วิกฤติยูโรโซนผลักคนจากยุโรปตะวันออกเข้าไปหางานทำในอังกฤษมากขึ้น
Migration Observatory ซึ่งเป็นหน่วยงานศึกษาเรื่องการอพยพย้ายถิ่นฐานของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ระบุว่า วิกฤติการจ้างงานในกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร (ยูโรโซน) ส่งผลให้ผู้คนในหลายประเทศโดยเฉพาะในยุโรปตะวันออกอพยพเข้าไปหางานทำในอังกฤษมากขึ้น เพราะต้องการหนีวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศของตนเอง
รายงานจาก Migration Observatory ระบุว่า ปัจจุบันมีพลเมืองจากสหภาพยุโรป (อียู) ที่เข้าไปอาศัยในอังกฤษทั้งสิ้น 3.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นเกือบ 700,000 คนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยพลเมืองอียูที่เพิ่มขึ้น 49% มาจากโปแลนด์และโรมาเนีย ส่วนอีก 24% มาจากอิตาลีและโปรตุเกส ซึ่งปัจจัยที่ทำให้คนกลุ่มนี้อพยพเข้าไปอยู่ที่นี่มีด้วยกันหลายประการ หนึ่งในนั้นคือเรื่องรายได้ที่น้อยและเศรษฐกิจที่แย่ลง
รายงานฉบับนี้พบว่า กว่า 70% ของพลเมืองอียูที่เข้ามาอยู่ในอังกฤษเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปีบอกว่ามีจุดประสงค์เข้าไปทำงาน โดยในจำนวนนี้กว่าครึ่งบอกว่าได้งานทำแล้ว การวิเคราะห์ข้อมูลของทางการบ่งชี้ว่า เกือบครึ่งของพลเมืองอียูในอังกฤษมาจาก โปแลนด์ โรมาเนีย สเปน อิตาลี ฮังการี และโปรตุเกส โดยระหว่างปี 2554-2558 พบว่าจำนวนผู้อพยพจากประเทศเหล่านี้เพิ่มขึ้นกว่า 500,000 คน ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่สเปน อิตาลี และโปรตุเกส กำลังประสบวิกฤติเศรษฐกิจทำให้มีการเลิกจ้างงานเกือบ 1 ล้านตำแหน่ง
เรื่องนี้ถือเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนก่อนหน้าการลงประชามติว่าอังกฤษจะยังต้องการเป็นสมาชิกอียูต่อไปหรือไม่ โดยกลุ่มผู้สนับสนุนให้อังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกอียูชี้ว่า สวัสดิการสังคมของอังกฤษเป็นปัจจัยดึงดูดผู้อพยพเหล่านี้ ขณะที่กลุ่มผู้ต้องการให้อังกฤษอยู่ในกลุ่มอียูต่อไปชี้ว่า การเปิดพรมแดนให้พลเมืองอียูเข้าไปทำงานในอังกฤษได้อย่างเสรีจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจอังกฤษ เพราะคนกลุ่มนี้เข้ามาทำงานและเสียภาษีให้รัฐ สอดคล้องกับข้อมูลในรายงานฉบับนี้ที่ไม่พบหลักฐานบ่งชี้ว่าสวัสดิการสังคมเป็นปัจจัยหลักที่ดึงดูดแรงงานต่างด้าวเหล่านี้เข้าประเทศแต่อย่างใด เพราะคนส่วนใหญ่มักเข้าไปทำงาน และไม่ได้ขอใช้สิทธิ์รับเงินช่วยเหลือสำหรับคนว่างงาน ทว่ามักทำเรื่องขอเครดิตภาษีสำหรับครอบครัวที่มีรายได้ต่ำมากกว่า


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.