อดีตรองเลขา สปสช. อัด 'พาณิชย์' เมินควบคุมราคายาปล่อยประชาชนถูกเอาเปรีย

Posted: 30 Mar 2017 08:46 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

อดีตรองเลขาธิการ สปสช.อัดกระทรวงพาณิชย์เมินควบคุมราคายา ปล่อยให้ประชาชนถูกเอาเปรียบ ชี้หลังทำซีแอลประหยัดงบจัดซื้อยาได้กว่า 2 หมื่นล้านบาท ยืนยัน สปสช.แทรกแซงกระบวนการจัดซื้อยาเฉพาะยาที่คนไทยถูกเอาเปรียบ เช่น ยาราคาแพง ยาโรคเอดส์ ไตวายเรื้อรัง คิดสัดส่วนแล้วเพียง 4.9 %


เนตรนภิส สุชนวนิช อดีตรองเลขาธิการ สปสช.

30 มี.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า เนตรนภิส สุชนวนิช อดีตรองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยในงานเสวนา “บทเรียน 10 ปีซีแอลและการเข้าถึงยาจำเป็น” เมื่อเร็วๆ นี้ว่า หลักการจัดซื้อยาของ สปสช.มีอยู่ 3 เรื่องไม่ว่าจะถูกจำกัดงบประมาณรายหัวอย่างไรก็ตาม คือ 1.ต้องทำให้คนเข้าถึงยาตามความจำเป็น 2.ยาที่เข้าถึงต้องเป็นยาที่มีคุณภาพ และ 3.มีการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ซึ่งการตัดสินใจซื้อยาต้องมีการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ก่อน โดยอ้างอิงจากบัญชียาหลักแห่งชาติ จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการเจรจาต่อรองราคา แล้วถึงเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อ ขณะเดียวกัน ในกระบวนการจัดซื้อก็จะเน้นเรื่องคุณภาพ โดยกำหนดในทีโออาร์ว่าจะต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพจาก Third Party หรือหากยาบางตัวไม่มีห้องแล็ปในเมืองไทยก็ต้องส่งไปตรวจสอบที่ต่างประเทศ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในส่วนของผลที่เกิดจากการประกาศมาตรการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (ซีแอล) เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาคือทำให้ต้นทุนราคายาที่ สปสช.จัดซื้อลดลงอย่างมโหฬาร เช่น ยาโคลพิโดเกรล (Clopidogrel) ยารักษาโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจอุดตัน จากราคา 70 บาท แต่ทางองค์การเภสัชกรรม (อภ.) สามารถจัดซื้อได้เพียง 90 สตางค์เท่านั้น เฉพาะยาตัวนี้ช่วยประหยัดงบประมาณไปได้ 500-600 ล้านบาท และหากนับรวมยาทุกตัวในช่วงปี 2551-2553 สปสช.ประหยัดงบประมาณการจัดซื้อยาไปได้ 2,000-3,000 ล้านบาท และในช่วงปี 2553-2557 ประหยัดได้อีกกว่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งเงินที่ประหยัดได้นี้บางส่วน สปสช.เอามาพัฒนาระบบการจัดการเรื่องยาต้านพิษ และเซรุ่มพิษงู เพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงยา และ รพ.ได้ใช้ยาเพื่อรักษาผู้ป่วยในทันที เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีคำพูดที่กล่าวว่า สปสช.แทรกแซงกระบวนการจัดซื้อยาของประเทศ ซึ่งต้องบอกว่า สปสช.แทรกแซงเฉพาะยาที่คนไทยถูกเอาเปรียบ เช่น ยาราคาแพง ยาโรคเอดส์ ไตวายเรื้อรัง คิดสัดส่วนแล้วเพียง 4.9 % ของเงิน 1.45 แสนล้านบาทที่ไทยจัดซื้อยาเข้ามาในประเทศ

“ซีแอลเป็นอะไรที่คนมีความรู้สึกว่าเป็นการใช้อำนาจรัฐ แต่การใช้อำนาจรัฐก็มีความจำเป็นหากไม่ได้รับความร่วมมือในการเข้าถึงยาสำหรับคนที่จำเป็นต้องใช้” เนตรนภิส กล่าว

เนตรนภิส กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน กว่าจะมาถึงทุกวันนี้ก็ไม่ได้อาศัยแค่ซีแอลอย่างเดียว พัฒนาการในเรื่องนี้เริ่มตั้งแต่ระบบการจัดซื้อรวมในปี 2547 จากนั้นมีการทำซีแอลในปี 2550 มีการจัดทำบัญชียา จ2 ในปี 2551 รวมทั้งกระบวนการเจรจาต่อรองราคาในปี 2554 อย่างไรก็ดี การควบคุมราคายาผ่านกลไกเหล่านี้ก็ยังไม่เพียงพอ ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ ไม่ได้ควบคุมใดๆ เกี่ยวกับยาที่เข้ามาในประเทศไทยเลย ปล่อยให้กลไกราคายาเอาเปรียบประชาชนผู้บริโภค ยาบางตัวขายในร้านยา 70 บาท แต่ขายในโรงพยาบาลเอกชน 500 บาท โดยไม่มีการต่อสู้ใดๆ จากกระทรวงพาณิชย์ทั้งสิ้น

“พอถามก็บอกว่าขายตามราคาหน้ากล่อง ซึ่งหน้ากล่องจะเขียนเท่าไหร่ก็ได้ แล้วกระทรวงพาณิชย์รู้ได้อย่างไรว่าราคาหน้ากล่องเป็นราคาที่เหมาะสม ดังนั้นสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์ยังทำไม่ได้ก็คงต้องขอฝาก ซึ่งจริงๆก็ฝากมานานแล้ว ว่าท่านต้องเข้ามาควบคุมดูแลเรื่องนี้” เนตรนภิส กล่าว

อัจฉรา เอกแสงศรี อดีตรองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า ราคายาหลังจากทำซีแอล ทาง อภ.สามารถจัดหายาในราคาที่ลดลงจากยาต้นแบบประมาณ 60% เช่น ยาโดซีแท็กเซล (Docetaxel) รักษาโรคมะเร็ง, ยาเลทโทรโซล (Letrozole) รักษาโรคมะเร็งเต้านม ราคาลดลงมากว่า 60% โดยเฉพาะยาโคลพิโดเกรล (Clopidogrel) รักษาโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจอุดตัน ลดลงถึง 90% ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยสามารถนำเงินที่ประหยัดได้ไปซื้อยาได้มากขึ้น

ขณะเดียวกัน การประกาศใช้มาตรการซีแอลยังทำให้บริษัทยาชื่อสามัญที่สามารถผลิตยาเหล่านี้ได้ นำเข้าและจดทะเบียนยาเพื่อจำหน่ายมากขึ้นอีกด้วย

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.