คสช. กล้ามั้ย? ‘ปฏิรูปภาษี’ เพิ่มรายได้รัฐ ลดเหลื่อมล้ำ เก็บภาษีคนรวย


Posted: 29 Mar 2017 09:17 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ไทยปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรง คน 20 เปอร์เซ็นต์ถือครองทรัพย์สินสุทธิมูลค่ามากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของทั้งประเทศ รัฐรายได้ไม่พอรายจ่าย การคลังขาดดุลตลอด 20 ปี นักวิชาการระดมหาทางออก แนะ 10 กรอบแนวทางปฏิรูปภาษี เก็บภาษีฐานทรัพย์สินจากคนรวย ลดมาตรการลดหย่อนเพื่อคนรวยได้ประโยชน์ แต่คนจนไม่ได้อะไร

ภาษี นอกจากจะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศแล้ว ยังเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม หากที่ผ่านมาการจัดเก็บภาษีเพื่อวัตถุประสงค์ประการหลังยังไม่เกิดขึ้น หรือหากเกิดขึ้นก็ใช่จะนอนใจได้ว่าจะจัดเก็บได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือแม้กระทั่งว่าจะเก็บได้จริงหรือไม่ เนื่องจากชนชั้นนำทางเศรษฐกิจย่อมมีวิธีการจัดสรร จัดการทรัพย์สินของตนเพื่อเลี่ยงภาษี

ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยขาดดุลการคลังมาโดยตลอด กล่าวคือมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ ปัจจุบัน ไทยเก็บรายได้ภาษีต่ำกว่าศักยภาพที่ประเทศมี ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 25 ของจีดีพี แต่เก็บจริงได้เพียงร้อยละ 20 เท่านั้น ทำให้รัฐบาลต้องก่อหนี้เพิ่มทุกปี หนี้ที่ครบกำหนดมีบางส่วนที่จ่ายคืน บางส่วนต้องขอต่ออายุหนี้ออกไป ซึ่งหนี้ส่วนนี้กำลังใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ตามมาด้วยภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น ภาระในการดูแลผู้สูงอายุจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยก็กำลังสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน จึงจำเป็นต้องหาแหล่งรายได้เพื่อมารองรับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ใช้ในการพัฒนาประเทศและเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

ภาษีทรัพย์สินเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำ


ส่องดูโครงสร้างรายได้ภาษีโดยแบ่งตามประเภทฐานภาษี ปี 2557 พบว่ามาจากภาษีฐานการบริโภคถึงร้อยละ 56.53 ภาษีฐานเงินได้ร้อยละ 42.32 ขณะที่ภาษีฐานทรัพย์สินเก็บได้เพียงร้อยละ 1.15 เท่านั้น ทั้งที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ

ดวงมณี เลาวกุล จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พาไปสำรวจความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สิน พบว่า การถือครองที่ดินของกลุ่มร้อยละ 20 แรกเทียบกับกลุ่มร้อยละ 20 สุดท้าย มีความต่างกันถึง 325 เท่า มีคน 1 เปอร์เซ็นต์ถือครองที่ดินประมาณร้อยละ 24 ของประเทศ ส่วนผู้ถือครองที่ดินมากที่สุดมีที่ดินรวมกันมากถึง 631,263 ไร่

ขณะที่การถือครองทรัพย์สินสุทธิ ซึ่งหมายถึงทรัพย์สินเมื่อหักด้วยหนี้สินแล้ว พบว่า กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้มากที่สุดประมาณร้อยละ 20 ถือครองทรัพย์สินสุทธิมูลค่ามากกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิทั้งหมดในประเทศไทย ช่วงปี 2549-2552 โดยที่ครัวเรือนอีกร้อยละ 80 ที่เหลือถือครองทรัพย์สินสุทธิไม่ถึงร้อยละ 50

“ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นการกระจุกตัวของการถือครองทรัพย์สินอย่างชัดเจน”

การเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สินจึงเป็นแนวทางที่ควรพิจารณา หากเทียบกับในต่างประเทศที่มีการเก็บภาษีทรัพย์สินกับในไทย พบว่า ของไทยอยู่ที่ร้อยละ 0.2 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ในต่างประเทศเก็บที่ร้อยละ 1.5-2

“การเพิ่มรายการลดหย่อนและการหักค่าใช้จ่าย ขณะที่ปรับลดอัตราการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลงไปเรื่อยๆ แน่นอนคนที่ได้ประโยชน์ก็คือคนที่มีรายได้ค่อนข้างดี คนที่ใช้ประโยชน์จากแอลทีเอฟและอาร์เอ็มเอฟลดหย่อนได้เต็มเพดาน 5 แสนบาท ไม่ใช่คนที่มีฐานะยากจนแน่ๆ โดยเฉพาะสำหรับคนที่ฐานะไม่ดี ไม่ต้องจ่ายภาษีอยู่แล้วย่อมไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากการเพิ่มการลดหย่อนหรือการลดอัตราภาษีนี้”

ดวงมณี แสดงความเห็นว่า แต่การที่กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกกำหนดให้ที่พักอาศัยหลังแรกที่มีมูลค่าต่ำกว่า 50 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี ถือเป็นมูลค่าที่สูงเกินไป ซึ่งไม่ช่วยขยายฐานภาษีเท่าภาษี ส่งผลให้รายได้ที่จัดเก็บอาจไม่เพิ่มขึ้นมากนัก ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในการลดความเหลื่อมล้ำ อีกทั้งทำให้ไม่มีรายได้เพียงพอในการให้บริการสาธารณะกับประชาชน เธอเห็นว่ามูลค่ายกเว้นที่เหมาะสมควรอยู่ในระดับอย่างมากก็แค่ 5 ล้านบาทเท่านั้น

ส่วนกฎหมายภาษีมรดกเป็นภาษีฐานทรัพย์สินอีกประเภทหนึ่งที่มีการประกาศใช้ โดยจะเก็บจากมรดกส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท

“ตอนนี้เก็บได้แค่รายเดียว ซึ่งก็ไม่น่าแปลก เพราะคงมีการถ่ายโอนไปหมดแล้ว จึงยากที่ปีแรกๆ ของการเก็บภาษีมรดกจะเก็บได้ แต่ในระยะยาว การเก็บภาษีมรดกจะลดความเหลื่อมล้ำได้ในระดับหนึ่ง แต่จะมีผลกระทบในเรื่องอื่นๆ เช่น คนอาจจะไม่เลือกที่จะเก็บเงินหรือทรัพย์สินอื่นๆ ในประเทศ เพราะอาจมีการสืบค้นได้ง่ายกว่า อาจมีวิธีจัดการทรัพย์สิน ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ไม่ต้องเสียอยู่ดี อาจต้องดูว่าต้นทุนการจัดเก็บภาษีมรดกคุ้มหรือไม่กับรายได้ภาษีที่ได้รับ แต่ถ้าเราสามารถภาษีมรดกได้จริงๆ เราก็จะมีรายได้เข้ามาค่อนข้างมากในระดับแสนล้านจากตระกูลมหาเศรษฐีของไทย”

ลดหย่อนยิ่งมาก คนรวยยิ่งได้ประโยชน์

การหักค่าใช้จ่ายและมาตรการลดหย่อนต่างๆ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ ภาวิน ศิริประภานุกูล เริ่มเรื่องด้วยการอธิบายว่า โครงสร้างการลดหย่อนและการปรับอัตราภาษีโดยเน้นที่อัตราภาษีเงินได้ของไทย ในทางเศรษฐศาสตร์การคลังเรียกว่า รายจ่ายภาษี จากงานศึกษาของเขาให้นิยามว่าเป็นรายรับที่สูญเสียไปจากข้อกำหนดของกฎหมายที่ยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีให้กับผู้เสียภาษีเป็นกรณีพิเศษจากภาษีพื้นฐาน ซึ่งรายจ่ายภาษีนี้จะลดความสามารถในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจลง และคนที่ได้ประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีมักจะเป็นคนที่มีฐานะดีในสังคม ขณะที่คนฐานะไม่ดีมักไม่ได้รับประโยชน์

จากการศึกษาเปรียบเทียบ 3 ช่วงเวลาคือในปี 2540, 2550 และ 2560 แสดงให้เห็นว่า ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีการหักค่าใช้จ่ายและรายการลดหย่อนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อัตราการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากลับสวนทางกัน

“การเพิ่มรายการลดหย่อนและการหักค่าใช้จ่าย ขณะที่ปรับลดอัตราการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลงไปเรื่อยๆ แน่นอนคนที่ได้ประโยชน์ก็คือคนที่มีรายได้ค่อนข้างดี คนที่ใช้ประโยชน์จากแอลทีเอฟ (กองทุนรวมหุ้นระยะยาว) และอาร์เอ็มเอฟ (กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ) ลดหย่อนได้เต็มเพดาน 5 แสนบาท ไม่ใช่คนที่มีฐานะยากจนแน่ๆ โดยเฉพาะสำหรับคนที่ฐานะไม่ดี ไม่ต้องจ่ายภาษีอยู่แล้วย่อมไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากการเพิ่มการลดหย่อนหรือการลดอัตราภาษีนี้”

ในส่วนของภาษีเงินได้นิติบุคคล ในปีงบประมาณ 2559 มีการประเมินว่าการลดหย่อนภาษีสิทธิพิเศษบีโอไอมีมูลค่าประมาณ 1.5 แสนล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อนำตัวเลขของธุรกิจมาหากำไรก่อนหักภาษีเงินได้ แล้วคำนวณด้วยอัตราปกติ ภาวินพบว่า ในปีงบประมาณ 2559 รายจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลมีมูลค่าทั้งหมด 2.9 แสนล้านบาท

“ประเด็นการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลสามารถถกเถียงกันได้ว่าสร้างความเหลื่อมล้ำหรือเปล่า แต่โดยส่วนตัวคิดว่าเป็นการเพิ่มความเหลื่อมล้ำ การเพิ่มการหักค่าใช้จ่ายและมาตรการลดหย่อนจะส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำแย่ลง เป็นการบิดเบือนพฤติกรรม เพิ่มความยุ่งยากซับซ้อนในการคำนวณภาษี และทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้”

10 กรอบการปฏิรูปภาษี

เมื่อเห็นแนวโน้มภาษีของไทยที่ยังไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ แต่กลับยิ่งซ้ำเติมปัญหา ธร ปีติดล จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เสนอกรอบ 10 ประการในการปฏิรูปภาษี ประกอบด้วย

1. กรอบคิดใหญ่คือต้องพยายามตอบเป้าหมายการสร้างความมั่งคงทางการคลังและการลดความเหลื่อมล้ำไปพร้อมๆ กัน

2. มุ่งขยายฐานภาษีเงินได้ ลด เลิก การลดหย่อนที่ไม่จำเป็นและความซับซ้อนในระบบภาษีเงินได้ ที่มักจะเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มที่มีรายได้สูง เพราะการลดหย่อนลดศักยภาพในการกระจายรายได้ และต้องดึงคนเข้าฐานภาษีเงินได้บุคคลให้ได้

3. เพิ่มรายได้จากภาษีฐานทรัพย์สิน ทบทวนรายละเอียดของภาษีมรดก รวมถึงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อเพิ่มศักยภาพการกระจายรายได้ เพราะเป็นภาษีที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการกระจายรายได้และแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำโดยตรง

สิ่งที่ควรเกิดขึ้นไปพร้อมๆ กับการปฏิรูปภาษีก็คือการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง สภาพที่จะช่วยให้การเปลี่ยนแปลงระบบภาษีเป็นไปในทางที่เอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนทั่วไปได้ดีที่สุด คือการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการกำหนดและตรวจสอบนโยบายรัฐได้

4. ควรมีการทบทวนการใช้มาตรการส่งเสริมการลงทุนว่ามีความคุ้มค่าเพียงใด พร้อมกับประเมินผลในการบรรลุเป้าหมายของมาตรการเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอว่าได้ผลจริงหรือไม่ และนำมาซึ่งต้นทุนที่ไม่ควรจะเป็นหรือเปล่า เช่น ขาดรายได้สำหรับปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน

5.ในกรณีที่รัฐบาลต้องการเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องมุ่งปรับปรุงโครงสร้างรายจ่ายภาครัฐให้ไปในทางที่เพิ่มสวัสดิการและลดความเหลื่อมล้ำ ภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ใช่เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการกระจายรายได้ อีกประเด็นที่ต้องถามคือเงินที่รัฐได้จากการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจะถูกนำไปใช้จ่ายอย่างไร

6. พิจารณาความเป็นไปได้ในการนำภาษีรูปแบบใหม่ๆ เข้ามาใช้ ยกตัวอย่างภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะเป็นภาษีที่ระบุชัดเจนว่ารายได้จะถูกใช้ในวัตถุประสงค์ใด เช่น ภาษีที่เก็บจากการก่อมลพิษ แต่ปัญหาของภาษีลักษณะนี้คือไม่ผ่านกระบวนการงบประมาณ ดังนั้น จึงควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย

7. ปรับปรุงกฎหมายเพื่อส่งเสิรมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความสามารถในการบริหารจัดการทางการคลังด้วยตนเอง มีความสามารถและมีบทบาทมากขึ้นในการให้บริการสาธารณะ ลดบทบาทของเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลาง การกระจายอำนาจต้องเกิดการกระจายอำนาจทางการคลังไปในเวลาเดียวกัน

8. ควรมีการพิจารณาออกมาตรการทางภาษีเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมมาใช้ โดยทางเลือกประกอบไปด้วยการนำภาษีใหม่ๆ เช่น ภาษีคาร์บอน (เก็บจากการใช้เชื้อเพลิง การใช้ไฟฟ้า และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก) และภาษีในการลดมลพิษและขยะ เช่น ภาษีบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

9. รัฐบาลต้องมุ่งสร้างความโปร่งใสทางการคลังโดยพัฒนาฐานข้อมูลทางการคลังที่เปิดเผยต่อสาธารณะ เช่น ฐานข้อมูลทั้งด้านภาษีและการใช้จ่ายของรัฐบาล รวมทั้งสื่อสารให้ประชาชนเห็นถึงประโยชน์ของเงินภาษีที่ย้อนกลับมาสู่ตนเอง

10. สิ่งที่ควรเกิดขึ้นไปพร้อมๆ กับการปฏิรูปภาษีก็คือการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง สภาพที่จะช่วยให้การเปลี่ยนแปลงระบบภาษีเป็นไปในทางที่เอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนทั่วไปได้ดีที่สุด คือการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการกำหนดและตรวจสอบนโยบายรัฐได้

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.