ไทยพลัดถิ่นแม่สอดหารือทนายสิทธิ-หลังประกาศมหาดไทยฉบับใหม่เอื้อสัญชาติ


Posted: 27 Mar 2017 08:30 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

สุรพงษ์ ทองจันทึก ทนายสิทธิมนุษยชน ร่วมกับปลัดอำเภอแม่สอด หารือด้านกฎหมายกับกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นที่ยังไม่ได้สัญชาติไทย เผยที่ผ่านมามีชาวบ้านส่วนหนึ่งได้สัญชาติหลังศาลปกครองมีคำสั่ง และมีอีก 351 รายรอผลจากศาลปกครอง ขณะที่ทนายแนะให้ศึกษา "ประกาศกระทรวงมหาดไทย" ฉบับล่าสุด 14 มี.ค. 2560 เอื้อให้คนที่เกิดในประเทศไทย พ่อแม่เป็นชนกลุ่มน้อย แต่ถ้ามีหลักฐานในทะเบียนราษฎร ก็เข้าเกณฑ์ได้สัญชาติไทยตามหลักดินแดน

27 มี.ค. 2560 ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอแม่สอด จ.ตาก มีการหารือกับกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นที่ยังไม่ได้สัญชาติไทย โดยวิทยากรคือ สุรพงษ์ กองจันทึก ทนายความผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสัญชาติ อดีตประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติฯ สภาทนายความ และ ธีระนันท์ ชัยมานันท์ ปลัดอำเภอแม่สอด หัวหน้าฝ่ายทะเบียนและบัตร ให้คำแนะนำทางกฎหมายแก่ชาวบ้านที่มารับฟังข้อสงสัยทางกฎหมายสัญชาติ


สุรพงษ์ กองจันทึก (ซ้าย) ทนายความด้านกฎหมายสัญชาติ และ ธีระนันท์ ชัยมานันท์ (ขวา) ปลัดอำเภอแม่สอด หัวหน้าฝ่ายทะเบียนและบัตร


ชาวไทยพลัดถิ่นที่รอการได้สัญชาติไทย ร่วมหารือด้านสิทธิทางกฎหมาย


บรรยากาศการหารือที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอแม่สอด จ.ตาก

ต่อคำถามที่ว่า กรณีของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นใน อ.แม่สอด จ.ตาก ที่เคยยื่นขอสัญชาตินั้น สุรพงษ์กล่าวว่า มีกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นยื่นขอสัญชาติไทยไปนานแล้ว แต่สุดท้ายยังไม่มีการให้สัญชาติไทยกับเขา กลุมที่ยื่นเรื่องมาแล้ว 10 ปีก็มี 20 ปีก็มี ก็มีผู้ฟ้องร้องศาลปกครองจำนวน 73 ราย ศาลปกครองก็ตัดสินว่าเจ้าหน้าที่รัฐคือ รมว.กระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า ให้เร่งรัดดำเนินการให้ชาวบ้านภายใน 30 วัน ซึ่ง รมว.มหาดไทยก็ไม่อุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด แต่สั่งการให้ดำเนินการเลย ซึ่งกลุ่มที่ฟ้องคดีต่อศาลปกครองปัจจุบันนี้ก็ได้สัญชาติไทยแล้ว

นอกจากนี้มีการคุยกับปลัดกระทรวงมหาดไทยว่า กลุ่มไทยพลัดถิ่นอื่นๆ ที่ยังไม่ได้สัญชาติและยังไม่ได้ฟ้อง ให้ดำเนินการได้ไหม มีทั้งหมด 411 ราย ปลัดกระทรวงมหาดไทยก็สั่งให้ดำเนินการ โดยกลุ่มนี้ได้สัญชาติไปแล้วกว่า 300 ราย โดยไม่ต้องฟ้องศาลปกครอง เพราะยึดแนวคำพิพากษาศาลปกครองที่มีอยู่แล้วเป็นบรรทัดฐานที่เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการ ขณะเดียวกันยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้าตาม พ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2555 ในการคืนสัญชาติไทยให้คนไทยพลัดถิ่น ปรากฏว่ากรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ยังไม่รับรองคนไทยพลัดถิ่นกลุ่มที่มาจาก อ.แม่สอด และ อ.แม่ระมาด จ.ตาก แต่รับรองพื้นที่อื่นหมด และทำหนังสือตอบชาวบ้านด้วยว่าไม่รับรอง ถ้าชาวบ้านจะใช้สิทธิต้องฟ้องศาล ชาวบ้านก็เลยต้องฟ้องศาล ปัจจุบันนี้มีชาวบ้านราว 351 รายฟ้องศาลปกครองไว้ และอยู่ในขั้นตอนพิจารณาของศาลปกครอง

ส่วนกรณีของประกาศของกระทรวงมหาดไทย "เรื่อง การสั่งให้คนที่เกิดในราชอาณาจักรและไม่ได้รับสัญชาติไทย โดยมีบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวได้สัญชาติไทยเป็นการทั่วไป และการให้สัญชาติไทยเป็นการเฉพาะราย" เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2560 (อ่านประกาศกระทรวงมหาดไทย) โดยเป็นการออกประกาศตามมติคณะรัฐมนตรี 7 ธันวาคม 2559 "อนุมัติหลักเกณฑ์การให้สัญชาติไทยเพื่อการแก้ไขปัญหาเด็กนักเรียน นักศึกษาและบุคคลไร้สัญชาติที่เกิดในราชอาณาจักรตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ" นั้น สุรพงษ์ กล่าวว่า คนที่จะเข้าเกณฑ์ได้สัญชาติไทยนั้น ต้องเกิดในประเทศไทย พ่อแม่เป็นชนกลุ่มน้อย คนที่เกิดต้องมีเลข มีชื่อในทะเบียนราษฎร มีหลักฐานว่าเกิดในประเทศไทย เช่น สูติบัตร ทะเบียนการเกิด หนังสือรับรองการเกิด ก็สามารถได้สัญชาติไทยเลย ในกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นคิดว่ามีอยู่บ้าง

ขณะเดียวกันกลุ่มที่ไม่ใช่คนไทยพลัดถิ่น ไม่ใช่ชนกลุ่มน้อย พ่อแม่อาจจะเป็นคนต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในสมัยก่อน เมื่อลูกเกิดในประเทศไทย มีการแจ้งเกิดไว้แล้ว ถ้าลูกจบปริญญาตรีสามารถขอสัญชาติไทยได้ โดยเราแยก 2 กลุ่ม ชนกลุ่มน้อย ไม่ต้องจบปริญญาตรี รัฐถือว่าเข้ามานานแล้ว และรัฐจัดทำทะเบียนไว้ให้ตั้งแต่ก่อนปี 2542 แล้ว เมื่อลูกเกิดมาแล้วก็ได้สัญชาติเลย แต่ถ้าเป็นคนสัญชาติอื่น อยู่ประเทศไทยมานานแล้ว ต้องให้ลูกจบปริญญาตรีจึงจะขอสัญชาติได้ โดยประเมินว่าคน 2 กลุ่มนี้ที่มีคุณสมบัติได้สัญชาติไทยมีประมาณแสนกว่าคน โดยเป็นการได้สัญชาติไทยตามหลักดินแดน เพราะเกิดในประเทศไทย

ส่วนคำถามที่ว่า ในพื้นที่ อ.แม่สอด ชนกลุ่มน้อยที่มีบัตรประจำตัว มีเลขนำหน้าเป็นเลข 6 และดำเนินการขอสัญชาติไว้ เวลานี้หลายคนก็อายุราว 60 ปีแล้ว ปัจจุบันจะมีวิธีใดที่จะขอสัญชาติได้เร็วที่สุด เหมาะสมที่สุดที่สามารถไปทำได้ ธีระนันท์ ซึ่งเป็นปลัดอำเภอแม่สอด หัวหน้าฝ่ายทะเบียนและบัตร แนะนำว่าต้องรวบรวมรายชื่อคนที่เคยขอสัญชาติเอาไว้ และยังมีชีวิตอยู่ และส่งรายชื่อให้กับทางอำเภอ เพื่อให้ทางอำเภอช่วยติดตามว่าขั้นตอนใดล่าช้า จะได้เร่งรัดให้
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.