เห็นมากันน้อย 'สุรพงษ์' เสนอนับองค์ประชุม สนช.โต้วุ่น ไม่ให้นับ อ้างคนนอกไม่มีสิทธิเสนอ

Posted: 29 Mar 2017 11:09 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

สนช. แถลงปิดคดีด้วยวาจาคดี สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีต รมว.การต่างประเทศ ออกหนังสือเดินทางธรรมดาให้อดีตนายกฯ ทักษิณ ก่อนนัดลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอน 30 มี.ค. นี้


แฟ้มภาพ

29 มี.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (29 มี.ค.60) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดำเนินกระบวนการถอดถอน สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในคดีใช้อำนาจโดยมิชอบ ออกหนังสือเดินทางธรรมดาให้กับอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร โดยวันนี้เป็นการแถลงปิดคดีด้วยวาจาของผู้กล่าวหา และผู้ถูกกล่าวหา

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้กล่าวหา ยืนยันว่า หลักฐานทุกอย่างที่ ชี้มูล สุรพงษ์ มีความถูกต้อง ย้ำ สุรพงษ์ อย่าเอาสถานภาพ คุณสมบัติของ กรรมการ ป.ป.ป. บางคน มาอ้าง เพื่อให้เอกสารกลายเป็นเท็จ พร้อมชี้ว่า การออกหนังสือเดินทางต้องมีการตรวจสอบ โดย กระทรวงการต่างประเทศต้องต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ร้องขอ ตามขั้นตอน และ กระทรวงการต่างประเทศสามารถยับยังการออกหนังสือเดินทางได้ หากพบว่าผู้นั้นมีลักษณะต้องห้าม เป็นผู้กำลังรับโทษในคดีอาญา หรือถูกออกหมายจับแล้ว อีกทั้งกรณีที่ สุรพงษ์ ใช้อำนาจโดยอ้างว่าเป็นการใช้อำนาจ รมว.กระทรวงการต่างประเทศทางนโยบาย ลงความเห็นให้ยกเลิกคำสั่งห้ามออกหนังสือเดินทางของรัฐบาลชุดก่อน เพื่อออกหนังสือเดินทางให้กับอดีตนายกฯ ทักษิณ จนในที่สุดอดีตนายกฯทักษิณ ได้เดินทางออกนอกประเทศ โดยไม่กลับมาอีกเลย จึงแสดงให้เห็นได้ว่า สุรพงษ์ ได้ใช้อำนาจ รมว.กระทรวงการต่างประเทศ ในขณะนั้น โดยมิชอบ เพื่อช่วยผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับหลายคดีและเป็นผู้ต้องหาที่ศาลสั่งห้ามออกนอกประเทศ และมีคำพิพากษาให้จำคุกถึงที่สุด ให้หลบหนีอยู่นอกประเทศโดยสะดวก ทำให้กระทรวงการต่างประเทศเสียหาย กระบวนการยุติธรรมหยุดชะงัก

ขณะที่ สุรพงษ์ ผู้ถูกกล่าวหา ยืนยันว่า กรรมการ ป.ป.ช. ที่ขาดคุณสมบัติขัดต่อประกาศ คปค. รวมทั้งองค์ประชุมและเอกสารของ ป.ป.ช. ขณะลงมติในสำนวนชี้มูลความผิด ทำให้การประชุมเป็นโมฆะและมีปัญหาแน่นอน ไม่สามารถให้เป็นสำนวนถอดถอนตนได้ อีกทั้งคำร้องของ วิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ และส.ส. รวม 139 คน ที่ไม่ปรากฎการลงรายมือชื่อ ก็ถือว่าไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่สามารถใช้เป็นเอกสารร้องให้ถอดถอนตนได้ ซึ่งเมื่อตนได้แจ้งเรื่องนี้ให้ ป.ป.ช. ทราบ เพื่อให้ดำเนินการให้ถูกต้องก่อนใช้คำร้องดังกล่าวในการไต่สวน ป.ป.ช. ก็กลับอ้างว่า มีเลขที่ ส.ส. ซึ่งเพียงพอต่อการแสดงตนของผู้ร้อง และวุฒิสภาตรวจสอบแล้ว การกระทำดังกล่าวของ ป.ป.ช. จึงแสดงชัดว่า ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และมุ่งหวังให้ตนถูกถอดถอน พร้อมระบุว่า การปฏิเสธการออกหนังสือเดินทางให้อดีตนายกฯ ทักษิณ อาจทำให้เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ ถูกฟ้องร้องได้ และตนได้วางนโยบายในฐานะ รมว.กระทรวงการต่างประเทศ เท่านั้น ไม่ได้ใช้อำนาจสั่งการให้ออกหนังสือเดินทางให้กับอดีตนายกฯ ทักษิณ แต่อย่างใด และหากการออกหนังสือเดินทางให้อดีตนายกฯ ทักษิณ เป็นการทำผิดกฎหมายจริง เหตุใดตนจึงถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดเพียงคนเดียว โดยที่เจ้าหน้าที่ผู้ออกหนังสือเดินทางให้อดีตนายกฯ ทักษิณ ไม่มีความผิดใด ๆ จึงขอให้ สมาชิก สนช. ให้ความเป็นธรรมด้วย

สุรพงษ์ ได้แถลงปิดคดี ซึ่ง สุรงพษ์แถลงปิดคดีไม่ถึง 10 นาที ก็ได้ร้องขอให้ตรวจสอบองค์ประชุม โดยอ้างรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 13 ที่ระบุว่า การประชุมต้องมีสมาชิกมีไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง แต่เท่าที่ดูเห็นสมาชิกสนช.เข้ามาร่วมประชุมฟังการแถลงปิดคดีแค่ประมาณ 50 คน ทั้งๆ ที่จะทำหน้าที่เป็นเหมือนตัดสินลงมติตนในวันพรุ่งนี้ จน สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานต้องกดออดเพื่อนับองค์ประชุม ทำให้สมาชิกสนช.ต่างทยอยเข้ามาในห้องประชุม พร้อมทั้งได้ลุกขึ้นอภิปรายทักท้วงคัดค้านการทำหน้าที่ของประธาน ที่ปล่อยให้บุคคลภายนอกที่ไม่มีสิทธิเสนอนับองค์ประชุม อีกทั้งยังปล่อยให้พูดจากล่าวร้ายเสียดสี ทำให้รัฐสภาอันทรงเกียรติเสื่อมเสียเหมือนสภาในอดีต แถมผู้ถูกกล่าวหา รวมทั้งยังนำบุคคลภายนอก คือ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ที่เป็นบุคคลที่เคยแถลงข่าวข่มขู่ ใส่ร้าย ตีปลาหน้าไซ และจะแจ้งความเอาผิดประธาน รองประธานและสมาชิก สนช. อย่างไรก็ตามสมาชิกอภิปรายคัดค้านพฤติกรรมของ สุรพงษ์อย่างดุเดือดเป็นเวลา 1 ชั่วโมง ในที่สุดที่ประชุมได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ 149 เสียง ไม่ให้ตรวจนับองค์ประชุม จากนั้นนายสุรชัยเชิญคู่กรณีกลับเข้ามาอีกครั้ง โดยให้นายสุรพงษ์ แถลงปิดคดีต่อจนจบในเวลา 16.35 น ซึ่งประธานได้นัดลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอนในวันที่ 30 มี.ค. เวลา 10.00 น.



ที่มา : เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา และคมชัดลึกออนไลน์

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.