SEAPA ประณามคำสั่งจอดำวอยซ์ทีวี 7 วัน ชี้เกินกว่าเหตุ

Posted: 27 Mar 2017 10:01 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

27 มี.ค. 2560 องค์กรพันธมิตรเพื่อเสรีภาพสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) ออกแถลงการณ์ประณามมติคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ที่ให้พักใบอนุญาตสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี เป็นเวลา 7 วัน โดยชี้ว่า เป็นการกระทำที่ไม่ได้สัดส่วนอย่างที่สุด ทั้งที่เนื้อหาที่ออกอากาศนั้นควรเป็นเอกสิทธิ์ของสถานี

SEAPA ระบุว่า การพักใช้ใบอนุญาตดังกล่าวเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ เพราะเป็นการปิดทั้งสถานีและทุกรายการ นอกจากนี้ ยังแสดงให้เห็นถึงอำนาจมหาศาลที่รัฐบาลทหารมอบให้ กสทช. เมื่อ ก.ค. 2559 (ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 41/2559 เรื่องการกํากับดูแลการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ให้ กสทช.ปิดสื่อได้โดยไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง อาญา วินัย แต่ไม่ตัดสิทธิเรียกค่าเสียหาย อ่านข่าวที่นี่)

"กสทช.กลายเป็นหน่วยงานเซ็นเซอร์ทีวีในประเทศไทยแล้วอย่างชัดเจน" SEAPA ระบุ

SEAPA ชี้ว่า การปิดวอยซ์ทีวีเป็นการเล่นงานเสรีภาพในการแสดงความเห็น อันเป็นองค์ประกอบที่จะละเมิดไม่ได้ของสิทธิในการแสดงออก และย้ำว่า เสรีภาพสื่อรับประกันว่า ในข่าวและรายการที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ จะมีความเห็นที่เป็นอิสระจากการแทรกแซงของรัฐบาล

ก่อนหน้านี้ ที่ประชุม กสท.มีมติพักใบอนุญาตสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี เป็นระยะเวลา 7 วัน มีผลตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. 2560 เวลา 00.01 น. เนื่องจากการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี 3 รายการ ได้แก่ รายการใบตองแห้ง วิจารณ์เรื่องปฏิบัติการของรัฐต่อวัดพระธรรมกาย ออกอากาศเมื่อวันที่ 15 มี.ค. เวลา 19.10 น., รายการ In Her View พูดเรื่องโกตี๋และอาวุธ ออกอากาศเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 18.30 น. และรายการ Overview พูดเรื่องเด็กชนกลุ่มน้อยทางภาคเหนือ ออกอากาศเมื่อวันที่ 20 มี.ค. เวลา 18.55 น. มีลักษณะเป็นการให้ข้อมูลข่าวสารที่ส่อให้เกิดความสับสนยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยกในราชอาณาจักร อันเป็นการต้องห้ามมิให้ออกอากาศตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และเป็นการกระทำผิดซ้ำในรูปแบบเดิมหลังจากมีผู้ร้องเรียนการดำเนินรายการของสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี ในปีที่แล้วรวม 10 ครั้ง และปีนี้ 2 ครั้ง โดยระบุว่า สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวียังไม่ปรับปรุงให้ได้มาตรฐาน

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.