คุยกับนายกสมาคมนักข่าวคนใหม่ “เราไม่ได้บอกว่าการควบคุมสื่อโดยรัฐมันผิด แต่ตอนนี้มันหมดยุคไปแล้ว”

Posted: 28 Mar 2017 09:13 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

คุยกับปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวฯ คนใหม่ ระบุสื่อเป็นเครื่องทางการเมืองได้ แต่ต้องไม่สร้างความเกลียดชัง ย้ำในโลกนี้ไม่มีสื่อที่เป็นกลาง พร้อมยืนยันกรานค้าน พ.ร.บ.คุมสื่อฯ


ดูจะเป็นย่างก้าวที่เต็มไปด้วยความคาดหวัง ควบคู่ศึกหนัก ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปในคราวเดียวกันสำหรับ ปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยคนใหม่ เพราะช่วงเวลาที่เขาขึ้นรับตำแหน่งนั้นเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการปรากฎตัวขึ้นของร่างกฎหมาย พ.ร.บ.สื่อฯ ซึ่งมีเนื้อหาและโครงสร้างหนักไปที่การเข้าควบคุมสื่อโดยรัฐ ทั้งยังเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการคาดหวังสิ่งใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นภายในนามของสมาคมนักข่าวฯ ของคนภายนอก และเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์บทบาทหน้าที่ขององค์กรสื่อที่เป็นอยู่ และกำลังเป็นไปภายใต้ยุค คสช.

เราพูดคุยกับ ปราเมศ ภายหลังจากที่เขาเข้ารับตำแหน่งได้ 12 วัน (18 มี.ค. 2560) ภายนอกร้านกาแฟในปั้มน้ำมัน บนถนนวิภาวดี ตรงข้ามกับที่ทำงานของเขา สำนักข่าวไทยรัฐ ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนหน้าที่จะมีแถลงการของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เรียกร้องให้ กสทช. ทบทวนคำสั่ง กสท. ที่สั่งพักใบอนุญาต Voice TV เป็นเวลา 7 วัน ซึ่งเป็นแถลงการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพสื่อที่เราอาจจะไม่ได้เห็นบ่อยนักในช่วงเวลาที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามแม้บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้จะไม่ใช่การพูดเรื่องของการสั่งระงับการออกอากาศของ Voice TV แต่ก็พอจะมีส่วนคาบเกี่ยวกันอยู่บ้าง เพราะในฐานนะของการเป็นนายกสมาคมนักข่าวฯ สำคัญไม่น้อยกับการที่จะรู้ว่า เขาคิดอย่างไรกับเรื่องสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน และสิทธิเสรีภาพของประชาชน

000000

ปราเมศ เริ่มต้นเดินทางเข้าสู่แวดวงสื่อมวลชนตั้งแต่ปี 2539 แน่นอนเขาบอกว่าเหตุการณ์การล้อมปราบประชาชนโดยกองทัพเมื่อเดือนพฤภษาคม ปี 2535 เป็นตัวจุดประกายให้เขาอยากทำงานข่าว ตลอดระยะเวลาที่เป็นนักข่าว 21 ปี เขามองเห็นความเปลี่ยนแปลงในวงการสื่อฯ หลากหลายเรื่องราว เริ่มตั้งแต่การขยายตัวของคนทำอาชีพสื่อ ที่แตกแขนงออกไปหลากสาขา ประกอบกับการเกิดขึ้นของกลุ่มเป้าหมายใหม่ ที่แต่ละสำนักข่าว แต่ละเว็บ ต่างก็มีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะของตัวเอง

“คือมันชี้ให้เห็นว่า สังคมเรามีความหลากหลาย และมันคือความสวยงาม สื่อเองก็มีความหลากหลาย ฉะนั้นการเกิดขึ้นของเครื่องไม้เครื่องมือใหม่ๆ มันก็ทำให้สื่อปรับตัว สื่อใหญ่ก็มีอิทธิพลต่อสังคมลดลง แต่ก็ยังเป็นสื่อหลักอยู่ ขณะที่สื่อกระแสรองก็อยู่ในระนาบที่ค่อยๆ โตขึ้น กลุ่มเป้าหมายเองก็เพิ่มมากขึ้น เว็บไซต์ใหม่ก็เกิดขึ้นตามความต้องการ และเว็บไซต์ใหม่ๆ เหล่านี้ก็มีตัวตนชัดเจน ทำให้บริบทสื่อมันพัฒนาไปมาก แต่หลายๆ ครั้งก็จะติดกับดักในประเด็นเรื่องสื่อกับความรับผิดชอบ โดยเฉพาะสื่อที่เล่นกับโซเชียลมีเดีย คนที่บอกว่าตัวเองเป็นสื่อจะเสนออะไรก็ต้องระวัง และต้องมีความรับผิดชอบกับสังคม อย่างน้อยๆ ก็ต้องมีตัวตนอยู่จริง”

การเป็นสื่อที่มีตัวตนสำหรับเขา ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นสื่อที่จดทะเบียนมีใบอนุญาตแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องเป็นสื่อที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และพร้อมที่จะแสดงความรับผิดชอบเมื่อเกิดความผิดพลาด ขณะเดียวกันเขามองว่ารัฐเองก็มีกฎหมายอยู่ในมือหลายฉบับที่จะสามารถกำกับดูแลสื่อได้ แต่หลายครั้งรัฐก็ยังคงปล่อยให้กลุ่มบางกลุ่มใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการสร้าง Hate Speech หรือสร้างความเกลียดชังมาตลอด

“สื่อมันต้องรับผิดชอบต่อสังคม ความเป็นสื่อมืออาชีพ เช่นว่าเราเห็นมา 100 แต่อาจจะเสนอได้แค่ 80 เราต้องชั่งใจตลอดว่าการนำเสนอข่าวๆ หนึ่งมันส่งผลกระทบต่อสังคม หรือส่งผลกระทบต่อแหล่งข่าว หรือญาติของแหล่งข่าวไหม หรือบางสื่ออาจจะเขียนข่าวผิด แต่ยังตะแบงและไม่ยอมแก้ไข ตรงนี้แหละคือการไม่แสดงความรับผิดชอบ”

สื่อเป็นได้ทั้งกระจก และเครื่องมือ แต่ต้องมีความรับผิดชอบ และไม่สร้างความเกลียดชัง


ปราเมศกล่าวด้วยว่า ในมุมมองของเขาสื่อเป็นได้ทั้งกระจกสะท้อนสังคม และเป็นเครื่องมือเพื่อขับเคลื่อนอะไรบางอย่าง ขึ้นอยู่สถานการณ์ เช่นสื่อในยุคอำนาจนิยม รัฐก็จะมีมุมมองกับสื่อในลักษณะหนึ่ง เช่นการออกกฎกติกาเพื่อที่จะเข้าควบคุมสื่อ เพื่อโปรโมทอุดมการณ์ของตัวเอง เพื่อที่จะทำให้รัฐมั่นคง ในขณะที่ฝ่ายเสรีชนก็จะมองว่าสื่อคือเครื่องมือในการตรวจสอบอำนาจรัฐ อย่างไรก็ตามในยุคที่ทุกคนกลายเป็นสื่อได้หมด กล่าวคือทุกคนมีช่องทางในการสื่อสาร หรือสามารถที่จะทำสื่อได้ และทุกคน ทุกกลุ่มต่างก็พยายามจะใช้สื่อเรียกร้อง เพื่อเชื่อมสิทธิของตนเองให้เข้ากับรัฐ

ปราเมศมองว่า หากสื่อถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ถูกต้อง ก็จะให้ผลลัพธ์ที่ดีต่อสังคม แต่หากนำไปใช้ในทางการเมืองที่ผิด เช่นนำไปใช้เพื่อปลุกระดม สร้างความเกลียดชัง หรือมีการหยิบประเด็นเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ มาใช้เพื่อปลุกระดมคนให้เกลียดชัง และเข้าห้ำหั่นกัน การใช้สื่อในลักษณะนี้เป็นสิ่งที่เขาไม่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยยิ่งกว่ากับการที่รัฐอำนาจนิยมควบคุมสื่อ แม้จะมีความรุนแรงเท่าๆ กัน แต่การที่สื่อสร้างความเกลียดชัง จนคนสามารถฆ่ากันได้ เป็นเรื่องที่ร้ายแรงมากกว่า

“อย่างที่พี่บอกแหละ ถ้าเราใช้ถูกมันก็ถูก ถ้าใช้ผิดมันก็ผิด ถ้าพวกที่ใช้สื่อในกิจกรรมทางการเมือง อันนี้ก็ถือว่าเป็นสิทธิของเขา แต่ถ้าใช้เพื่อมุ่งหวังให้เกิดการปลุกระดม เราถือว่าอันนี้เริ่มไม่ใช่แล้ว เป็นการใช้ช่องทางของสื่อในการเป็นเครื่องมือของตัวเอง เพื่อที่จะทำให้ตัวเองเดินไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ เขาอาจจะคิดว่าเขาทำถูกก็ได้นะ แต่สำหรับเรามันไม่ถูกหรอกการที่ไปปลุกให้คนออกมาตีกัน”


เขาเล่าต่อว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมามีสื่อหลายต่อหลายสำนักที่ได้สร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้นในสังคม แต่กลไกที่มีอยู่เดิมคือการกำกับควบคุมกันเองของสื่อไม่ฟังค์ชั่นเท่าที่ควร ขณะเดียวกันรัฐซึ่งมีเครื่องมือที่จะกำกับดูแลสื่อที่พยายามสร้างการปลุกระดมเหล่านั้น ก็ไม่ได้ทำหน้าที่ต่างที่ควรทำ จนท้ายที่สุดท้ายเกลียดความเกลียดชังได้ขยายตัวจนคนพร้อมที่ฆ่ากัน

สื่อที่เป็นกลางเป็นภาพฝันที่ไม่มีอยู่จริง

เมื่อถามตอนไปถึงกระแสเรียกร้องของสังคมไทยที่ต้องการให้สื่อมีความเป็นกลาง ปราเมศเห็นว่า สื่อไม่มีความเป็นกลางอยู่แล้ว เพราะคนทำสื่อเป็นมนุษย์ และมนุษย์ไม่เคยมีสิ่งที่เรียกว่าความเป็นกลาง แต่ในทางทฤษฎีการนำเสนอข่าวจะต้องมีการนำเสนอที่มีสมดุล ไม่ให้น้ำหนักกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป และต้องมีความรอบด้าน พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่ถูกพาดพิงได้แสดงความคิดเห็นและข้อมูลของตัวเอง

“สื่อไม่มีความเป็นกลางอยู่แล้ว เราลองถามตัวเองก่อนว่าเราเป็นกลางไหม ไม่มีหรอก มนุษย์ไม่มีความเป็นกลางอยู่แล้ว แต่ในทางทฤษฎีก็คือ สื่อต้องนำเสนอข่าวรอบด้าน สร้างความสมดุลให้กับข่าว นายวิจารณ์เรา แล้วมาห้ามไม่ให้เราวิจารณ์นาย แบบนี้ไม่ใช่ มันต้องมีเสียงทุกเสียง ฝ่ายนี้คิดอย่างไร ฝ่ายนั้นคิดอย่างไร อาจจะมีเสียงนักวิชาการที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้งมาประกอบ มีเสียงของคนทำงานภาคประชาสังคมมาเสริม แบบนี้เขาเรียกว่าความสมดุลของข่าว สื่อไม่มีความเป็นกลางหรอก ในโลกนี้สื่อที่เป็นกลางร้อยเปอร์เซ็นไม่มี มีแค่การนำเสนอข่าวที่สมดุล”


รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยคุมสื่อตลอด แต่ห่วงหลังการเลือกตั้งอาจจะมีการคุมสื่อมากกว่าเดิม

เมื่อถามประสบการณ์ทำงานตลอดระยะเวลา 21 ปี เขาเห็นความพยายามควบคุมสื่อโดยรัฐอย่างไรบ้าง และคิดว่าครั้งไหนเป็นเรื่องที่ร้ายแรงที่สุด เขาตอบว่า พูดไม่ได้ว่าครั้งไหนหนักที่สุด แต่หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยมาจนถึงปัจจุบัน ทุกยุคทุกสมัยเวลาที่รัฐจะเข้ามาควบคุมสื่อ บริบทสังคมในขณะนั้นก็แตกต่างกันไป และมีการใช้เครื่องมือในการเข้ามาควบคุมที่ต่างกัน

“แต่ในยุคปัจจุบันนี้ ดูเหมือนมีกติกาที่ไม่ได้มาจากกฎหมายโดยตรง แต่มาจากคำสั่ง และตอนนี้ก็กำลังจะมีการออกกฎหมายใหม่ ตอนนี้ดูเหมือนจะแรง แต่ผมเชื่อว่าถ้าหลุดจากมือของพวกนี้ไป คนที่จะเข้ามาใช้อาจมองได้ว่าอาจจะแรงกว่านี้อีก เพราะเชื่อว่าตอนนี้ฝ่ายอำนาจนิยมพยายามประคองตัว บางคนก็บอกว่าเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ยิ่งเราพูดแบบนี้เวลาเขาใช้อำนาจ เขาก็จะระวังตัวมากขึ้น แล้วแต่กรณี เราอาจจะเห็นว่าการคุมสื่อในรัฐบาลนี้แรง แต่หากกฎหมาย(พ.ร.บ.สื่อ) ออกมาแล้ว รวมทั้งคำสั่งประกาศต่างๆ ของ คสช. หากยังค้างคาอยู่ การบังคับใช้ของรัฐบาลถัดไปอาจจะแรงกว่านี้อีก คือรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้ใช้หรอก เพราะเขามีเครื่องของเขาอยู่แล้วไง”

เมื่อถามต่อว่า มีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลชุดต่อไปที่เข้ามาก็อาจจะไม่มีอำนาจมาก เพราะหากดูจากร่างรัฐธรรมนูญ ก็พบว่ามีความพยายามควบคุมอำนาจของฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติที่เข้มข้นมากขึ้นกว่าที่เคยเป็น ปราเมศเห็นว่า สิ่งที่เราคาดคิดกันอาจจะเกิดขึ้น หรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ เนื่องจากกติกาที่วางไว้ในร่างรัฐธรรมเป็นกติกาใหม่ที่ยังไม่เคยใช้มาก่อน เราอาจจะได้รัฐบาลใหม่ที่เป็นขั้วอำนาจเดิมในปัจจุบัน หรืออาจจะได้รัฐบาลใหม่ที่เป็นนักการเมือง จึงไม่สามารถรู้ได้ว่าวันข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น

สาเหตุที่ปราเมศเห็นว่า รัฐบาลชุดถัดไปอาจจะมีการควบคุมสื่อมากกว่ารัฐบาลชุดนี้ เพราะแม้ว่ารัฐบาลชุดนี้จะมีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 97/2557 แต่ก็ไม่มีการบังคับควบคุมทั้งหมด รัฐเพียงจับจ้องบางรายการ บางสถานี บางเว็บไซต์ ไม่ได้ควบคุมทั้งหมด แต่ถ้าเครื่องมือในการควบคุมเหล่านี้ยังอยู่ภายหลังการเลือกตั้งไม่มีความมั่นใจได้เลยว่าการควบคุมจะอยู่ในระดับไหน

“คือรัฐคล้ายๆ จับจ้องบางรายการ ไม่ได้เอาทั้งหมด จับจ้องบางสถานนี บางเว็บไซต์ แต่ไม่เหมารวมทั้งหมด เขาแค่เอกซเรย์บางส่วนเท่านั้น แต่หลังจากการเลือกตั้งพวกที่เข้ามานี่แหละจะสแกนทั้งหมด ตรงนี้แหละคือหายนะและอันตราย เพราะเวลาคนที่เข้ามาใหม่สิ่งแรกที่เขาต้องทำคือการจัดระบบ เอาคนของตัวเองเข้าไปคุมส่วนต่างๆ ซึ่งรวมถึงสื่อด้วย สังเกตดีๆ รัฐบาลทุกรัฐบาลเวลาเข้ามาอย่างน้อยเขาจะมีวิธีการจัดการกับสื่ออย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ ฉะนั้นคนที่จะเข้ามาคุมสื่อเขาดูไว้อยู่แล้วแหละว่าช่องทางตรงไหนที่จะเข้าไปจัดการได้ เนื่องจากว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่รัฐบาลกลัวสื่อจะเข้าไปขุดคุ้ยตรวจสอบ แต่ถ้าเป็นโลกที่เป็นเสรีประชาธิปไตย รัฐบาลเขาชอบสื่อที่จะเข้าไปตรวจสอบเพราะช่วยเป็นหูเป็นตาให้เขาอีกทางหนึ่ง ซึ่งมันจะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาล และต่อประเทศ แต่บ้านเราคนมีอำนาจส่วนใหญ่ไม่มองแบบนี้ เขาเห็นคนที่เข้าไปตรวจสอบเป็นศัตรู”

แต่เมื่อถามว่าการทำหน้าที่สื่อมวลชน ในยุคไหนสามารถที่จะทำงานได้ง่ายกว่ากัน ปราเมศเห็นว่า ในยุคที่เป็นประชาธิปไตย จะมีความเคลื่อนไหวในเรื่องต่างๆ ได้ง่ายกว่า

“ยุคที่เป็นประชาธิปไตย มันง่ายกว่าอยู่แล้ว เพราะเขาไม่ได้มาจับจ้องการเคลื่อนไหวทุกฝีก้าว การจัดงานเสวนาก็ทำได้ แต่ตอนนี้เวลาจัดอะไรก็จะมีฝ่ายความมั่นคงมาติดตามตลอด แต่เราก็ทำเพราะต้องการสื่อสารไปสู่คนในสังคม เราก็อาจจะพูดอะไรได้ไม่เต็มร้อย เพราะคนพูดเองก็ต้องเซฟ เพราะไม่อยากมีปัญหากับรัฐ การนำเสนอ หรือการพูดก็ต้องมีศิลปะ การต่อสู้ไม่จำเป็นที่จะต้องรุนแรง ขอแค่ได้สื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้ก็ถือว่าโอเคกับสถานการณ์ในยุคนี้ ซึ่งมีกติกาหยุมหยิมเต็มไปหมด แม้เราจะรู้ว่าเราไม่ใช่เป้าหมายของเขา แต่ก็ต้องระวัง เพราะถ้ามีปัญหามันจะเสียเวลาของเราในการทำอะไรอย่างอื่น”

ปราเมศ เห็นว่ายุคนี้ไม่ใช่ยุคที่สื่อต้องออกมาเรียกร้องให้มีการออกกฎหมาย แต่เป็นยุคที่เราควรออกมาเรียกร้องให้ยกเลิก โดยเฉพาะคำสั่ง และประกาศต่างๆ ที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพ แต่ก็ต้องยอมรับด้วยว่าสังคมเองก็มองสื่อในด้านลบ เพราะเห็นว่าช่วงที่ผ่านมาสื่อเป็นปัญหา และอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ รวมทั้งสร้างความขัดแย้ง แต่เขาเห็นว่านั่นไม่ใช่สื่อในภาพรวมทั้งหมด แต่เป็นเพียงสื่อบางส่วนที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อจุดมุ่งหมายทางการเมืองโดยเฉพาะ

ปราเมศกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาเวลาองค์กรสื่อออกมาเคลื่อนไหว ช่วงหลังไม่ได้รับแรงสนับสนุนจากสังคมมากนัก เพราะคนมองว่าที่ผ่านมาสื่อก็เป็นตัวปัญหา แต่จริงๆ แล้ว สิทธิเสรีภาพของสื่อ และสิทธิเสรีภาพของประชาชน อยู่ในระนาบเดียวกัน

“คือสื่อเรามีหน้าที่ถ่ายทอด เรื่องราวต่างๆ ให้สังคมได้รับรู้ข่าวสาร เวลาประชาชนเดือดร้อนจะไปร้องรัฐเลยมันก็ยาก หากไม่ได้รับความสนใจ แต่ถ้าสื่อเป็นตัวกลางในการนำเสนอ สิทธิของประชาชนที่เรียกร้อง ก็จะได้รับการแก้ไขเยียวยามากกว่าการที่ภาคประชาชนไปเรียกร้องต่อรัฐโดยตรง”


เมื่อถามว่ากระแสสังคมเองก็มักจะมองว่า เมื่อเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อฯ สื่อเองกลับลุกขึ้นมาปกป้องตัวเอง แต่ที่ผ่านมาประชาชนถูกริดลอนสิทธิเสรีภาพสื่อกลับไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก ปราเมศเห็นว่า องค์กรสื่อไม่ได้จำเป็นที่จะต้องออกไปเคลื่อนไหวทุกประเด็น หน้าที่หลักของสื่อคือการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร และเรื่องราวการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ผ่านมาสื่อต่างๆ ก็ได้รายงานไปตามข้อเท็จจริง และการนำเสนอข่าวก็หมายถึงการที่สื่อให้ความสนใจกับปัญหาเหล่านั้นโดยตัวมันเองอยู่แล้ว
พ.ร.บ.(คุม)สื่อฯ ไทย เอาไงต่อ

สำหรับร่าง พ.ร.บ.สื่อฯ (พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อ) ฉบับ สปท. ที่เป็นประเด็นถูกกล่าวถึงกันมาพักใหญ่ ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุดได้มีการปรับลดจำนวนคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อ ที่เดิมตั้งไว้ 4 คนซึ่งมาจากการตำแหน่งปลัดกระทรวง 4 กระทรวง โดยปรับลดมาให้เหลือเพียง 2 ตำแหน่งที่มาจากข้าราชการ และเพิ่มตัวแทนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และตัวแทนจากองค์กรคุมครองผู้บริโภคเข้าไปแทนที่ 2 คน ปราเมศเล่าว่า แม้จะมีข่าวออกมาในลักษณะดังกล่าว แต่ตัวร่างจริงตอนนี้ยังไม่มีใครที่ได้เห็น แต่ถ้าดูจากโครงสร้างกฎหมายในปัจจุบัน และเท่าที่เขาได้คุยกับคนทำงานสื่อหลายๆ คนก็มีความเห็นตรงกันว่า ไม่เห็นด้วยกับตัว พ.ร.บ.ดังกล่าว เพราะเห็นว่าเป็นตัวแทนที่เด่นชัดของอุดมการณ์อำนาจนิยม

“อำนาจนิยม เอะอะอะไรก็ชอบเข้ามาควบคุม ล่าสุดที่เห็นได้ชัดเจนก็ของประเทศอินโดนีเซีย ซูฮาร์โตก็ต้องการให้สื่อมีใบอนุญาต เพื่อที่จะดีดหูได้ หยิกได้ จับตีก้นได้ นี่แบบนี้เขาเรียกฝ่ายอำนาจนิยม แต่เราต้องการจะบอกว่าเฮ้ยนี่มันหมดยุคแล้ว จะมาอำนาจนิยมอะไรกันอีก ในเมื่อคุณบอกคุณมาทำงานเพื่อประเทศชาติ เข้ามาแบบมีวาระแห่งชาติเข้ามาจัดการคอร์รัปชัน เข้ามาวางแผนปฏิรูป เข้ามาวางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่นี่จะเอาอำนาจมาคุมสื่อ ฉะนั้น เรื่องการออกใบอนุญาตเราไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง และโดยเฉพาะการเปิดให้ตัวแทนของรัฐเข้ามาในสภาวิชาชีพ เราก็ไม่เห็นด้วย เราไม่ได้บอกว่าฝ่ายที่เขาคิดมันผิดหรือไม่ แต่เราบอกว่าตอนนี้มันหมดยุค ตอนนี้สิ่งที่คุณควรคิดคือจะออกแบบโครงสร้างอย่างไรให้สื่อมวลชนเขาตรวจสอบกันเอง และประชาชน ผู้บริโภค สามารถที่จะตรวจสอบสื่อได้ ตอนนี้สังคม โลกออนไลน์ เขาทำหน้าที่นี้กันอยู่แล้ว และตอนนี้ก็ไม่ใช่ว่ากฎหมายที่จะใช้กำกับดูแลสื่อฯ ต่างๆ จะไม่มี ที่ผ่านมา เรามีเยอะมาก และเท่าที่มีอยู่ทุกวันนี้ก็แทบจะหายใจไม่ออกกันอยู่แล้ว นี่ยังไม่ได้นับรวม พ.ร.บ.คอมฯ นะ ส่วนเรื่อง พ.ร.บ.สื่อ เรายืนกระต่ายขาเดียว อย่างไรก็ไม่ยอม”

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.