ชี้ร่าง กม.ใหม่เปิดทางแปรรูปโรงงานยาสูบ เสียอธิปไตยคุมยาสูบของประเทศ

Posted: 28 Mar 2017 06:20 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ แถลงอัดร่างกฎหมายใหม่เปิดทางให้มีการแปรรูปโรงงานยาสูบ นำไปสู่การสูญเสียอธิปไตยในการควบคุมยาสูบของประเทศไทย เปิดช่องบุหรี่ต่างชาติเข้ามาผลิต เปิดช่องบุหรี่ต่างชาติเข้ามาผลิต ชี้ความเสียหายทั้งเศรษฐกิจและสุขภาพ

28 มี.ค. 2560 ที่ห้องรัตนโกสินทร์ โรงแรมสุโกศล ถนนศรีอยุธยา สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย (สสท) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ จัดแถลงข่าวเรื่อง ร่างกฎหมายใหม่เปิดทางให้มีการแปรรูปโรงงานยาสูบนำไปสู่การสูญเสียอธิปไตยในการควบคุมยาสูบของประเทศไทย โดยมีผู้ร่วมแถลงข่าวประกอบด้วย วศิน พิพัฒนฉัตร ทนายความ สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าวในประเด็น ร่างกฎหมาย การยาสูบ ซุกหายนะใต้พรม เปิดช่องให้บุหรี่ต่างชาติเข้ามาผลิตในประเทศ รศ.ดร.สุชาดา ตั้งทางธรรม นักเศรษฐศาสตร์ สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวในประเด็น ความเสียหายทางเศรษฐกิจหากการผลิตบุหรี่ดำเนินการโดยบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ และ นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และประธานรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบ องค์การอนามัยโลก (2550 – 2551) กล่าวในประเด็น ความเสียหายทางสุขภาพหากการผลิตบุหรี่ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ
โดยมีรายละเอียดดังนี้

ร่าง กม.การยาสูบ ซุกหายนะใต้พรม เปิดช่องบุหรี่ต่างชาติเข้ามาผลิต


วศิน พิพัฒนฉัตร ทนายความ สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ปีที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการยาสูบแห่งประเทศไทย โดยให้เหตุผลว่าเป็นการยกฐานะจากโรงงานยาสูบจากที่ไม่ใช่นิติบุคคล ให้อยู่ในสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีต่อระบบการทำธุรกรรมต่างๆของโรงงานยาสูบ แต่มีข้อควรระวังคือ การซ่อนข้อกฎหมายที่เปิดช่องให้อุตสาหกรรมยาสูบต่างชาติสามารถเข้ามาครอบงำกิจการยาสูบของไทยได้ ซึ่งเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้น หรือมากำหนดนโยบายการควบคุมยาสูบของประเทศไทย

ความน่ากังวลต่อการควบคุมยาสูบของประเทศไทยในมิติของร่างกฎหมายนี้ คือ 1. กรณีถ้ามีการใช้ตราสารเพื่อใช้ในการลงทุน ต้องมีความชัดเจนว่าเป็นตราสารประเภทใด เพราะถ้าเป็นตราสารที่มีลักษณะเป็น “บุริมสิทธิ” สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการครอบงำกิจการของอุตสาหกรรมยาสูบต่างชาติได้ ดังจะเห็นได้จากกรณีศึกษาเรื่อง “กุหลาบแก้ว” ที่เป็นกรณีศึกษาเรื่องการเป็นตัวแทนให้ต่างชาติในการถือหุ้นกิจการที่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542

2. การจัดตั้งบริษัทจำกัด หรือ บริษัทมหาชนจำกัดเพื่อดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องกับกิจการของ ยสท. ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการแสวงหากำไร การได้มาซึ่งกำไรย่อมต้องมาจากการจำหน่ายมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบริโภคยาสูบของประชาชนโดยตรง และนอกจากนี้การจัดตั้งในรูปแบบบริษัทมหาชนจำกัด ต้องมีการจำหน่ายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ อาจทำให้อุตสาหกรรมยาสูบต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนในกิจการยาสูบของประเทศไทยได้ ซึ่งประเทศไทยผูกขาดเพียงการผลิตบุหรี่ซิกาแรตเท่านั้น ไม่ได้ผูกขาดการผลิตผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดอื่นๆด้วย และ 3. แม้การออกตราสาร การจัดตั้งบริษัท การเข้าถือหุ้น หรือการลงทุน ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี แต่ก็ไม่มีหลักประกันอะไรว่าอุตสาหกรรมยาสูบต่างชาติจะไม่เข้าแทรกแซงโดยอาศัยอิทธิพลและอำนาจเงินที่มีอยู่

ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา เคยให้ความกังวลว่า ตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 บัญญัติให้การประกอบอุตสาหกรรมบุหรี่ซิกาแรตเป็นการผูกขาดของรัฐ เมื่อโรงงานยาสูบเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีหน้าที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตบุหรี่ซิกา แรตการแปลงสภาพโรงงานยาสูบตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจฯ เป็นบริษัท จำกัดอันอาจทำให้บริษัทจำกัดดังกล่าวมีผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลอื่นใดนอกจากรัฐแล้ว ควรต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของบทบัญญัติดังกล่าวด้วย แม้ร่างกฎหมายการยาสูบนี้จะไม่ได้อาศัยพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจฯ เป็นเครื่องมือในการจัดตั้งบริษัท แต่ได้เขียนช่องทางการจัดตั้งบริษัทไว้ในกฎหมายเลย ซึ่ง ยสท. ก็ต้องไม่ลืมว่าพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ที่กำลังมีผลใช้บังคับก็ได้บัญญัติว่าการผลิตบุหรี่ซิกาแรตเป็นกิจการผูกขาดของรัฐด้วยเช่นกัน

00000

ความเสียหายทางเศรษฐกิจหากการผลิตบุหรี่โดยบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ

รศ.ดร.สุชาดา ตั้งทางธรรม นักเศรษฐศาสตร์ สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และอดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า ผลได้ทางเศรษฐกิจและปัญหาสุขภาพของประชาชนในเรื่องการสูบบุหรี่ก่อให้เกิดปัญหาขัดแย้งมาโดยตลอด หน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการผลิตมักสนับสนุนให้มีการผลิตเพื่อหารายได้ ขณะที่หน่วยงานด้านสาธารณสุขจะเห็นตรงข้าม ธนาคารโลกซึ่งเป็นองค์กรสำคัญทางเศรษฐกิจระดับโลกตระหนักดีถึงผลเสียของการสูบบุหรี่มานานแล้ว ในปี 2535 ก็ได้กำหนดนโยบายไม่ให้ประเทศสมาชิกกู้ยืมเพื่อการผลิต การนำเข้าหรือการตลาดสำหรับสินค้านี้ ไม่ว่าจะเพื่อการบริโภคในประเทศหรือเพื่อส่งออก

ในประเทศสหรัฐอเมริกา องค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมองว่านโยบายของรัฐที่สนับสนุนการส่งออกสินค้ายาสูบขัดแย้งกับนโยบายสาธารณสุขทั้งในและนอกประเทศ ปัจจุบันฟิลิป มอร์ริส (PM) จึงย้ายฐานปฏิบัติการไปตั้งในประเทศอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายที่เข้มงวดในประเทศของตน ขณะที่ในประเทศไทย ร่างกฎหมายการยาสูบฯ กลับกำลังจะเปิดช่องให้หน่วยงานของรัฐเองขยายการผลิตและขยายการส่งออกไปต่างประเทศ อีกทั้งเปิดช่องให้มีการร่วมทุนกับบริษัทบุหรี่ต่างชาติด้วย

การเปิดช่องให้มีการร่วมทุนกับเอกชนเป็นการเปิดทางให้มีการแปรรูปโรงงานยาสูบ ซึ่งต่อไปในอนาคตหากการผลิตบุหรี่ดำเนินการโดยบริษัทข้ามชาติแล้ว พนักงานของ รยส.ส่วนหนึ่งจะถูกปลดจากงานเนื่องจากเครื่องผลิตบุหรี่รุ่นใหม่มีประสิทธิภาพเพิ่มยอดผลิตได้มากขึ้น เกษตรกรชาวไร่ยาสูบก็จะตกงานจำนวนมากเนื่องจากบริษัทบุหรี่ข้ามชาติจะนำใบยาสูบจากประเทศที่ตนไปลงทุนไว้มาผลิตแทน ตัวอย่างเห็นได้จากประเทศโปแลนด์และบัลกาเรีย เป็นต้น (จากข้อมูลของนายแพทย์หทัย ชิตานนท์ ในประเทศโปแลนด์ จำนวนเกษตรกรที่เพาะปลูกใบยาสูบลดจาก 138,000 คน ในปี 2530 เหลือ 40,000 คน ในปี 2537 ส่วนในประเทศบัลกาเรีย การผลิตใบยาสูบลดลงจาก 120,000 ตันในปี 2529 เหลือ 25,000 ตันในปี 2538)

นักเศรษฐศาสตร์ สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย ระบุว่า เมื่อต้นปีนี้ WHO เปิดเผยผลการศึกษาที่ระบุว่าการสูบบุหรี่ก่อความสูญเสียต่อเศรษฐกิจโลกมากกว่ารายได้ที่ประเทศต่าง ๆ ได้รับจากภาษียาสูบ สำหรับประเทศไทย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศศึกษาพบว่าในปี 2552 การสูบบุหรี่ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึง 74,884 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บได้จากยาสูบรวมกับกำไรของโรงงานยาสูบ พิจารณาขนาดของธุรกิจยาสูบ ในปี 2558 บริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่อย่าง PM มียอดขายทั่วโลกประมาณ 2,601,000 ล้านบาท (ขณะที่รัฐบาลไทยมีรายได้สุทธิจากภาษีอากร การขายสิ่งของและบริการ รายได้จากรัฐพาณิชย์ และรายได้อื่น ๆ รวมกัน 2,495,000 ล้านบาท) รยส.มียอดขายในปีเดียวกัน 61,451 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 2.36 ของยอดขายของ PM เท่านั้น) โดยเป็นยอดขายในต่างประเทศ 50 ล้านบาท คำถามคือ โรงงานยาสูบของไทยจะเปิดสาขาต่างประเทศทำไม ? คิดจะแข่งขันกับบริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่ในตลาดโลกหรือ ?

เมื่อครั้งที่ไทยเกิดกรณีพิพาทกับสหรัฐอเมริกาเรื่องการค้ายาสูบ รัฐบาลไทยคัดค้านการนำเข้าบุหรี่โดยอ้างถึงผลเสียต่อสุขภาพของประชาชน คณะรัฐมนตรีก็มีมติเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2533 สนับสนุนให้มีการลดสูบบุหรี่โดยมอบให้กระทรวงการคลังรับไปกำกับให้โรงงานยาสูบลดปริมาณการผลิตบุหรี่ลง รวมทั้งกระทรวงอื่น ๆ รับไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังออกกฎหมายเพื่อช่วยลดการสูบบุหรี่ที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก ถึงแม้เราต้องเปิดให้มีการนำเข้าในที่สุด แต่ GATT ก็มองว่าไทยอาจใช้การผูกขาดกิจการยาสูบในการควบคุมอุปทานในตลาด ในร่างกฎหมายการยาสูบฯ ที่กำลังพิจารณาอยู่นี้จึงสมควรอย่างยิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะกลับไปทบทวนเรื่องราวความเป็นมาในอดีตเป็นบทเรียนด้วย

อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ บุคคลสำคัญท่านหนึ่งของไทยที่เป็นที่ยอมรับในวงการเศรษฐศาสตร์และได้รับการยกย่องว่าเป็นบุคคลสำคัญของโลกในปี 2559 กล่าวในบทความเรื่องสรุปปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทยและวิธีแก้ไขไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2496 สำหรับสินค้ายาสูบท่านว่า “ทำให้ประชาชนขาดสมรรถภาพในการทำงาน รัฐบาลน่าจะหาวิธีป้องกันมากกว่าจะส่งเสริม แล้วหาโอกาสเอารายได้เข้าคลังโดยวิธีอื่น” สรุปชัดเจนว่าสำหรับสินค้านี้ท่านมองเรื่องสุขภาพสำคัญกว่าการหารายได้เข้ารัฐ

WHO กำหนดคำขวัญวันงดสูบบุหรี่โลกในปีนี้ว่า ยาสูบเป็นภัยคุกคามต่อการพัฒนา (Tobacco – a threat to development) สำหรับประเทศไทย การขยายช่องทางให้มีการผลิตเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ประเทศสูญเสียทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ทั้งเป็นการสร้างภาระทางการคลังให้หนักขึ้นไปอีกเพราะรัฐจะต้องใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยจากการสูบบุหรี่ ขณะที่ประเทศก็กำลังมีภาระใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากปัญหาสังคมผู้สูงอายุ

อุตสาหกรรมยาสูบเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีอิทธิพลมากและในหลายประเทศสามารถซื้อเสียงนักการเมืองได้ทุกระดับ โดยเฉพาะบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีอำนาจตัดสินใจและสั่งการ (ตัวอย่างเช่น ในปี ค.ศ. 1976 ในทวีปอเมริกาใต้ Securities and Exchange Commission Report รายงานว่าในช่วงทศวรรษที่ 1970 บริษัทฟิลลิป มอร์ริส และอาร์เจเรย์โนลด์ ได้ “จ่ายเงินอันน่าสังสัย” จำนวน 2.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้แก่ข้าราชการใน 7 ประเทศเพื่อให้ได้สิทธิพิเศษในฐานการผลิตของตน)

รยส. กล่าวถึงการประกอบธุรกิจโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมมาโดยตลอด แต่ขณะเดียวกันสังคมก็กลับได้เห็น รยส. คัดค้านการตั้งโชว์บุหรี่ รวมทั้งคัดค้านกฎหมายควบคุมยาสูบที่ฝ่ายสุขภาพและประชาชนทั่วไปหลายหมู่เหล่าพยายามผลักดันอย่างหนักด้วย รยส. ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐยังคงมีประโยชน์และสามารถช่วยชาติได้หากผู้กำหนดนโยบายเรื่องยาสูบจะเข้าใจหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและดำเนินการตามรอยเบื้องพระยุคลบาทอย่างแท้จริง

00000

ความเสียหายทางสุขภาพหากการผลิตบุหรี่ซึ่งโดยบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ

นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และประธานรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบ องค์การอนามัยโลก (2550 – 2551) กล่าวว่า เมื่อโรงงานยาสูบของรัฐต้องเปลี่ยนเป็น โรงงานยาสูบของบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ ความเสียหายทางด้านสาธารณสุขจะเกิดขึ้นคือ 1. อัตราการสูบบุหรี่และจำนวนผู้สูบบุหรี่จะเพิ่มขึ้น เพราะราคาบุหรี่จะถูกลง และบริษัทบุหรี่ข้ามชาติมีกลยุทธ์การส่งเสริมการขายที่มีประสิทธิผลมาก โดยการบังคับใช้กฎหมายของรัฐอ่อนแอ และฎหมายไทยปรับตัวไม่ทัน และ 2. เยาวชนไทยจะเริ่มสูบบุหรี่เมื่ออายุที่น้อยลง ด้วยเหตุผลเดียวกันกับข้อ 1

ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย ระบุว่า การศึกษาโดย ERC Statistical International ของอังกฤษ พบว่าในประเทศยุโรปกลาง และตะวันออก การบริโภคยาสูบเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 8.2 ระหว่างปี 2538 ถึง 2543 ทั้งนี้หลังจากบริษัทบุหรี่ข้ามชาติไปตั้งโรงงานผลิตบุหรี่ประมาณปี 2535 ปรากฎว่าอัตราการสูบบุหรี่ของชาย ชาวสาธารณรัฐเช็คเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 38 ในปี 2536 เป็นร้อยละ 43 ในปี 2537 และหญิงเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 25-30 ที่ประเทศโรมาเนีย อัตราการสูบบุหรี่ของประชาชนในปี 2532 คือ 25.9 ในปี 2537 อัตรานี้เพิ่มเป็นร้อยละ 28 ในประเทศอุชเบกิสถาน อัตราการสูบบุหรี่ในผู้ชายเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 40 ในปี 2532 เป็นร้อยละ 49 ในปี 2537 ส่วนหญิงก็เพิ่มจากร้อยละ 1 เป็นร้อยละ 9

3. การเจ็บป่วยและความพิการด้วยโรค 25 โรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น และ 4. หากประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกการเจรจาทางการค้าที่ประกอบด้วยประเทศใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา จะประสบปัญหายามีราคาสูงขึ้น ก็จะมีผลเสียต่อระบบการรักษาพยาบาลของประเทศ

นพ.หทัย ระบุด้วยว่า ในประเทศญี่ปุ่น อัตราการสูบบุหรี่ในผู้ชายอยู่ในระดับสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม ตั้งแต่ปี 1970 อัตราการสูบบุหรี่มีแนวโน้มลดลง เมื่อกลางศตวรรษ 1980 รัฐวิสาหกิจของประเทศถูกแปรรูป มีผลให้เกิดการชะลอตัวของอัตราการสูบบุหรี่และในผู้หญิงอายุน้อยมีอัตราสูงขึ้น

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.