นักเศรษฐศาสตร์ชี้ภาษีที่ดินช่วยท้องถิ่นเก็บภาษีได้ถึง 38,000 ล้าน

Posted: 26 Mar 2017 04:11 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ชี้ผลของการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทำให้ลดความเสี่ยงทางการคลังได้ในระยะ 3-5 ปี แต่ต้องเริ่มต้นจัดเก็บภายในปีหน้าเป็นอย่างช้า ปีแรกได้ภาษีไม่ต่ำกว่า 38,000 ล้านบาทให้แก่ท้องถิ่น เพิ่มความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำและการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินในไทย

26 มี.ค. 2560 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้ความเห็นต่อผลของการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะเป็นผลดีอย่างมากต่อการใช้ที่ดินให้มีประสิทธิภาพและเป็นผลบวกต่ออุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ในระยะยาว ส่วนระยะสั้นและระยะปานกลางทำให้ต้นทุนและภาระภาษีของธุรกิจอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นแต่ผลกระทบจะเป็นเช่นใดขึ้นอยู่กับระบบประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ภาษีที่ดินจะทำให้ประเทศลดความเสี่ยงทางการคลังได้ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้าแต่ต้องเริ่มต้นจัดเก็บภายในปีหน้าเป็นอย่างช้า โดยในปีแรกจะทำให้มีรายได้จากภาษีไม่ต่ำกว่า 38,000-40,000 ล้านบาทกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเมื่อบวกกับภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่จะมีรายได้ประมาณ 64,000-65,000 ล้านบาท พระราชบัญญัติที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปี พ.ศ. 2560 นี้จะมาแทนที่กฎหมายภาษีโรงเรือน (ซึ่งซ้ำซ้อนกับภาษีเงินได้และขึ้นกับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ) และภาษีบำรุงท้องที่ (มีการลดหย่อนมากและอัตราภาษีถดถอย มีรายได้ภาษีเพียง 700 ล้านบาทต่อปี)

ผลกระทบของภาษีต่อกองทุนอสังหาริมทรัพย์จากการประเมินเบื้องต้นยังมีจำกัด กองทุนอสังหาริมทรัพย์ประเภทโรงแรม น่าจะได้รับผลกระทบจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมากที่สุด เนื่องจากในปัจจุบันโรงแรมจ่ายภาษีโรงเรือนอยู่ต่ำกว่าอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่นๆ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ประเภทค้าปลีก ส่วนใหญ่มักจะผลักภาระภาษีให้ผู้เช่าเป็นส่วนใหญ่ เพราะเจ้าของห้างสรรพสินค้าค้าปลีกจะมีอำนาจการต่อรองที่สูงกว่าผู้เช่ารายย่อย ผลกระทบทางภาษีที่กองทุนอสังหาริมทรัพย์ต้องมีภาระจะมาจากภาษีบนพื้นที่ที่ยังไม่มีผู้เช่า กองทุนอสังหาริมทรัพย์ประเภทอาคารสำนักงาน เนื่องจากอาคารสำนักงานสร้างใหม่ ปัจจุบันนี้ถือว่ามีน้อย ดังนั้นกองทุนอสังหาริมทรัพย์ประเภทอาคารสำนักงานน่าจะไม่มีปัญหาในการผลักภาระให้ผู้เช่าโดยการขึ้นค่าเช่าถ้าภาษีที่เก็บตามระบบใหม่มากกว่าระบบเดิม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความชัดเจนในวิธีการประเมินมูลค่าทรัพย์สินตามกฎหมายใหม่นี้ด้วย

ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า การผ่านกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่นี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างรายได้ของรัฐและจัดระเบียบการใช้ที่ดิน ตามหลักการถือว่าเป็นการเปลี่ยนวิธีการคิดภาษีอสังหาริมทรัพย์ตามมูลค่าของสินทรัพย์ซึ่งจากเดิมจะจัดเก็บตามรายได้เป็นหลัก โดยภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 จัดเก็บอยู่ที่ประมาณ 12.5% ของรายได้ ซึ่งเป็นรายได้ของรัฐประมาณ 2 หมื่นล้านบาทต่อปี ในขณะที่ภาษีบำรุงท้องที่จัดเก็บรายได้ต่อปีอยู่ที่ประมาณ 700-800 ล้านบาท เนื่องจากราคาประเมินในการจัดเก็บภาษีโรงเรือน ยังใช้ราคาประเมินของปี 2521 โดยยังไม่ได้มีการปรับขึ้นมาเป็นราคาปัจจุบัน การเปลี่ยนการจัดเก็บภาษีตามมูลค่าของสินทรัพย์แทนการเก็บตามรายได้นั้น นับว่าเป็นระบบการจัดเก็บภาษีเพื่อสนับสนุนให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์นำสินทรัพย์ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ และสร้างรายได้ให้มากที่สุด เนื่องจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะเป็นภาษีที่เจ้าของสินทรัพย์ต้องเสียโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ทุกปี แม้ว่าสินทรัพย์นั้นจะทำรายได้มากหรือน้อย

อย่างไรก็ตาม ตนมีความห่วงใยว่าในการพิจารณาในชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาตินั้นรายละเอียดเนื้อหาของกฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามที่กระทรวงการคลังเสนอผ่านคณะรัฐมนตรีอาจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากจนไม่เกิดประโยชน์เต็มประสิทธิภาพตามเป้าหมาย

หากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่ขยายตัวตามเป้าหมายในระดับเฉลี่ย 4% ในช่วงปี พ.ศ. 2558-2563 เนื่องจากการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีความล่าช้ามาประมาณ 1-2 ปี ทำให้ไทยไม่สามารถทำตามกรอบแผนความยั่งยืนทางการคลังได้ (ตามแผนเดิมต้องทำงบประมาณสมดุลปี 2560) และจะทำให้สัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อจีดีพีขึ้นไปแตะระดับสูงสุดได้ ในปี พ.ศ. 2562-63 ได้

โครงสร้างภาษีของไทยนั้นขึ้นอยู่กับฐานรายได้และฐานบริโภคมากเกินไป ขณะที่ภาษีทรัพย์สินเป็นสัดส่วนรายได้ของภาครัฐน้อยมาก หากเราต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นควรลดภาษีบริโภคกระตุ้นการใช้จ่าย ลดภาษีเงินได้เพื่อคนจะได้ขยันทำงานมากขึ้น เพิ่มภาษีทรัพย์สิน (ภาษีที่ดินและภาษีมรดก) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำกระจายความมั่งคั่งและการถือครองที่ดิน เพิ่มภาษีปาบเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและสูญเสียชีวิต รวมทั้งควบคุมพฤติกรรมสมาชิกในสังคม

ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า การกระจุกตัวของการถือครองที่ดินในสังคมไทยถือว่าเป็นปัญหาที่อยู่ในระดับรุนแรงมากๆเนื่องจากกลุ่มที่ถือครองที่ดินสูงสุด 20% แรกถือครองที่ดินมากกว่ากลุ่มที่ถือครองที่ดินต่ำสุด 20% ล่างสุดมากถึง 325 เท่า นอกจากนี้กลุ่มที่ถือครองที่ดินสูงสุด 20% แรกนี้ยังถือครองที่ดินคิดเป็น กว่า 80% และ คนที่ร่ำรวยที่สุดของประเทศนี้ 10% แรกถือครองที่ดินเกือบ 90% ของทั้งประเทศ นอกจากนี้จากผลการวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินยังพบว่า มีค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคหรือการกระจายการถือครองที่ดินสูงถึง 0.89 การที่ค่า Gini Coefficient มีค่าสูงเกือบ 0.9 สะท้อนถึงความไม่ธรรมและความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจที่รุนแรง

อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามที่กระทรวงการคลังเสนอนั้นมีความเหมาะสม อัตราภาษีภาคเกษตรกรรมจัดเก็บไม่เกิน 0.2% ภาคที่อยู่อาศัยไม่เกิน 0.5% บ้านหลักมูลค่าไม่เกิน 50% ได้รับการยกเว้น ภาษีสำหรับพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมไม่เกิน 2% ภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่าไม่เกิน 5% ส่วนการยกเว้นและบรรเทาภาระภาษีตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังนั้นขอให้ลดอำนาจดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ให้น้อยที่สุด ข้อดีของการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นภาษีทรัพย์สินประเภทหนึ่งนั้น คือ เป็นภาษีที่มีความเสถียรในการจัดเก็บ เลี่ยงยากและมีศักยภาพสูงในการสร้างรายได้ให้รัฐ มีประสิทธิภาพสูงหากระบบประเมินทรัพย์สินได้มาตรฐาน

นอกจากนี้ภาษีที่ดินยังช่วยทำให้การจัดรูปที่ดิน การบริหารจัดการและพัฒนาที่ดินดีขึ้น นอกจากการใช้เครื่องมืออื่นๆ เช่น การมีผังเมืองและระบบโซนนิ่ง การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มมูลค่าที่ดิน กฎหมายการควบคุมการใช้ประโยชน์จากที่ดิน เป็นต้น

ดร.อนุสรณ์ ยังวิเคราะห์อีกว่า การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราที่เหมาะสมยังทำให้ระบอบประชาธิปไตยระดับฐานรากมีความเข้มแข็งมากขึ้นเพราะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีงบประมาณไปพัฒนาพื้นที่ สามารถทบทวนและยกเลิกภาษีโรงเรือนที่ล้าสมัยมีอัตราสูงเกินไปได้ หรือ ยกเลิกภาษีบำรุงท้องที่ที่มีความไม่แน่นอนในอัตราการจัดเก็บ และหากมีการใช้เงินจากภาษีที่ดินอย่างไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่โปร่งใสย่อมทำให้ประชาชนในพื้นที่และผู้มีสิทธิเลือกตั้งตรวจสอบได้ง่าย นอกจากนี้ยังสามารถนำเงินรายได้จากภาษีมาพัฒนาประเทศด้านต่างๆซึ่งน่าจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 200,000 ล้านบาท หรือนำเงินงบประมาณมาจัดตั้งธนาคารที่ดิน และ โฉนดชุมชนนำมาแจกให้ชาวบ้านที่ไม่มีที่ทำกินได้ต่อไป

ดร. อนุสรณ์ ได้เสนอให้มีการขยายสิทธิในการซื้อขายสิทธิในการเช่าที่ดินของต่างชาติ 50 ปีเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการทำธุรกรรม หรือให้มีการซื้อขาย สิทธิในการเช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ (Leasehold) เป็นการเพิ่มมูลค่าให้สิทธิการเช่าซื้อ เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจโดยรวมโดยเฉพาะโครงการคอนโดหรูที่มีอุปทานส่วนเกินอยู่จำนวนมากในขณะนี้ ข้อเสนอทางด้านนโยบายเรื่องนี้เพื่อให้สอดคล้องกับที่ดินในยุคโลกาภิวัตน์และการเปิดเสรีการลงทุนด้วย การเปิดช่องในการทำธุรกรรมซื้อขายดังกล่าวจะช่วยดึงอุปสงค์จากทั่วโลกมาขับเคลื่อนให้ธุรกิจอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ตลาดอสังหาริมทรัพย์หรือที่ดินของไทยควรเปิดกว้างตามกระแสโลกาภิวัตน์มากยิ่งขึ้น ระบบการเงินและนวัตกรรมทางการเงินก็มีการหลากหลายและซับซ้อนขึ้น จากเดิมการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์หรือที่ดินเป็นการซื้อขายแลกเปลี่ยนกรรมสิทธิ์กันและสิทธิในการใช้ประโยชน์แบบพื้นฐานจากอสังหาริมทรัพย์ แต่เวลานี้ มีทั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) มีทั้ง กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust-REIT)

อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องมีระบบและกลไกในการกำกับไม่ให้เงินทุนต่างประเทศที่ไหลเข้ามาเก็งกำไรจนก่อให้เกิดภาวะฟองสบู่และการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ไม่ตั้งอยู่บนฐานของความสามารถในการผลิตหรือไม่สะท้อนความต้องการหรืออุปสงค์ที่แท้จริง

นอกจากนี้ควรมีการศึกษาเพื่อจัดเก็บ Betterment Tax จากที่ดินและโครงการต่างๆที่ได้ประโยชน์จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐโดยตรงโดยเฉพาะที่ดินตลอดแนวระบบราง โดยเก็บเฉพาะมูลค่าส่วนเพิ่มอันเป็นผลมาจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจหรือการอนุญาตให้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยมูลค่าที่เพิ่มขึ้นคำนวณจากส่วนต่างของมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลง

ทรัพยากรที่ดินมีจำกัดและเกี่ยวข้องกับประเด็นทางด้านสังคม ความมั่นคง สิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากประเด็นทางเศรษฐกิจและการลงทุน จึงควรพัฒนาระบบการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์จากที่ดินได้โดยไม่ให้กรรมสิทธิ์เด็ดขาดขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรที่ดินและแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าและพื้นที่สาธารณะ

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.