Posted: 14 Nov 2018 09:47 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2018-11-15 12:47


ชำนาญ จันทร์เรือง

จากกรณีที่ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เรื่อง กำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 ไปเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 ธันวาคม 2561นี้ โดยกำหนดให้นายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภาและอธิการบดี ของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาวิทยาลัยของรัฐ มหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมทั้งตรวจสอบและเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของบุคคลดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ

จากประกาศดังกล่าวได้เกิดปฏิกิริยาจากผู้ที่เป็นนายกฯและกรรมการสภาฯ ว่าเป็นการสร้างเงื่อนไขที่จุกจิกกวนใจและอำนาจหน้าที่กรรมการสภาฯไม่ได้มีอะไรมากมาย มีแต่เพียงเบี้ยประชุมครั้งละ 3,000 บาทเท่านั้น และหลายคนก็แสดงความจำนงที่จะลาออกเพื่อไม่ต้องจัดทำรายการทรัพย์สินฯโดยอ้างว่าเป็นภาระเกินสมควร และได้มีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการเสนอให้มีการยกเว้นหรือยกเลิกด้วยวิธีการต่างๆ แม้กระทั่งมีบางคนเสนอความเห็นให้ใช้มาตรา 44 ไปเลยก็มี จนทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์และถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการกระทำเช่นนี้

ฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการยื่นบัญชีทรัพย์สินนี้ก็บอกว่าในเมื่อเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูงแล้วก็ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินทั้งนั้นน่าจะรวมถึงคณบดีหรือวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร์(วปอ.)ด้วยซ้ำไป ส่วนหนึ่งจึงมีการรณรงค์ใน change.org โดย Suthee Rattanamongkolgul ซึ่งให้เหตุผลว่าปัจจุบัน มหาวิทยาลัยหลายแห่ง เปลี่ยนแปลงสถานภาพไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เพื่อให้มีอิสระในการบริหารกิจการภายในได้เองทุกเรื่อง โดยมีสภามหาวิทยาลัย ที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอกที่มาจากการสรรหา (ของผู้บริหาร) มาทำหน้าที่กำกับดูแลนโยบายของมหาวิทยาลัย สามารถออกและ/หรือแก้ไขระเบียบข้อบังคับต่างๆ ได้

ดังนั้นการออกนอกระบบ แท้จริงแล้วคือการช่วยให้มหาวิทยาลัยมีอิสระในการดำเนินงานมากกว่าในอดีต ผู้บริหารมีอิสระและอำนาจในการทำงานมากขึ้น กรรมการสภาฯ ก็มีอำนาจมากขึ้นด้วยเช่นกัน ส่วน สกอ.และกระทรวงศึกษาธิการ แทบจะไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบใดๆ ได้อีกแล้ว เพราะอำนาจในการกำกับดูแล การตรวจสอบ ลงโทษต่างๆ อยู่ที่สภามหาวิทยาลัยโดยตรง

ที่พบเจอคือ วันนี้ผู้บริหารกับกรรมการสภาฯ เป็นพวกเดียวกันทั้งหมด ทุกอย่างดูราบรื่น ที่มาของกรรมการสภาฯ ตามระเบียบทฤษฎี ก็จะมาจากการสรรหาจากบุคลากรทั้งมหาวิทยาลัยเสนอขึ้นมา แต่ ในทางปฏิบัติ ทั้งหมดก็มาจากการคัดสรรจากผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยนั่นเอง โดยอาจมีผู้ทรงคุณวุฒิอาวุโสบางคนร่วมอยู่เป็นที่ปรึกษา เพื่อให้ได้กลุ่มเครือข่ายเดียวกัน

มีข้อร้องเรียนจากอาจารย์ในบางสถาบันว่า ถ้ามีเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับกรณีที่ส่อว่าจะมีการทุจริต ประพฤติมิชอบ ของผู้บริหารระดับใดก็ตาม (ถ้าเป็นพวกเดียวกัน) ก็จะได้รับการช่วยเหลือกัน จะไม่พบการทุจริตจากการกระทำของผู้บริหารทั้งสิ้น อาจมีบ้างก็จะเป็นระดับเจ้าหน้าที่ พนักงาน บุคลากรทั่วไปเท่านั้น ดังนั้นการบริหารเงินงบประมาณ ปีละสอง สามพันล้านบาทโดยอิสระเสรีแบบนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะในระบบบริหารงานในปัจจุบันไม่มีกลไกการคานอำนาจระหว่างกันอย่างแท้จริง

ผู้ทรงคุณวุฒิเองก็มีข้อจำกัดที่จะเข้ามาเรียกหาข้อมูลเพราะไม่มีระบบผู้ช่วย ถ้าผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยปิดบังข้อมูล ผู้ทรงคุณวุฒิก็จะไม่สามารถรู้ได้เลย ดังนั้นในความเป็นจริงคือ ทุกคนจึงมาประชุม อภิปรายแสดงความคิดเห็นกันเฉพาะในระหว่างการประชุมเท่านั้น จึงเป็นจุดอ่อนที่เป็นช่องทางที่จะทำให้เกิดการทุจริตขึ้นได้ง่ายเพราะไม่มีระบบตรวจสอบและไม่มีกลไกการคานอำนาจกัน

เป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่แม้ว่ามหาวิทยาลัยจะออกนอกระบบไปแล้ว แต่รัฐบาล (สำนักงบฯ) ก็ยังจัดสรร งบประมาณมาให้เหมือนเดิม โดยเฉพาะงบก่อสร้างและครุภัณฑ์ ไม่ได้ลดลง งบเงินเดือนพนักงานก็ยังให้ตามปกติ พนักงานมหาวิทยาลัยที่ใช้งบเงินรายได้ของคณะหรือส่วนกลางมาก่อน ก็จะได้รับการบรรจุให้เป็นพนักงาน(ประจำ) ใช้งบประมาณแผ่นดินซึ่งจะมีความมั่นคงสูงกว่า แน่นอนว่ากลุ่มที่ได้รับการบรรจุก็คือกลุ่มคนที่เป็นพวกเดียวกันหรือสนับสนุนผู้บริหารเท่านั้น ในอนาคตถ้าจะมีการปลดพนักงานออก ก็จะเป็นพนักงานกลุ่มที่ไม่ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานเงินงบประมาณแผ่นดินนั่นเอง

ดังนั้น ในวันนี้ผู้บริหารมหาวิทยาลัย จึงได้ควบคุมอำนาจบริหารจัดการได้อย่างเบ็ดเสร็จในทุกระดับ โดยอยู่ในมือของกลุ่มผู้บริหารระดับสูงกับผู้ทรงคุณวุฒิบางคนที่เป็นหัวเรือใหญ่เครือข่ายเดียวกันเท่านั้น ด้วยสภาพการณ์แบบนี้ จึงมีโอกาสจะเกิดการทุจริตทางนโยบายขึ้นได้ ส่วนในระดับหน่วยงานตามคณะ สาขาวิชาต่างๆ ผู้บริหารส่วนนี้ก็สามารถจะกระทำทุจริตคอรัปชัน เช่น ในการจัดซื้อจัดจ้าง และงานก่อสร้างต่างๆ ได้ง่ายมาก เพราะบุคลากรผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานล้วนเป็นพวกเดียวกันทั้งหมดนั่นเอง ถ้ามีการร้องเรียนขึ้นไป เรื่องก็เงียบ คนร้องเรียนจะอยู่ไม่ได้

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยจึงเป็นแหล่งผลประโยชน์ขนาดใหญ่ ที่สามารถจะทุจริตคอรัปชันได้อย่างง่ายดาย เป็นแหล่งผลประโยชน์แหล่งใหญ่ที่สังคมภายนอกมองข้ามไป เพราะอาจจะเห็นว่าเป็นสถาบันการศึกษาระดับสูง เข้าทำนองคนมีการศึกษาจะไม่โกง ที่สำคัญไม่มีใครสามารถเข้าไปตรวจสอบได้เลย

ขอยกตัวอย่างวิธีหาผลประโยชน์ของผู้บริหารและกรรมการสภาฯ เช่น ร่วมกันออกนโยบายเอาทรัพย์สิน รายได้ของมหาวิทยาลัยไปซื้อหุ้นของสถาบันการเงินที่ผู้ทรงฯ เป็นกรรมการ เปิดสัมปทานภายใน เช่น เดินรถให้เอกชนที่มีผู้ทรงฯ บางคนเป็นหุ้นส่วน สร้างโครงการก่อสร้างอาคารต่างๆ ขึ้นมามากมายจนไม่รู้จะเอาไปใช้ประโยชน์อะไร แจกโควตาที่นั่งเด็กนักเรียนสาธิต ให้ผู้ทรงฯ ทุกปี ใครช่วยเหลือเกื้อกูลกันมากก็ให้มาก ล็อกสเป็กซื้อของพรรคพวกตน ขึ้นเงินเดือน ค่าตอบแทนให้พวกกันเอง กันอย่างเต็มที่ เอาเงินไปจ้างที่ปรึกษากฎหมายมืออาชีพปีละหลายล้านบาทไว้ต่อสู้คดีกับบุคลากรของมหาวิทยาลัย เป็นต้น ถ้าเงินงบประมาณไม่พอก็ขึ้นเงินค่าเล่าเรียน

ไม่มีใคร กล้าเข้าไปตรวจสอบ เก็บหลักฐาน เจ้าหน้าที่ทุกคนจะกลัวมาก เพราะอาจถูกประเมินไล่ออกได้ง่ายมาก ดังนั้น การที่ ปปช. ออกประกาศให้ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย และกรรมการสภาฯทุกคนยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สิน จึงอาจพอช่วยป้องปรามการทุจริตคอรัปชันได้อีกทางหนึ่ง

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นผมเห็นว่าควรที่จะยังคงประกาศฯนี้ไว้ ใครจะลาออกก็ลาออกไป คนที่เขาอยากทำงานมีเยอะแยะ ที่สำคัญก็คือจะได้หยุดวงจรการผลัดกันเกาหลังกันเองเสียทีน่ะครับ

เผยแพร่ครั้งแรกใน: กรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 14 พฤศจิกายน 2561

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.