อนุสรณ์เตือนทบทวนการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ทำไทยถอยหลังครึ่งศตวรรษ

Posted: 28 Mar 2017 11:09 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

เตือนให้พิจารณาแนวคิดการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติโดยให้รัฐเข้าไปจัดการกิจการพลังงานทั้งหมดอย่างรอบคอบ ชี้เป็นการถอยหลังของนโยบายสาธารณะด้านการจัดการพลังงานของประเทศไทยอย่างน้อย 50-60 ปี และ ขอให้ดูตัวอย่างความหายนะทางเศรษฐกิจและกิจการพลังงานของเวเนซูเอลาและเม็กซิโก


ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต (กลาง) ที่มา แฟ้มภาพประชาไท

28 มี.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขออนุญาตแนะนำและเตือนให้พิจารณาแนวคิดการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติในมาตรา 10/1 ในร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียมฉบับใหม่อย่างรอบคอบ เนื่องจากแนวคิดจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติโดยให้ รัฐเข้าไปจัดการกิจการพลังงานทั้งหมดนั้น เป็น แนวคิดสะท้อนการถอยหลังของนโยบายสาธารณะด้านการจัดการพลังงานของประเทศไทยอย่างน้อย 50-60 ปี แนวคิดแบบนี้ประสบความล้มเหลวในหลายประเทศ เพราะก่อให้เกิดการยึดกิจการเอกชนมาเป็นของรัฐ จะเป็นการดำเนินกิจการพลังงานที่ผูกขาดโดยรัฐ (ขอให้นึกถึงกิจการปั๊มสามทหาร กับ ปั๊มของ ปตท และ บางจากต่างกันอย่างไร ขอให้นึกถึงโรงกลั่นน้ำมันของหน่วยงานพลังงานทหาร กับ โรงกลั่นของไทยออย ไออาร์พีซีและบางจากบริหารจัดการต่างกันอย่างไร) การกำกับดูแลโดยรัฐบาลผ่านทางคณะกรรมการบรรษัทพลังงานแห่งชาติซึ่งในช่วงแรกจะมีกรมพลังงานทหารเป็นผู้ดำเนินการ ปัจจุบัน โครงสร้างระบบการกำกับดูแลโดยองค์กรอิสระนั้นถูกวางระบบไว้ดีระดับหนึ่งแล้ว ส่วนจุดอ่อนจุดด้อยที่ยังมีอยู่นั้นเป็นปัญหาในรายละเอียดไม่ใช่ทิศทางหรือหลักการใหญ่ ระบบที่ผูกขาดโดยอำนาจรัฐที่มาแทนที่ระบบการแข่งขันด้วยการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนและการเปิดเสรีจะนำมาสู่ ความไร้ประสิทธิภาพ การคอร์รัปชันและหนี้สาธารณะของประเทศในอนาคต

อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า หากมีการจัดตั้ง บรรษัทพลังงานแห่งชาติ ตามร่างที่จะนำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประเทศไทยจะมีความเสี่ยงทางการคลังในอนาคตอย่างแน่นอน ขอให้ดูกรณีของประเทศเวเนซูเอลาที่ประสบความล้มละลาย เกิดวิกฤติทางการคลัง จนต้องยอมทำสัญญาขายน้ำมันดิบล่วงหน้ากับจีนเพื่อแลกเงินกู้มาจ่ายเงินเดือนราชการและบริหารประเทศ ทั้งที่ประเทศเวเนซูเอลาเคยเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำมันและมีฐานะทางการคลังที่มั่นคงมาก่อน หากจะยกตัวอย่างกรณีบรรษัทพลังงานแห่งชาติแบบเปโตรนาสของมาเลเซียว่าประสบความสำเร็จก็ไม่

อนุสรณ์ กล่าวว่า สามารถพูดได้เต็มปากเพราะ เปโตรนาส เป็นทั้งผู้ทำหน้าที่กำกับดูแล (Regulator) และ เป็นผู้ทำธุรกิจ (Operator) ด้วยในขณะเดียวกันจึงทำให้มีกำไรสูงแต่ระบบนี้ดีที่สุดกับประชาชนมาเลเซียหรือไม่ยังมีข้อสงสัย และ การไม่แยกระหว่าง การเป็นผู้กำกับดูแล (Regulator) กับ ผู้ทำธุรกิจ (Operator) ยังขัดกับหลักธรรมาธิบาลหรือการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการตรวจสอบถ่วงดุลอีกด้วย

อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่เราเห็น ก็คือ การทุจริตคอร์รัปชันของกลุ่มผู้นำทางการเมืองที่ควบคุมดูแลบรรษัทพลังงานแห่งชาตินอกจากนี้ท่านนายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนปัจจุบันก็มีข้อครหาพัวพันกับกองทุน 1-MDB ที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริตและยังมีกรณีพัวพันกับการทุจริตให้สินบนของบริษัท Unaoil อีกด้วย และไม่มีใครไปกล้าตรวจสอบบัญชีของเปโตรนาสได้ ขณะที่ บมจ ปตท ถูกตรวจสอบทั้งจาก สตง ในฐานะรัฐวิสาหกิจ และ กลต รวมทั้งผู้ถือหุ้น นักลงทุนสถาบัน นักลงทุนต่างประเทศ การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพและโปร่งใสกว่าแม้นไม่สมบูรณ์แบบก็ตาม และขอให้ดูตัวอย่างความหายนะทางเศรษฐกิจและกิจการพลังงานของประเทศเม็กซิโกก่อนหน้านี้ด้วย ในที่สุดก็ยกเลิกระบบผูกขาดโดยรัฐ มาเป็นระบบเสรีเปิดให้มีการแข่งขันของภาคเอกชนผู้รับสัมปทาน หรือ แบ่งปันผลผลิต

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.