Posted: 14 Nov 2018 01:06 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Wed, 2018-11-14 16:06


กสม. แสดงความเสียใจต่อการสูญเสีย 'เพชรมงคล ป.พีณภัทร' นักกีฬามวยเด็ก ย้ำทุกภาคส่วนต้องไม่นิ่งนอนใจต่ออันตรายจากการชกมวยในวัยเด็ก เสนอแก้ไขกฎหมายกีฬามวย ให้สอดคล้องอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

14 พ.ย. 2561 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รายงานว่า ฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานด้านสิทธิผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก การศึกษา และการสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่โลกออนไลน์มีการเผยแพร่เรื่องราวสลดที่เกิดขึ้นกับนักมวยเด็กรายหนึ่ง คือ “เพชรมงคล ป.พีณภัทร” (ด.ช.อนุชา ทาสะโก) วัย 13 ปี ซึ่งเสียชีวิตจากอาการเลือดคั่งในสมองจากการขึ้นชกมวยที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า ตนขอแสดงความเสียใจเป็นอย่างยิ่งต่อครอบครัวของ นักมวยเด็กคนดังกล่าวจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักจากการชกมวย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นกรณีตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นปัญหาของการชกมวยในวัยเด็กที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ โดยเฉพาะการบาดเจ็บทางสมองที่ก่ออันตรายถึงแก่ชีวิต

ฉัตรสุดา ระบุว่า ความเสี่ยงต่อชีวิตและการได้รับบาดเจ็บทางร่างกายที่นักมวยเด็กต้องเผชิญ เป็นปัญหาที่ทุกภาคส่วนรวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในแวดวงกีฬามวยต้องให้ความสำคัญและไม่นิ่งนอนใจ เนื่องจากกีฬามวยเด็กถือว่าขัดต่อหลักการของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child - CRC) ซึ่งระบุว่า เด็กเป็นกลุ่มเปราะบางของสังคม จะต้องได้รับการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานให้มีชีวิตรอด และต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการถูกทำร้าย การล่วงละเมิด และการแสวงหาประโยชน์ในทุกรูปแบบ นอกจากนี้การชกมวยเด็กที่เป็นลักษณะมวยอาชีพและได้รับค่าตอบแทน ยังขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 26 (6) ที่ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการใช้ จ้าง หรือวานเด็กให้ทำงาน หรือกระทำการอันอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต หรือขัดขวางต่อพัฒนาการของเด็ก และ (7) ที่ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการบังคับ ขู่เข็ญ ใช้ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กเล่นกีฬา หรือให้กระทำการใด เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการค้าอันมีลักษณะเป็นการขัดขวางต่อการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของเด็กหรือมีลักษณะเป็นการทารุณกรรมต่อเด็ก

อย่างไรก็ดี เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ตนเห็นว่าการชกมวยของเด็กควรมีการป้องกันการบาดเจ็บบริเวณศีรษะ ทั้งนี้ ขอเสนอให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542 ให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 หลักการของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ฉบับที่ 138 และ 182) ที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้ เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับความคุ้มครองในชีวิตและร่างกาย มีพัฒนาการการเติบโตที่สมบูรณ์แข็งแรง และไม่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์อันน่าสลดเช่นนี้อีก
คนวงการมวยจ่อแถลงจุดยืนค้านแก้ไขพ.ร.บ.มวย

TNN24 รายงานฝ่ายคัดค้านการแก้ไขพ.ร.บ.มวย ด้วย โดยระบุว่า วันนี้ สมาคมนายขนมต้ม ที่มีสมาชิกเป็นอดีตนักมวยไทยชื่อดังอย่าง เจริญทอง เกียรติบ้านช่อง รวมถึงผู้คร่ำวอดในวงการมวยเตรียมแถลงจุดยืนคัดค้านการแก้ไขพ.ร.บ.มวย ที่จะมีการห้ามเยาวชนอายุ 12 ปีขี้นชกมวยไทย เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบต่อวงการมวยไทยที่จะฝึกซ้อมนักมวยตั้งแต่เล็กๆ
นักวิจัยชี้เด็กต่ำกว่า 12 ปี ยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ อาการบาดเจ็บมีผลต่ออนาคต

TNN24 ยังรายงานมุมมองของนักวิจัยเรื่องนี้ด้วยว่า ศ.พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ หัวหน้าโครงการวิจัยและติดตามกลุ่มนักมวยเด็ก เปิดเผยผลการศึกษาสมองนักมวยเด็กที่เสียชีวิต เกิดจากอาการบาดเจ็บรุนแรงแบบเฉียบพลันที่สมอง เพราะเด็กถูกต่อยที่ใบหน้าและศีรษะหลายครั้ง ทำให้สมองมีเลือดออกโดยจะเห็นได้ว่าในเวทีชกมวยนี้ ไม่มีแพทย์สนามเพื่อทำประเมินอาการ เป็นความผิดพลาดของคนดูแล ที่ไม่ตระหนักในเรื่องความปลอดภัยเด็ก

ศ.พญ.จิรพร ทำวิจัยโครงการนี้มาตลอด 8 ปี ระบุว่า ผลกระทบต่ออาการบาดเจ็บสมองของนักมวยเด็ก ส่วนใหญ่จะเกิดในลักษณะอาการบาดเจ็บสะสม มากกว่าการเสียชีวิตแบบเฉียบพลัน และสมองของเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่จึงเชื่อว่าอาการบาดเจ็บเหล่านี้มีผลต่อการดำรงชีวิตในอนาคต

ทั้งนี้ ศ.พญ. จิรพร ย้ำว่า การฝึกทักษะมวยให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี สามารถทำได้ แต่ต้องไม่มีแรงกระแทกที่ศีรษะหรือร่างกาย และควรใช้วิทยาศาสตร์ทางการกีฬาเข้ามาช่วยสร้างพัฒนาการได้ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อสมรรถภาพร่ายกายมากกว่า

เมื่อดูจากประวัติการชกของน้องเล็ก เพชรมงคล ตลอด 5 ปีที่ชกมวยจนอายุ 13 ปี ขึ้นชกในสังเวียนมวยเด็กมากกว่า 170 ครั้ง เฉลี่ยชกปีละ 34 ไฟต์ เฉลี่ย 11 วันต่อ 1 ไฟต์ ซึ่งไม่เป็นไปตามกฎของ พ.ร.บ.กีฬามวย 2542 ที่ระบุว่า นักมวยที่แข่งขันครบ 5 ยก จะต้องพัก 21 วัน นักมวยที่ชนะ 3 ยก จะต้องพัก 14 วัน และนักมวยที่แพ้น็อก ต้องพักก่อนการชกครั้งต่อไป 30 -90 วัน สะท้อนให้เห็นถึงกฏหมายที่ยังบังคับใช้ได้ไม่เต็มที่

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.