แม่ทัพภาค 4 ลงพื้นที่รับฟังความเห็นสถานการณ์พลังงานภาคใต้ ย้ำยึดระบบประชาธิปไตย

Posted: 27 Mar 2017 12:26 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

แม่ทัพภาคที่ 4 ลงพื้นที่กระบี่ เปิดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นสถานการณ์พลังงานภาคใต้ ย้ำยึดระบบประชาธิปไตย เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้แสดงความคิดเห็น ด้าน 'ค้านถ่านหิน' จี้ คสช. อย่าใช้เวทีอ้างความชอบธรรม กป.อพช.ใต้ ลั่นทางออกพลังงานภาคใต้ต้องไม่ใช่ถ่านหิน



27 มี.ค.2560 รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเวลา 10.00 น. ของวันนี้ (27 มี.ค.60) ที่ห้องประชุมนพรัตน์ธารา โรงแรมกระบี่เบอร์ริไทม์ อ.เมือง จ.กระบี่ พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ในฐานะผู้แทน คสช. เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม สร้างความรู้ความเข้าใจและรับทราบความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ 4 จังหวัดได้แก่ จ.ภูเก็ต จ.พังงา จ.กระบี่ และ จ.ตรัง โดยมีประชาชนและผู้มีส่วนร่วมในพื้นที่ 4 จังหวัดเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก


พล.ท.ปิยวัฒน์ กล่าวว่า การเปิดเวทีกิจกรรมการสร้างความรู้ ความเข้าใจและรับทราบความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ในครั้งนี้จะเป็นสื่อกลางในการสร้างความรู้ ความเข้าใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์รับทราบความคิดเห็นที่หลากหลายและยอมรับในความคิดเห็นที่แตกต่างกันโดยยึดระบบประชาธิปไตย ที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้แสดงความคิดเห็น ซึ่งการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ถือเป็นการ น้อมนำ พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ว่า "ให้ถือเอาความสามัคคีความยินยอมเสียสละส่วนตัวเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่ของประเทศชาติเป็นคุณธรรมประจำใจอยู่เนืองนิตย์"

แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดกิจกรรมในวันนี้ เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่แสดงออกถึงความรักความสามัคคีของคนในชาติและยังเป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลโดยโดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ 2 ประการคือ เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับพี่น้องประชาชนทั้ง 14 จังหวัด เกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าของภาคใต้ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตรวมทั้งทางเลือกในการสร้างโรงไฟฟ้ารูปแบบต่างๆ ที่มีความเหมาะสม เป็นไปได้และทุกภาคส่วนให้การยอมรับโดยคำนึงถึงประโยชน์ของภูมิภาคเป็นสำคัญทั้งนี้จะต้องให้พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบหรือความเดือดร้อนน้อยที่สุดนอกจากนี้ยังเป็นการเปิดเวที รับทราบความคิดเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วนในพื้นที่ภาคใต้ที่จะแสดงความคิดเห็นบนข้อเท็จจริงอย่างสร้างสรรค์ด้วยหลักการและเหตุผลในบรรยากาศแห่งความสามัคคีปรองดองซึ่งการจัดกิจกรรมใน ครั้งนี้แยกจัดเป็น 3 เวที เพื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่มจังหวัดประกอบด้วยเวทีสุราษฎร์ธานี 4 จังหวัด เวที กระบี่ 4 จังหวัด และเวทีสงขลา 6 จังหวัด
'ค้านถ่านหิน' จี้ คสช. อย่าใช้เวทีอ้างความชอบธรรม

ขณะที่วานนี้ (26 มี.ค.60) เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 6/2560 โดยระบุว่า จากการที่ คสช.จะจัดเวทีเพื่อทำความเข้าใจและรับฟังความเห็นประเด็นพลังงานภาคใต้ในวันที่ 27 มี.ค. 60 นั้น เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินมีความเห็นดังนี้ 1. เห็นด้วยกับ โจทย์ของ คสช.ที่ต้องการหาทางออกเรื่องพลังงานในภาคใต้

2.ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการจัดงาน ที่โน้มเอียงไปในทางการให้ข้อมูลด้านเดียวแก่ผู้รับฟัง ซึ่งจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดไปตลอด เพราะผู้เข้าฟังส่วนใหญ่เป็นฝ่ายปกครองที่ส่งผลต่อความคิดของประชาชน รวมถึงการให้ข้อมูลทั้งหมดเกิดจากเจ้าของโครงการผู้จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพียงฝ่ายเดียว และ 3. เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินจะเข้าร่วมนำเสนอทางออกพลังงานภาคใต้ในเวทีนี้ ด้วยเห็นว่าโจทย์ทางออกควรจะได้พูดคุยกันมานานแล้ว และเนื่องจากเครือข่ายได้แสดงเจตจำนงค์มานานว่า ควรจะมีการพูดคุยกันในประเด็นเหล่านี้ให้ตกผลึก


ฉะนั้นเครือข่ายก็จะใช้การประชุมครั้งนี้นำเสนอข้อมูลถึงทางออกที่ไม่ใช่โรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อความมั่นคงในอนาคตด้านพลังงานไฟฟ้าในภาคใต้ ภายใต้เงื่อนไขซึ่งมีการทำความเข้าใจกันร่วมกันแล้วว่า 1. รัฐบาลหรือ คสช.ไม่นำข้อมูลการรับฟังความเห็นจากวันที่ 27 มี.ค.ไปสู่การตัดสินใจอนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ว่าในขั้นตอนใด 2. กระทรวงพลังงาน และ กฟผ.จะต้องไม่นำการรับฟังความเห็นทั้ง 3 เวทีในภาคใต้ไปสู่การอ้างความชอบธรรมในการเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหิน ไม่ว่าในกรณีใดทั้งสิ้น

ในการนี้เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ขอให้รัฐบาลออกมาตราการที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ปฏิบัติได้โดยเร็ว ในการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่พร้อมผลิตอยู่แล้ว เพื่อพิสูจน์ว่า พลังงานหมุนเวียนสามารถสร้างความมั่นคงด้านพลังงานได้จริง
กป.อพช.ใต้ ลั่นทางออกพลังงานภาคใต้ต้องไม่ใช่ถ่านหิน

สมบูรณ์ คำแหง เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) ออกแถลงการณ์ เรื่อง ทางออกพลังงานภาคใต้ต้องไม่ใช่ถ่านหิน โดยระบุว่า ​การที่ คสช. ได้มีคำสั่งที่ 4/2560 เพื่อแต่งตั้งคณะทำงาน และจัดให้มีเวทีสร้างความรู้ ความเข้าใจ และรับทราบความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานในภาคใต้ ในวันที่ 27 มี.ค.นี้ ซึ่งจะมีการจัดเวทีพร้อมกัน 3 กลุ่มจังหวัด ครอบคลุมทั้ง 14 จังหวัดในภาคใต้นั้น อาจจะเห็นได้ถึงความพยายามที่จะหาทางออกต่อปัญหาที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้ง และความไม่เข้าใจจากกรณีการจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.ที่มีแผนจะสร้างในพื้นที่ภาคใต้เกือบ 10 โรง ซึ่งแทบจะกระจายเกือบทุกจังหวัดในภาคใต้ จนนำไปสู่การขัดขวาง ประท้วง และแสดงออกที่ไม่เห็นด้วยต่อแนวทางดังกล่าวของประชาชนภาคใต้เรื่อยมาในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้
​ทางออกเรื่องพลังงานภาคใต้ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ถ่านหินมีแน่นอน หากแต่จะอยู่ที่รัฐบาล และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตพร้อมจะเปิดใจรับฟังอย่างมีเหตุมีผลหรือไม่ ทั้งนี้จะต้องเปิดมุมมองเบื้้องต้น ดังนี้ 1. รัฐบาล และ กฟผ. จะต้องเปิดโลกทัศน์ใหม่ ให้สอดคล้องการการพัฒนายุค 4.0 ทั้งนี้จะสอดคล้องกับทิศทางการผลิตพลังงานของประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย ที่มีแผนลดการใช้พลังงานฟอสซิล และเพิ่มการผลิตพลังงานทางเลือกมากขึ้นบเดิมๆ 2. กฟผ.จะต้องข้ามผ่านผลประโยชน์ทางธุรกิจขององค์กร และนักลงทุนบางกลุ่ม แต่ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของคนทั้งประเทศในอนาคต และจะต้องเปิดพื้นที่ทางกฏหมาย สร้างทางออก หรือนโยบายที่ดีส่งเสริมสนับสนุนให้มีการผลิตพลังงานทางเลือกมากขึ้นอย่างเป็นระบบ และ 3. มีข้อมูลทางวิชาการที่ชี้ชัดว่าพื้นที่ภาคใต้มีศํกยภาพพอที่จะผลิตพลังงานทางเลือกชนิดต่างๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ,ลม,ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ,และขยะชุมชน ได้ถึง 75,000 แม็กวัตต์ มากมายเหลือเฟือที่จะสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับคนภาคใต้ได้

กป.อพช.ใต้ จึงมีความเห็นว่า หากรัฐบาลมีความจริงใจที่จะสร้างเวที หรือเปิดพื้นที่การรับฟังต่อเรื่องนี้จริง จะต้องเปิดกว้างอย่างตรงไปตรงมา และจะต้องเชิญชวนให้นักวิชาการที่มีความรู้ และความชำนาญการต่อเรื่องนี้ ตลอดถึงการนำผลการศึกษาวิจัยที่ได้มีการทำไว้บ้างแล้วมาเป็นเครื่องช่วยให้การตัดสินใจชี้ชะตาต่อเรื่องนี้อย่างมีประสิทธิภาพได้ การจัดเวทีในวันนี้ทั้ง 3 กลุ่มจังหวัด ถือว่ามีความสุ่มเสี่ยง และมีนัยสำคัญที่อาจจะไม่เป็นไปเพื่อการรับฟังอย่างแท้จริง เพราะผู้เข้ารับฟังส่วนใหญ่คือบุคลากรของรัฐ และผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น ที่ไม่อาจจะเสนอแนะอะไรอย่างตรงไปตรงมาได้อย่างอิสระพอ อีกทั้งยังไม่มีความเข้าใจที่ชัดเจนต่อเรื่องแนวคิดของการผลิตพลังงานทางเลือก

แถลงการณ์ ระบุด้วยว่า ​หากรัฐบาล หรือ คสช. ต้องการที่หาทางออกต่อความคิดเห็นที่แตกต่างต่อเรื่องนี้จริง อันอาจจะนำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นต่อเรื่องพลังงาน หรือเรื่องโครงการอื่นๆในภาคใต้ได้อีกด้วย จะต้องดำ เนินการดังนี้ 1. จะต้องเปิดพื้นที่ให้มีการทำความเข้าใจเรื่องทางออกพลังงงานภาคใต้ โดยการสร้างกลไกการพูดคุยระหว่างรัฐบาล นักวิชาการที่มีความรู้เรื่องพลังงานทางเลือก และเครือข่ายประชาชนที่มีความคิดต่อเรื่องนี้ อย่างจริงจัง 2. กรณีโครงการที่ยังมีความขัดแย้งทั้งโรงไฟฟ้ากระบี่ และเทพา หรือโรงไฟฟ้าขนาดเล็กอื่นๆ จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และต้องใช้แนวทางที่นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ทำการศึกษาใหม่อย่างกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่

3. รัฐบาลจะต้องทบทวนระเบียบ กฏหมาย ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ (EIA. หรือ EHIA.)ของประเทศ ที่พบว่ามีข้อบกพร่อง ไม่ทันสมัยเฉกเช่นนานาประเทศเสียก่อน ทั้งนี้เพื่อสร้างเครื่องมือที่มีการยอมรับร่วมกันมากขึ้น และ 4. ผลสรุปของเวทีที่จัดขึ้นในวันนี้ จะต้องไม่นำไปสู่การสร้างเงื่อนไขเพื่อเดินหน้าโครงการ เพราะเป็นเพียงการรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้น ซึ่งมีองค์ประกอบ และความเข้าใจของผู้เข้าร่วมที่ไม่สมบูรณ์พร้อม แต่อาจจะเป็นเพียงแนวทางที่จะนำไปสู่การหารืออย่างทางการมากขึ้นในอนาคต(ตามที่เสนอในข้อที่ 1)

"เราขอสนับสนุนความตั้งใจของรัฐบาล และคสช. ที่ต้องการสร้างทางออกต่อเรื่องพลังงานในพื้นที่ภาคใต้ และเราเชื่อว่าหากท่านทั้งหลายต้องการคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้จริง ก็จะต้องดำเนินไปด้วยความสุขุมรอบคอบ และจะต้องอยู่เหนือผลประโยชน์ทางธุรกิจ และการเมืองอย่างแท้จริงเท่านั้น จึงจะนำไปสู่ทางออกของพลังงานในภาคใต้ และอาจจะนำไปสู่ความมั่นคงทางด้านพลังงานอย่างที่พวกเราทุกคนต้องการได้" แถลงการณ์ระบุตอนท้าย

​​​​​​​

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.