เหตุใดอินเดียจึงมีปัญหาแม่บ้านฆ่าตัวตายเป็นจำนวนมาก?
เมื่อปี 2557 อินเดียมีตัวเลขผู้หญิงแต่งงานแล้วก่อเหตุฆ่าตัวตายกว่า 20,000 ราย ซึ่งในปีเดียวกันมีรายงานว่าเกษตรกรอินเดียฆ่าตัวตาย 5,650 คน แม้ว่าอัตราการฆ่าตัวตายในหมู่แม่บ้านอินเดียจะสูงกว่ากลุ่มเกษตรกรหลายเท่าตัว แต่สื่อมวลชนในอินเดียกลับมองข้าม แล้วหันไปให้ความสนใจประเด็นของกลุ่มเกษตรกรมากกว่า ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ปัญหานี้เป็นเรื่องที่สังคมควรใส่ใจเพราะอยู่คู่อินเดียมานาน และมีสาเหตุมาจากปัจจัยหลายประการด้วยกัน
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติอาชญากรรมแห่งชาติอินเดียพบว่า มีแม่บ้านฆ่าตัวตายปีละกว่า 20,000 คน เป็นประจำทุกปีนับแต่ปี 2540 โดยในปี 2552 ตัวเลขดังกล่าวพุ่งสูงถึง 25,092 ราย
ปีเตอร์ เมเยอร์ อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแอดิเลด ในออสเตรเลีย ได้ศึกษาเรื่องนี้ และชี้ว่าแนวโน้มปัญหาการฆ่าตัวตายในอินเดียสวนทางกับสังคมตะวันตกมาก เพราะจากการศึกษาเรื่องนี้ในสังคมชาวตะวันตกพบว่า ผู้แต่งงานแล้วมีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตายน้อยกว่าคนโสด แต่ข้อมูลของอินเดียในปี 2544 กลับพบว่า เกือบ 70% ของคนที่ฆ่าตัวตายเป็นกลุ่มคนที่แต่งงานแล้ว
การศึกษาของ เมเยอร์ บ่งชี้ว่า แม่บ้านอินเดียมีแนวโน้มจะฆ่าตัวตายมากที่สุดในช่วง 10-20 ปีแรกของการแต่งงาน ซึ่งเป็นหญิงอายุ 30-45 ปี นอกจากนี้ยังพบว่า ปัจจัยเกี่ยวกับการรู้หนังสือ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และขนาดครอบครัวที่เล็กลงมีความสัมพันธ์กับอัตราการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้นในผู้หญิงกลุ่มนี้
นักวิจัยพบว่า รัฐที่ยังคงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม กล่าวคือใช้ชีวิตแบบครอบครัวขยายที่มีญาติพี่น้องอาศัยอยู่ใกล้ชิดกันนั้น มักมีอัตราการฆ่าตัวตายของแม่บ้านต่ำกว่า ขณะที่รัฐที่ดำเนินชีวิตแบบสมัยใหม่ คืออยู่กันแบบครอบครัวเดี่ยวมักมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่า เมเยอร์ บอกว่า ปัญหานี้มีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่กำลังเกิดขึ้นในอินเดีย เช่น ความขัดแย้งระหว่างแม่สามีที่มีการศึกษาไม่มากนักกับลูกสะใภ้หัวแข็งที่มีการศึกษามากกว่า
ปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อเพศหญิงก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แม่บ้านฆ่าตัวตาย ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ผู้หญิงจำนวนมากมีความฝันและความทะเยอทะยานแต่กลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากสามี หรือแม้แต่พ่อแม่ของตนเอง
นอกจากนี้การที่ผู้หญิงถูกจับแต่งงานแบบคลุมถุงชน ก็ทำให้เกิดปัญหาการใช้ชีวิตคู่ที่ปราศจากความรักและความไว้ใจ ซึ่งอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายในที่สุด ขณะเดียวกันการขาดแคลนบริการให้คำปรึกษาและรักษาโรคซึมเศร้าในอินเดีย ประกอบกับการที่สื่อมวลชนไม่ให้ความสำคัญในประเด็นเกี่ยวกับผู้หญิงก็ทำให้ปัญหานี้รุนแรงยิ่งขึ้น


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.