LLTD สับประชามติที่ไม่อนุญาตให้รณรงค์และอภิปรายได้อย่างเสรี ไม่ใช่ประชามติที่แท้จริง
เมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา สนช.มีมติเห็นชอบร่าง "พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ" ซึ่งตกเป็นที่พูดถึงมากมายในหลายๆ ประเด็น ซึ่งที่น่าสนใจและเป็นที่พูดถึงมากประเด็นหนึ่ง คือการกำหนดบทลงโทษในมาตรา 62 แก่ผู้เผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อต่างๆที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ เพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิ หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท
.
บทบัญญัติเช่นนี้จะเป็นการเปิดช่องให้รัฐสามารถใช้ดุลพินิจตีความการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญของฝ่ายต่างๆ ได้ว่ามีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายหรือไม่ ทำให้ไม่อาจแสดงความเห็นและรณรงค์ได้อย่างเต็มที่ ด้วยเหตุที่เกรงว่าหากแสดงออกไปแล้วอาจเข้าข่ายที่จะถูกตีความว่าเป็นการกระทำที่ก่อความวุ่นวาย ซึ่งขัดต่อหลักการเสรีประชาธิปไตยที่ควรเปิดให้แต่ละฝ่ายสามารถแสดงความเห็นได้อย่างเต็มที่
.
ในกระบวนการพิจารณาของ สนช.ได้มีการอภิปรายกันในกรณีที่มีการตัดเสรีภาพในการรณรงค์ออกในชั้นกรรมาธิการ มีผลให้ไม่สามkรถแสดงความเห็นรับ-ไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญได้แม้โดยสุจริต ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชน แต่ในวาระสองได้มีการตกลงแก้ไขข้อความในมาตรา 7 จากเดิมคือ “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย” เป็น “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย” แม้จะระบุว่าให้เผยแพร่ความเห็นได้แต่ก็อาจจะเปิดช่องให้เกิดการปิดกั้นการรณรงค์รับ-ไม่รับอยู่ดี เพราะอาจถูกฝ่ายรัฐตีความว่าสามารถทำได้เพียงนำเสนอความคิดต่อร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไม่อาจรณรงค์ให้ผู้อื่นเห็นด้วยกับตนได้ เพราะใน พ.ร.บ.ไม่ได้กำหนดรับรองเสรีภาพในการรณรงค์เกี่ยวกับการออกเสียงประชามติไว้อย่างชัดเจน
.
อีกทั้งบรรยากาศการรณรงค์รับ-ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ก็อยู่ภายใต้มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ซึ่งก็ไม่อาจยืนยันได้ว่าจะไม่มีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการกระทำการใดๆ ต่อกลุ่มคนผู้เห็นต่างหรือไม่
.
ด้วยบรรยากาศและภายใต้กฎหมายเช่นนี้ ถึงแม้ว่าฝ่ายรัฐจะอ้างว่าได้มีการจัดพื้นที่แสดงความคิดเห็นโดยรัฐไว้ให้อยู่แล้ว แต่ก็เป็นการแสดงความเห็นในพื้นที่และภายใต้การควบคุมของรัฐ
.
การออกเสียงประชามติภายใต้กฎเกณฑ์เหล่านี้ทำให้ไม่สามารถแสดงเห็นและรณรงค์ได้เสรี ทำให้ไม่อาจกล่าวได้ว่าประชามติเช่นนี้เป็นประชามติที่แท้จริง
.
กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD)
ที่มา เฟซบุ๊ก กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD)
9 เม.ย.2559


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.