ว่าด้วยอะไรเปลี่ยน ไม่เปลี่ยน ในร่าง 2 ฉบับของมีชัย ที่โผล่มาโดยไม่บอกใครคือจับ สปท.มัดตราสังเตรียมถ่วงน้ำ กับ "พุทธเถรวาท" ป้องกันการบ่อนทำลาย ส่วนที่บอกสังคมไว้แล้ว คือรื้อมาตรา 207 อำนาจศาลวินิจฉับวิกฤติ แต่ก็งั้นแหละ ตราบใดที่ยังมีคนก่อวิกฤติ
ส่วนที่แก้ให้ดูดีหน่อยก็มี คือการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จากที่แก้ไม่ได้เลย ก็ทำให้ดูเหมือน "เกือบแก้ได้" ส่วนที่ไม่แก้ ไม่ว่าใครวิจารณ์อย่างไรก็ตาใส คืออำนาจศาล รธน.เป็น "ศาลศาสนา" ถอดถอนตัดสิทธิด้วยข้อบังคับจริยธรรม เลือกตั้งบัตรใบเดียว (ซึ่งอำนาจ กกต.จะทำลายได้ทั้งตัวบุคลลและคะแนนพรรค) ตลอดจนลดเรียนฟรีจาก ม.6 เป็น ม.3 (วางยาหรือเปล่าหวา แล้วเด็ก รด.ที่ไหนมันจะเชียร์ร่าง รธน.)
พอ คสช.มีใบสั่ง มีชัยก็ทำเป็นยอมทีละขยัก แต่ผลออกมาพร้อมพรัก แม้ไม่ให้อำนาจ ส.ว.ลากตั้งลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล ไม่ให้เลือกนายกฯคนนอกโดยตรง แต่ก็ร่างมาจ่อให้ แล้วแต่จะเอาไปทำให้สำเร็จอย่างไร เพราะยังมีคำถาม สนช. (ที่รธน.ชั่วคาวบอกให้รับฟังความเห็น สปท.) ตอนนี้ สปท.ก็เริ่มแล้ว ให้รัฐสภาเลือกนายกฯ แต่ถ้าโดนด่ามาก สนช.ก็อาจแปลงคำถามนิดหน่อย ให้วุฒิสภาลงมติไม่ไว้วางใจ เท่านั้่นก็เรียบร้อย นายกฯ คนนอกจะไปไหนเสีย
ใบตองแห้ง
สปท.มีไว้ทำไม ไม่ต้องรอชาวบ้านถาม กรธ.ทำเซอร์ไพรส์หั่นอายุจาก 1 ปีเหลือ 4 เดือนเมื่อรัฐธรรมนูญผ่าน ทำให้กระทั่งคนค้านยังสะใจเมื่อเห็น "นักการเมืองแต่งตั้ง" บางรายดิ้นพล่าน คิดสะระตะประหยัดงบประมาณเกือบ 200 ล้าน ถ้าอยากอยู่ต่อต้องแอบลุ้นให้รัฐธรรมนูญไม่ผ่าน หรือไม่ก็ลุ้นข้ามช็อตเป็น ส.ว.แต่งตั้ง 5 ปีไปเลย
สปท.ตกเก้าอี้ไม่ เว้นไพบูลย์ นิติตะวัน ม็อบพระไม่ต้องออกแรงไล่ อ้าว งั้นพระจะรับร่างรัฐธรรมนูญไหม น่าสนใจนะ เพราะแม้ไม่บัญญัติ "พุทธเป็นศาสนาประจำชาติ" แต่ก็เพิ่มข้อความให้รัฐสนับสนุน "พุทธเถรวาท" รวมทั้ง "มีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูป แบบใด"
เพียงแต่ยังสงสัยอยู่ ว่าข้อความที่เพิ่มมาจะทำให้ไม่สามารถวิพากษ์พระ วิจารณ์ศาสนา หรือห้ามตีความพระธรรมวินัยแตกต่างไปหรือเปล่า
นี่คือบางเรื่องที่ไม่มีในร่างแรก โผล่ใหม่ในร่างหลัง โดยผู้มีส่วนได้เสียไม่ทันตั้งเนื้อตั้งตัว เพราะ กรธ.ไม่เคยแถลง กระทั่งมัดตราสังเตรียมถ่วงน้ำแล้วท่านผู้เฒ่ามีชัยจึงชี้แจง สปท. ลูบหลัง ขอโทษซื่อๆ ไม่ทันบอกกัน
ขณะที่บางเรื่องท่านเคยแจ้งให้ทราบ เช่นเดิมให้ศาลรัฐธรรมนูญยึด ม.7 ไปเป็น ม.207 ก็แก้ไขกลับมาไว้ใน ม.5 ให้อำนาจประธานศาลต่างๆ ประธานรัฐสภา วุฒิสภา นายกฯ ฝ่ายค้าน องค์กรอิสระ ประชุมร่วมกันแก้วิกฤต
ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ใช่สาระสำคัญ ที่ผ่านมาไม่เคยเกิดวิกฤตจนรัฐธรรมนูญหมดทางแก้ แต่หาเรื่องสร้างวิกฤตกันมากกว่า ปี 49 จะกลับสู่เลือกตั้งอยู่แล้วยังทำรัฐประหาร ปี 57 มีเลือกตั้งก็ขัดขวางเลือกตั้ง สร้างทางตันให้รัฐบาลลาออกเพื่อให้วุฒิสภาตั้งนายกฯ คนกลาง
หมวดสิทธิ หน้าที่ แนวนโยบายแห่งรัฐ เรียกหาสิทธิชุมชนกันนัก ท่านเพิ่มให้ 4-5 มาตรา แต่ไม่ยักคืนสวัสดิการเรียนฟรี โยก 12 ปีไปจบแค่ ม.3 แล้วอย่างนี้ เด็ก ร.ด.จะรับร่างไหม อุตส่าห์รณรงค์ประชาชนมาใช้สิทธิแทบตาย กลับถูกตัดสิทธิเรียนฟรี
ส่วนที่ถูกวิจารณ์แล้วแก้ให้บ้างก็มี เช่น การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จากเดิมต้องมีวุฒิสมาชิกเห็นชอบ 1 ใน 3 มี ส.ส.จากทุกพรรคเห็นชอบเกิน 10% ถ้าเป็นพรรคต่ำสิบ ก็ยังต้องเกิน 10% ของทุกพรรครวมกัน ครั้งนี้ท่านให้เอาแค่ 20% ของทุกพรรคที่ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี ประธานและรองประธานสภา (ก็พรรคฝ่ายค้านนั่นละ)
เรียกว่าจากแก้ไม่ได้เลย ก็ให้ความหวังว่าเกือบแก้ได้ แต่ยังต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แล้วใครจะแก้อำนาจศาล
อ้อหมวดศาลรัฐธรรมนูญท่านก็แก้เหมือนกัน เพียงแต่ ไม่แก้อายุ 75 ปี กลับไปลดวาระจาก 9 เหลือ 7 ปี ขณะที่อำนาจยังอยู่ครบ โดยเฉพาะอำนาจน้องๆ "ศาลศาสนา" ใช้ข้อบังคับจริยธรรมถอดถอนตัดสิทธินักการเมือง
ส่วนที่เหลือ ท่านตาใสไม่แก้เลย ไม่ว่าวิพากษ์วิจารณ์อย่างไร เลือกตั้งบัตรใบเดียว ทำโพลเห็นแต่ถามเรื่องประหยัด ไม่ยักมีใครมองปัญหาใหญ่ ที่ให้อำนาจ กกต.ระงับสิทธิผู้สมัคร ส.ส.เขต ก็แปลว่าพรรคไม่ได้คะแนนเขตนั้นทันที ขณะที่ การแจกใบแดงตามหลังก็ทำให้จำนวน ส.ส.แต่ละพรรคผันแปรไม่ยุติจนครบ 1 ปี
ทั้งหมดนั่นละครับ ท่านไม่แก้เลย ที่มา ส.ว.แบบให้ผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ (ไม่ใช่ชาวบ้านธรรมดา) เลือกกันเอง บทบัญญัติให้แต่ละพรรคเสนอว่าที่นายกฯ 3 คน ฯลฯ ไปจนบทเฉพาะกาลที่ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ท้วงว่าการให้อำนาจ คสช. คง ม.44 ทั้งที่มีรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว ไม่เคยมีรัฐธรรมนูญ (หลังรัฐประหาร) ฉบับไหนทำ
ที่ท่านยอมแก้ก็มีแต่ "ตามสั่ง" บทเฉพาะกาล ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน ตำแหน่งประจำ ผบ.เหล่าทัพ 6 คน แม้ยังไม่ให้อำนาจลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล แม้ยังกั๊กๆ นายกฯ คนนอกต้องขอ มติรัฐสภา แต่ไปๆ มาๆ หลังจากวันแรกบอกคนดู "พบกันครึ่งทาง" ยังทำเหนียมรักษาภาพกับสังคม วันถัดๆ มาก็ปล่อยทีละขยักจนเกือบครบตามต้องการ
ณ วันนี้ เหลือขยักเดียวเท่านั้น คือให้ ส.ว.แต่งตั้งโหวต ไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ ซึ่งอย่าลืมว่า สนช.ยังสามารถตั้งคำถามประชามติประกบร่างรัฐธรรมนูญ โดยรับฟังความเห็น สปท. และตอนนี้ก็มีผู้เสนอให้ ส.ว.แต่งตั้งโหวตเลือกนายกฯ ได้ด้วยซ้ำ
ไม่จำเป็นต้องถึงขั้นนั้น หรอกครับ ขอแค่ ส.ว.แต่งตั้งโหวตล้มรัฐบาลได้ นายกฯ คนนอกจะไปไหนเสีย ระบอบที่ กรธ.วางไว้ นายกฯ เลือกตั้งไม่มีทางทำงานได้ เผลอๆ เสนอนโยบายเรียนฟรี 15 ปีถึง ม.6 ก็อาจถูกองค์กรอิสระเล่นงานตกเก้าอี้ได้ทันที
source :- FB Atukkit Sawangsuk & http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=1459506708
แสดงความคิดเห็น