กลุ่มอนุรักษ์อุดรฯ จี้อุตสาหกรรม หลังหนังสือค้านเหมืองโปแตช ไม่คืบ

Posted: 29 Mar 2017 06:20 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จี้ขอคำตอบ หลังยื่นหนังสือคัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี แล้ว กลับไม่คืบหน้า ด้านอุตสาหกรรมจังหวัด แจงเรื่องอยู่ในชั้นศาลไม่ขอก้าวล่วง


เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา เวลา 10.00 น. กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดอุดรธานี จากพื้นที่ ต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม และ ต.หนองไผ่ อ.เมือง จ.อุดรธานี จำนวนกว่า 200 คน ได้เดินทางไปยื่นหนังสือ ธนวรรธน์ เลิศสุคนธ์ อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี โดยมี สุชัย บุตรสาระ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี และ ศิริกัลยา กิจรักษา นายอำเภอประจักษ์ศิลปาคม ให้การต้อนรับกลุ่มชาวบ้านและร่วมรับฟังปัญหาข้อร้องเรียน ณ ห้องประชุมกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี


มณี บุญรอด กรรมการกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี

มณี บุญรอด กรรมการกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า จากการที่โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ได้อ้างว่าผ่านขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการขอประทานบัตรไปแล้วนั้น จึงอยากมาทวงคำตอบหนังสือที่กลุ่มฯ เคยยื่นคัดค้าน และเรียกร้องให้อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ชี้แจงใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1.) การคัดค้านการปักหมุดรังวัด และขึ้นรูปแผนที่ 2.) การคัดค้านการปิดประกาศเขตเหมืองและรายงานในใบไต่สวน ซึ่งชาวบ้านได้รวบรวมรายชื่อกว่า 5,000 รายชื่อ และสำเนาโฉนดที่ดินเกือบ 2,000 แปลง คัดค้านตามขั้นตอนกฎหมายภายใน 20 วัน ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้กลุ่มชาวบ้านยื่นคัดค้านตั้งแต่ปี 53-54 ประเด็นที่ 3.) การประชาคมหมู่บ้านในค่ายทหารเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องหรือไม่ และ4.) การที่อบต. ห้วยสามพาด เป็นอบต.ในเขตเหมือง มีมติไม่เห็นด้วยต่อการทำโครงการฯ มีผลต่อการขออนุญาตประทานบัตรหรือไม่ อย่างไร

“กลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ยื่นคัดค้านในขั้นตอนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจากหน่วยงานรัฐและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง วันนี้จึงได้มายื่นหนังสือเพื่อทวงถาม และให้อุตสาหกรรมจังหวัดทำหนังสือชี้แจงภายใน 7 วัน” มณี กล่าว

ธนวรรธน์ เลิศสุคนธ์ อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ได้ชี้แจงว่า ตนยินดีที่จะทำเป็นหนังสือตอบข้อเรียกร้องของกลุ่มอนุรักษ์ฯ ซึ่งในเบื้องต้นก็อยากเรียนชี้แจงว่า ในประเด็นที่ 1 คือการปักหมุด รังวัด และขึ้นรูปแผนที่ และประเด็นที่ 2 คือการยื่นคัดค้านการปิดประกาศเขตเหมือง และรายงานในใบไต่สวน ทั้งสองประเด็นนี้เมื่อกลุ่มชาวบ้านเห็นว่าไม่ถูกต้อง จึงได้พากันไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ซึ่ง ณ ปัจจุบันถือว่าอยู่ในการพิจารณาในชั้นศาล ศาลยังไม่ตัดสินออกมาว่าอย่างไร เราจะไม่ก้าวล่วงเข้าไป

“ก็ขึ้นอยู่ว่าศาลจะพิจารณาอย่างไร ถ้าศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าการปักหมุดรังวัด และการปิดประกาศไม่ถูกต้อง โครงการที่ทำมาจะต้องหยุด คือจบเลย ส่วนประเด็นการประชาคมในค่ายทหารเป็นขั้นตอนดำเนินการของกำนันผู้ใหญ่บ้านที่เขาตกลงร่วมกันว่าจะไปใช้สถานที่ตรงนั้น อุตสาหกรรมเป็นเพียงผู้ไปชี้แจงให้ข้อมูล และประเด็นสุดท้ายคือกรณีมติอบต.ห้วยสามพาดที่ไม่เอาเหมืองทางกพร.(กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) ก็ได้มีหนังสือมาให้จังหวัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ จังหวัดตรวจสอบเสร็จก็ได้รวบรวมเอกสารส่งไปส่วนกลางแล้ว ซึ่งรายละเอียดในประเด็นทั้งหมดผมจะทำหนังสือชี้แจงพร้อมแนบเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่งให้ทางกลุ่มอนุรักษ์ฯ อีกครั้ง” อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี กล่าว

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.