บ้านชาวโรฮิงญาที่ถูกเผาในรัฐยะไข่ (ที่มา: wikipedia)
Posted: 15 Nov 2018 03:51 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2018-11-15 18:51
ประเด็นวิกฤตชาวโรฮิงญาเป็นที่ถกเถียงในเวทีประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ประยุทธ์เชื่อ อาเซียนมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาได้ ทางบังกลาเทศเลื่อนวันส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับ จากเดิมเริ่มวันนี้ กลุ่มผู้ลี้ภัยนับร้อยประท้วงต้าน
15 พ.ย. 2561 เดอะเนชั่น รายงานว่า ในเวทีประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่จัดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ช่วงวันที่ 11-15 พ.ย. มีการพูดคุยระหว่างผู้นำในประเด็นปัญหาเรื่องชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ที่ความรุนแรงจากกองทัพพม่าได้ทำให้ชาวโรฮิงญาจำนวนมากกว่า 700,000 คนลี้ภัยไปยังบังกลาเทศ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ประเทศไทยและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวกับเพื่อนร่วมสมาชิกคนอื่นว่า ประเทศไทย ในฐานะประธานอาเซียนต่อจากสิงคโปร์ได้มองเห็นศักยภาพของอาเซียนในการเป็นผู้เล่นที่มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขสถานการณ์ที่รัฐยะไข่ในแบบที่สร้างสรรค์ จับต้องได้ และยั่งยืน
แหล่งข่าวระบุว่า ประยุทธ์ได้กล่าวว่าอาเซียนควรจะส่งเสริมศูนย์ประสานงานอาเซียนด้านการช่วยเหลือมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ (AHA) เพื่อให้บริการด้านการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบ สนับสนุนการส่งผู้ลี้ภัยกลับที่มีความน่าเชื่อถือ มีนัยสำคัญและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับทุกชุมชนในรัฐยะไข่
ในขณะที่มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกฯ มาเลเซียกลับมีท่าทีที่แข็งกร้าวต่อพม่าในประเด็นโรฮิงญา โดยกล่าวว่าเขาผิดหวังกับสถานการณ์ในรัฐยะไข่ และขอให้อาเซียนมีความพยายามหยุดวิกฤตด้านมนุษยธรรมร่วมกัน ก่อนหน้านี้เขาก็ได้พูดถึงอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐพม่า ผู้นำรัฐในทางปฏิบัติ ว่าพยายามป้องกันในสิ่งที่ป้องกันไม่ได้
“พวกเขากดปราบประชาชนจนถึงจุดที่สังหารและสังหารหมู่พวกเขา” มหาธีร์กล่าวในวงธุรกิจอาเซียนเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา
ทั้งนี้ แหล่งข่าวระบุว่าอองซานซูจีเองก็พูดระหว่างการประชุมกับประเทศสมาชิกอาเซียนก็ได้บอกว่ารัฐบาลพม่าเข้าใจข้อกังวลของนานาชาติเรื่องรัฐยะไข่ ซึ่งเธอได้ะยายามแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี เพื่อให้เกิดการปรองดองและเอกภาพภายในประเทศ
ในขณะที่ผู้นำอาเซียนหลายคนใช้คำพูดที่หนักหน่วงเวลาพูดถึงวิกฤตโรฮิงญา หลายคนก็ได้แสดงความสนับสนุนให้รัฐบาลพม่าแก้ปัญหาในรัฐยะไข่ และไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวกับอองซานซูจีขณะประชุมกันว่าความรุนแรงที่ทำโดยกองทัพพม่านั้นไม่สามารถหาข้ออ้างได้
ในวันเดียวกัน รอยเตอร์รายงานว่าผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาหลายร้อยคนประท้วงในในเมืองคอกซ์บาซาร์ บังกลาเทศเพื่อต่อต้านการส่งพวกเขากลับไปยังพม่า หลังจากมีข่าวจากทางบังกลาเทศว่ามีการเลื่อนแผนการส่งตัวกลับในวันนี้
การส่งตัวกลับเป็นข้อตกลงที่บังกลาเทศทำร่วมกับพม่าในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ท่ามกลางข้อกังขาและการคัดค้านจากองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และกลุ่มช่วยเหลือต่างๆ ที่กลัวว่าผู้ถูกส่งตัวกลับจะมีปัญหาเรื่องความปลอดภัย
“ไม่ ไม่ พวกเราจะไม่ไป” ผู้ประท้วงชาวโรฮิงญานับร้อยตะโกนในค่ายตอนตะวันออกเฉียงใต้ของบังกลาเทศ ติดชายแดนของพม่า ผู้ประท้วงบางคนยังชูป้าย “เราต้องการความยุติธรรม” และ “เราจะไม่มีทางกลับไปยังพม่าถ้าพวกเราไม่ได้สัญชาติ)
แต่เดิม จำนวนชาวโรฮิงญาที่จะถูกส่งกลับในรอบแรกมีจำนวน 2,200 คน ทั้งนี้บังกลาเทศระบุว่าจะไม่มีการบังคับส่งกลับ และได้ขอให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ตรวจสอบว่าบุคคลในรายชื่อนั้นต้องการเดินทางกลับจริงหรือไม่
ชาวโรฮิงญาหลักแสนอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่แออัดในคอกบาซาร์มานานมากกว่าหนึ่งปีแล้ว หลังถูกกองทัพพม่าขับไล่ด้วยความรุนแรงออกมาจากรัฐยะไข่ ทั้งนี้ รัฐบาลพม่าได้มีข้อตกลงกับ UNHCR ในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาว่าพวกเขาจะทำงานร่วมกับยูเอ็นในการสร้างเงื่อนไขที่ปลอดภัยและมีศักดิ์ศรีสำหรับชาวโรฮิงญาในการเดินทางกลับรัฐยะไข่ จะการันตีในเรื่องความปลอดภัย เสรีภาพในการย้ายถิ่นและหนทางสู่การมีสถานะเป็นพลเมืองด้วย แต่รัฐบาลพม่าก็ยังไม่สามารถบรรลุเงื่อนไขใดๆ ได้ และ UNHCR ก็ถูกจำกัดการเข้าถึงรัฐยะไข่
พม่า-บังกลาเทศเตรียมส่งโรฮิงญากลับพฤหัสบดี 2 พันคน UN หวั่นไม่ปลอดภัย
สเตฟาน ดูจาริก โฆษกของเลขาธิการยูเอ็น อันโตนิโอ กูเตเรซ กล่าวว่า ขณะนี้รัฐยะไข่ยังไม่นำไปสู่การหวนคืนสู่พม่าของชาวโรฮิงญา “ในเวลาเดียวกัน เรากำลังเห็นผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาเดินทางจากรัฐยะไข่มายังบังกลาเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งควรเป็นตัวบ่งชี้ถึงเหตุการณ์ในพื้นที่”
ผู้สังเกตการณ์บางคนตั้งข้อสังเกตว่าการส่งตัวชาวโรฮิงญากลับนั้นมีแรงขับดันจากปัจจัยทางการเมืองจากนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ ชีค ฮาซีนา เนื่องจากบังกลาเทศกำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปช่วงสิ้นเดือน ธ.ค. ที่จะถึงนี้ และนโยบายการรับผู้ลี้ภัยเข้ามาอย่างต่อเนื่องกลายสภาพเป็นแรงกดดัน ทั้งที่จากเดิมนั้นเป็นผลดีในทางการเมืองต่อชีค ฮาซีนาในช่วงแรกๆ
แปลและเรียบเรียงจาก
Rohingya protest in Bangladesh; the launch of repatriation postponed: sources, Reuters, Nov. 15, 2018
Thailand ‘seeks delay’ in Asian Summit next year, The Nation, Nov. 14, 2018
แสดงความคิดเห็น