สร้างสะพาน: จะ (ไม่) พูดถึงสิทธิมนุษยชนได้อย่างไร

Posted: 26 Mar 2017 08:10 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

“กรอบแต่ละกรอบนิยามปัญหาในวิถีทางของมันเอง ข้อจำกัดของทางแก้ต่างๆ ที่จำเป็นต่อการขบคิด ปัญหาเพิ่มมาตามกรอบนั้น” –George Lakoff

คุณจำครั้งล่าสุดที่คุณอ่านเรื่องสิทธิมนุษยชนในหนังสือพิมพ์อังกฤษได้ไหม? มันเสนอแง่มุมอะไร ใช่เรื่องความมั่นคงของชาติหรือเปล่า? อำนาจศาลของยุโรป? หรือการปกป้องสิทธิสากล?

นี่คือพาดหัวข่าว 2-3 ข่าวจากหนังสือพิมพ์ที่หลากหลายในช่วงสองปีมานี้ “นำอังกฤษกลับมาสู่รับผิดชอบต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชน” “สิทธิมนุษยชนคือกฎหมายสำหรับอาชญากร, ชาว Briton 75% กล่าว” “พวกอนุรักษนิยมตั้งมั่นจะทำลายสิทธิมนุษยชนของเขาเอง”

แต่ละพาดหัวข่าวเกี่ยวโยงต่อความคำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน ตลอดจนการตีความปัญหาและทางแก้แตกต่างกัน –แหล่งอำนาจใดควรเป็นแหล่งที่มาของการบังคับใช้กฎหมายของเรา (สหราชอาณาจักรหรือสหภาพยุโรป); ใครใช้หรือคุกคามกฎหมาย (พลเมืองหรืออาชญากร), ใครคือผู้ที่กฎหมายออกแบบให้ได้รับการปกป้องอย่างแท้จริง (ทุกคนหรือแค่ส่วนน้อย)

“เราพูดถึงสิทธิมนุษยชนอย่างไร” สร้างความแตกต่างอย่างใหญ่หลวงต่อการรับรู้ ขณะที่พวกเราส่วนใหญ่ทั้งสนับสนุนและทั้งยังไม่ตัดสินใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน สื่อบอกเล่าเรื่องราวที่ต่างไป ในการสำรวจหนังสือพิมพ์บอร์ดชีตและแทบลอยด์ บล็อกการเมือง และสุนทรพจน์ของรัฐสภาจากปี 2013 “สิทธิมนุษยชน” แทบจะไม่เคยถูกใช้ในบริบทด้านบวก ในความเป็นจริง มีบทความเพียง 30% ที่สนับสนุนสิทธิมนุษยชนในสหราชอาณาจักร (ในอังกฤษมีน้อยกว่า 20%)

นี่อาจจะไม่ทำให้ใครที่สนใจเรื่องความครอบคลุมของสื่อ (media coverage) เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนอยู่แล้วประหลาดใจ แต่มันน่าสนใจมากขึ้นเมื่อคุณมองไปที่การใช้ “กรอบ” ที่แตกต่าง กรอบคือเรื่องราว ประกอบไปด้วยความคิด ความทรงจำ อารมณ์ และค่านิยมมากมายซึ่งติดมากับแนวความคิดที่สื่อมอบให้ การกำหนดกรอบคือเครื่องมือในการสื่อสารซึ่งเราใช้ (ทั้งโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว) เพื่อปลุกเร้าปฏิกิริยาที่เราต้องการให้เกิดต่อแนวความคิดอย่างเฉพาะเจาะจง ความคิดส่วนมาก (เช่นความคิดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน) สามารถถูกพูดถึงในแนวทางที่แตกต่างหลากหลายได้มากมายมหาศาล
ปีที่ผ่านมา จากการทำงานในโครงการ Counterpoint และ Equally Ours เราได้วิเคราะห์พื้นที่สื่อในสหราชอาณาจักรที่เสนอเรื่องสิทธิมนุษยชน ระบุกรอบหลักๆ และทดสอบว่ากรอบเหล่านั้นส่งผลอย่างไรต่อค่านิยมและทัศนคติของผู้คน

ไม่เพียงแต่เราพบจุดเชื่อมต่อที่ชัดเจนระหว่างกรอบและค่านิยมต่อสิทธิมนุษยชนที่แตกต่างกัน เรายังพบว่า กรอบเรื่องสิทธิมนุษยชนสามารถหันเหความคิดของผู้คนต่อประชาธิปไตยและความมั่นคงของชาติอย่างชี้วัดได้ เราขอให้ประชาชนกว่า 1,500 คน อ่านเรื่องสิทธิมนุษยชนที่เขียนขึ้นในกรอบที่แตกต่างกันและเติมลงในแบบสอบถามเกี่ยวกับทัศนะทางสังคมของพวกเขา รวมทั้งตอบกลับคำกล่าวเหล่านี้

“การทำงานขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชนคุ้มค่าต่อการสนับสนุนโดยปราศจากข้อแม้”


“โดยพื้นฐานแล้ว การคุ้มครองสิทธิของชนกลุ่มน้อยสำคัญต่อประชาธิปไตย”


ในการวิเคราะห์ (ขอได้หากต้องการ) เราค้นพบและทดสอบทั้งหมด 15 กรอบหลัก ต่อไปนี้เราจะยกตัวอย่างเพียงสองกรอบ: กรอบที่ใช้อยู่เป็นปกติ และกรอบที่ได้ผลอย่างมากต่อการกระตุ้นเรื่องสิทธิมนุษยชน

สิทธิมนุษยชนและความมั่นคงของชาติ


เราพบว่ากรอบที่เห็นได้ทั่วไปนี้เป็นกรอบที่สนับสนุนกลุ่มก้อนทางสิทธิมนุษยชนและสิทธิของเสียงส่วนน้อยได้น้อยที่สุดด้วยเช่นกัน: สิทธิมนุษยชนบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ ข้ออ้างที่ว่าสิทธิทางกฎหมายเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของพวกเราในการป้องกันตัวเพราะสิทธิเหล่านั้นได้ช่วยเหลือปกป้องอาชญากรและผู้ก่อการร้าย

ในกรอบนี้ ‘เรา’ คือภาคสาธารณะอังกฤษถูกคุกคาม และอาชญากร ‘ผู้อื่น’ เอาเปรียบเราอยู่ นี่เป็นกรอบที่เปี่ยมอารมณ์ความรู้สึก บ่อยครั้งเชื้อเชิญให้ผู้อ่านรู้สึกรังเกียจ โกรธ และคั่งแค้นต่อความไม่ยุติธรรมนี้ และนำไปสู่เส้นแบ่งชัดเจนระหว่าง “การสมควรได้รับ” และ “ไม่สมควรได้รับ” และยังผูกติดกับแนวคิดเรื่องลำดับชั้นของภูมิธรรมซึ่งติดตัวมาแต่กำเนิด ที่เชื่อว่าประชาชนพวกหนึ่งสูงส่งกว่าประชาชนพวกอื่น ความเชื่อเช่นนี้นำมาสู่ทัศนะเรื่องแบ่งแยกเหยียดหยามในหลายๆ กรณี

เราพบว่าค่านิยมเรื่องความมั่นคงและอำนาจแทรกซึมอยู่ในกรอบนี้อย่างเข้มแข็งมากที่สุด แม้ว่าบางครั้งจะปลุกเร้าค่านิยมเรื่องความเมตตากรุณาอยู่ด้วย ในแง่ที่ว่ามีความห่วงใยความปลอดภัยของผู้คน แต่ค่านิยมเรื่องความมั่นคงและอำนาจมาพร้อมกับอคติในระดับที่สูงกว่าและความปรารถนาที่ต่ำกว่าในการสัมพันธ์กับคนกลุ่มอื่นๆ

ในงานชิ้นนี้เราได้เสนอตัวอย่างหนึ่งเกี่ยวกับระเบียบวิธีที่เราใช้ เริ่มด้วยตัวบทจากหนังสือพิมพ์ เราแยกมันเป็นส่วนย่อยๆ จากนั้นวิเคราะห์ค่านิยมที่ตัวบทเหล่านี้สนับสนุน:

การเล่าเรื่องที่ดีขึ้น...

ในทางกลับกัน เราพบว่า กรอบบางกรอบที่ได้รับการนำไปใช้น้อยกว่าได้บอกเล่าเรื่องราวในแง่บวกอยู่มาก และเกื้อหนุนให้ผู้คนสนับสนุนสิทธิมนุษยชนได้มากที่สุด เช่น กรอบที่ว่าทุกคนมีสิทธิมนุษยชน ยกตัวอย่างเช่น เรื่องราวของสถานที่ที่ให้ความสำคัญต่ออารยสถาปัตย์และแนวคิดการออกแบบเพื่อมวลมนุษยชาติ หรือการออกแบบโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังซึ่งมีพื้นฐานมาจากเรื่องสิทธิมนุษยชน

จากข่าวนี้ ‘เรา’ หมายถึงทุกๆ คน และไม่มีความแตกต่างระหว่างผู้ที่ ‘สมควร’ และ ‘ไม่สมควร’ ได้รับสิทธิมนุษยชน: พวกเขาทั้งหมดคือเรา เพราะเราต่างเป็นมนุษย์ ในการเข้ารหัสและการอบรมเชิงปฏิบัติการของเรา เราพบว่ากรอบนี้บรรจุจุดเน้นที่ชัดเจนต่อแนวคิดเพื่อมวลมนุษยชาติของสิทธิมนุษยชน (ค่านิยมเรื่องมวลมนุษยชาติ), เสรีภาพส่วนบุคคล (ค่านิยมเรื่องการกำหนดทิศทางของตน), การปกป้องธรรมชาติไว้ด้วยกฎหมาย (ความเมตตากรุณา) ค่านิยมเหล่านี้คาดหมายได้ว่าจะทำให้ผู้คนใส่ใจต่อความยุติธรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มากกว่า

ทว่าเราพบว่ากรอบ “ทุกคนมีสิทธิมนุษยชน” ปรากฏในหนังสือพิมพ์เพียงแค่ 1% ของบทความที่เราวิเคราะห์


แล้วเราพบอะไรอีก?

อำนาจ, การบรรลุเป้าหมาย, และความมั่นคงปลอดภัย เป็นค่านิยมที่ไม่ได้ช่วยเพิ่มความคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนไม่ว่าจะแง่มุมใดๆ กล่าวได้ว่า การเชิดชูคุณค่าสิทธิมนุษยชนโดยอยู่บนพื้นฐานเรื่องความมั่นคงของชาติ กับข้อถกเถียงเรื่องความมั่นคงของชาติซึ่งต่อต้านสิทธิมนุษยชนไม่ได้มีความแตกต่างกัน

ข้อบ่งชี้นี้สะท้อนข้อสรุปของ George Lakoff ในหนังสือ Don’t Think of an Elephant ที่ว่า การลบล้างกรอบเลวร้ายเท่ากับการทำมันซ้ำ สำหรับการเรียกร้องสิทธิมนุษยชน หมายถึงการยึดมั่นในสารที่แท้ (intrinsic message) ของสิทธิมนุษยชน ซึ่งใช้ได้แม้แต่การตอบกลับต่อเรื่องราวที่สร้างขึ้นจากกรอบตรงกันข้าม ยิ่งเราส่งเสริมค่านิยมที่แท้นี้ผ่านสถานการณ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมได้แคล่วคล่องมีประสิทธิภาพมากเท่าไหร่ ยิ่งบ่มเพาะความคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนได้มากขึ้นเท่านั้น

แน่นอนว่า “การส่งสาร” เพียงอย่างเดียวไม่พอ ถ้อยคำมีความหมายเพียงน้อยนิดหากปราศจากการกระทำจริง เราต้องหนุนเนื่องค่านิยมเหล่านี้เมื่อเราปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ข้อค้นพบหนึ่งซึ่งปรากฏในงานวิจัยของเราคือทุกขณะของการกระทำอันปลดปล่อย เช่นการให้พื้นที่ประชาชนพิจารณาและถกเถียงมุมมองของพวกเขาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน นำไปสู่การเพิ่มความมั่นใจให้ค่านิยมที่แท้ การกระตุ้นนี้ หมายถึงการทำงานที่จะเสนอพื้นที่และเวลาสำหรับผู้คนที่จะมามีส่วนร่วมถกเถียงเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย

แล้วยังไงล่ะ?

ค่านิยมที่แท้จะส่งเสริมความคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน เพื่อเพิ่มพลังให้สิทธิมนุษยชนงานวิจัยของเรามีข้อเสนอแนะว่า เราควรจดจำสิ่งเหล่านี้:

1. เราสร้างกรอบเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างไร ส่งผลต่อการรับรู้ของผู้คน

2. กรอบซึ่งกระตุ้นค่านิยมที่แท้ของสิทธิมนุษยชน เช่น “ทุกคนมีสิทธิมนุษยชน” สร้างความคำนึงถึง การเห็นคุณค่าของสิทธิมนุษยชน และความยุติธรรมทางสังคมมากกว่ากรอบทั่วๆ ไป

3. การดึงดูดไปสู่ค่านิยมที่แท้ของสิทธิมนุษยชนเป็นการตอบกลับกรอบเชิงลบที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการเถียงกลับกรอบเชิงลบเหล่านั้น

4. การย้ำกรอบเชิงบวกต่อเนื่องยาวนานคือหัวใจสำคัญของการสนับสนุนและปลูกฝังเรื่องสิทธิมนุษยชน

5. การปลดปล่อยและการกำหนดกรอบสามารถช่วยส่งเสริมค่านิยมซึ่งหล่อเลี้ยงการคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนได้มากขึ้น

เราอาจไม่สามารถส่งอิทธิพลต่อการครอบคลุมพื้นที่สื่อเรื่องสิทธิมนุษยชนได้เสมอไป แต่เช่นเดียวกับชนวนของเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมต่างๆ ประเด็นจะเป็นประโยชน์หากผู้คนและกลุ่มก้อนต่างๆ ส่งเสริมกรอบและปรับใช้ปฏิบัติการซึ่งจะช่วยเพิ่มความเข้มแข็งให้ค่านิยมที่แท้ และเรายังสามารถใช้การวิจัยเรื่องกรอบเพื่อรู้ว่าจะมีปฏิกิริยาตอบกลับอย่างดีที่สุดต่อการครอบคลุมของพื้นที่สื่อซึ่งไม่ได้ช่วยเรื่องสิทธิมนุษยชนได้อย่างไร การแบ่งปันเรื่องเรื่องเชิงบวกย่อยง่าย เรื่องเล่าในชีวิตประจำวันเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เป็นอีกวิธีที่ดี ซึ่งโครงการ: The Equally Our Network ได้แบ่งปันเรื่องเหล่านี้เอาไว้เช่นกัน



หมายเหตุ: แปลจากบทความเรื่อง “Building Bridges: How (not) to talk about human rights”



อ่านต่อได้ที่...
http://counterpoint.uk.com/wp-content/uploads/2016/06/Building-Bridges.pdf
ในรายงานฉบับเต็มของเรา เราได้ถอดรื้อกรอบทั้งหมด 15 กรอบ พร้อมตัวอย่างการเขียนข่าวจากหนังสือพิมพ์ ซึ่งใช้กรอบเหล่านั้น เรายังได้หาตัวอย่างที่ใช้การได้จริงว่าเราจะแยกย่อยสิ่งที่อยู่ในกรอบนั้นและวางกรอบใหม่ได้อย่างไร

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.