เฟซบุ๊กเปิดตัวเอไอบรรยายภาพ เพื่อการใช้งานของคนตาบอด

เฟซบุ๊กเปิดให้บริการปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ ที่สามารถบรรยายรูปภาพบนโซเชียลมีเดียให้คนตาบอดหรือผู้มีอุปสรรคทางการมองเห็นรับรู้ได้ ซึ่งจะช่วยให้บรรดาผู้พิการทางสายตาเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ได้เช่นเดียวกับคนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ผู้คนนิยมแชร์เรื่องราวในโซเชียลมีเดียผ่านทางรูปภาพเป็นหลัก ถึงวันละราว 1,800 ล้านรูป

การทำงานของเอไอบรรยายภาพนี้ จะเริ่มจากให้เอไอจดจำภาพวัตถุต่าง ๆ ที่ถูกป้อนเป็นข้อมูลเข้าไป เพื่อให้ต่อมาสามารถแยกแยะภาพบนหน้าจอและบรรยายออกมาให้ผู้ที่มองไม่เห็นรับรู้ได้ ผ่านทางซอฟท์แวร์สกรีนรีดเดอร์ส ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ผู้พิการทางสายตาใช้กันอยู่เดิมเพื่ออ่านออกเสียงหรือสร้างอักษรเบรลล์จากข้อมูลตัวอักษรบนหน้าจอ

ผู้คิดค้นบริการเอไอบรรยายภาพนี้คือนายแมทท์ คิง วิศวกรของเฟซบุ๊กซึ่งสูญเสียการมองเห็นจากโรคจอตามีสารสี ซึ่งทำให้เซลล์รับแสงในจอตาของเขาไวต่อแสงลดลง เขาบอกว่าเฟซบุ๊กเต็มไปด้วยข้อมูลที่ต้องรับรู้ด้วยการมองเห็น ซึ่งทำให้คนตาบอดรู้สึกแปลกแยก เพราะไม่สามารถรับรู้เรื่องราวเหล่านั้นได้ ทั้งที่คนตาบอดมีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลที่ถูกโพสต์ทางออนไลน์ด้วยเช่นกัน เขาและทีมงานจึงร่วมกันพัฒนาเอไอที่จดจำและบรรยายวัตถุของเฟซบุ๊กขึ้น โดยในขั้นต้นนี้สามารถบรรยายภาพได้ในแบบพื้นฐานไม่ซับซ้อนนักเช่นภาพอาหารหรือยานพาหนะ

อย่างไรก็ตาม เฟซบุ๊กกำลังพยายามพัฒนาเอไอนี้ให้จดจำวัตถุได้มากยิ่งขึ้น โดยเอไอยิ่งจดจำข้อมูลภาพได้มากขึ้นเท่าใด ก็จะทำงานได้อย่างซับซ้อนมากขึ้นเท่านั้น เฟซบุ๊กยังมีแผนจะพัฒนาให้เอไอนี้ระบุชื่อคนจากภาพได้ โดยใช้ฐานข้อมูลรายชื่อผู้ใช้งาน แต่หลายฝ่ายยังกังวลเรื่องนโยบายความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานอยู่

เมื่อเดือนที่แล้ว ทวิตเตอร์ได้เปิดตัวบริการซอฟท์แวร์บรรยายภาพเช่นกัน แต่ผู้โพสต์ภาพจะต้องเป็นผู้ใส่คำบรรยายภาพเอาไว้ก่อน ซอฟท์แวร์จึงจะสามารถอ่านคำบรรยายนั้นให้ผู้พิการทางสายตาได้ ต่างจากเอไอของเฟซบุ๊กที่สามารถบรรยายภาพได้โดยอัตโนมัติ #AI#Screenreaders #Facebook

Loading video......
Posted by บีบีซีไทย - BBC Thai on Tuesday, April 5, 2016

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.