแก้ไขปัญหากระบวนการเป็นการแสดงถึงความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รัฐบาล และองค์กรภาคประชาสังคม ในการที่จะมุ่งแก้ไขปัญหาด้านสิทธิในที่ดินและป่าไม้ของประเทศไทย โดย กสม. จะติดตามผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป” ประธาน กสม. ระบุ

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.