Posted: 03 Nov 2018 11:08 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-11-04 13:08
องค์กรภาคประชาชน ออกแถลงการณ์ร่วมขอให้ยุติการดำเนินคดีชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ทั้งทางแพ่งทางอาญา หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและให้รัฐจ่ายเงินชดเชย กรณีเจ้าหน้าที่เผาบ้านปู่คออี้และชุมชนกะเหรี่ยง
4 พ.ย. 2561 องค์กรภาคประชาชน 16 องค์กร นำโดยเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.) ออกแถลงการณ์ร่วมขอให้ยุติการดำเนินคดีชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ทั้งทางแพ่งทางอาญา หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและให้รัฐจ่ายเงินชดเชย กรณีเจ้าหน้าที่เผาบ้านปู่คออี้และชุมชนกะเหรี่ยง
แถลงการณ์ระบุว่าเมื่อวันที่ 25-31 ต.ค. 2561 มีสื่อมวลชนบางสำนักได้เผยแพร่ข่าวอย่างต่อเนื่องในทำนองว่า อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจฯ กรมอุทธยานฯ เข้าพบพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้สืบสวน สอบสวน ดำเนินคดีกับชาวกะเหรี่ยง คือทายาทของนายโคอิ มีมิ หรือปู่คออี้กับพวกรวม 6 คน ในข้อหายึดถือหรือครอบครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติ คือบริเวณบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ซึ่งถูกประกาศทับโดยเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
เรื่องนี้นี้สืบเนื่องมาจากกรณีที่ในปี 2555 ปู่คออี้ และชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน รวม 6 คน ในฐานะผู้ฟ้องคดี ได้ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ส. 58/2555 ซึ่งเป็นคดีเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม สิทธิชุมชนและสิทธิของชนพื้นเมืองที่ ได้รับความสนใจจากสาธารณะชนในช่วงเกือบ 10 ปีมานี้ โดยผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 คน กล่าวหาว่า เมื่อปี 2554 ในการปฏิบัติการยุทธการตะนาวศรี เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกลุ่มหนึ่ง ได้ใช้กำลังบังคับให้พวกตนต้องโยกย้ายออกจากที่ดินและชุมชนบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน อันเป็นถิ่นกำเนิด ที่ทำกินและอยู่อาศัยมาหลายชั่วอายุคน ทั้งได้เผาทำลายบ้านเรือน ยุ้งฉาง เรือกสวนไร่นาของพวกตนและประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงคนอื่นๆอีกหลายสิบคนจนเสียหาย โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าบ้านเรือน เรือกสวนไร่นา ดังกล่าวตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในท้ายที่สุดหลังจากต่อสู้คดีมาเกือบ 10 ปี ศาลปกครองสูงสุดก็ได้มีคำพิพากษาอันเป็นที่สุด เป็นคดีหมายเลขแดงที่ อส. 4/2561 เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2561 ว่า บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน แม้อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานก็ถือเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธ์กะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่โดยการรื้อถอน เผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยง และไม่ปฏิบัติตาม มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ในส่วนการจัดการทรัพยากรที่ให้ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการละเมิดทางปกครอง จึงต้องเยียวยาปู่คออี้และผู้ฟ้องคดีอีก 5 คน เป็นเงินเฉลี่ยแล้วคนละประมาณ 50,000 บาท (อ่านคำพิพากษาฉบับเต็มได้ที่นี่ https://bit.ly/2BVT01U) [1] อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ครั้งนั้น มีบ้านที่ถูกเผาทำลายเกือบ 100 หลังที่ชาวกะเหรี่ยงเจ้าของบ้านยังไม่ได้ฟ้องหน่วยราชการเป็นคดีต่อศาลปกครองเพื่อให้หน่วยงานของรัฐรับผิดชอบ
หลังจากมีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด แทนที่หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบ จะดำเนินการแก้ไขฟื้นฟูเยียวยาและให้ความคุ้มครองแก่ชาวกะเหรียงบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดินจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ ซึ่งการฟื้นฟูเยียวยานั้น ควรรวมถึงการให้ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มดังกล่าวได้รับสิทธิคืนมา โดยสามารถกลับเข้าไปอยู่อาศัยในพื้นที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดินได้ดังเดิม เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตตามขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นและวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง ตามหลักสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน แต่กลับปรากฎว่ามีเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ บางคนได้อ้างคำสั่งอธิบดีฯ เพื่อแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ. แก่งกระจาน ให้สืบสวนสอบสวน ว่าปู่คออี้และผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 นั้น ได้กระทำผิดฐานบุกรุกครอบครองพื้นที่ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนที่เจ้าหน้าที่จะบังคับโยกย้ายปู่คออี้และชาวกะเหรี่ยงออกจากพื้นที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน และเผาทำลายเผาบ้านเรือนของพวกเขาในปี 2554
การที่ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่ากลุ่มชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม นั่นก็หมายความว่าชุมชนจะได้รับความคุ้มครองว่ามีสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ และยังได้รับความคุ้มครองตามมติครม.เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2553 ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงฯ และยังพิพากษาว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่ได้เผาทำลายบ้านเรือน ยุ้งฉาง เรือกสวน ไร่นาของชาวกะเหรี่ยงในโครงการขยายผลการอพยพผลักดันหรือจับกุมชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานตามแนวชายแดนไทย – สหภาพเมียนมาร์ บริเวณพื้นที่บ้านบางกลอยและใจแผ่นดิน ในปี 2554 ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั่นแสดงว่า การอยู่และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดินโดยปู่โคอี้และลูกหลานชาวกะเหรี่ยงเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญและเป็นไปตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2553 จึงไม่ได้เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ จะนำมาฟ้องคดีทั้งในทางแพ่งและอาญาต่อปู่คออี้และชาวกะเหรี่ยงได้ เพราะชาวกะเหรี่ยงอยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวโดยชอบธรรมตามสิทธิที่ได้รับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ
เรื่องราวของชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดินได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้นอีก เมื่อนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ ซึ่งมีฐานะเป็นหลานของปู่คออี้ และเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการปกป้องสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแห่งบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน ได้หายตัวไปเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2557 หลังถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน (อ่านเรื่องราวเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/2NoXyjd)[2]
ความพยายามของเจ้าหน้าที่บางคนของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ที่พยายามผลักดันให้กรมอุทยานฯ แจ้งความดำเนินคดีปู่คออี้และชาวกะเหรี่ยงผู้ฟ้องคดีศาลปกครองอีก 5 คน ข้างต้น โดยอ้างเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อสิบปีก่อนมากล่าวหาอีกนั้น องค์กรสิทธิมนุษยชนเห็นว่า นอกจากแสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่กลุ่มดังกล่าว ไม่ยอมรับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดแล้ว ยังอาจมีลักษณะเป็นการกลั่นแกล้ง ข่มขู่ คุกคาม ไม่ให้ชาวกะเหรี่ยงอีกหลายสิบคนที่บ้านเรือนของตนถูกเผาทำลายโดยเจ้าหน้าที่ในคราวเดียวกันนั้น ออกมาเรียกร้องสิทธิและขอความเป็นธรรมเช่นเดียวกับปู่คออี้ ซึ่งถือว่าเป็นการขัดขวางการเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชนอีกด้วย
องค์กรสิทธิมนุษยชน จึงขอตั้งคำถามถึงความสุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กลุ่มดังกล่าว เนื่องจากชุมชนกะเหรี่ยงดังกล่าวได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญของไทย และตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ ที่ให้ความสำคัญเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยมาแต่ดั้งเดิมในพื้นที่ป่าและได้เรียกร้องให้รัฐไทยทบทวนกฎหมายป่าไม้ที่เกี่ยวข้องเพื่อประกันให้มีการเคารพต่อสิทธิในวิถีชีวิต การดำรงชีพ และวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ [3]
จากกรณีและเหตุผลดังกล่าวข้างต้น องค์กรสิทธิมนุษยชน จึงข้อเรียกร้องรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้ 1. ขอให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดอย่างเคร่งครัด 2. ขอให้ทางราชการยุติความพยายามในการดำเนินคดีต่อปู่คออี้และชาวกะเหรี่ยงผู้ฟ้องคดีศาลปกครองอีก 5 คน และชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดินคนอื่นๆ ทั้งทางแพ่งและทางอาญาโดยทันที 3. ขอให้กรมอุทยานฯ ชดใช้ค่าเสียหายแก่ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดินที่บ้านเรือนยุ้งฉาง เรือกสวน ไร่นา ถูกเผาทำลายในยุทธการตะนาวศรีเมื่อสิบปีก่อน ตามแนวของคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีปกครองหมายเลขแดงที่ อส. 4/2561 ดังกล่าวข้างต้นด้วย
4. ขอให้รัฐบาลและกรมอุทยานฯ ให้ความคุ้มครองและฟื้นฟูเยียวยาชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ด้วยการคืนสิทธิชุมชน ให้พวกเขาสามารถกลับเข้าไปอยู่อาศัยในพื้นที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน เพื่อใช้ชีวิตตามวิถีของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมได้ดังเดิมต่อไป โดยปฏิบัติตาม มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงฯ โดยเคร่งครัด และ 5. ขอให้กรมอุทยานฯ เจ้าหน้าที่รัฐ และรัฐบาล ยกเลิกกฎ ระเบียบ มาตการ และการกระทำอันเป็นการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติต่อชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน และกลุ่มชาติพันธุ์ชนพื้นเมืองอื่นๆ ตามพันธกรณีที่ประเทศไทยมีอยู่ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกประติบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบและหลักการสิทธิมนุษยชนโดยเคร่งครัด
โดยรายชื่อองค์กรในแถลงการณ์ดีดังนี้ 1. เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.) 2. ศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 3. ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 4. กลุ่มรักษ์บ้านเกิด ตำบลน้ำปลีก อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ 5. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน 6. กปอพช ศูนย์เผยแพร่และส่งเสริมงานพัฒนา 7. ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.) 8. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม 9. มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน 10. สมาพันธุ์เพื่อช่วยเหลือชาวมอญ 11. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน 12. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม 13. ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น (ศพช.) 14. มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา 15. เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี 16. สมาคมสิทธิเสรีภาพประชาชน
และรายชื่อบุคคล 1. งามศุกร์ รัตนเสถียร สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล 2. มาลี สิทธิเกรียงไกร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 3. ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 4. ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์
______
[1] ข้อมูลจากสมาคมนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน
[2] ข้อมูลจากสมาคมนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน
[3] ข้อ 16 ในเอกสาร CERD/C/THA/CO/1-3 ข้อสังเกตเชิงสรุปของคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ เผยแพร่วันที่ 31 ส.ค. 2555
แสดงความคิดเห็น