กลุ่มนิติราษฎร์ประกาศจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เรียกร้อง คสช. คืนอำนาจหากไม่ผ่านการลงประชามติ
นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ เผยแพร่เอกสารความยาว 13 หน้าทางหน้าเว็บไซต์ ประกาศจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คืนอำนาจให้ประชาชนหาก ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการลงประชามติ ด้านนักวิชาการและนักกิจกรรมเสนอรัฐบาลเปิดพื้นที่ให้ฝ่ายไม่รับร่างฯ
กลุ่มนิติราษฎร์ ชี้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ปัญหาใน 4 ส่วน คือบทเฉพาะกาล และบทบัญญัติหลายมาตรา หลักการตรวจสอบถ่วงดุลที่ขาดความสมดุล การประกันหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชน และความไม่ชัดเจนในเรื่องแนวทางการคืนสู่รัฐบาลพลเรือนภายใน 15 เดือน
นักวิชาการกลุ่มดังกล่าวให้รายละเอียดว่า บทเฉพาะกาลยังคงรองรับความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่ง คสช. และหัวหน้า คสช. ขณะที่การให้อำนาจคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติรายละเอียดของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ทำให้ประชาชนไม่เห็นความชัดเจนของเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมดในขณะนี้ เพราะยังต้องรอดูกฎหมายประกอบที่จะออกมาในภายหลัง
นอกจากนี้ ระบบเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัตรใบเดียวเลือกทั้งคนและพรรคนั้นถือว่าบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชน ขณะที่ ส.ว. ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแต่กลับมีอำนาจในการตรวจสอบ และมีส่วนในการปฏิรูป ส่วนคณะรัฐมนตรีจะมีสภาพกลายเป็นข้าราชการประจำที่ต้องทำงานตามกรอบรัฐธรรมนูญวางไว้ แทนที่จะรับผิดชอบนโยบายที่เสนอให้ประชาชน กลุ่มนิติราษฎร์ยังเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญให้อำนาจองค์กรตุลาการหรือองค์กรอิสระมากเกินไป รวมทั้งมองว่าการระบุว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับปราบโกงนั้น แท้จริงแล้วไม่สามารถทำได้ด้วยการเขียนรัฐธรรมนูญแต่ต้องอาศัยปัจจัยอีกหลายอย่างประกอบกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (7 เม.ย.) นักวิชาการและนักกิจกรรมได้ร่วมกันเสนอความเห็นต่อรัฐบาลโดยเรียกร้องให้เปิดพื้นที่ให้ฝ่ายที่ไม่ต้องการรับร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว
นายปูนเทพ ศิรินุพงษ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การทำประชามติตามมาตรฐานสากลนั้นมีเงื่อนไขหลายอย่าง รวมทั้งจะต้องเป็นไปโดยเสรี ขณะที่คำถามต้องมีความชัดเจนและไม่ชี้นำ เป็นต้น แต่หากมองสภาพการณ์ในเมืองไทยยังไม่ถือได้ว่าจะเป็นการทำประชามติภายใต้เสรีภาพและความเป็นธรรม เพราะยังมีความไม่แน่นอนของการตีความกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ประชาชนไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าหากไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแล้วจะมีสิ่งใดมาแทนที่
นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้ประสานงานเว็บไซต์ประชามติระบุว่า สิ่งที่เป็นกังวลคือรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ. ประชามติ ซึ่งนอกจากจะห้ามเปิดเผยผลสำรวจความเห็นเกี่ยวกับการลงประชามติแล้ว ยังไม่ชัดเจนว่าการเผยแพร่ข้อมูลชนิดใดที่จะถือว่าเป็นกระทำการที่ก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท
นายรังสิมันต์ โรม สมาชิกกลุ่มประชาธิปไตยใหม่กล่าวว่า ประชาชนยังขาดความชัดเจนและไม่กล้าแสดงความเห็น เขาเห็นว่าการลงประชามติต้องเป็นอิสระและเป็นธรรม เปิดพื้นที่ให้พูดคุยเรื่องเนื้อหาของรัฐธรรมนูญมากกว่านี้
วันนี้ ที่ประชุม สนช.ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ วาระที่ 2 และ 3 ซึ่งกรรมาธิการฯ ได้แก้ไขสาระสำคัญ โดยกำหนดให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมีหน้าที่เผยแพร่สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญแก่ประชาชน พร้อมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสนับสนุน กรธ.ในการชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญ โดยการดำเนินการของ กรธ. และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ถือว่าเป็นความผิด เพราะไม่ใช่การชี้นำการออกเสียงประชามติ แต่ยังคงกำหนดโทษคนที่สร้างความวุ่นวาย เพื่อหวังให้การออกเสียงประชามติไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.