ผมไม่กลัว แต่ผมโกรธ: บันทึกผู้สื่อข่าวผู้ตกเป็นจำเลยคดีประชามติ

Posted: 26 Mar 2017 08:59 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)


ผมชื่อ อ๊อตโต้ ทวีศักดิ์ เกิดโภคา เป็นชื่อจริง อายุ 25 ปี อาชีพนักข่าว:

การมีอาชีพผู้สื่อข่าว เป็นความฝันของผมตั้งแต่ตอนที่ยังเรียนอยู่ใน สาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมสนใจในประเด็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา

การได้เป็นผู้สื่อข่าว จึงเป็นความภูมิใจอย่างหนึ่งในชีวิต เหตุผลเพราะผมเชื่อว่างานที่ผมอาจจะมีส่วนช่วยทำให้สังคมไทยเดินเข้าใกล้หลักการสำคัญที่ถูกยอมรับกันในสากลโลก เช่นหลักการประชาธิปไตย หลักสิทธิมนุษยชน และการเคารพซึ่งกันและกันในฐานะมนุษย์ แม้จะมีความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน

ผมเริ่มทำงานเป็นผู้สื่อข่าวที่ ประชาไท ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2557 ในช่วงแรกของการทำงาน ผมได้รับมอบหมายจากกองบรรณาธิการ ให้ติดตามประเด็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการละเมิดสิทธิชุมชน ในด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่หลังจากนั้นในปี 2559 ผมได้รับมอบหมายให้ติดตามข่าวการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในด้านการเมืองเป็นหลัก โดยติดตามทั้งเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มนักกิจกรรม การดำเนินคดีกับผู้ต้องหาคดีทางการเมือง และติดตามกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

โดยข่าวที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวในช่วงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญนั้น เป็นภารกิจที่ผมได้รับมอบหมายจากกองบรรณาธิการให้ติดตาม เนื่องจากเป็นประเด็นที่สำคัญมากในทางการเมือง เพราะคือการกำหนดอนาคตของประเทศไทยว่าประเทศเราจะเดินไปในทางใด อย่างน้อยที่สุด 5 ปี และอาจมากที่สุดถึง 20 ปี และแม้รัฐบาล คสช.จะประกาศว่าจะเปิดให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ แต่ในความเป็นจริงแล้วกฎหมายต่างๆ และการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเอง กลับมีลักษณะของความพยายามจำกัดกรอบการรณรงค์ประชามติ สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือการมีผู้ถูกจับกุมดำเนินคดีในช่วงของการเตรียมออกเสียงประชามติมากกว่า 200 คน โดยคนส่วนใหญ่ที่ถูกจับกุมเป็นผู้ที่แสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ หรือแสดงออกด้วยวิธีการต่างๆ ว่า ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงนักข่าวซึ่งไปทำข่าวอย่างผมยังถูกจับกุมดำเนินคดีไปด้วย

ผมถูกจับกุมระหว่างการปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชน:

เช้าวันที่ 10 กรกฎาคม 2559 กลุ่มนักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เดินทางไป สภ.บ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โดยพวกเขาต้องการเดินทางไปเพื่อให้กำลังใจกับชาวบ้าน หรือคนเสื้อแดงในพื้นที่อำเภอบ้านโป่ง ซึ่งถูกเรียกรายงานตัว หลังจากการร่วมกันเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ เพื่อจับตาการรณรงค์ และการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเกิดขึ้นในเวลานั้น โดยถูกตั้งข้อกล่าวหามั่วสุม และชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบฉบับที่ 3/2558

ผมอาศัยโดยสารรถไปกับกับกลุ่มนักกิจกรรมฯ เพียงเพื่อจะรายงานข่าวเท่านั้น ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำกิจกรรมให้กำลังใจ หรือการรณรงค์ใดๆ ทั้งสิ้น

ผมถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่อ้างว่า ผมนั่งรถยนตร์คันเดียวกับนักกิจกรรมจึงมีเหตุต้องสงสัยว่าผม เป็นหนึ่งในขบวนการเคลื่อนไหวของนักกิจกรรม แม้ว่าผมจะชี้แจงยืนยันว่าเป็นผู้สื่อข่าวกับเจ้าหน้าที่แล้วก็ตาม ผมถูกสอบปากคำแจ้งข้อกล่าวหา และควบคุมตัวหนึ่งคืนที่ สภ.บ้านโป่ง ก่อนได้รับอนุญาตปล่อยตัวชัวคราวจาก ศาลจังหวัดราชบุรี ด้วยหลักทรัพย์เงินสดจากประชาไท 140,000 บาท

ผมถูกดำเนินคดีในฐานความผิด ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรค 2 และ ฝ่าฝืนคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 25 เรื่องการไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ ในการสอบสวนในชั้นตำรวจ เหตุที่ผมไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือเนื่องมาจากว่า ผมไม่ยอมรับในกระบวนการสอบสวนตั้งแต่ต้น เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ระบุก่อนหน้านั้นว่า จะจับกุม หรือแจ้งข้อหาอะไรกับผม พวกเขาเพียงแค่บอกว่า เชิญให้ผมไปพูดคุยเพื่อลงบันทึกประจำวันเท่านั้น
ผมไม่กลัว แต่ผมโกรธ:

ในตอนที่ถูกจับกุม ผมไม่เคยรู้สึกกลัว เพราะรู้ดีว่า เราไม่ได้ทำอะไรผิด และที่สำคัญที่สุด ผมเองก็เห็นว่านักกิจกรรมที่ผมร่วมนั่งรถมากับพวกเขาด้วยนั้นก็ไม่ได้ทำอะไรผิดเช่นกัน เพียงแค่ในรถของพวกเขามีเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการรณรงค์ประชามติ และสติ๊กเกอร์ VOTE NO เพียงเท่านั้น แน่นอนว่าในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ปกติธรรมดามาก สำหรับการลงประชามติซึ่งต้องมีการรณรงค์ให้ข้อมูล และแสดงออกซึ่งความคิดเห็นอย่างอิสระ แต่สำหรับประเทศไทยเรื่องเหล่านี้กลับอยู่ในสภาวะยกเว้น ซึ่งผมเห็นว่าเป็นการแสดงความกลัวของฝ่ายรัฐที่พยายามควบคุมจำกัดสิทธิ เสรีภาพของประชาชน รวมทั้งเสรีภาพของสื่อ ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกัน

ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในวันที่ถูกจับกุมสำหรับผม มันหลงเหลือเพียงแต่ความโกรธ เราโกรธที่ทุกครั้งที่ผู้นำรัฐบาลพยายามอ้างว่า กำลังนำประเทศกลับคืนสู่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่ในความเป็นจริงพวกเขากำลังทำให้สิ่งที่ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง

การที่พวกเขาเลือกที่จะจับกุมผมด้วย อาจเป็นหนึ่งในความพยายามควบคุมการนำเสนอข่าวสารที่เกี่ยวข้องการกับรณรงค์ไม่รับร่างรับธรรมนูญ และพยายามแสดงให้สื่อสำนักอื่นได้เห็นว่าโทษของการรายงานเรื่องเหล่านี้เป็นอย่างไร แต่พวกเขาไม่ประสบความสำเร็จ เพราะหลังจากที่ได้รับการประกันตัวออกมาผมยังคงปฎิบัติหน้าที่รายงานข่าวเช่นเดิม

สำหรับการดำเนินการในเรื่องคดีความของผม ได้รับได้การดูแลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในทุกขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการในกระบวนการยุติธรรม สำหรับค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปศาลในแต่ละครั้งผม เช่น ค่าห้องพัก และค่าอาหาร ผมสามารถเบิกจากสำนักข่าวประชาไท เพราะเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นในขณะปฏิบัติหน้าที่

5 จำเลยคดีประชามติบ้านโป่งกับคณะทนายความ

ผลกระทบในการทำงานข่าว:

ผมรู้สึกว่าไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด ผมยังคงทำงานได้ตามปกติ แต่ในช่วงแรกๆ หลังจากที่ประกันตัวออกมา ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร เข้ามาตรวจที่สำนักงานโดยมีหมายค้นเพื่อตรวจหาเอกสารต่างๆ ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการรณรงค์ประชามติ แต่เจ้าหน้าที่ไม่พบเอกสารดังกล่าว การเข้ามาของเจ้าหน้าที่อาจจะส่งผลกระทบเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ อาจทำให้พวกเขาตกใจ หรือกลัว แต่ถึงที่สุดไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการทำงานของเราในระยะยาว นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่ไม่ชัดเจนอยู่คือ หลังจากที่มีเจ้าหน้าที่มาตรวจค้นที่สำนักงาน คืนวันนั้นผมกลับไปที่หอพัก พบว่ามีรถของเจ้าหน้าที่ตำรวจจอดอยู่กว่า 3 ชั่วโมง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีรถของเจ้าหน้าที่ตำรวจมาก่อน แม้ผมจะไม่กลัวต่อการถูกดำเนินคดี แต่ก็ยังคงไม่วางใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับผม เพราะก่อนหน้านี้เคยมีนักศึกษาที่ทำกิจกรรมเดินทางไปยังอุทยานราชภักดิ์เพื่อตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่น และหลังจากถูกจับกุมดำเนินคดีเขาได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหาร พาตัวไปโดยไม่แจ้งก่อนว่าจะนำตัวไปที่ใด ก่อนที่จะปล่อยตัวในวันถัดมา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการกระทำที่เป็นการข่มขู่ คุกคามอย่างชัดเจน

สำหรับการดำเนินคดีกับผู้สื่อข่าวที่ไปรายงานข่าว เรื่องการรณรงค์ประชามติ และผลกระทบจากการออกมาแสดงความคิดเห็นนั้น สำหรับผมถือว่าเป็นเรื่องที่สร้างผลกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพของประชาชนอย่างยิ่ง เพราะว่ามันแสดงให้เห็นถึงความพยายามปิดกั้นการรับรู้ของประชาชน และปิดกั้นเสรีภาพในการทำหน้าที่สื่อมวลชนอย่างร้ายแรง เพราะสิ่งที่รัฐทำคือ การสร้างบรรยากาศของความกลัว ท่ามกลางบรรยากาศของการรณรงค์ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของประเทศ

หากเป็นไปได้ สิ่งที่ผมคาดหวังต่อองค์กรสื่อระหว่างประเทศ คงไม่มีอะไรที่มากไปกว่าการช่วยกันบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงหลังการรัฐประหาร ไม่ใช่แต่เพียงเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับผม แต่เป็นเรื่องราวการละเมิดสิทธิเสรีภาพ การข่มขู่คุกคาม การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทั้งในเรื่องการเมือง และในเรื่องอื่นเช่น ปัญหาการจัดการทรัพยากร ปัญหาผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ และเรื่องอื่นๆ อย่างน้อยๆ ก็เป็นการช่วยกันจดจำว่า ในยุครัฐบาล คสช. เกิดอะไรขึ้นบ้างกับประชาชนไทย

ผมขอขอบคุณเพื่อนสื่อมวลชนทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีกับผมนั้น แม้ไม่มั่นใจนักว่า รัฐบาลทหารพร้อมที่จะฟังข้อเรียกร้องดังกล่าวหรือไม่ แต่อย่างน้อยที่สุดเป็นการยืนยันหลักการและความสำคัญในเสรีภาพและความปลอดภัยของสื่อมวลชน ซึ่งเป็นหลักประกันต่อสิทธิเสรีภาพประชาชน ในสังคมประชาธิปไตย

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.