แอมเนสตี้ เผยสถิติจำนวนนักโทษถูกประหารทั่วโลกสูงสุดในรอบ 25 ปี 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดรายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตทั่วโลกในปี 2558 ชี้ตัวเลขการประหารชีวิตกว่า 1,634 คน กลายเป็นสถิติสูงสุดในรอบกว่า 25 ปี โดยสามประเทศที่ประหารชีวิตมากที่สุดคือ อิหร่าน ปากีสถาน และซาอุดิอาระเบีย ขณะที่ไทยไม่มีการประหารชีวิตมาแล้ว 7 ปี ซึ่งหากไม่มีการประหารชีวิตนักโทษภายใน 10 ปี จะถือเป็นพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนอีกขั้นหนึ่งของไทย

รายงานระบุว่าปี 2558 เป็นปีที่มีการประหารชีวิตมากที่สุด นับตั้งแต่ปี 2532 ที่เริ่มมีการบันทึกจำนวนนักโทษ โดยมีผู้ถูกประหารชีวิตในปีที่แล้วมากกว่า 1,634 คนใน 25 ประเทศ เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ถึง 54% ซึ่งตัวเลขนี้ยังไม่นับรวมตัวเลขจากประเทศจีน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวถือเป็นความลับของทางราชการ แต่จีนยังคงเป็นประเทศที่ประหารชีวิตประชาชนมากสุดในโลก ซึ่งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเชื่อว่ามีผู้ถูกประหารชีวิตและถูกสั่งลงโทษประหารชีวิตหลายพันคนในปี 2558 แม้จะมีสัญญาณว่าจำนวนการประหารชีวิตในจีนลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่เนื่องจากการเก็บข้อมูลโทษประหารชีวิตเป็นความลับทำให้ไม่สามารถยืนยันข้อมูลที่แท้จริงได้

ประเทศที่ประหารชีวิตประชาชนมากสุดห้าอันดับแรกของโลกในปี 2558 ได้แก่ จีน อิหร่าน ปากีสถาน ซาอุดีอาระเบียและสหรัฐฯ ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างกำลังหันหลังให้กับโทษประหารชีวิต ซึ่งขณะนี้ราว 140 ประเทศหรือมากกว่า 2 ใน 3 ของ ประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติแล้ว โดยที่ 102 ประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดอาญาทุกประเภท

ซาลิล เช็ตตี้ เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุว่าโชคดีที่ประเทศซึ่งประหารชีวิตประชาชนยังคงเป็นประเทศส่วนน้อยและมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ ประเทศส่วนใหญ่ในโลกหันหลังให้กับโทษประหารชีวิตแล้ว

“ไม่ว่าความถดถอยระยะสั้นจะเป็นอย่างไร แต่แนวโน้มระยะยาวยังคงชัดเจนว่า ทั่วโลกกำลังมุ่งหน้าออกจากโทษประหารชีวิต ประเทศที่ยังคงมีโทษประหารชีวิตจึงต้องตระหนักว่า พวกเขาอยู่ในด้านที่ผิดของประวัติศาสตร์ และควรยกเลิกการลงโทษที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรมมากสุดนี้เสียที”

สำหรับประชาคมอาเซียนซึ่งประกอบด้วย 10 ประเทศนั้น กัมพูชาและฟิลิปปินส์ ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภท ส่วนลาว พม่า และบรูไน ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ (การที่ยังคงไว้ซึ่งโทษประหารชีวิต แต่ได้ระงับการประหารชีวิตเป็นระยะเวลา 10 ปีติดต่อกัน) ส่วนประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์และเวียดนามยังคงมีและใช้โทษประหารชีวิตอยู่

แอมเนสตี้ระบุว่า ในส่วนของประเทศไทยนั้นไม่มีการประหารชีวิตมาแล้ว 7 ปี โดยการประหารชีวิตครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2552 ซึ่งหากไม่มีการประหารชีวิต 10 ปีติดต่อกัน ทางองค์การสหประชาชาติจะถือว่าเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติทันที ซึ่งจะถือเป็นพัฒนาการที่ดีด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับประเทศไทยอีกก้าวหนึ่ง


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.