ความไม่รู้ประวัติศาสตร์สร้างเผด็จการ-บทเรียนจากฟิลิปปินส์และทายาทเผด็จการมาร์กอส
Posted: 01 Apr 2016 05:29 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส เป็นอดีตประธานาธิบดีเผด็จการที่เคยครองอำนาจอยู่ในฟิลิปปินส์ตั้งแต่ปี 2508-2529 ก่อนจะพ้นจากตำแหน่งจากการลุกฮือของประชาชน อย่างไรก็ตามลูกๆ ของเขายังคงอยู่และประสบความสำเร็จทางการเมือง คลีฟ อาเกเยส นักวิชาการฟิลิปปินส์เขียนบทความอธิบายถึงปรากฏการณ์นี้

เฟอร์ดินาน มาร์กอส ระหว่างเยือนสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1982 (ที่มา: วิกิพีเดีย)

"มีคำกล่าวว่าต้องใช้หมู่บ้านทั้งหมู่บ้านถึงจะเลี้ยงดูเด็กให้โตได้หนึ่งคน แต่ในการที่จะเลี้ยงดูลูกชายของเผด็จการคนหนึ่งแล้วปูทางไปสู่ความเป็นผู้นำชาติล่ะ มันต้องใช้ประเทศทั้งประเทศ" คลีฟ เควิน โรเบิร์ต วี อาเกเยส ระบุในบทความ อาเกเยสเป็นอาจารย์ผู้สอนและประธานโครงการรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยแห่งฟิลิปปินส์มะนิลา ผู้ที่มีโครงการวิจัยเรื่องเกี่ยวกับความทรงจำทางการเมืองของชาวฟิลิปปินส์ยุคใหม่
บทความของอาเกเยสในเว็บไซต์นิวแมนดาลาระบุว่า เฟอร์ดินานด์ "บองบอง" มาร์กอส จูเนียร์ ลูกชายของอดีตเผด็จการมาร์กอสมีเป้าหมายต้องการได้ตำแหน่งรองประธานาธิบดีผ่านการเลือกตั้งในระดับชาติในปีนี้ 30 ปีหลังการลุกฮือโค่นล้มพ่อของเขา โดยที่ในปัจจุบันบองบอง มาร์กอส ก็เป็นวุฒิสมาชิกของฟิลิปปินส์อยู่แล้ว (ในฟิลิปปินส์ตำแหน่งวุฒิสมาชิกมาจากการเลือกตั้ง) พี่สาวของเขา ไอมี มาร์กอส ก็เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอิโลคอส นอร์เต ที่มีคะแนนเสียงจำนวนมาก และแม่ของเขาอิเมลดา มาร์กอส ก็เป็นส.ส. สภาล่างเป็นตัวแทนจากจังหวัดเดียวกัน
เป็นที่น่าตั้งคำถามว่าทำไมถึงมีผู้ลงคะแนนจำนวนมากให้กับครอบครัวของอดีตเผด็จการผู้เคยปล้นชิงจากคนในประเทศเดียวกันมาก่อนเช่นนี้ อาเกเยสระบุว่าเป็นเพราะประเทศของเขาไม่มีความทรงจำร่วมกันระดับชาติในช่วงที่มาร์กอสยังคงปกครองประเทศ
อากาเยส เล่าประสบการณ์ส่วนตัวที่เติบโตมาในครอบครัว "ผู้ภักดี" ซึ่งเป็นคำที่คนใช้เรียกผู้ที่ยังจงรักภักดีต่อเผด็จการมาร์กอสและครบครัวของเขาถึงแม้ว่ามาร์กอสจะหนีออกจากประเทศหลังการลุกฮือไปแล้ว ยายของเขาซึ่งเป็นที่ปรึกษาหมู่บ้านสนับสนุนครอบครัวมาร์กอสเสมอมา เธอบอกว่าถ้าหากเลือกมิเรียม ซานติอาโก ผู้เป็นคู่หูลงสมัครเลือกตั้งกับบองบองแล้วให้ซานติอาโกเป็นประธานาธิบดีส่วนบองบองเป็นรองประธานาธิบดี ยายของอากาเยสเชื่อว่าพอถึงจุดหนึ่งซานดิอาโกจะล้มป่วยแล้วยกตำแหน่งให้กับบองบองซึ่งเป็นแผนการที่ครอบครัวมาร์กอสจะได้กลับสู่ทำเนียบประธานาธิบดีอีกครั้ง
ในเรื่องนี้อากาเยสได้ไปสำรวจความคิดเห็นจากชุมชนคนยากจนในเมือง พบว่าพวกเขาจดจำช่วงที่ถูกปกครองโดยเผด็จการมาร์กอสไว้โดยคิดว่าเป็นช่วงเวลาที่ดี เช่นเดียวกับที่ยายของเขาอ้างไว้ว่าช่วงเผด็จการมาร์กอสเป็นช่วงเวลาที่มีแต่ความสงบเรียบร้อย สำหรับผู้ที่ผ่านประสบการณ์ในยุคนั้นมาก่อนอาจจะฟังความคิดเห็นเหล่านี้ในอีกแง่มุมหนึ่ง แต่สำหรับคนยุคใหม่ที่อายุราว 18 ปีซึ่งมีสิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรกพวกเขาจะได้ยินได้ฟังและจดจำประวัติศาสตร์แบบใดในเมื่อการเล่าประวัติศาสตร์ทั้งความทรงจำและการลืมต่างก็ถูกทำให้เป็นการเมืองทั้งนั้น
อากาเยสกล่าวถึงปัญหานี้ว่าคนที่ไม่มีความทรงจำในช่วงเผด็จการมาร์กอสจะต้องอาศัยข้อมูลจากสถาบันต่างๆ อย่างสถาบันการศึกษา, สื่อ, ครอบครัว และรัฐ แทน โดยที่ตำราเรียนทั้งในโรงเรียนรัฐและโรงเรียนเอกชนต่างก็เป็นฉบับที่มีการ "แก้ไข" ประวัติศาสตร์ช่วงยุคเผด็จการให้ดูดีขึ้นโดยอ้างว่ามี "การพัฒนาสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวฟิลิปปินส์" ในช่วงนั้น ขณะเดียวกันก็ละเลยพูดถึงประวัติศาสตร์การใช้อำนาจในทางที่ผิด การใช้ความรุนแรงหรือความละโมภของรัฐบาลมาร์กอส ในประเด็นเรื่องความทรงจำร่วมกันของผู้คน ความเงียบก็มีความสำคัญเท่ากับการจำ
สำหรับสื่อในฟิลิปปินส์แล้วไม่ได้เงียบเฉยในเรื่องนี้ อากาเยสระบุว่ามีการเผยแพร่รายการที่พูดถึงกลุ่มปฏิวัติพลังประชาชน (People Power Revolution) ของฟิลิปปินส์ที่โค่นล้มมาร์กอสเป็นประจำทุกปี แต่ก็ยังมีปัญหาว่าความทรงจำในเรื่องการลุกฮือโค่นล้มเผด็จการมาร์กอสนั้นเน้นย้ำอยู่แต่ที่ศูนย์กลางอย่างในกลางกรุงมะนิลาในฐานะสัญลักษณ์ของการลุกฮือต่อต้านอยู่ที่เดียว ทำให้มีการนำเสนอภาพจำการโค่นล้มเผด็จการมาร์กอสว่ามีการแพร่กระจายมาจากศูนย์กลางของนครหลวงแต่อย่างเดียว
อากาเยสระบุต่อไปว่าพอไม่มีการนำเสนอภาพตัวแทนจากคนในพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะในกลุ่มชายขอบอยู่ในเรื่องราวของการโค่นล้มเผด็จการ ทำให้ความทรงจำอย่างเป็นทางการในระดับชาติไม่มีเรื่องของความทรงจำคนในท้องถิ่นอยู่ด้วย เรื่องของอนุสรณ์กำแพงแห่งความทรงจำ (The Wall of Remembrance) ที่ตั้งขึ้นเพื่อสดุดีวีรชนผู้ต่อสู้กับมาร์กอสก็มีปัญหาเช่นกัน จากการที่มีแต่กลุ่มชนชั้นผู้เชี่ยวชาญในเมือง อากาเยสมองว่าถ้าหากมีการรวมเอากลุ่มคนในท้องถิ่นเข้าไปมีส่วนร่วมในความทรงจำของการต่อต้านเผด็จการด้วย ถึงแม้ว่าอาจจะมีความทรงจำที่ขัดแย้งกับความทรงจำของส่วนกลางอยู่บ้าง แต่ก็จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์ความทรงจำร่วมกันระดับชาติได้ และลดโอกาสการเข้าสู่อำนาจของครอบครัวมาร์กอสคนอื่น
อากาเยสระบุว่าปัจจัยอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้คือการที่ระบบการเมืองในฟิลิปปินส์ยังถูกครอบงำโดยผู้นำท้องถิ่นในยุคหลังมาร์กอส ทำให้การพยายามทำให้การเมืองในฟิลิปปินส์กลายเป็นประชาธิปไตยมีปฏิกิริยาสะท้อนกลับอย่างรุนแรงจากพวกคณาธิปไตย
อีกปัจจัยหนึ่งคือการที่ไม่มีคณะกรรมการข้อเท็จจริงเพื่อทำให้มีการเขียนประวัติศาสตร์ตามข้อเท็จจริงได้เปิดทางให้มาร์กอสและพรรคพวกมีโอกาสชักใยความทรงจำของผู้คนไปอีกทางหนึ่ง ไม่มีรัฐบาลหลังมาร์กอสรัฐบาลใดที่พยายามรักษาความทรงจำเกี่ยวกับความอยุติธรรม การละเมิดสิทธิมนุษยชน และการทุจริตคอร์รัปชั่น ในช่วงยุคสมัยเผด็จการมาร์กอส
ยิ่งไปกว่านั้นหลังจากที่เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส เสียชีวิตในปี 2532 หัวหน้าหน่วยงานเซนเซอร์ของฟิลิปปินส์ตำหนิสื่อว่า "ทำให้ครอบครัวมาร์กอสดูเป็นผู้ร้าย" ในความเป็นจริงแล้วพอไม่มีการลงโทษผู้กระทำความผิดก็ทำให้มีการบิดเบือนประวัติศาสตร์กลายเป็นนิยายได้ ไม่มีครอบครัวมาร์กอสคนใดเลยที่ต้องถูกจำคุกเพราะการกระทำของพวกเขา
สำหรับอากาเยสแล้วมาร์กอสไม่ได้ "กำลังหวนคืนมา" แต่มาร์กอสไม่เคยจากไปตั้งแต่แรกแล้ว เศษเสี้ยวต่างๆ ของมาร์กอสยังคงอยู่ในจินตนาการระดับชาติที่แพร่หลายในหมู่ผู้คนและถูกครอบครัวมาร์กอสหยิบฉวยมาใช้ให้เป็นประโยชน์
"ถ้าไม่มีการควบคุมอดีตของเรา พวกเราก็สูญเสียอำนาจทางการเมืองของพวกเราไป"
"การขาดความทรงจำในระดับชาติที่ผู้คนมีส่วนร่วมทำให้ครอบครัวมาร์กอสสามารถาเยือนถึงหน้าประตูทำเนียบประธานาธิบดีได้อีกครั้ง" อากาเยสระบุในบทความ

เรียบเรียงจาก
It takes a nation to raise a dictator’s son, Cleve Kevin Robert V Arguelles, New Mandala, 31-03-2016 http://asiapacific.anu.edu.au/newmandala/2016/03/31/it-takes-a-nation-to-raise-a-dictators-son

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.