สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการผู้ชำนาญการ สถาบันพระปกเกล้า แฟ้มภาพประชาไท

Posted: 05 Nov 2018 12:54 PM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2018-11-06 03:54


สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการผู้ชำนาญการจากสถาบันพระปกเกล้า ชี้ในการเลือกตั้งครั้งนี้จะมี New Voter มากถึง 8.3 ล้านคน สามารถกำหนดที่นั่ง ส.ส. ได้ร้อยกว่าเก้าอี้ แต่ข้อมูลการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ บอกว่าคนกลุ่มนี้ไม่ใช่กลุ่มหลักที่ออกไปใช้สิทธิ ขณะที่ปัจจุบันพวกเขายังยังขาดข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง และข้อมูลทั่วไปที่เกี่ยวกับการไปลงคะแนน

6 พ.ย. 2561 เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่มเครือข่ายเยาวชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย(We Watch) ได้จัดงานเสวนาวิชาการในหัวข้อ ความพร้อมของนักศึกษาต่อการเลือกตั้ง โดยมี สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการผู้ชำนาญการ สถาบันพระปกเกล้า เป็นผู้นำเสนอในประเด็น “การเลือกตั้งคือ เส้นชัย หรือบันไดขั้นแรก”


ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาคนรุ่น Baby Boomer เป็นกลุ่มที่ออกไปใช้สิทธิมากสุด ไม่ใช่กลุ่ม New Voter

สติธร ธนานิธิโชติ ระบุว่า ก่อนที่จะมีการพูดถึงเรื่องว่าการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือน ก.พ. 2562 จะเป็นเส้นชัย หรือเป็นเพียงบันไดขั้นแรก สิ่งที่น่าสนใจคือ จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งเป็นกลุ่มผู้ที่จะได้ใช้สิทธิครั้งแรก (New Voter) กกต. ได้ประมาณจำนวน New Voter ไว้ว่ามีจำนวนทั้งหมด 8.3 ล้านคน และเมื่อมีการคำนวณว่า คะแนนเสียงประมาณ 7 หมื่นกว่าเสียง จะเท่ากับการได้ ส.ส. 1 ที่นั่ง ก็จะพบว่า New Voter จะสามารถเลือก ส.ส. รวมกันได้ 100 กว่าที่นั่ง หากคนกลุ่มนี้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งร้อยเปอร์เซ็นต์

สติธร กล่าวต่อไปว่าจาก สถิติการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งราว 70-75 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนผู้มีสิทธิทั้งหมด แต่ในจำนวนนี้ยังไม่สามารถหาคำตอบได้ว่าผู้ที่ออกมาใช้สิทธิในครั้งที่ผ่านมาเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่โดยอายุมีจำนวนเท่าไร แต่จากการสังเกตจะพบว่าคนรุ่นเบบี้ บูมเมอร์ Baby Boomer หรือคนรุ่นอายุประมาณ 50 ปลายๆ ขึ้นไป เป็นคนกลุ่มที่มีพฤติกรรมในการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งมากกว่าคนในรุ่นอื่นๆ ซึ่งจำนวนมากเป็นคนที่อยู่ในชุมชน คนรุ่นนี้มีพฤติกรรมในการออกมาใช้สิทธิอยู่ที่ 90-100 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อดูจากค่าเฉลี่ยรวมการใช้สิทธิของประชาชนทุกกลุ่มอายุ สามารถอนุมานได้ว่ากลุ่มคนที่มีอายุน้อยกว่าคนรุ่น Baby Boomer มีอัตราการมาใช้สิทธิน้อยกว่า

“เรายังคาดหวังได้ยากว่าคนรุ่นใหม่โดยอายุจะออกมาใช้สิทธิจำนวนมาก แม้เราคาดหวังว่าไทยจะเกิดแลนด์สไลด์เหมือนมาเลเชีย ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกมาตบหน้าผู้มีอำนาจที่ผูกขาดอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่มีประเมินตัวเลขกลุ่มคนรุ่นใหม่ในมาเลเชียที่ออกมารณรงค์การเลือกตั้งอย่างคึกคัก เอาเข้าจริงแล้วไปใช้สิทธิเพียงแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ พลังที่ทำให้เกิดคนเปลี่ยนแปลงในมาเลเชียไม่ได้มาจากการที่คนรุ่นใหม่ออกมาใช้สิทธเลือกตั้ง แต่เขามีพลังในการไปดึงดูชักจูงคนรุ่นอื่นๆ ให้ลงคะแนนไม่ในทิศทางที่คนรุ่นใหม่ขับเคลื่อน” สติธร กล่าว
New Voter ยังขาดข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง และข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับการไปใช้สิทธิ

เขากล่าวต่อไปว่า ได้มีโอกาสพูดคุยกับคนรุ่นใหม่ที่จะได้ใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นนิสิตนักศึกษา ซึ่งอยู่ในมหาวิทยาลัยที่เป็นเสาหลักตามภูมิภาคต่างๆ เขาพบว่า ความพร้อมของคนรุ่นใหม่ในการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งนั้นขึ้นอยู่กับการมีข้อมูลข่าวสารที่เพียงพอต่อการตัดสินใจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องการให้ความรู้การให้การศึกษาอย่างเดียว แต่เป็นข้อมูลทั่วไปที่จำเป็น

สติธร อภิปรายต่อไปว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจะต้องมีหลักการสำคัญอย่างน้อย 2 หลักการคือ ความเป็นอิสระ(Free) และความยุติธรรม(Fair) ซึ่งสามารถอธิบาย 2 หลักการนี้สั้นๆ ได้ว่า การที่บุคคลหนึ่ง หากอยากจะเลือกอะไรก็ต้องได้เลือก ซึ่งนี่ไม่ใช่เพียงการออกไปใช้สิทธิในวันเลือกตั้งอย่างเดียวเท่านั้น แต่หมายรวมถึงเรื่องอื่นๆ เช่นการให้ข้อมูลเรื่องหน่วยเลือกตั้งว่า ผู้สิทธิเลือกตั้งจะต้องไปใช้สิทธิที่หน่วยไหน การเตรียมตัวก่อนไปใช้สิทธิต้องนำเอกสารอะไรไปบ้าง

นอกจากนี้ เขายังได้ทำแบบสอบถามให้ผู้ใช้สิทธิครั้งแรกตอบคำถาม ซึ่งเป็นคำถามง่ายๆ เช่น รัฐธรรมที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้คือรัฐธรรมนูญฉบับ 2559 ใช่หรือไม่, รัฐสภาประกอบไปด้วยสมาชิกกี่คน สิ่งที่พบก็คือกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกยังไม่มีความรู้พื้นฐานที่เพียงพอ ซึ่งสะท้อนว่าข้อมูลข่าวสารที่เป็นเรื่องทั่วไปเหล่านี้มาไม่ถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือมีข้อมูลข่าวสารหลายชุดที่ขัดแย้งกันจนทำให้เกิดความสับสน

“การให้ข้อมูลว่ากระบวนการเลือกตั้งเป็นอย่างไร แต่ละพรรคการเมืองมีนโยบายอย่างไร การให้ข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วน ไม่บิดเบือนไม่มีอคติ สุดท้ายแล้วจะทำให้คนมีความรู้เพิ่มขึ้น และเมื่อเขาตัดสินใจไปลงคะแนนเลือกตั้ง ก็มั่นใจได้ว่าเสียงที่เขาจะลงให้มันได้สะท้อนเจตนาของเขาอย่างแท้จริง ผมไม่โลกสวยถึงขั้นจะไปพูดว่าการเลือกตั้งที่มีคุณภาพมันจะตั้งเป็นการเลือกด้วยเหตุผล เพราะการเลือกตั้งในโลกนี้ในประเทศที่มีความก้าวหน้าทางระบอบประชาธิปไตยสูง คนเขาก็เลือกเพราะความชื่นชอบ ศรัทธา ไม่ได้เลือกด้วยเหตุผลชุดเดียวกัน เช่น เลือกคนดี เลือกคนมีการศึกษา เลือกคนเก่งหรือนักบริหาร หรือต้องเลือกพรรคการเมืองเชิงอดุมการณ์ หรือเลือกพรรคพลังดูด เรื่องพวกนี้มันแล้วแต่ผู้มีสิทธิแต่ละคน และเราก็ไม่ควรคาดหวังให้ทุกคนเลือกด้วยเหตุผลชุดเดียวกัน ขออย่างเดียวคือ เมื่อเขาอยากเลือกอะไร ขอให้เขาได้เลือก” สติธร กล่าว
อย่ามองข้ามเรื่องเล็กน้อย เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถบิดเบือนเจตจำนงค์อิสระในการเลือกตั้งได้

เขา กล่าวต่อไปว่า กระบวนการสู่การเลือกตั้งเวลานี้ทุกฝ่ายได้เตรียมตัวไว้แล้ว แต่รายละเอียดต่างๆ เหล่านี้จะต้องไม่ทำให้เกิดปัญหา หรืออุปสรรคต่อความต้องการเลือกของผู้มีสิทธิ อย่างไรก็ตามสิ่งที่เป็นปัญหาแล้วในเวลานี้ และไม่สามารถแก้ไขได้ คือระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งมีโอกาสทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่สามารถเลือกได้ตามที่ต้องการ

เขา ยกตัวอย่างง่ายๆ โดยสมมติว่า มีคนอยากเลือกพรรคอนาคตใหม่ และต้องการให้ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ กำหนดให้พรรคการเมืองต้องส่งผู้สมัครลงไปในระบบเขตที่มีทั้งหมด 350 เขต เพราะใบเลือกตั้งที่เราจะได้มาในวันเลือกตั้งจะเป็นใบเลือกตั้งผู้สมัครแบบเขตไม่ใช่บัตรเลือกพรรค และหากพรรคอนาคตใหม่ไม่สามารถส่งผู้สมัครได้ครบทุกเขตไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม ก็หมายความว่าในเขตที่ไม่มีผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่ ประชาชนในเขตนั้นก็ไม่สามารถเลือกพรรคอนาคตใหม่ได้

สติธร กล่าวต่อไปว่า บัตรเลือกตั้งที่จะมีในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นการใช้บัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว และเป็นบัตรในระบบแบ่งเขต ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาบัตรเลือกตั้งในระบบเขตสิ่งที่ปรากฎอยู่ในบัตรเลือกตั้งจะมีเพียงอย่างเดียวคือเลขหมายของผู้สมัคร ไม่มีชื่อผู้สมัคร และไม่มีชื่อพรรคการเมืองปรากฎอยู่ หากการเลือกตั้งครั้งหน้าบัตรเลือกตั้งยังขณะแบบนี้อยู่ก็อาจจะเกิดปัญหาทำให้ประชาชนเกิดความสับสน เช่นบางคนจำได้แต่เพียงชื่อผู้สมัคร หรือจำได้แต่เพียงชื่อพรรคการเมืองที่ต้องการจะเลือก แต่เมื่อไปถึงหน่วยลงคะแนนกลับไม่สามารถเลือกได้อย่างถูกต้อง หรือเลือกได้ตรงกับความต้องการของตัวเองเพราะไม่รู้ว่าจะต้องเลือกเบอร์อะไร นี่คือเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่สามารถบิดเบือนเจตจำนงค์อิสระของผู้คนได้

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.