รายงานธนาคารโลกชี้ ระบบสาธารณสุขไทยพัฒนาไม่ทันรองรับสังคมคนชรา ในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า
รายงานฉบับล่าสุดของธนาคารโลก เผยถึงปัญหาเรื่องช่องว่างการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของคนชราในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มว่า ประชากรคนชราซึ่งกำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว จะไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้โดยสะดวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ยากจนและอยู่ในพื้นที่ห่างไกล
นายอุลริค ซาเชา ผู้อำนวยการธนาคารโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระบุว่า ประเทศไทยควรพิจารณาการปฏิรูประบบสวัสดิการสังคม เพื่อให้มีการบริหารการเงินที่ครอบคลุมสำหรับคนชรา เพื่อเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ในระยะยาว และภาครัฐสามารถรับภาระรายจ่ายส่วนนี้ได้อย่างยั่งยืน
เมื่อปีที่แล้ว กว่า 10% ของประชากรไทย หรือกว่า 7 ล้านคน เป็นผู้มีอายุมากกว่า 65 ปี และภายในปี 2583 ประชากรในส่วนนี้จะมีมากกว่า 17 ล้านคน หรือกว่า 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ ทำให้ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เช่นเดียวกับจีน
แม้คนชราในไทยจะสามารถใช้บริการประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ แต่พบว่าปัจจุบันยังประสบปัญหาในการเดินทางมารับบริการที่สถานพยาบาล ซึ่งต้องพึ่งพาผู้ดูแลเช่นลูกหลานเป็นผู้พาเดินทางมา ทำให้ผู้ที่มีอายุมากกว่า 80 ปี และอยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกล หรือไม่ได้อาศัยอยู่กับลูกหลาน ไม่สามารถเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลเป็นประจำได้ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางยังเป็นอุปสรรคสำคัญ ทำให้บางคนต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาเป็นค่าเดินทางเข้ารับการรักษาพยาบาลด้วย
ทั้งนี้ รายงานของธนาคารโลกชี้ว่า แนวทางการแก้ปัญหานี้ส่วนหนึ่ง คือการส่งเสริมให้องค์กรส่วนท้องถิ่นและอาสาสมัครสาธารณสุข เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการดูแลคนชรา เช่น การออกเยี่ยมบ้าน จัดกิจกรรมส่งเสริมและให้ความรู้ด้านสุขภาพ รวมทั้งการจัดระบบขนส่งเพื่อเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ดีขึ้นด้วย


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.